เพิ่มรายได้ด้วยพริกปลอดสาร

เพิ่มรายได้ด้วยพริกปลอดสาร

เพิ่มรายได้ด้วย พริกปลอดสาร

ด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพช่วยป้องกันกำจัด โรคและแมลงศัตรูพริก ซึ่งมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก จากวัตถุดิบที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น เป็นการลดต้นทุนในการเพาะปลูกพริก ช่วยให้เกษตรกรได้รับผลกำไรเพิ่มขึ้น และลดการใช้สารเคมี ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประทาน พริกปลอดสาร รวมถึงผู้ปลูกหรือเกษตรกรก็ปลอดภัยจากสารเคมี และมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงควบคู่ไปกับต้นพริกที่สมบูรณ์แข็งแรงด้วยเช่นกัน แต่หลายท่านอาจจะสงสัยว่าสารชีวภัณฑ์ และสารชีวภาพแตกต่างกันอย่างไร?…..หากท่านได้ติดตามบทความอื่นๆ มาก่อนแล้ว คงจะคุ้นตากับเชื้อราไตรโคเดอร์มา และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส นั่นแหละค่ะ สารชีวภัณฑ์ที่ผู้เขียนขอแนะนำให้ใช้ป้องกันโรคพริก ส่วนสารชีวภาพนั้น เป็นสารที่สกัดจากสมุนไพร ที่หาได้ง่ายๆ ตามท้องตลาด หรือท้องถิ่นที่เราอยู่อาศัย ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ที่ผู้เขียนรวบรวมข้อมูลมาฝากในบทความนี้…ศึกษาข้อมูล ทดลองทำ และนำไปใช้นะคะ

สารชีวภัณฑ์ป้องกันโรคพริก

เชื้อราไตรโคเดอร์มา
เป็นเชื้อปฏิปักษ์ หรือเป็นศัตรูของเชื้อราสาเหตุโรคพริกหลายชนิด สามารถเจริญอยู่บนผิวและใต้ผิวรากพืช ช่วยปกป้องรากพืชจากเชื้อโรค ช่วยละลายแร่ธาตุอาหารให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืชผัก ช่วยเพิ่มอัตราความงอกของเมล็ดพริก ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของระบบราก ช่วยสร้างความเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิต และช่วยให้พริกทนต่อโรคต่างๆ ได้ดี

โรคพริกที่ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาป้องกันได้

  1. โรคแอนแทรกโนส
  2. โรคโคนเน่าจากเชื้อรา
  3. โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อรา
  4. โรคกล้าเน่ายุบจากเชื้อรา

วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา

วิธีที่1 แช่เมล็ดพันธุ์พริกในเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ในอัตราส่วน 10 กรัม (1ช้อนโต๊ะ) ผสมน้ำ 1 ลิตร แช่ไว้ประมาณ 6 ถึง 12 ชั่วโมง ผึ่งเมล็ดให้หมาดแล้วนำไปหยอดลงถาดเพาะ หรือห่อด้วยผ้าเปียก บ่มไว้ประมาณ 1 ถึง 2 วัน ให้เมล็ดงอกก่อนนำไปหยอดลงถาดเพาะ

วิธีที่2 แช่เมล็ดพันธุ์พริกในน้ำสะอาด 1 คืน จากนั้นผึ่งเมล็ดให้หมาด นำไปห่อด้วยผ้าเปียก บ่มไว้ประมาณ 1 ถึง 2 วัน จนเมล็ดงอก จึงนำไปหยอดในถาดเพาะ รดน้ำและรดเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในอัตราส่วน 100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร ตามให้ชุ่ม

วิธีที่3 ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 1 กิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 100 กิโลกรัม และดินหรือวัสดุปลูก 400 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้เพาะต้นกล้า หรือ ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด 100 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร หรือ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นต้นกล้าหลังเพาะเมล็ดทุกๆ 7 ถึง 10 วัน

วิธีที่4 ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ในระยะที่ต้นพริกเจริญเติบโตและให้ผลผลิต โดยฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มและโคนต้นทุกๆ 7 ถึง 10 วัน

สารเคมีที่ห้ามใช้ผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. สารเคมีกลุ่มคาร์เบนดาซิม
  2. ไดฟิโนโคนาโซล
  3. คลอโรทาโลนิล
  4. โพรพิโคนาโซล

คำแนะนำ
สารเคมีข้างต้นไม่สามารถใช้ผสมกับเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ แต่ใช้สลับกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา โดยใช้ฉีดพ่นให้มีระยะห่างกันประมาณ 7 ถึง 10 วัน

เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทิลิส
เป็นจุลินทรีย์ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดิน เศษซากพืช รวมทั้งอินทรียวัตถุตามธรรมชาติ และเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว และสร้างสารปฎิชีวนะหลายชนิดที่ช่วยยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรคพริก เช่น โรคแอนแทรกโนสหรือโรคกุ้งแห้ง มีขั้นตอนดังนี้

  • เก็บผงเชื้อแบคทีเรียไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิประมาณ 8 ถึง 10 องศาเซลเซียส
  • เติมสารจับใบลงในน้ำผสมแบคทีเรียตามอัตราส่วนที่แนะนำไว้ในฉลาก ทุกครั้งก่อนการฉีดพ่น
  • ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฉีดพ่น คือ ช่วงบ่าย มีแดดอ่อนๆ หรือตอนเย็น และมีความชื้นที่เหมาะสม โดยฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้นและรอบโคนต้น ทุก 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด ให้ฉีดพ่นทุก 2 ถึง 3 วัน
  • ไม่ควรผสมเชื้อแบคทีเรียร่วมกับสารเคมีควบคุมเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคพริก เช่น สารปฏิชีวนะ หรือสารประกอบทองแดง

สารชีวภาพป้องกันโรคและแมลงศัตรูพริก

สูตรไล่เพลี้ยไฟ
ส่วนผสม
ยอดยูคาลิปตัส 2 กิโลกรัม
ยอดสะเดา 20 ยอด หรือ 1 ปี๊บ
ข่าแก่ 2 กิโลกรัม
บอระเพ็ด 2 กิโลกรัม
จุลินทรีย์ 1 แก้ว
กากน้ำตาล 1 แก้ว

วิธีทำ

  • นำยอดยูคาลิปตัส ยอดสะเดา ข่าแก่และบอระเพ็ด ใส่ในปี๊บแยกกันอย่างละ 1 ปี๊บ
  • ใส่น้ำให้เต็มปี๊บแล้วนำไปต้มให้น้ำงวดลงเหลืออย่างละครึ่งปี๊บ ทิ้งไว้ให้เย็น
  • นำส่วนผสมที่ต้มแล้วเทรวมกันในโอ่งหรือถังพลาสติกมีฝาปิด
  • ใส่จุลินทรีย์และกากน้ำตาล ปิดฝาให้สนิท หมักทิ้งไว้ 3 วัน
  • เมื่อครบกำหนด กรองเอาแต่น้ำ

วิธีใช้

  • นำน้ำหมักที่กรองแล้ว ½ แก้ว ผสมน้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นให้ทั่ว

สูตรป้องกันกำจัดแมลงและเพลี้ยไฟ
ส่วนผสม
ข่าแก่สด 10 ถึง 20 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

วิธีทำ

  • นำข่าแก่สดมาบด

วิธีใช้

  • ใช้ขาแก่สดที่บดแล้ว หว่านให้รอบโคนต้นหรือแปลงปลูกเพื่อให้ต้นพริกดูดในระยะแตกยอด และออกดอก เพลี้ยไฟจะเข้าทำลายต้นพริกได้น้อยลง

สูตรป้องกันหนอนผีเสื้อ หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ และเพลี้ยอ่อน
ส่วนผสม
เมล็ดสะเดา (บดเป็นผง) 1 กิโลกรัม

วิธีทำ

  • นำเมล็ดสะเดามาบดเป็นผงให้ได้ปริมาณ 1 กิโลกรัม ผสมกับน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ 1 คืน
  • นำมากรองเอาแต่น้ำสีเหลืองขุ่น มีกลุ่นฉุน

วิธีใช้

  • นำน้ำหมักที่กรองแล้ว ผสมกับน้ำยาจับใบ หรือน้ำยาล้างจานเจือจาง (ใช้แทนสารจับใบ) ฉีดพ่น 2 ถึง 3 ครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 5 หรือ 7 วัน ในช่วงที่มีแดดอ่อนๆ

สูตรป้องกันกำจัดเชื้อรา แอนแทรกโนส
ส่วนผสม
มะขามเปียก ขนาดเท่ากำปั้นมือ
น้ำเปล่า 100 ลิตร

วิธีทำ

  • ละลายมะขามเปียกในน้ำเปล่า

วิธีใช้

  • นำน้ำมะขามเปียกที่ได้มาฉีดพ่นให้โชกทั้งใต้บนและบนใบทั่วทรงพุ่ม ในตอนเช้าก่อนน้ำค้างแห้ง และช่วงหลังฝนหยุดตกก่อนใบแห้ง เพื่อช่วยกำจัดเชื้อแอนแทรกโนสที่เป็นสาเหตุของการเกิดผลเน่า

สูตรป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากแบคทีเรียและเชื้อรา
ส่วนผสม
ใบมะรุม

วิธีทำ

  • รูดใบมะรุมออกจากก้านใบ
  • สับใบมะรุม
  • นำใบมะรุมที่สับแล้วไปคลุกกับดินที่เตรียมไว้ แล้วปล่อยให้ย่อยสลายไปกับดินประมาณ 7 วัน (สารที่อยู่ในใบมะรุมจะออกฤทธิ์ยังยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรียได้ดี)
  • เมื่อครบ 7 วัน นำดินนั้นมาเพาะกล้าหรือปลูกต้นกล้าได้

สูตรกำจัดโรคพริกทั่วไป
ส่วนผสม
ข่า 4 กิโลกรัม
ตะไคร้หอม 4 กิโลกรัม
ใบสะเดาสด 4 กิโลกรัม

วิธีทำ

  • บดส่วนผสมทุกอย่างรวมกันให้ละเอียด แช่ในน้ำ 60 ลิตร นาน 1 คืน (หรือจะใช้เหล้าขาว หรือเอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (ethyl alcohol))
  • กรองเอาแต่น้ำ

วิธีใช้

  • ใช้น้ำหมักที่กรองไว้ 10 ช้อนแกง ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น

ฝากติดตามบทความ “เทคนิคการปลูกพริก ให้รวย ด้วยนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *