การขยายพันธุ์มะละกอ

การขยายพันธุ์มะละกอ สามารถปฏิบัติได้หลายวิธี ทั้งแบบใช้เพศ ได้แก่ การเพาะเมล็ด และแบบไม่ใช้เพศ ได้แก่ การปักชำ การติดตา การตอนกิ่ง และการเพาะเนื้อเยื่อ แต่เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอส่วนใหญ่นิยมใช้วิธีการขยายพันธุ์แบบใช้เพศในการปลูกมะละกอเพื่อการค้า เนื่องจากทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับผลผลิตที่จะได้รับ ส่วนขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศมักจะทำกันในกรณีที่ต้องการรักษาพันธุ์ดีเอาไว้ เนื่องจากการขยายพันธุ์แบบนี้จะทำให้มะละกอไม่มีการกลายพันธุ์ และเพื่อเปลี่ยนยอดมะละกอที่มีดอกตัวผู้มีจำนวนมากเกินไป ให้เป็นต้นตัวเมียหรือต้นสมบูรณ์เพศ

มือใหม่หัดปลูกมะละกอจะต้องสงสัยเรื่องเพศของมะละกออย่างแน่นอน…มีคำอธิบายค่ะ มะละกอมีปัญหาในการปลูก คือ เพศของมะละกอ โดยสังเกตได้จากดอกซึ่งสามารถแบ่งตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ 3 เพศ

1. มะละกอต้นตัวผู้
ออกแต่ดอก ไม่ติดผล มีช่อดอกยาวแตกแขนงเป็นสายยาวประมาณ 70 ถึง 120 เซนติเมตร ดอกบนช่อเป็นดอกสมบูรณ์เพศที่มีอวัยวะเพศเมียปรากฏอยู่แต่ไม่ทำหน้าที่ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบดอกสีขาวหรือครีมโคนกลีบเป็นหลอด ปลายกลีบแยกกัน 5 แฉก บริเวณโคนติดกัน กลีบที่แยกกันนั้นจะมีอับเกสรตัวผู้สีเหลือง 10 ชุด ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และช่วงแสงต่อวันน้อย รังไข่ของดอกมะละกอต้นตัวผู้อาจเจริญพัฒนาติดเป็นผล หลังจากรับการถ่ายละอองเกสรตัวผู้ได้ การปลูกมะละกอต้นตัวผู้นี้ปกติไม่ให้ผลคุ้มค่าการลงทุน ควรทำการตัดทิ้ง

2. มะละกอต้นตัวเมีย
จะเป็นต้นตัวเมียที่แท้จริง โดยมีช่อดอกยาวปานกลางประมาณ 5 ถึง 20 เซนติเมตร ดูจากภายนอกดอกยังตูมอยู่จะมีลักษณะดอกป้อม กลีบดอกทั้ง 5 กลีบ จะแยกจากกัน ภายในมีรังไข่ อ้วนสั้น สีขาว มีส่วนปลายรังไข่เป็นแฉก 5 แฉก สีเหลืองอมเขียว แต่ละแฉกก็มีปลายเป็นฝอย ผลจากดอกตัวเมียจะมีรูปร่างกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ๆ หรือรูปไข่ การปลูกมะละกอต้นตัวเมียจะได้ผลที่รูปร่างไม่เป็นที่นิยมของตลาด

3. มะละกอต้นกะเทย (ต้นสมบูรณ์เพศ)

การปลูกมะละกอต้องเลือกมะละกอต้นกระเทย ช่อดอกแตกแขนงสั้น อาจจะประกอบด้วยดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศในช่อดอกเดียวกันก็ได้ แต่ดอกสมบูรณ์เพศก่อนบานจะมีลักษณะเรียวยาว กลีบดอกส่วนที่เป็นหลอดจะหุ้มส่วนของรังไข่ ส่วนกลีบดอกที่แยกกันจะเปิดออกเมื่อดอกบาน ถ้าเด็ดกลีบดอกออกจะเห็นอับเกสรตัวผู้ 10 อัน เรียงรอบใต้ส่วนของยอดเกสรตัวเมีย เมื่อละอองเกสรตัวผู้ฟุ้งกระจาย ขณะดอกบานก็จะผสมตัวเองได้หรือแมลงพาเกสรตัวผู้ไปผสมกับดอกที่บานดอกอื่น หรือดอกตัวเมียบนต้นตัวเมีย ทำให้ติดเป็นผล

ผลจากมะละกอต้นสมบูรณ์เพศจะเป็นรูปทรงกระบอกยาว ถ้าดอกสมบูรณ์เพศนั้นมีรังไข่ทรงกระบอกและอับเกสรตัวผู้เกิดบริเวณโคนกลีบดอก เรียกดอกประเภทนี้ว่าอีลองกาต้า (Elongata) ดอกสมบูรณ์เพศที่มีรังไข่เป็นพลูและมีก้านชูอับเกสรตัวผู้อยู่ที่โคนรังไข่ เป็นดอกแบบแพนเดรีย (Pentandria) ทำให้ได้ผลเป็นพลูแบบผลทุเรียน ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดควรเด็ดทิ้งขณะผลเล็กๆ ดอกสมบูรณ์เพศแบบอินเทอร์มีเดียท (Intermediate) คือ ดอกสมบูรณ์เพศที่มีก้านชูอับเกสรตัวผู้อยู่บริเวณรังไข่ด้านใดด้านหนึ่ง ตรงกลางของรังไข่เมื่อผสมติดแล้วทำให้ผลมีแผลเป็น เบี้ยวด้านหนึ่ง ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของตลาดอีกเช่นกัน ให้เด็ดทิ้งขณะที่ผลยังอ่อนอยู่

การขยายพันธุ์วิธีต่างๆ มีดังนี้
การเพาะเมล็ดมะละกอ


วิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์

  1. ซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านจำหน่ายที่ได้มาตรฐาน คือ แจ้งแหล่งผลิตที่ชัดเจน ชนิดพันธุ์ วันที่ผลิด ความสมบูรณ์ของเมล็ด ไม่มีเชื้อรา ไม่มีแมลง หรือมีเปอร์เซ็นต์การงอก เป็นต้น
  2. คัดเลือกและเตรียมเมล็ดพันธุ์ ในการเพาะเมล็ด
    – เลือกผลมะละกอที่แก่จัดและสุกดีแล้วมาเพาะขยายพันธุ์ (แต่ไม่สุกงอมเกินไป เพราะเมล็ดอาจจะงอกอยู่ในผลแล้ว หากนำมาเพาะต้นกล้าจะไม่แข็งแรง) โดยเลือกต้นแม่พันธุ์ที่เป็นต้นกะเทย มีความแข็งแรง ต้นตั้งตรง อวบอ้วน ปล้องถี่ ออกดอกติดผลตั้งแต่ต้นยังเตี้ย รูปทรงผลสวยและมีขนาดไล่เรียงกันตั้งแต่โคนถึงปลาย เนื้อหนา รสชาติหวาน ให้ผลดกอย่างต่อเนื่อง และเป็นต้นแม่พันธุ์จากพื้นที่ที่ปลูกมะละกอสายพันธุ์เดียวกันทั้งพื้นที่
    – เมื่อได้ผลที่ต้องการแล้ว ผ่าและนำเมล็ดที่อยู่ตรงกลางผลมาล้างเมือกออกให้หมดโดยการนำไปแช่น้ำ 1 คืน หรือ นำใส่ถุงพลาสติกหมักเอาไว้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน จากนั้นจึงเอามาบี้บนตะแกรงพร้อมกับล้างเอาเยื่อหุ้มหรือเมือกออกจนหมด แล้วนำไปเพาะทันที สาเหตุที่ต้องเพาะทันทีก็เพราะว่าหากทิ้งไว้นาน เมล็ดมะละกอจะสูญเสียเปอร์เซ็นการงอกไปเรื่อยๆ แต่ถ้ายังไม่สามารถเพาะได้ทันที ก็ให้นำไปผึ่งลมประมาณ 2 ถึง 3 วัน จนเมล็ดแห้งสนิท จะเก็บไว้ได้นานประมาณ 2 ถึง 3 เดือน หากเก็บไว้ในถุงกันความชื้น เช่น ถุงอลูมิเนียมฟอล์ย ในอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์มะละกอไว้ได้นานถึง 6 ปี

วิธีเพาะเมล็ด

     โดยทั่วไปชาวสวนจะทำในช่วงปลายเดือนมกราคม เพื่อให้สามารถย้ายปลูกได้ประมาณเดือนมีนาคม และเริ่มเก็บเกี่ยวผลตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีผลไม้อื่นออกสู้ตลาดน้อย ทำให้ขายมะละกอได้ราคาสูง การเพาะเมล็ดมะละกอมีวิธีการเหมือนกันกับการเพาะเมล็ดพืชอื่นๆ ทั่วไป แต่ต้องเอาใจใส่ระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะต้นกล้ามะละกอเป็นพืชที่บอบบางและเน่าตายได้ง่ายมาก ดังนั้นสถานที่เพาะเมล็ดควรเป็นที่กลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้หรือวัสดุอื่นใดบังแสงแดด เพื่อที่จะให้ต้นกล้ารับแสงอย่างเต็มที่ สามารถเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ และการเพาะเมล็ดมะละกอสามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

  1. การเพาะในภาชนะหรือถุงพลาสติก—เป็นวิธีทำให้ต้นกล้ามะละกอมีโอกาสรอดตายได้สูงที่สุด ได้ต้นกล้าแข็งแรง รากแผ่ตรง รากและลำต้นบอบช้ำน้อยเวลาย้ายปลูก
    – ใช้ถุงพลาสติกเพาะกล้า ขนาดไม่น้อยกว่า 4×6 นิ้ว เจาะรูที่ก้นและข้างถุงประมาณ 4 ถึง 6 รู เพื่อให้น้ำระบายได้
    – เตรียมวัสดุเพาะ ที่มีความร่วนซุยและโปร่ง โดยใช้ดินร่วน ปุ๋ยคอก หรือขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 3:1:1 หรือ 3:2:1 ผสมให้เข้ากัน
    – หยอดเมล็ดมะละกอประมาณ 3 ถึง 5 เมล็ด ลงในดินเพาะลึกประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร นำถุงเพาะเมล็ดไปวางในที่ที่ได้รับแสงแดด
    – รดน้ำทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น ประมาณ 10 ถึง 14 วัน นับจากวันเพาะ เมล็ดจะเริ่มงอก เมื่อต้นกล้าที่งอกออกมามีอายุประมาณ 1 เดือน จึงทำการถอนแยกต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์ออก ให้เหลือต้นที่สมบูรณ์ไว้เพียง 1 ถึง 2 ต้น
    – เลี้ยงต้นกล้าจนมีความสูงประมาณ 1 คืบ มีใบประมาณ 4 ถึง 6 ใบ แล้วจึงนำไปปลูกในแปลงปลูก
  2. การเพาะในกระบะเพาะ หรือ แปลงเพาะ—เป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเมล็ดเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการประหยัดแรงงาน
    การเพาะในกระบะเพาะ
    – ใช้กระบะควรมีความลึกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 6 นิ้ว ส่วนขนาดความกว้างยาวของกระบะนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เพาะ มีการระบายน้ำได้ดี
    – รองก้นกระบะด้วยอิฐหักและปูทับด้วยฟางจากนั้นใส่วัสดุเพาะลงไปจนเกือบเต็ม เกษตรกรหรือผู้ปลูกสามารถเลือกใช้วัสดุเพาะชนิดเดียวกันกับการเพาะเมล็ดในถุง หรือใช้ปุ๋ยคอก ทราย และขี้เถ้าแกลบ ผสมกันในอัตรา 1:1
    – รดน้ำให้วัสดุยุบตัวดีแล้วจึงนำเมล็ดลงเพาะ
    การเพาะเมล็ดในแปลงเพาะ
    – เตรียมแปลงดินกว้าง 1 เมตร ยกแปลงให้สูงประมาณ 15 ถึง 30 เซนติเมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ ปรับปรุงดินให้มีความร่วนซุยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีการระบายน้ำดี โดยการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มากๆ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ตากดินไว้ประมาณ 7 ถึง 10 วัน หรือถ้าจะให้ดีควรครอบดินด้วยสารเมทธิลโปรโมท์ เพื่อทำลายเชื้อโรคต่างๆ ในดิน ก่อนเพาะ
    – ปรับแต่งหน้าดินให้เรียบสม่ำเสมออย่าให้มีน้ำแข็งเป็นแอ่ง แล้วรดน้ำให้ดินยุบตัวพร้อมที่จะเพาะเมล็ดได้
    วิธีการเพาะเมล็ดในกระบะหรือแปลงเพาะ
    – เพาะให้เป็นแถวเป็นแนว เพื่อสะดวกในการดูแลรักษาและถอนแยก โดยใช้ไม้ ขีดทำร่องลึกประมาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร จากนั้นโรยเมล็ดมะละกอในร่องแถวที่ทำ ไว้ให้ห่างกันพอประมาณ แล้วจึงโรยปุ๋ยคอกทับลงไปบางๆ รดน้ำให้ชุ่มทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น
    การรดน้ำ
    ควรพ่นน้ำให้เป็นลักษณะฝอย หรือใช้บัวรดน้ำที่มีฝักบัวถี่ เพราะน้ำจะไปชะล้างเอาเมล็ดจากแปลงหรือกระบะเพาะได้ เมื่อต้นกล้างอกออกมามีใบประมาณ 2 ถึง 3 ใบ หรือมีอายุประมาณ 10 ถึง 15 วัน นับจากวันที่เมล็ดงอก จึงขุดย้ายต้นกล้าไปปลูกชำในถุงพลาสติกต่อไป
    การย้ายต้นกล้าไปปลูก
    – โดยใช้มีดหรือไม้บางๆ แทงลงไปในดินให้ห่างต้นกล้าพอสมควร ด้วยความระมัดระวัง แล้วงัดทั้งดินและต้นกล้า ขึ้นมาให้มีดินติดรากมากที่สุดเพื่อที่จะให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็ว มีความอุดมรอดตายสูง
    – ใช้ถุงพลาสติกจะมีขนาดไม่น้อยกว่า 5×8 นิ้ว
    – ใช้ดินที่มีความร่วนซุยดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง หรือใช้ดินร่วน ปุ๋ยคอก หรือขี้เถ้าแกลบผสมกันในอัตรา 3:1:1 หรือ 3:2:1 จากนั้นนำดินปลูกใส่ลงในถุงพลาสติกประมาณครึ่งถุง
    – ปลูกต้นกล้ามะละกอลงไป จัดให้รากแผ่กระจายตามธรรมชาติพร้อมจับประคองให้ต้นตั้งตรง เติมดินปลูกลงในถุงจนเต็ม กดดินให้แน่นพอสมควร นำถุงต้นกล้าไปวางเรียงกันแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
    – จากนั้นรดน้ำทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น เลี้ยงต้นกล้าจนมีความสูงประมาณ 1 คืบ หรือ มีอายุประมาณ 30 ถึง 40 วัน นับจากวันที่ย้ายปลูก ก่อนปลูกในแปลงจริง หากไม่มีการย้ายต้นกล้ามาปลูกในถุง แต่จะเลี้ยงต้นกล้าไว้ในแปลงเพาะ แล้วย้ายไปปลูกในแปลงจริงโดยตรงเลย จะต้องมีการถอนแยกเอาต้นที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงออก ให้ต้นกล้ามีระยะห่าง เพื่อไม่ให้ขึ้นเบียดกันมากเพราะจะทำให้ต้นกล้าแคระแกรน
  3. การเพาะปลูกเมล็ดในแปลงปลูกโดยตรง
    – เตรียมแปลงโดยปรับปรุงดินในหลุมให้มีความร่วนซุย
    – หยอดเมล็ดมะละกอลงไปในหลุมปลูก 3 ถึง 5 เม็ดต่อหลุม ให้ห่างกันเป็นระยะ 3×3 เมตร หรือ 3×4 เมตร เมื่อต้นกล้างอกออกมาประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ จึงทำการถอนแยกเอาต้นกล้าที่ไม่ค่อยแข็งแรงออกให้เหลือไว้ประมาณ 2 ถึง 3 ต้น ต่อหลุม
    – เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 1 เดือน หรือมีความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จึงถอนแยกต้นกล้าอีกครั้งหนึ่ง โดยเหลือต้นกล้าที่แข็งแรงไว้ 1 ถึง 2 ต้นต่อหลุม เลี้ยงไว้จนมีอายุประมาณ 120 วัน ขึ้นไป
    – ต้นมะละกอจะแสดงเพศให้เห็น จากนั้นจึงเลือกต้นที่มีดอกกระเทยหรือดอกตัวเมียไว้เพียงต้นเดียว

ข้อเสียในการเพาะเมล็ดแบบนี้

  • ใช้เวลาและแรงงานในการดูแลมาก เพื่อดูแลต้นกล้าให้ทั่วถึง
  • ต้นกล้ายังมีอัตราการเจริญเติบในช่วงแรกช้ามากกว่าการเพาะเมล็ดในถุงหรือแปลงเพาะชำประมาณ 4 เท่าตัว

ข้อดีของการเพาะแบบนี้

  • ไม่ต้องเสียเวลาในการขุดย้ายต้นกล้าไปปลูก
  • ไม่ทำให้ต้นกล้าได้รับความกระทบกระเทือนมาก
  • ต้นที่ปลูกภายหลังจากที่มีอายุได้ประมาณ 6 เดือน จะมีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าการเพาะเมล็ดแบบอื่น และสามารถออกดอกติดผลได้เร็วกว่า 2 เดือน
  • ต้นมะละกอมีระบบรากแผ่ขยายได้ดี และให้ผลผลิตสูง

การเสียบยอด
การเสียบยอด หรือการเสียบแบบเข้าลิ่ม เป็นการขยายพันธุ์มะละกอวิธีใหม่ที่มีลักษณะเป็นดอกกะเทยตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นที่นิยมปฏิบัติกันในต่างประเทศ มีขั้นตอนดังนี้

  • เพาะต้นกล้ามะละกอพันธุ์พื้นเมืองที่มีความต้านทานโรคโคนเน่าและโรคใบด่าง
  • เมื่อต้นกล้ามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 ถึง 1 นิ้ว ซึ่งขนาดควรสัมพันธ์กับยอดพันธุ์ นำมาตัดยอดเฉียงลงกลางไส้ทั้ง 2 ข้าง ให้เป็นร่องรูปตัววาย (y)
  • เฉือนยอดพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มขนาดพอเหมาะกับรอยแผลบนยอดพันธุ์พื้นเมืองที่เตรียมไว้แล้ว นำยอดพันธุ์ดีมาเสียบและพันแผลด้วยพลาสติก แล้วนำเข้าตู้อบรักษาความชื้น หรือใช้ถุงพลาสติกคลุม
  • เมื่อยอดพันธุ์ดีและต้นตอติดกัน และรอยเชื่อมระหว่างแผลแข็งแรง จึงย้ายลงแปลงปลูกต่อไป

การปักชำ

  • ตัดต้นกะเทยตั้งแต่โคนถึงยอดออกเป็นท่อนๆ ยาวประมาณท่อนละ 10 ถึง 15 เซนติเมตร มีตุ่มตาหลายๆ ตา ควรใช้มีดที่คมมากๆ ในการตัดเพื่อให้แผลเรียบ
  • แช่ไคติดไคโตซาน หรือ ธาตุรอง หรือธาตุเสริม นานประมาณ 6 ถึง 12 ชั่วโมง
  • เมื่อแช่ครบกำหนดแล้วนำขึ้นผึ่งลมให้แห้ง
  • ใช้ปูนกินหมากทาแผล ทิ้งไว้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทสะดวกนานประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง เพื่อให้ท่อนพันธุ์เกิดความเครียด
  • นำท่อนพันธุ์ที่เครียดดีแล้วปักในวัสดุเพาะชำ ให้ตุ่มตาฝังอยู่ในดินลึกประมาณ 2 ถึง 3 ตุ่ม คลุมทับด้วยเศษฟางบางๆ
  • รดน้ำแบบพ่นฝอยวันละ 4 ถึง 5 ครั้ง เมื่อท่อนพันธุ์แตกรากและใบแล้ว จึงแยกออกมาเพาะในถุงเพาะชำ
  • นำไปอนุบาลในโรงเรือนจนกระทั่งแข็งแรงดี จึงนำลงปลูกในแปลง

การตอนกิ่ง

ขอบคุณภาพจาก www.steemit.com

  • ใช้มีดที่คมเฉือนกิ่งเฉียงประมาณ 45 องศา ขึ้นไปหายอดลึก 1 ใน 3 ของความกว้างของบริเวณที่จะตอน
  • ใช้ใบไม้หรือกระดาษคั่นระหว่างแผล ทิ้งไว้จนหมดยาง
  • หุ้มด้วยตุ้มตอนขุยมะพร้าวประมาณ 20 ถึง 30 วัน เมื่อเห็นว่าออกรากดีแล้วให้ตัดลงมาอนุบาลในถุงดำต่อจนแข็งแรงดี จึงนำไปปลูกในแปลง

*ต้นมะละกอที่ลำต้นสูงมาก ให้ตอนที่คอจากยอดลงมาประมาณ 50 ถึง 80 เซนติเมตร ด้วยวิธีการข้างต้น เมื่อนำไปปลูกในแปลงและรากเดินดีแล้ว มะละกอจะออกดอกติดผลทันที และได้มะละกอสายพันธุ์เดิม*

*ต้นกะเทยพันธุ์ดี ให้ตัดตอและบำรุงเรียกยอด เมื่อยอดโตเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ให้ตอนจากยอดที่แตกใหม่ด้วยวิธีการตอนข้างต้น จะทำให้ได้ต้นพันธุ์เดิมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

  1. สามารถผลิตต้นพันธุ์มะละกอได้ปริมาณมาก ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
  2. ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค
  3. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่พันธุ์ คือ ลักษณะตรงตามพันธุ์ด้วยการใช้เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นพืชให้พัฒนาเป็นต้นโดยตรง
  4. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ ให้ผลผลิตที่สูงในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้ง

ขั้นตอนสำคัญในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ

  1. ทำความสะอาดชิ้นส่วนพืชให้ปลอดเชื้อ
  2. นำชิ้นส่วนพืชไปขยายเพิ่มปริมาณ
  3. ชักนำให้เกิดรากจนได้ต้นพืชที่สมบูรณ์

การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นที่นิยมในต่างประเทศที่ปลูกมะละกอเพื่อการค้า การขยายพันธุ์วิธีนี้ไม่ต้องคัดเลือกต้นตัวเมียและตัวผู้ทิ้ง และยังสามารถผลิตต้นกล้ามะละกอให้ได้เฉพาะต้นกะเทยเท่านั้น โดยใช้ชิ้นส่วนของมะละกอ เช่น ลำต้น ตายอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ เป็นต้น มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ภายใต้การควบคุมความสะอาดแบบปลอดเชื้อ อุณหภูมิ และแสง จนชิ้นส่วนเจริญพัฒนาเป็นต้นที่สมบูรณ์มีใบ ลำต้น และราก ที่สามารถนำไปปลูกได้ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติทั่วไปได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

ฝากติดตามบทความ การปลูกมะละกอ ด้วยนะคะ
(แหล่งข้อมูล : www.bighealthyplant.com, หนังสือ ตามไปดู…เทคนิคมะละกอดก ทำเงินได้…ไม่ยาก สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *