เชื้อราไตรโคเดอร์มา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา

เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อปฏิปักษ์ที่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ในการดูแลพืชผลอยู่ในบทความส่วนใหญ่ แต่ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอสิ่งที่น่าสนใจของเชื้อราไตรโคเดอร์มามาฝาก ให้ท่านได้เรียนรู้วิธีใช้ ข้อควรระวังต่างๆ การทำหัวเชื้อหรือเชื้อสดไว้ใช้เองเพื่อประหยัดต้นทุนแต่ได้ผลกำไรจากผลผลิตมากขึ้น สิ่งสำคัญคือ อยากให้ท่านได้นำมาใช้ในการทำเกษตรถึงแม้ว่าท่านจะไม่ผลิตหัวเชื้อเองก็ตาม เพราะด้วยประโยชน์ที่สำคัญของ เชื้อราไตรโคเดอร์มา ตามรายละเอียดด้านล่างนี้ค่ะ

ประโยชน์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  1. ช่วยลดกิจกรรมของเชื้อโรคพืชได้
    – โดยยับยั้งและทำลายการงอกของสปอร์
    – แย่งอาหารที่เชื้อโรคพืชใช้เพื่อการเจริญของเส้นใย
    – ทำให้เชื้อโรคลดความรุนแรงลง
  2. ช่วยลดปริมาณเชื้อโรคพืช
    – โดยการพันรัดและแทงเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรคพืช
    – ทำลายโครงสร้างสำหรับการขยายพันธุ์ของเชื้อโรค
    – ทำลายโครงสร้างที่เชื้อโรคพืชสร้างขึ้นเพื่ออยู่ข้ามฤดูกาล
  3. ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตและเพิ่มผลผลิตของพืช
    – โดยป้องกันระบบรากพืชจากการเข้าทำลายของเชื้อราสาเหตุโรคพืช ทำให้ระบบรากพืชสมบูรณ์แข็งแรง
    – ผลิตสารเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้
    – ช่วยให้เมล็ดงอกและเจริญเติบโตดี
  4. ช่วยเพิ่มความต้านทานโรคของพืช
    – กระตุ้นความต้านทานโรคให้แก่พืช
    – ทำให้พืชมีระบบรากดี เจริญเติบโตดี แข็งแรง จึงต้านทานโรคได้ดีขึ้น

หากสงสัยว่า เชื้อราไตรโคเดอร์มา คืออะไร? คือ เชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยอยู่ตามเศษซากพืช ซากสัตว์ และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร สามารถเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า ‘โคนิเดีย’ หรือ ‘สปอร์’ จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิด

ทั้งโรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน เช่น โรคเมล็ดเน่า โรคเน่าระดับดิน (โรคกล้ายุบ) รากเน่า หัวหรือแง่งเน่า และโคนเน่า เป็นต้น โรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กิ่ง ผล ใบ หรือดอก เช่น โรคลำต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง โรคแคงเกอร์ของมะนาว โรคราดำของมะเขือเทศ โรคใบปื้นเหลือง และโรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคแอนแทรคโนสของมะม่วงและพริกทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าของพืชผักสลัดและผักกินใบต่างๆที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร (ระบบไฮโดรโพนิกส์) และจากผลการวิจัยล่าสุดพบว่าการแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนใช้หว่านลงในนาข้าว ช่วยลดการเกิดโรคเมล็ดด่าง เมล็ดลีบ ของข้าวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด ตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์และน้ำหนักเมล็ด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ด้วย และเพิ่มอัตราการงอกให้เมล็ดพันธุ์ต่างๆ ด้วยการแช่เมล็ดก่อนเพาะหรือขยายพันธุ์

สายพันธุ์เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่นำมาใช้ควรเป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกและทดสอบประสิทธิภาพในการควบคุมโรคอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว เป็นเชื้อราปฏิปักษ์หรือเชื้อราที่เป็นศัตรูต่อเชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิดได้ โดยมีกลไกในการต่อสู้กับเชื้อสาเหตุโรคพืช เชื้อราไตรโคเดอร์มาบางสายพันธุ์สามารถชักนำให้พืชสร้างกระบวนการผลิตสารประเภทเอนไซม์หรือโปรตีน ซึ่งมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรคได้ แต่ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซับซ้อนหรอกค่ะ ท่านสามารถซื้อหาเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ที่ผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป มี 4 ชนิดด้วยกัน ดังนี้

สูตรสำเร็จของชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มา

  1. ชนิดผงแห้ง (powder) ได้จากการผสมเชื้อสดกับผงสารพา (carrier) ต่าง ๆ เช่น ไดอะตอมเซียสเอิร์ท เวอร์มิคูไลท์ ไพโรฟิลไลท์ หรือผงดินเหนียว เป็นต้น จากนั้นจึงนำไปตากหรืออบให้แห้งที่อุณหภูมิไม่สูงนัก ก่อนบดเป็นผงละเอียด
  2. ชนิดเม็ด (pellet) ได้จากการใช้สารโพลีเมอร์อินทรีย์บางชนิด เช่น อัลจิเนท โพลีอะครีลาไมด์ หรือคาราจีแนน ห่อหุ้มเม็ดเชื้อ หรือการใช้เชื้อเคลือบบนผิวของสารพาบางชนิด
  3. ชนิดเกล็ด (granule) ได้จากการใช้สปอร์ของเชื้อสดผสมกับสารพาที่ละลายน้ำได้ดี หรือสารแขวนลอยดี ตกตะกอนช้า ทำให้อยู่ในรูปเกล็ดแห้ง
  4. ชนิดเชื้อสด (fresh culture) ได้จากเชื้อสดที่เลี้ยงบนอาหารแข็งเช่น บนเมล็ดข้างฟ่าง จนได้ สปอร์สีเขียวเข้มปริมาณมาก ซึ่งต้องนำไปใช้ทันที หรือเก็บไว้ในตู้เย็น 5-10 องศาเซลเซียสได้ไม่เกิน 30 วัน

ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มารูปแบบที่นิยมผลิตเป็นการค้า คือ ชนิดผงแห้ง ปัจจุบันมีบริษัทเอกชน คือ บริษัท ยูนิซีดส์ จำกัด ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตชีวภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า คือ “ยูนิกรีน ยูเอ็น-1″ และ”ยูนิเซฟ” สำหรับบริษัทเอกชนที่พัฒนาการผลิตชีวภัณฑ์ด้วยตนเอง คือ บริษัทแอพพลายเค็ม จำกัด ผลิตชีวภัณฑ์ ภายใต้ชื่อการค้า “ไตรซาน” ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นได้ผ่านการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เรียบร้อยแล้ว

ตามที่เกริ่นไว้ในตอนต้นว่ามีวิธีการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดมาฝากกัน ติดตามรายละเอียดได้ดังนี้ค่ะ
ข้อดีและข้อจำกัดเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด
ข้อดี

  1. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด มีความพร้อมที่จะเริ่มกิจกรรมได้ทันทีที่ลงสู่ดินซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อ เช่น สามารถเจริญและสร้างเส้นใยภายใน 3 ถึง 5 ชั่วโมง เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค
  2. เชื้อสดจะสามารถเจริญและเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็ว และมีปริมาณมากกว่าเชื้อชนิดผงแห้ง
  3. สามารถผลิตใช้ได้ด้วยตนเองโดยวิธีที่ไม่ยุ่งยาก และมีต้นทุนการผลิตต่ำ
  4. สามารถนำไปใช้ได้หลายวิธีตามความเหมาะสม
  5. เชื้อสดหรือหัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาสามารถเก็บในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 8 ถึง 10 องศาเซลเซียส
  6. หัวเชื้อในขวดที่ใช้ไม่หมด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วนำมาใช้ต่อได้

ข้อจำกัด

  1. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่ผลิตได้ไม่สามารถเก็บรักษาให้คงสภาพเดิมได้ที่อุณหภูมิปกติ ต้องเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิ 8 ถึง 10 องศาเซลเซียส
  2. การเก็บรักษาเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดในตู้เย็นอุณหภูมิ 8 ถึง 10 องศาเซลเซียส ได้ไม่เกิน 30 วัน
  3. เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดเมื่อผสมรำละเอียดและปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเก่า แล้วต้องใช้ให้หมด
  4. ฉีดพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ขั้นตอนการเตรียมยุ่งยากและต้องฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็น ถ้าฉีดพ่นเวลาเช้าหรือบ่ายต้องให้น้ำตามทันที
  5. การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ต้องมีการวางแผนที่ดี เพราะต้องใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเชื้อสด 6 ถึง 7 วัน
  6. หลังใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดลงดินแล้ว ต้องรักษาสภาพความชื้นในดินอย่างต่อเนื่อง

เมื่อทำการผลิตหัวเชื้อแล้วนำไปใช้ จะได้ผลสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของหัวเชื้อเป็นสำคัญค่ะ
หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ดีควรมีคุณสมบัติต่างๆ ดังนี้

  1. ไม่กลายพันธุ์
  2. ไม่มีจุลินทรีย์ปนเปื้อน
  3. มีคุณภาพ และประสิทธิภาพควบคุมโรคพืชสูง
  4. ผลิตโดยองค์กร หรือบริษัทที่เชื่อถือได้ มีการประกันคุณภาพ

การผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด (หัวเชื้อ)

  • วัสดุและอุปกรณ์
  • หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติ
  • แก้วน้ำ หรือถ้วยตวง
  • ทัพพีตักข้าว
  • ถุงพลาสติกใสทนร้อน (ใหม่) ขนาด 8 X 12 นิ้ว
  • ยางวง
  • เข็มเย็บผ้า หรือเข็มหมุด หรือเข็มกลัด
  • ปลายข้าว ข้าวหัก หรือข้าวสาร (ใช้ได้ทุกพันธุ์ ทั้งข้าวใหม่หรือข้าวเก่า)
  • หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์ชนิดผงแห้ง

วิธีทำ

  1. ใส่ปลายข้าว 3 ส่วน (แก้ว) ลงในหม้อหุงข้าวไฟฟ้า
  2. เติมน้ำสะอาด 2 ส่วน (แก้ว) แล้วกดสวิทช์ (ถ้าข้าวนิ่มหรือข้าวใหม่ ให้ใช้ข้าว 2 ส่วนและน้ำ 1 ส่วน)
  3. เมื่อข้าวสุก (ข้าว 600 กรัมใส่น้ำ 0.5 ลิตร จะได้ข้าวสุก ประมาณ 1 กิโลกรัม) ใช้ทัพพีซุยข้าวในหม้อที่สุกแล้วให้ทั่ว
  4. ตักข้าวสุกในขณะที่ข้าวยังร้อนอยู่ใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ 250 กรัม ต่อถุง (ข้าว 1 กิโลกรัม ใส่ได้ 4 ถุง)
  5. รีดอากาศออกจากถุง แล้วพับปากถุงลงด้านล่าง ปล่อยทิ้งไว้ให้ข้าวอุ่น (เกือบเย็น)
  6. เทหรือเหยาะหัวเชื้อใส่ลงบนข้าวในถุงหัวเชื้อในบริเวณที่ลมสงบ หัวเชื้อราไตรโคเดอร์มาบริสุทธิ์ชนิดผงแห้ง 1 ขวด (20 กรัม) ใส่ได้ 16 ถุง (4 กิโลกรัม)
  7. รัดยางตรงปลายปากถุงให้แน่น แล้วขยำหรือบีบข้าวในถุงเบาๆ เพื่อให้ถุงเชื้อกระจายอย่างทั่วถึง (จะสังเกตเห็นผลเชื้อสีดำกระจายในเนื้อข้าว)
  8. รวบถุงให้มีลมพองตรงบริเวณปากถุงที่รัดไว้ แล้วใช้เข็มสะอาดแทงตรงรอบๆ บริเวณปากถุงที่รัดยางไว้ โดยแทง 15 ถึง 20 ครั้ง ต่อถุง

วิธีการบ่มเชื้อ

  1. กดข้าวในถุงให้แผ่กระจายทั่วถุงในลักษณะแบนราบมากที่สุด
  2. วางถุงข้าวในบริเวณที่ได้รับแสงสว่างจากธรรมชาติหรือหลอดไฟที่ใช้ในบ้าน (ระวังมด แมลง หรือสัตว์มารบกวน) และอย่าให้ถูกแสงแดดโดยตรง บ่มทิ้งไว้ 2 วัน
  3. เมื่อบ่มครบ 2 วัน ขยำข้าวในถุงเบาๆ ให้ข้าวเกิดการคลุกเคล้าอีกครั้ง เพื่อช่วยให้เส้นใยกระจายตัว กดข้าวให้แผ่แบนราบเช่นเดิม แล้วดึงกลางถุงให้โป่งขึ้น
  4. บ่มเชื้อต่ออีก 4 ถึง 5 วัน จะเห็นเชื้อสีเขียวปกคลุมเมล็ดข้าว ให้นำไปใช้ทันทีหรือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา (8 ถึง 10 องศาเซลเซียส)

การเก็บรักษาเชื้อสด

  • เมื่อบ่มเชื้อครบกำหนด 6 ถึง 7 วัน จะเห็นสปอร์สีเขียวเข้มของเชื้อราไตรโคเดอร์มา ขึ้นปกคลุมปลายข้าวในถุงอย่างหนาแน่น ซึ่งอาจมองไม่เห็นสีขาวของเมล็ดข้าว แต่ถ้าเกิดความผิดพลาด เช่น ขยำเชื้อไม่กระจายทั่วทั้งถุง หรือเจาะรูให้อากาศเข้าถุงน้อยไป อาจพบว่าข้าวบริเวณก้นถุงยังคงเป็นสีขาว ให้แก้ไขโดยการใช้เข็มเจาะรูตรงปลายปากถุงเพิ่ม แล้วบ่มเชื้อต่ออีก 2 ถึง 3 วัน
  • เชื้อที่เจริญทั่วถุงดีแล้ว ให้นำไปใช้ทันที สำหรับกรณีที่ไม่สามารถใช้เชื้อได้ทันที ให้นำถุงเชื้อรวมใส่ถุงพลาสติก แล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา (8 ถึง 10 องศาเซลเซียส) สามารถเก็บเชื้อไว้ได้เป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน

ข้อควรระวังในการผลิตเชื้อชนิดสด

  1. ควรหุงปลายข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติเท่านั้น เพราะการใช้หม้อหุงข้าวชนิดที่ใช้แก๊ซ อาจทำให้ข้าวไหม้ หรือการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำมักได้ข้าวที่แฉะเกินไป ปลายข้าวที่หุงจนสุกด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้าจะมีลักษณะเป็นไตขาวอยู่บ้าง จัดเป็นลักษณะที่ดี
  2. ต้องตักปลายข้าวที่หุงแล้วใส่ถุงพลาสติก ขณะที่ข้าวกำลังร้อน เพื่อให้ความร้อนในถุงข้าวทำลายจุลินทรีย์จากอากาศที่อาจปนเปื้อนอยู่ในถุงข้าว
  3. การใช้เข็มแทงรอบบริเวณปากถุงที่รัดยางไว้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ควรแทงไม่น้อยกว่า 15 จุด ต่อถุง เพราะถ้าอากาศไม่สามารถระบายถ่ายเทได้ดี เชื้อจะเจริญไม่ทั่วทั้งถุง (ก้นถุงยังเห็นข้าวเป็นสีขาว)
  4. ควรบ่มเชื้อไว้ในบริเวณที่ร่มและเย็น (อุณหภูมิระหว่าง 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส) ไม่ถูกแสงแดด และให้เชื้อได้รับแสงสว่างอย่างพอเพียงอย่างน้อย 10 ถึง 12 ชั่วโมง ต่อวัน หรือตลอด 24 ชั่วโมง แสงจะช่วยกระตุ้นการสร้างสปอร์ของเชื้อราไตรโคเดอร์มา บริเวณที่วางเชื้อมีแสงไม่พอเพียง อาจใช้แสงไฟจากหลอดฟลูโอเรสเซนต์ (นีออน) ช่วยได้
  5. อย่าลืมขยำข้าวเมื่อบ่มเชื้อครบ 2 วัน (หลังใส่เชื้อ) และกดข้าวให้แผ่แบนราบมากที่สุดอีกครั้งหลังขยำข้าวแล้ว ดึงถุงให้โป่งขึ้นเพื่อมีอากาศในถุงห้ามวางถุงทับซ้อนกัน
  6. ป้องกันอย่าให้ มด แมลง หรือสัตว์มากัดแทะถุงข้าว
  7. ถ้าพบเชื้อสีชมพู สีส้ม สีเหลือง หรือสีดำ ในถุงเชื้อใด ให้นำถุงเชื้อดังกล่าวไปทิ้งขยะ หรือทิ้งใส่หลุมชนิดฝังกลบ โดยไม่ต้องเปิดปากถุง
  8. ไม่ควรใช้เชื้อสดที่ได้จากการเลี้ยงเชื้อบนข้าวสุกเป็นหัวเชื้อเพื่อการผลิตขยายเชื้อต่อไป เพราะจะเกิดการปนเปื้อน และเชื้อจะเสื่อมคุณภาพและประสิทธิภาพ

ปัญหาที่พบในการผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดและการแก้ไข

  • เชื้อไม่เจริญบนข้าวในถุงหรือครบ 7 วัน มีสาเหตุจากข้าวแฉะหรือนิ่มเกินไป สามารถแก้ไขโดยปรับลดน้ำที่ใช้หุงข้าวลง
  • เชื้อยังไม่มีสีเขียว เนื่องจากมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน แก้ไขโดยใส่เชื้อลงถุงขณะที่ข้าวอุ่น
  • บริเวณก้นถุงไม่มีสปอร์สีเขียว เนื่องจากข้าวแฉะบริเวณก้นถุง ให้ปรับลดน้ำที่ใช้หุงข้าวลง หากเจาะรูน้อยเกินไป ให้ใช้เข็มเจาะรูเพิ่มหรือดึงถุงให้โป่ง แต่ถ้าไม่ได้ใส่หัวเชื้อหรือไม่ได้เจาะรู ให้ใส่หัวเชื้อ หรือเจาะรูทันทีที่ตรวจพบ
  • เกิดเหงื่อเป็นหยดน้ำในถุง เนื่องจากวางถุงข้าวในห้องที่ร้อน สามารถแก้ไขโดยวางถุงข้าวในที่ร่มและอากาศถ่ายเทดี (การเกิดเหงื่อไม่มีปัญหาใด ๆ)
  • สปอร์ไม่เขียวเข้ม เนื่องจากได้รับแสงสว่างไม่พอเพียง ให้เพิ่มแสงนีออน 12 ชั่วโมง.หรือหากขยับถุงบ่อยเกินไป ให้แก้ไขโดยหลังบ่ม 2 วัน บีบคลุกเคล้าข้าวในถุงแล้วอย่าขยับถุงอีก
  • มีเชื้อสีส้ม / เขียวดำในถุงข้าว แสดงว่ามีจุลินทรีย์ปนเปื้อน ให้นำถุงไปทิ้งโดยไม่ต้องแกะออก
  • เชื้อขึ้นเขียวแล้วกลับมีเส้นใยขาว เนื่องจากเชื้ออายุเกิน 7 วัน วางไว้ในอุณหภูมิห้องจนสปอร์งอกใหม่ ดังนั้น เมื่อบ่มเชื้อครบ 6 ถึง 7 วันแล้วต้องเก็บถุงเชื้อในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 8 ถึง 10 องศาเซลเซียส

เมื่อผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดเชื้อสดแล้ว ศึกษาวิธีใช้และรายละเอียดอื่นๆ ได้ในบทความ “การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด นะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.chumphon.doae.go.th, งานวิจัยด้านพืช โดยจิระเดช แจ่มสว่าง และ ดร.วรรณวิไล อินทนู ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *