สูตรปุ๋ยหมัก

สูตรปุ๋ยหมัก

สูตรปุ๋ยหมัก ที่ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมานี้ เป็นสูตรการทำปุ๋ยหมักที่ใช้วัสดุเหลือใช้ หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นของแต่ละคน ประหยัดต้นทุน และยังช่วยลดขยะ รักษาสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย อาทิ เช่น การนำผักตบชวามาทำปุ๋ยหมัก ช่วยลดวัชพืชน้ำ, การนำก้อนเชื้อเห็ดเก่ามาทำปุ๋ยหมัก ช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์โรค
ท่านที่สนใจการทำปุ๋ยหมัก ลองศึกษา สูตรปุ๋ยหมัก เหล่านี้ดูนะคะ แล้วพิจารณาดูว่าวัสดุในท้องถิ่น หรือใกล้บ้านเรามีอะไรที่นำมาทำปุ๋ยหมักได้บ้าง
สูตรปุ๋ยหมัก มีดังนี้ :

ในภาพอาจจะมี ต้นพืช, ต้นไม้ และ สถานที่กลางแจ้ง

ปุ๋ยหมักผักตบชวา—ถึงแม้ว้าผักตบชวาจะมีข้อเสีย คือ แพร่พันธุ์ได้เร็วมากก็ตาม แต่ผักตบชวามีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชบนดินทุกชนิด โดยเฉพาะ ธาตุโปแตสเซียมสูง รองลงมาคือ ธาตุไนโตรเจน และ ธาตุฟอสฟอรัส, ยังช่วยป้องกันวัชพืชให้กับพืชบนดินได้, เปลี่ยนดินเหนียวและดินทรายเป็นดินร่วน, ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น, รักษาความชุ่มชื้นและถ่ายเทอากาศในดินได้ดี, ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี, ช่วยพืชละลายธาตุอาหารบางอย่างให้ง่ายขึ้น, ไม่เป็นอันตรายต่อดิน ผักตบชวาที่นำมาทำปุ๋ยหมักได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง ซึ่งแบบสดมีข้อดี คือทำให้กองปุ๋ยมีความชื้นตลอด รดน้ำน้อยลง
วิธีทำปุ๋ยหมักผักตบชวาแบบสด
1.ใช้ผักตบชวาเพียงอย่างเดียว—แบบนี้ไม่ยุ่งยาก แต่ใช้เวลาย่อยสลายค่อนข้างนาน
วิธีทำ
รวบรวมผักตบชวาตามปริมาณที่ต้องการมากองรวมกัน กว้างไม่เกิน 4 เมตร สูงไม่เกิน 3 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่และปริมาณผักตบชวา แล้วย่ำให้แน่นๆ ปล่อยทิ้งไว้ รอเวลาให้กองปุ๋ยย่อยสลายประมาณ 2 ถึง 3 เดือน
2.ใช้รวมกับวัสดุหลายชนิด—ถ้ามีผักตบชวาน้อย หรืออยากให้เป็นปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น ก็นำวัสดุอื่นๆ เช่น เศษหญ้า ใบไม้ พืชผัก จะเป็นแบบสดหรือแห้งก็ได้ มาผสมรวมกัน
วิธีทำ
1.นำเศษวัสดุแห้งอื่นๆ วางกองไว้ชั้นล่างสุด จากนั้น วางทับด้วยผักตบชวา กองกว้างไม่เกิน 2 เมตร สูง 50 เซนติเมตร ย่ำให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม โรยมูลสัตว์ 1 ใน 5 ส่วนของเศษพืชทับ ทำซ้ำกันแบบนี้ 3 ชั้นต่อ 1 กองๆ สูงไม่เกิน 1.50 เมตร
2.ชั้นบนสุด โรยดินหรือมูลสัตว์ทับอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว คลุมกองปุ๋ยหมักด้วยฟางข้าวหรือทางมะพร้าว
3.กลับกองทุกๆ 15 วัน ใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 เดือน ปุ๋ยจะย่อยสลายเป็นสีดำคล้า ให้นำไปใช้ได้
นอกจากนี้ สามารถนำผักตบชวาสดมาคลุมดิน เมื่อสลายตัว จะกลายเป็นอาหารให้แก่พืชผักที่ปลูกได้
วิธีทำปุ๋ยหมักผักตบชวาแบบแห้ง
1.นำผักตบชวาไปตากแดดประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ ตามปริมาณที่ต้องการ
2.ทำกองกว้าง 2 ถึง 3 เมตร สูง 50 เซนติเมตร ย้ำให้แน่น โรยมูลสัตว์ประมาณ 1-2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม ทำเป็นชั้นๆ ด้วยขั้นตอนเดิมจนกองสูงไม่เกิน 1.50 เมตร ชั้นบนสุดโรยทับด้วยดินหรือมูลสัตว์ หนา 1 นิ้ว คลุมกองด้วยฟางข้าว หรือทางมะพร้าว
3.กลับกองทุกๆ 15 วัน หมั่นตรวจกองปุ๋ยโดยสอดมือเข้าไปในกองลึกๆ หยิบปุ๋ยคอกมาบีบ ถ้ามีน้ำทะลัก หรือมือเปียก แสดงว่า กองปุ๋ยชื้นเกินไป ให้กลับกอง ถ้ามีน้ำติดมือเล็กน้อยแสดงว่าความชื้นของกองปุ๋ยพอเหมาะ แต่ถ้าไม่มีน้ำติดที่มือเลย ให้รดน้ำ วัสดุทุกอย่างจะย่อยสลายภายในเวลา 1 ถึง 2 เดือน จึงเป็นปุ๋ยหมักที่นำไปใช้ได้ สังเกตลักษณะว่าวัสดุที่อยู่ในกองปุ๋ยเป็นปุ๋ยหมัก หรือนำไปใช้ตามหัวข้อ ปุ๋ยหมักที่นำไปใช้ได้ จากบทความ การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก และ การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักจากกากอ้อย—เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ใกล้โรงงานทำน้ำตาล ใช้กากอ้อยหรือขี้ตะกรันอ้อย 100 ส่วน ต่อปุ๋ยคอก หรือ ขี้ตะกรันอ้อย หรือ หน้าดินจากกองหญ้า กองฟาง หรือกองปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้ว ผสมกันให้ได้ 10 ส่วน
วิธีทำ
1.นำกากอ้อยมาวางกองบนพื้นกว้าง ยาว ประมาณ 2 ถึง 3 เมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ย้ำให้แน่น
2.โรยปุ๋ยคอก หรือขี้ตะกรันอ้อย อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผสมกันหนาประมาณ 1 ถึง 2 นิ้ว
3.ทำเป็นชั้นๆ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งกองปุ๋ยสูง 1 ถึง 15 เมตร
4.ชั้นบนสุดให้หว่านหน้าดินหนาประมาณ 1 นิ้ว
5.รดน้ำให้ชุ่ม คอยระวังไม่ให้น้ำในกองปุ๋ยแห้งหรือแฉะเกินไป หมั่นตรวจกองปุ๋ยโดยสอดมือเข้าไปในกองลึกๆ หยิบปุ๋ยคอกมาบีบ ถ้ามีน้ำทะลัก หรือมือเปียก แสดงว่า กองปุ๋ยชื้นเกินไป ให้กลับกอง ถ้ามีน้ำติดมือเล็กน้อยแสดงว่าความชื้นของกองปุ๋ยพอเหมาะ แต่ถ้าไม่มีน้ำติดที่มือเลย ให้รดน้ำ
6.กลับกองปุ๋ยทุก 7 ถึง 10 วัน ถ้าไม่มีเวลา หรือแรงงานในการกลับกอง ควรทำช่องระบายอากาศไว้ในกองปุ๋ย แต่จะได้ปุ๋ยหมักช้ากว่าการกลับกอง
7.ปุ๋ยหมักที่ได้จากกากอ้อยนี้จะให้ธาตุอาหารหลักทั้ง 3 ธาตุ คือ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปุ๋ยหมักก้อนเห็ด

ปุ๋ยหมักจากก้อนเชื้อเห็ดเก่า—โดยการนำก้อนเชื้อเห็ดเก่าที่เหลือทิ้งหลังการเพาะเห็ดมาใช้ให้เป็นประโยชน์
วิธีทำ
1.ฉีกถุงก้อนเชื้อเห็ดเก่า แล้วทุบวัสดุในถุงให้ละเอียด แล้วผสมกับเศษวัสดุที่สับเป็นชิ้นเล็กแล้ว ทั้งสดและแห้งให้ได้ปริมาณ 3 ส่วน
2.ผสมปุ๋ยขี้นกสด หรืออื่นๆ ที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง 3 ส่วน
3.ผสมปุ๋ยขี้ไก่สด หรืออื่นๆ ที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสสูง 3 ส่วน
4.ผสมกับปุ๋ยขี้วัวสด หรืออื่นๆ ที่ให้ธาตุโปแตสเซียมสูง 3 ส่วน
5.นำส่วนผสมทั้งหมดมากอง กว้าง ยาว และสูง ด้านละ 1 เมตร คลุมทับด้วยใบตอง
6.หลังจากนั้น 3 หรือ 4 วัน ตรวจดูความร้อนในกองปุ๋ย ถ้าไม่ร้อน ให้เติมมูลสัตว์ลงไป
7.กลับกองปุ๋ยทุก 2 วัน รอจนกระทั่งกองปุ๋ยย่อยสลายจึงนำไปใช้
ปุ๋ยหมักจากกากน้ำตาลและขี้เป็ด—หรือ สูตรโบกาชิ ใช้สำหรับต้นชวนชม
ส่วนผสม
ขี้เป็ด 1 ส่วน
แกลบดิบ 1 ส่วน
รำละเอียด 1 ส่วน
น้ำ 9 กิโลกรัม ผสมกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม
อีเอ็ม (EM) 100 ซีซี
วิธีทำ
1.กองเศษวัสดุทุกอย่าง คลุกให้เข้ากัน รดน้ำที่ผสมกับกากน้ำตาลไว้ลงไปในกอง แล้วคลุกให้เข้ากัน
2.ตรวจความชื้นว่าพอเหมาะหรือไม่ ถ้าความชื้นน้อยให้ผสมน้ำตามสูตรเดิมรดเพิ่มลงไปในกอง แล้วคลุกให้เข้ากันอีกครั้ง
3.ใช้กระสอบป่านคลุมกองไว้
4.กลับกองวันละ 1 ถึง 2 ครั้ง นาน 7 วัน ถ้าความร้อนลดลงจนรู้สึกว่า กองปุ๋ยหมักไม่ร้อนแล้ว ก็นำมาใช้ได้
วิธีใช้ในการปลูกชวนชม
-โบกาชิ 1 ส่วน
-ดินทราย 1 ส่วน
-กาบมะพร้าวสับหยาบ 1 ส่วน
ปุ๋ยหมัก เทียบเคียงปุ๋ยเคมี โดยครูชาตรี ต่วนศรีแก้ว
เป็นการทำปุ๋ยหมัก โดยวัตถุดิบที่ใช้นำมาใช้ผลิตปุ๋ยหมักเทียบเคียงปุ๋ยเคมีสูตรต่างๆ
โดยปกติปุ๋ยหมักโดยทั่วไปมักมีคุณสมบัติและปริมาณแร่ธาตุน้อยกว่าสารเคมี ทำให้พืชจะตอบสนองช้า ต้องใส่ในปริมาณมาก มีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน ครูชาตรี ต่วนศรีแก้ว จึงได้ทดลองทำปุ๋ยหมัก ให้มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับปุ๋ยเคมี ดังนี้
1.ปุ๋ยหมักสูตร 16-16-16 และปุ๋ยหมักชีวภาพสูตร 15-15-15
วัตถุดิบต่อส่วนผสม
-รำอ่อน 1 ส่วน
-ดินดี 1 ส่วน
-แกลบดิบ 1 ส่วน
-แกลบดำ 1 ส่วน
-มูลสัตว์ 1 ส่วน
-พืชตระกูลถั่ว 1 ส่วน
2. ปุ๋ยหมักสูตร 16-20-0
วัตถุดิบต่อส่วนผสม
-รำอ่อน 1 ส่วน
-ดินดี 2 ส่วน
-แกลบดิบ 4 ส่วน
-แกลบดำ 4 ส่วน
-มูลสัตว์ 4 ส่วน
-พืชตระกูลถั่ว 4 ส่วน
ขั้นตอนและวิธีการทำปุ๋ยหมัก
1.นำส่วนผสมทั้งหมด (ยกเว้นรำอ่อน ให้ใส่หลังสุด) คลุกให้เข้ากัน
2.เกลี่ยส่วนผสมออกเป็นวงกลม แล้วนำน้ำหมักที่ผสมไว้แล้วราดลงไปให้ทั่วกองปุ๋ยโดยให้เปียกพอประมาณ ความชื้นประมาณ 60% อัตราส่วนในการ ผสมน้ำหมักชีวภาพ นำกากน้ำตาล 2 ช้อนแกงลงผสมกับน้ำหมัก 2-8 ช้อน แล้วเติมน้ำ 20 ลิตรคนให้เข้ากันนำใส่บัวรดน้ำรดกองปุ๋ย
ข้อแนะนำและควรปฏิบัติ
1.ในการผสมปุ๋ยและเก็บปุ๋ยควรทำในร่มหรือในโรงเรือน
2.ในระยะ 7 วันแรกปุ๋ยจะมีความร้อนสูง ควรพลิกกลับปุ๋ยทุกวันในระยะ 2-7 วันแรก
3.การเก็บปุ๋ยไม่ควรซ้อนกันเกิน 5 ชั้น
4.หลังจากปุ๋ยคลายความร้อนแล้วนำไปใช้งานได้
5.น้ำที่ใช้ผสมกับกากน้ำตาล หรือน้ำหมักให้ใช้น้ำซาวข้าวแทนได้ จะทำให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การผลิตปุ๋ยหมักสูตร ‘โคบาชิ’ เทียบเคียงปุ๋ยเคมี 46-0-0
วัสดุสำหรับการผลิตปุ๋ยสูตรเทียบเคียงปุ๋ย 46-0-0(โบโบชิ)
– รำ 1 กระสอบ
– แกลบดิบ 1 กระสอบ
– มูลไก่ 1 กระสอบ
– ขี้ค้างคาว 6 กิโลกรัม
– น้ำหมักชีวภาพ พด.2 หรือ EM
– กากน้ำตาล
วิธีการทำ
– ผสมรำ แกลบดิบ มูลไก่ ขี้ค้างคาว คนให้เข้าด้วยกันกองบนพื้นราบ
– ใช้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 ถ้าไม่มีให้ใช้ EM พร้อมกับใช้กากน้ำตาลรดบนกองขณะผสมวัสดุทำปุ๋ยให้ได้ความชื้นที่ 60 % วัดความชื้นที่เหมาะสมได้จากการกำวัสดุที่ผสมแล้วให้แน่นแล้วปล่อยให้อยู่ใน อุ้งมือ ถ้าความชื้น 60 % จะติดกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน
– ตักปุ๋ยที่ได้บรรจุใส่ในกระสอบฟาง อย่าใส่จนเต็มกระสอบ จากนั้นมัดปากกระสอบ เก็บเข้าไว้ในที่ร่ม หมั่นกลับกระสอบทุกวัน โดยวันแรกวางกระสอบไว้แนวนอน
– จากนั้นกลับกระสอบไปมาวันละ 1 ครั้งจนครบ 7 วัน ในวันที่ 7 ให้วางกระสอบในแนวตั้งจากนั้นเปิดปากกระสอบระบายความร้อนทิ้งไว้อีก 1 คืน จะได้ปุ๋ยหมักโบโบชิสามารถนำไปใช้ได้
วิธีการนำไปใช้
– ใช้หว่านบนแปลงปลูกพืช ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อ 1 ตารางเมตรแทนการใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0
ที่มาโดย ครูชาตรี ต่วนศรีแก้ว
ปุ๋ยหมักพระราชทาน

สูตรปุ๋ยหมักพระราชทาน

สูตรปุ๋ยหมักพระราชทาน

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานวิธีการทำปุ๋ยหมักเป็นองค์ความรู้ให้กับปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรชาวไทย ทั้งประเทศ ดังพระราชดำริ

“ต้นไม้ทุกชนิดต้องการอาหาร เพื่อการเจริญเติบโต พูดง่าย ๆ เราต้องใส่ปุ๋ย ไร่นา สวน ของเรา พืชผล จึงจะงามดี เดี๋ยวนี้ปุ๋ย ที่ซื้อตามท้องตลาดแพงเหลือเกิน เรามาทำปุ๋ยหมักใช้เองดีกว่า”

วิธีทำของที่ต้องเตรียม
1. ซากพืช ได้แก่ ใบไม้ ผักตบชวา หญ้าแห้ง ลำต้นถั่ว ลำต้นข้าวโพด ใบ และต้นมันสำปะหลัง กระดูกปอ ตามที่มี สับเป็นท่อน ๆ สั้น ๆ ให้เปื่อยเร็ว
2. ปุ๋ย
ก.ปุ๋ยคอก คือ มูลสัตว์ ขี้วัว ขี้ควาย ขี้เป็ด ขี้ไก่ ขี้ค้างคาว อะไรก็ได้
ข.ปัสสาวะคน หรือสัตว์
ค.กากเมล็ดนุ่น , กากถั่ว, ซากต้นถั่วชนิดต่าง ๆ (พืชตระกูลถั่ว)
3. ดินร่วน พอสมควร ถ้าเป็นหน้าดินยิ่งดี
การกองปุ๋ย
1. กองในหลุม ต้องขุดหลุมขนาดกว้างราว 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ระวังดินพังทลายลงในหลุม ถ้ามีการระบายน้ำได้ยิ่งดี
2. กองในคอก ปรับดินบริเวณที่จะกองปุ๋ยหมักให้แน่น ใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นที่ทำได้ กั้นเป็นคอกกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร สูง 1 เมตร แบ่งคอกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งไว้ใส่ปุ๋ยหมัก อีกครึ่งหนึ่งไว้กลับกองปุ๋ย ทำหลังคาใบจากหรือใบมะพร้าวคลุมหลังคา ถ้ามีถุงพลาสติกคลุมกันฝนชะปุ๋ยก็ดี
3. เอาซากพืชที่เตรียมไว้กองเกลี่ยในคอก (หรือในหลุม) ให้เป็นชั้น เหยียบตามขอบให้แน่นขนาดคนเหยียบแล้วไม่ยุบอีก ชั้นหนึ่ง ๆ สูงราว 1 คืบ (30 ซม.) รดน้ำให้ชุ่ม แล้วเอาปุ๋ยคอกโรยทับให้ทั่วกัน สูง 2 องคุลี (5 ซม.) ถ้ามีปุ๋ยเคมี (สูตร 16-20-0 หรือ 14-14-14, แอมโมเนียมซัลเฟต หรือยูเรีย) ก็โรยบาง ๆ ให้ทั่ว แล้วทับด้วยดินละเอียดหนาประมาณ 1 องคุลี สลับด้วยซากพืชแล้วรดน้ำทำเป็นชั้น ๆ อย่างนี้จนปุ๋ยเต็มคอก (น้ำที่รดจะผสมด้วยปัสสาวะด้วยก็ได้)
ข้อควรระวัง
1. อย่าให้มีน้ำขัง การรดน้ำมากไปจะทำให้ระบายอากาศไม่ดี
2. ปุ๋ยกองใหญ่ไปจะเกิดความร้อนสูง ปุ๋ยจะเสีย ถ้าในกองปุ๋ยมีความร้อนสูงไปให้เติมน้ำลงไปบ้าง
3. ปุ๋ยกองเล็กไป จะสลายตัวช้า
4. อย่าใช้ปุ๋ยเคมีพร้อมกับใส่ปูนขาว จะทำให้ธาตุไนโตรเจนสลายตัวการกลับปุ๋ย
ทุก 30 วัน ควรกลับกองปุ๋ย โดยเอาชั้นบนสุดของกองนำไปเกลี่ยในอีกส่วนของคอกเป็นชั้นล่างสุด แล้วเอาชั้นสองเกลี่ยทับแล้วรดน้ำ ควรกลับปุ๋ย (ทุก 30 วัน) จนกว่าซากพืชจะเปื่อยผุหมดทั้งกอง กินเวลา 3-4 เดือน เมื่อปุ๋ยใช้ได้ สังเกตจากความร้อนในกองจะใกล้เคียงกับความร้อนของอากาศ ปุ๋ยหมักจะเป็นสีน้ำตาลแก่ เอาตะแกรงร่อนปุ๋ยหมักเก็บไว้
การใช้ประโยชน์
ประหยัดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ครึ่งหนึ่ง ทำให้ดินร่วน อุดมสมบูรณ์ เพิ่มธาตุไนโตรเจน ไม่เป็นอันตราย รักษาความชุ่มชื้นของดิน
หมายเหตุ ถ้าที่เป็นดินทรายใช้อิฐกรุในหลุม จะทำให้ได้ผลดีขึ้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(ดัดแปลงข้อมูลจาก https://www.thaikasetsart.go.th, https://www.rakbankerd.go.th, https://chanaview.wordpress.com, https://www.ldd.go.th, หนังสือ ล้ำยุคกับ…นวัตกรรมปุ๋ยหมัก โดย อภิชาต ศรีสะอาด)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *