การทำปุ๋ยหมัก

การทำปุ๋ยหมัก

ในภาพอาจจะมี ต้นพืช, อาหาร และ สถานที่กลางแจ้ง

เริ่มต้น การทำปุ๋ยหมัก โดยเลือกสถานที่ที่เหมาะสม :

  • อยู่ใกล้กับแหล่งวัสดุให้มากที่สุดเพื่อความสะดวกในการขนย้าย
  • อยู่ใกล้แหล่งน้ำใช้ แต่ไม่อยู่ใกล้แหล่งน้ำดื่ม
  • เป็นที่ดอน น้ำท่วมไม่ถึง

เตรียมวัสดุ การทำปุ๋ยหมัก ให้พร้อม ตามรายการเหล่านี้ :

  • ซาก เศษวัสดุที่ทำเป็นชิ้นเล็กๆ แล้ว
  • มูลสัตว์ หรือปุ๋ยคอก ช่วยย่อยสลาย
  • ปุ๋ยเคมี เพิ่มธาตุอาหาร และช่วยย่อยสลาย
  • ปูนขาว ประมาณ 20 กิโลกรัม ต่อซากพืชแห้ง 1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม ช่วยปรับความเป็นกรด-เป็นด่าง
  • อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น เช่น พลั่ว, ไม้หรืออุปกรณ์ทำคอก( ในกรณีที่ กองในคอก )

ก่อนลงมือทำปุ๋ยหมัก ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ :

เศษวัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยหมัก ไม่ควรใช้เศษวัสดุที่สลายตัวเร็วและสลายตัวช้าปนไว้ในกองเดียวกัน ปุ๋ยหมักที่ได้ไม่สม่ำเสมอ เศษวัสดุที่สลายตัวช้า เช่น แกลบ ขี้เลื่อย รำ กากอ้อย ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพด ปนกองเดียวกันได้ ส่วนเศษวัสดุที่สลายตัวเร็ว เช่น ฟางข้าว ผักตบชวา เปลือกถั่ว ต้นถั่ว ใบไม้ วัชพืช แยกไปปนกันต่างหากอีกหนึ่งกอง

การใช้ปูนขาว ไม่ควรใช้ปูนขาวพร้อมกับปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะถ้าเลือกใช้ฟางข้าว ไม่จำเป็นต้องใช้ปูนขาวเลย จะทำให้ขาดธาตุไนโตรเจน 

ขนาดของกองปุ๋ยหมัก ควรกว้างไม่เกิน 2 ถึง 3 เมตร สูงไม่เกิน 1 ถึง 1.50 เมตร ส่วนความยาวนั้นไม่จำกัด แล้วแต่พื้นที่ที่มีอยู่ กองปุ๋ยหมักที่ใหญ่เกินไป ความร้อนก็จะสูงจุลินทรีย์จะตาย แต่ถ้าเล็กเกินไป เก็บความร้อนและความชื้นไว้ได้ไม่ดี เศษวัสดุสลายตัวช้า ได้ปุ๋ยหมักช้า

ในภาพอาจจะมี สถานที่กลางแจ้ง และ ธรรมชาติ

การกองวัสดุ จะทำใน 2 ลักษณะ คือ
1.กองเป็นชั้น—เหมาะกับวัสดุชิ้นใหญ่
ส่วนผสมในการทำกองปุ๋ยหมัก 1 ตัน
เศษวัสดุแห้ง 1,000 กิโลกรัม
มูลสัตว์ หรือปุ๋ยคอก 200 กิโลกรัม
ปุ๋ยเคมี ธาตุไนโตรเจน 2 กิโลกรัม
สารเร่งซุปเปอร์ พด.1–1 ซอง
วิธีทำ
1. ผสมสารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ในน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ 15 นาที
2. นำเศษวัสดุแห้งมากอง หนาประมาณ 30-40 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เหยียบให้แน่น
3. ใส่มูลสัตว์แห้ง หนาประมาณ 2 นิ้ว
4. ใส่ปุ๋ยเคมี ธาตุไนโตรเจน
5. ราดสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ที่ละลายไว้ให้ทั่ว (แบ่งใส่ให้ครบทุกชั้น)
6. ทำอีก 3 ชั้น ด้วยขั้นตอนเดียวกัน แล้วใส่ดินร่วนด้านบนสุด หนาประมาณ 1 นิ้ว คลุมปิดทับด้วยเศษวัสดุที่เหลือ
7. กลับกองปุ๋ยสัปดาห์ละครั้ง เพื่อระบายอากาศ เพิ่มออกซิเจน และคลุกเคล้าวัสดุให้เข้ากัน
8. เก็บรักษากองปุ๋ยหมักที่เสร็จแล้วไว้ในโรงเรือน ไม่ให้ถูกแดดและฝน

2.ผสมทุกอย่างรวมกัน—ใช้กับวัสดุขนาดเล็ก ค่อนข้างละเอียด ผสมกับมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 คลุกเคล้าเข้าด้วยกัน รดน้ำพอชุ่มขณะคลุกเคล้า
หลักการทำปุ๋ยหมัก
1.ปุ๋ยหมักในไร่นา
2.ปุ๋ยหมักเทศบาล
3.ปุ๋ยหมักอุตสาหกรรม
แต่ชนิดที่นิยมทำกันมากที่สุด คือ ปุ๋ยหมักแบบในไร่นา ซึ่งเหมาะกับเกษตรกร และผู้อ่านที่ต้องการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในกิจกรรมพืชสวนเล็กๆ ภายในบริเวณบ้าน หรือเป็นรายได้เสริม
ปุ๋ยหมักแบบไร่นา มีวิธีการทำ 5 แบบ ซึ่งผู้อ่านสามารถเลือกทำตามความพร้อม ความสะดวกได้ดังนี้ :
1.ปุ๋ยหมักค้างปี—ถ้าเราไม่ค่อยมีเวลาว่าง สามารถเลือกใช้หลักการนี้เพราะไม่ต้องดูแลรักษา และใช้เพียงแค่เศษพืชมาหมักไว้ค้างปีก็นำมาใช้ได้
2.ปุ๋ยหมักธรรมดาใช้มูลสัตว์—โดยใช้มูลสัตว์ 100 กิโลกรัม ต่อ เศษพืช 1,000 กิโลกรัม ถ้าใช้วัสดุชิ้นเล็กๆ ใช้วิธีทำกองผสมทุกอย่างรวมกันได้ แต่ถ้าใช้วัสดุชิ้นใหญ่ ดูภาพตัวอย่าง: การทำกองปุ๋ยหมัก แต่ตัดชั้นปุ๋ยเคมีออก ถ้าใช้ฟางข้าว ใช้เวลาหมัก 6-8 เดือน
3.ปุ๋ยหมักธรรมดาใช้ปุ๋ยเคมี—ใช้เศษพืช 1,000 กิโลกรัม มูลสัตว์ 100 ถึง 200 กิโลกรัม ปุ๋ยเคมี 1 ถึง 2 กิโลกรัม การทำกอง ทำเหมือนกับแบบที่ 2 แต่ตัดสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ออก แบบนี้ใช้เวลาการหมักเพียง 4 ถึง 6 เดือน เพราะมีปุ๋ยเคมีมาช่วยย่อยสลาย
4.ปุ๋ยหมักแผนใหม่ หรือ แบบใช้สารเร่งประเภทจุลินทรีย์—ศึกษาค้นคว้าโดย กรมพัฒนาที่ดิน โดยใช้สารเร่งหรือจุลินทรีย์ ที่ใช้ผลิตปุ๋ย เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1, ไบโอนิค เอฟ 60 และเชื้อจุลินทรีย์ อีเอ็ม (EM) เป็นต้น แต่ต้องกลับกองทุก 7 ถึง 10 วัน แบบนี้ใช้เวลาเพียง 1 ถึง 1 เดือนครึ่ง ก็เป็นปุ๋ยหมัก
5.ปุ๋ยหมักแบบใช้ปุ๋ยหมักต่อเชื้อ—ใช้ปุ๋ยหมักที่มีสภาพสมบูรณ์ คือ ไม่ตากแดดตากลม ความชื้นเหมาะสม มาต่อเชื้อเป็นจุลินทรีย์ช่วยย่อย แต่มีข้อจำกัดของการต่อเชื้อ คือทำได้เพียง 3 ครั้ง แบบนี้ใช้ เศษพืช 1,000 กิโลกรัม ปุ๋ยหมัก 200 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม กองเป็นชั้นๆ ตามตัวอย่างในรูป แต่โรยปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยหมักที่มีอายุ 10 ถึง 15 วัน เพิ่มลงไป และต้องไม่ลืมว่า แต่ละชั้นต้องย่ำให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม
รูปแบบการกองปุ๋ยหมัก มีรูปแบบการกองอยู่ 4 แบบ
1.กองบนพื้นดินธรรมดา  เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด พื้นจะเป็นดินหรือเทปูนก็ได้ แต่ต้องไม่มีน้ำขังหรือน้ำท่วม ทำที่กันแดด กันลม กันฝุ่น เพื่อป้องกันการสูญเสียของธาตุอาหาร และชลอการระเหยของน้ำ
2.กองในคอกถ้าจะทำปุ๋ยหมักเป็นการถาวร คอก จะช่วยกันการคุ้ยเขี่ยของสัตว์ต่างๆ และดูเป็นระเบียบ
3.กองในหลุมเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ หลุมจะลึกประมาณ 1 เมตร และควรทำหลุมเผื่อสำหรับการกลับกองไว้
4.กองโดยไม่ต้องพลิกกลับกอง หรือ กองรูปสามเหลี่ยมสูง 1.50 เมตร (วิศวกรรมแม่โจ้ 1)  ทำกองเป็นรูปสามเหลี่ยม (ติดตามวิธีการทำกองได้ใน สูตรการทำปุ๋ยหมัก จากวัสดุต่างๆ)
การสลายตัวของวัสดุในการทำปุ๋ยหมัก

เมื่อจุลินทรีย์ย่อยสลายเศษซากวัสดุ สิ่งที่ตามมากับกระบวนการย่อยสลายคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ ความร้อน และอินทรียวัตถุ การย่อยสลายแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 อุณหภูมิปานกลาง อยู่ที่ 30 ถึง 40 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วัน ย่อยสลายสารประกอบของวัสดุต่างๆ ที่ละลาย หรือย่อยสลายง่าย เช่น น้ำตาล แป้ง และโปรตีน
ระยะที่ 2 อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 50 ถึง 60 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 2 วัน จนถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับความแข็งของวัสดุที่ใช้
ระยะที่ 3 อุณหภูมิลดลงสู่ปกติ วัสดุทุกอย่างถูกย่อยสลายจนเป็นปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์

ทำกองปุ๋ยหมักเสร็จแล้ว ติดตามบทความ การดูแลรักษากองปุ๋ยหมัก และ การใช้ประโยชน์จากปุ๋ยหมัก ต่อเลยนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(ดัดแปลงข้อมูลจาก หนังสือ ล้ำยุคกับ…นวัตกรรมปุ๋ยหมัก โดย อภิชาติ ศรีสะอาด, http://www.greenpeace.org, http://mordin.ldd.go.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *