โรคพริก

โรคพริก

โรคพริก มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และไส้เดือนฝอย การนำเสนอบทความนี้ ผู้เขียนมีจุดประสงค์ให้ผู้ปลูกพริก หรือเกษตรกรได้เรียนรู้สาเหตุการเกิดโรคต่างๆ การป้องกัน และการกำจัด โรคพริก อย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพ ไม่เกิดความเสียหาย และได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าแก่การลงทุน โรคพริก มีหลายโรคด้วยกัน หากดูแลต้นพริกหลังการปลูกไม่สม่ำเสมอหรือไม่ทั่วถึงแล้ว ก็จะพบกับอาการของโรคพริก ดังนี้

โรคแอนแทรกโนส หรือโรคกุ้งแห้ง
โรคนี้มีสาเหตุมาจากเชื้อรา ลักษณะแผลจะเป็นจุดฉ่ำน้ำรูปวงรีหรือรูปไข่ และแผลจะขยายได้กว้างอย่างไม่มีขอบเขต จากนั้นแผลจะบุ๋มลึกเป็นสีน้ำตาล และมีจุดสีดำเรียงซ้อนกันในแผล และแผลอาจมีเมือกสีส้มอ่อน ผลพริกจะโค้งงอหรือหดย่นคล้ายกุ้งแห้ง ในขั้นรุนแรง จะทำให้กิ่งแห้ง เชื้อโรคนี้สามารถติดไปกับเมล็ดพันธุ์ ปลิวไปตามลม หรือตกค้างในดิน และสามารถระบาดได้อย่างรวดเร็วในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิระหว่าง 27 ถึง 30 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์

การป้องกันและกำจัด

  • เลือกเมล็ดพันธุ์ที่ไม่เป็นโรค
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมี เช่น สารแมนโคเซป หรือ สารคาร์เบ็นดาซิม ก่อนปลูกเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์ หรือแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที
  • ควรเว้นระยะห่างตามความเหมาะสมเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดี ต้นพริกได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง และง่ายต่อการกำจัดโรค
  • ควรพ่นสารเคมี หรือน้ำหมักสมุนไพรป้องกันโรค ช่วงที่ต้นพริกออกดอกจนถึงช่วงที่ติดผล
  • ตัดกิ่งหรือผลที่เป็นโรคไปทำลายด้วยการเผา เพื่อลดเชื้อสาเหตุให้น้อยลงหากพบการระบาดของโรค และใช้สารเคมีหรือน้ำหมักสมุนไพรกำจัดโรคฉีดพ่นให้ทั่ว (ติดตามได้ในบทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร)

โรคเน่าเปียก
มีเชื้อราเป็นสาเหตุให้เนื้อเยื่อของยอดอ่อน ใบอ่อน ตาดอก และดอก เน่าเละ และเป็นสีน้ำตาลดำ โดยลุกลามจากยอดลงมา ใบจะไหม้มีสีน้ำตาลดำอย่างรวดเร็วและลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ซึ่งความชื้นในแปลงที่สูงจะทำให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรงได้

  • การป้องกันและกำจัด
    เว้นระยะปลูกที่เหมาะสม ไม่ปลูกต้นพริกชิดจนเกินไป ทำให้การระบายอากาศไม่ดี มีความชื้นสูง
  • ดูแลตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ไม่แน่นทึบจนเกินไป
  • หากพบกิ่งที่เป็นโรค ให้ตัดและนำไปเผาทำลาย แล้วใช้สารเคมี เช่น สารไตรโฟรีน สารประกอบทองแดง หรือสารไทอะเบนดาโซล ฉีดพ่นกำจัดโรค หรือใช้น้ำหมักสมุนไพรกำจัด

โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราฟูซาเรียม อ๊อกซี่สปอร์รั่ม (Fusarium oxysporum)
โรคนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีการปลูกพริกซ้ำที่เดิมเป็นเวลานาน เพราะเชื้อราอาศัยอยู่ในซากต่างๆ ในดินได้ดี เริ่มจากเข้าทำลายส่วนราก หรือลำต้นที่ระดับคอดินหรือใต้ดิน เมื่อรากเน่า ใบล่างจะเหลืองและลุกลามขึ้นด้านบน เหี่ยว และร่วงหล่น อาการรุนแรงได้ถึงขั้นยืนต้นตาย มักเกิดโรคในระยะออกดอกและติดผล

การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกซ้ำที่เดิมเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องปลูกซ้ำที่เดิม ควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น หรือ กำจัดซากพืชออกจากพื้นที่เพาะปลูก แล้วไถพรวนดินเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
  • ปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และเพิ่มจุลินทรีย์ในดินด้วยการใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล ในอัตรา 200 ถึง 400 กิโลกรัม ต่อไร่ และใส่อินทรียวัตถุในอัตรา 2 ถึง 4 ตัน ต่อไร่
  • ถอนต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงปลูก แล้วใช้สารเมตาแลกซิล หรือสารอีทริไดอะโซล หรือสารพีซีเอ็นบีผสมอีทริไดอะโซล หรือสารชีวภัณฑ์ราดดินบริเวณที่ต้นที่ถอนออกไป

โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟโธร่า แคพไซไค (Phytophthora capsici)
โคนต้นและรากจะเน่า เกิดอาการเหี่ยวในระยะติดผล ผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ เนื้อผลเป็นสีดำ ในขั้นรุนแรง จะเข้าทำลายเมล็ด และยืนต้นตาย

การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกซ้ำที่เดิมเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องปลูกซ้ำที่เดิม ควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว เป็นต้น หรือ กำจัดซากพืชออกจากพื้นที่เพาะปลูก แล้วไถพรวนดินเพื่อลดการสะสมเชื้อโรค
  • ปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดิน และเพิ่มจุลินทรีย์ในดินด้วยการใส่ปูนขาว หรือปูนมาร์ล ในอัตรา 200 ถึง 400 กิโลกรัม ต่อไร่ และใส่อินทรียวัตถุในอัตรา 2 ถึง 4 ตัน ต่อไร่
  • ก่อนปลูกต้นกล้า ใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ผสมเชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์มา หรือเชื้อบาซิลลัส อัตรา 80 ถึง 150 กรัม รองก้นหลุม
  • หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนออกไปเผาทำลายนอกแปลง และพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดโรค เช่น สารเมทาแลกซิล หรือ สารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม

โรคเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อแบคทีเรียจะเข้าทำลายทางรอยแผลที่เกิดจากการเขตกรรม หรือแผลที่เกิดจากการเข้าทำลายของแมลงหรือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในดิน ทำให้เกิดอาการเหี่ยวเขียวกระจายเป็นกลุ่มๆ ยอดและกิ่งใบจะลู่ลงในช่วงกลางวัน และฟื้นตัวในช่วงกลางคืน ในขั้นรุนแรง จะเหี่ยวและยืนต้นตายขณะที่ใบยังเขียวอยู่ได้ภายใน 2 ถึง 3 วัน

การป้องกันและกำจัด

  • ถอนต้นที่เป็นโรคออกไปทำลายด้วยการเผา
  • ไถตากดินเพื่อทำลายเชื้อ
  • ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์แข่งขันในดิน
  • ปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ข้าวโพด หรือพืชตระกูลถั่ว

โรครากเน่าและโคนเน่า
โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากราเมล็ดผักกาด ทำให้ต้นกล้าเน่า หรือทำให้ต้นที่เจริญเติบโตแล้วเกิดอาการใบเหลือง เหี่ยว ร่วง และยืนต้นตาย

การป้องกันและกำจัด

  • กำจัดเศษซากต้นพริกและวัชพืชออกจากแปลงปลูกให้หมด หลังการเก็บเกี่ยว ไม่ควรไถกลบ
  • เมื่อกำจัดเศษต่างๆ ออกไปหมดแล้ว จึงไถพลิกดิน และตากดินไว้อย่างน้อย 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างอยู่ในดิน
  • ควรปลูกพืชหมุนเวียน ก่อนปลูกพริกรอบต่อไป
  • ใส่ปูนขาวและอินทรียวัตถุให้ดิน เพื่อปรับสภาพดินและช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดิน
  • แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่นอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส นานประมาณ 30 นาที และ/หรือคลุกสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา
  • ตรวจสอบต้นกล้าก่อนการย้ายปลูก เพื่อให้แน่ใจว่าต้นกล้ามีความแข็งแรงและปลอดโรค
  • รองก้นหลุมปลูกต้นกล้าด้วยสารเชื้อราไตรโคเดอร์มา ฮาเซียนัม หรือผงจุลินทรีย์บาซิลลัส ซับติลิส
  • ควรปลูกพริกในระยะห่างที่เหมาะสม ไม่ควรปลูกชิดกันเกินไป
  • หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบอาการของโรคปรากฏ หรือพบการระบาดให้รีบกำจัดในทันทีโดยการถอนต้นพริกไปเผาทำลาย จากนั้นขุดดินบริเวณหลุมปลูกออกไปนอกแปลงแล้วใช้ สารเทอร์ราคลอร์ หรือสารเทอร์ราคลอร์ซุปเปอร์เอ๊กซ์ พ่นหรือราดดินเพื่อกำจัดเชื้อ หรือคลุกดินบริเวณหลุมปลูกด้วยสารเชื้อราไตรโคเดอร์มา

โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CVMV (Chilli veinal mottle virus)
เชื้อไวรัสชนิดนี้ทำให้เนื้อใบด่างเขียวซีด โดยเฉพาะในส่วนของปลายใบ ในขั้นรุนแรง ใบจะเล็ก ลีบ เปลี่ยนรูปร่าง ใบยอดหด สั้น ร่วงง่าย ต้นพริกจะชะงักการเจริญเติบโต ให้ผลผลิตน้อยลง ขนาดผลเล็กลง ผลด่าง รูปร่างบิดเบี้ยวและผิวผลขรุขระ แพร่เชื้อโดยการสัมผัสโดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะ เชื้อไวรัสสาเหตุของโรคนี้มีพืชอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น ต้นลำโพง ต้นยาสูบ และมะเขือเทศ

การป้องกันและกำจัด

  • ถอนทำลายต้นพริกที่เป็นโรคใบด่างไปเผาทำลาย และกำจัดเศษซากต้นพริกออกไปทำลายให้หมดด้วยเช่นกัน
  • ป้องกันและกำจัดเพลี้ยอ่อนด้วยการฉีดพ่นสารสกัดจากพืช เช่น สะเดา หางไหล สาบเสือ ตะไคร้หอม และดาวเรือง ผสมกับน้ำผสมผงซักฟอกเจือจาง หรือน้ำยาล้างจานเจือจาง
  • หมั่นตรวจสอบแปลงปลูก หากพบการเกิดโรคให้รีบกำจัดก่อนแพร่ระบาด
  • กำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูกเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของแมลงพาหะ
  • ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก

โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัสPVY (Potato virus Y)
เริ่มจากเส้นใบบวม ใส, ใบด่าง หด ย่น, ต้นแคระแกร็น, ผลผลิตลดลง, ขนาดผลเล็กลง ด่าง และรูปร่างผิดปกติ มีเพลี้ยอ่อนเป็นแมลงพาหะเช่นเดียวกันกับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CVMV และมีพืชอาศัย คือ ต้นยาสูบ และมะเขือเทศ

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดโรคด้วยวิธีเดียวกันกับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CVMV
  • ไม่ควรปลูกพริกสายพันธุ์ที่อ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคร่วมกับพืชอาหารของเชื้อสาเหตุของโรคนี้ เช่น มันฝรั่ง ยาสูบ และมะเขือเทศ

โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CMV ( Cucumber mosaic virus)
ทำให้ใบพริกด่าง มีสีเขียวอ่อนสลับสีเขียวเข้ม หรือสลับสีเหลือง หรือจุดสีเหลืองกระจายตามใบ ต้นแคระแกร็น ไม่ออกดอก ใบเล็กลง ผลมีจุดสีเหลืองซีด ผิวผลหยาบ ผลมีรูปร่างผิดปกติ มีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรค และมักเกิดการระบาดร่วมกับพืชตระกูลแตง

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดโรคด้วยวิธีเดียวกันกับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CVMV
  • ไม่ควรปลูกพริกสายพันธุ์ที่อ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคร่วมกับพืชตระกูลแตง
  • ถอนต้นและกำจัดเศษซากต้นพริกที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • กำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อน

โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส TEV (Tobacco etch virus)
เกิดอาการเส้นใบมีลักษณะใส เป็นแถบ ใบและผลด่างเป็นวงซ้อน ส่วนเนื้อเยื่อเป็นวงแห้งสีเหลือง ผลมีรูปร่างและขนาดที่ผิดปกติ ใบอ่อนที่แตกมาใหม่มีขนาดเล็กลง ใบด่าง หด ย่น อาจเกิดอาการรากแห้ง เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้นเหี่ยว ใบร่วง และต้นตายภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ มีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรค

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดโรคด้วยวิธีเดียวกันกับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CVMV
  • ไม่ควรปลูกพริกสายพันธุ์ที่อ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคร่วมกับพืชตระกูลแตง
  • ถอนต้นและกำจัดเศษซากต้นพริกที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • กำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อน

โรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัสAMV (Alfalfa mosaic virus)
ใบพริกจะด่างเป็นสีเหลืองซีดถึงขาวสลับกับสีเขียวเข้ม เส้นใบเหลืองซีด ผลบิดเบี้ยว และแห้งตายในที่สุด มีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกันกับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดโรคด้วยวิธีเดียวกันกับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส CVMV
  • ไม่ควรปลูกพริกสายพันธุ์ที่อ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคร่วมกับพืชตระกูลแตง
  • ถอนต้นและกำจัดเศษซากต้นพริกที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • กำจัดวัชพืชไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อน

 

โรคใบหงิกเหลือง
เกิดจากเชื้อไวรัสใบหงิกเหลือง ที่ทำให้ใบพริกด่างเหลือง และโปร่งแสงระหว่างเส้นใบหรือเส้นใบเหลืองเป็นร่างแหบริเวณโคนใบและขอบใบ ใบโค้งงอคล้ายรูปถ้วย กลางใบหงิกย่น ผลผลิตลดลง ต้นพริกหยุดการเจริญเติบโต โรคนี้มีแมลงหวี่ขาวเป็นพาหะ พบระบาดมากในช่วงฤดูแล้ง โดยมีพืชอาศัยหลายชนิด เช่น กระเจี๊ยบมอญ แตงกวา พืชตระกูลถั่วบางชนิด บวบเหลี่ยม พริก ฟักเขียว ฟักทอง มะเขือเทศ มะระจีน กระทกรก ครอบจักรวาล พันงูเขียว มะเขือยักษ์ ไม้กวาด สาบแร้งสาบกา ผักแครด และหญ้ายาง

การป้องกันและกำจัด

  • เลือกพันธุ์พริกที่มีความต้านทานต่อโรค
  • ใช้แผ่นพลาสติกสีบรอนซ์คลุมแปลงเพื่อไล่แมลง ลดการระบาดของแมลงพาหะ โดยควบคุมวัชพืชและทำกับดักกาวเหนียว
  • หมั่นสำรวจ หากพบต้นพริกที่มีอาการของโรค ให้ทำการถอนออกทั้งต้น ไปเผาทำลาย
  • กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งอาศัยและสะสมเชื้อไวรัส
  • ใช้สารเคมี เช่น สารอิมิดาโคลพริด หรือสารคาร์โบซัลแฟน หรือสารอะซีเฟท หรือสารไบเฟนธรินหรือใช้น้ำหมักสมุนไพรกำจัดแมลงหวี่ขาว
  • ปลูกพืชพมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก

 

โรคใบจุดตากบ
มีเชื้อสาเหตุคือ เชื้อรา ทำให้เกิดแผลวงกลมหรือทางยาว มีขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม เนื้อแผลสีน้ำตาลอ่อน กลางแผลสีเทา หรือขาวที่บริเวณ ใบ ลำต้น ผล และก้านผล ในขั้นรุนแรง แผลจะขยายติดกันทำให้ใบไหม้ หรือหลุด พบการระบาดในสภาพอากาศร้อนชื้น มีลมและสัตว์เป็นพาหะ เชื้อสาเหตุของโรคนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานในซากพืช ในดิน และเมล็ดพันธุ์

 

การป้องกันและกำจัด

  • ไม่ควรปลูกต้นพริกแน่นหรือชิดกันจนเกินไป ควรปลูกเว้นระยะตามคำแนะนำในบทความ การปลูกพริก เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ช่วยลดความชื้น และป้องกันโรค
  • เมื่อพบการเกิดโรค ให้รีบกำจัดในทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
  • ในการกำจัดโรคนั้น ให้ลดการให้น้ำ และพ่นสารเคมีป้องกันและกำจัดโรค เช่น สารแมนโคเซป หรือสารมาเนบ หรือสารเบนโนมิล หรือน้ำหมักสมุนไพร

โรคลำต้นไหม้
โรคนี้เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีเชื้อราเป็นสาเหตุ อาการเริ่มจากรอยไหม้สีดำบริเวณลำต้น
การป้องกันและกำจัด

  • ไถพลิกดิน และตากทิ้งไว้อย่างน้อย 7วัน ก่อนทำแปลงปลูก
  • จัดการระบบระบายในแปลงปลูกให้ดี ระวังอย่าให้มีน้ำท่วมขัง
  • ระวังอย่าให้น้ำจากแปลงปลูกต้นพริกที่เป็นโรคไหลผ่านแปลงที่ไม่เป็นโรค
  • ถอนต้นพริกที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • ใช้เชื้อปฏิปักษ์ คือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา และแบคทีเรียบาซิลลัส ซับทีลิส หรือ สารเมตาแลคซิล หรือสารคลอโรทาโลนิล หรือสารฟอสฟอริคแอสิค

 

โรคกุ้งแห้งเทียม
เกิดจากเชื้อรา เริ่มต้นอาการที่ด้านบนของใบเป็นแผลกลมสีน้ำตาล อาจมีขอบสีเหลืองหรือวงสีน้ำตาลซ้อนกันคล้ายโรคกุ้งแห้ง โรคนี้มักเกิดที่ผลมากกว่าที่ใบ บริเวณรอยเจาะของแมลงวันผลไม้ หรือเนื้อเยื่อที่บาง ผลจะเปลี่ยนเป็นสีขาวซีดและแห้งจากการขาดธาตุแคลเซียมและโบรอน ในสภาวะอากาศชื้น มักเกิดเส้นใยคล้ายกำมะหยี่สีดำปกคลุมแผล

 

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันผล จากการเกิดบาดแผล
  • ดูแลและบำรุงต้นพริกให้ได้รับธาตุอาหารครบถ้วน
  • ใช้สารเดอโรซาน หรือสารรอฟรัสในการป้องกันและกำจัดโรค

โรคราแป้ง
เกิดจากเชื้อราที่มักระบาดในฤดูหนาว สังเกตเห็นอาการเริ่มต้นที่มีผงคล้างแป้งสีขาวปกคลุมใบแก่ส่วนล่างของลำต้น หรือส่วนอื่นๆ เช่น ยอดอ่อน ใบอ่อน หรือผลอ่อน ให้ผิดรูปร่าง และดูดน้ำเลี้ยงทำให้เหลืองและต้นแห้งตาย

การป้องกันและกำจัด

  • กำจัดซากพืช และวัชพืชในแปลงให้หมด
  • ใช้สารไดโนแคป สารไตรโฟรีน และสารเบโนมิล กำจัด

 

โรครากปม
เกิดจากไส้เดือนฝอย ใช้ปากแทงเนื้อเยื่อแล้วดูดน้ำเลี้ยงจากรากเป็นอาหาร ทำให้ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลงและขนาดเล็กลง รากเป็นผม และเน่า ต้นแคระแกร็น เหี่ยว ใบเหลือง จุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคอื่นๆ เข้าทำลายต้น และต้นตายได้ การแพร่ระบาดของไส้เดือนฝอยนั้น จะไปกับดิน น้ำ ต้นกล้า และเครื่องมือที่ใช้ในแปลงปลูกที่มีไส้เดือนฝอย

 

การป้องกันและกำจัด

  • โรยแกลบหรือฟางแห้งให้ทั่วพื้นที่เพาะปลูก หนาประมาณ 5 เซนติเมตร จากนั้นเผาแกลบหรือฟางให้ทั่วพื้นที่นาน 8 ชั่วโมง (อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ 600 องศาเซลเซียส) แล้วใช้ดินโรยเพื่อดับไฟ เมื่อดินเย็นจึงเริ่มทำแปลง และทำการเพาะปลูกตามปกติ
  • หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนต้นพริกไปเผาทำลาย
  • ก่อนและหลังปลูกควรไถพลิกหน้าดินตากแดดทิ้งไว้อย่างน้อย 7 วัน
  • หากพบการระบาดของไส้เดือนฝอย ไม่ควรใช้เครื่องมือการเกษตรจากบริเวณที่พบการระบาดร่วมกับพื้นที่อื่น
  • ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก ช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอย
  • ปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วลิสง หรือปอเทือง ปลูกดาวเรืองและงา สลับกับพริกประมาณ 1 ถึง 2 ครั้ง เพื่อตัดวงจรชีวิตไส้เดือนฝอย
  • ใช้เชื้อจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ในการกำจัด เช่น เชื้อรา Paecilomyces lilacinus หรือ เชื้อแบคทีเรีย Pasteuria penetrans

อย่าพลาดติดตามบทความ แมลงศัตรูพริก และ บทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร นะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *