แมลงศัตรูพริก

แมลงศัตรูพริก

แมลงศัตรูพริก ที่พามาแนะนำให้รู้จักกันในบทความนี้ เป็นศัตรูที่เกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี แต่สำหรับเกษตรกรมือใหม่ หรือผู้ที่สนใจจะปลูกพริกไว้รับประทานในครัวเรือนหรือเป็นอาชีพเสริมนั้น อย่าคิดว่า ความเผ็ดของพริก เป็นเกราะป้องกันแมลงต่างๆ ได้…พริก มีศัตรู ไม่น้อยไปกว่าพืชผักอื่นๆ และไม่ว่ารสชาติของพริก จะเผ็ดร้อนขนาดไหน ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะได้พบกับ แมลงศัตรูพริก หากผู้ปลูกไม่ดูแลเอาใจใส่ ป้องกัน หรือรีบกำจัดในทันทีที่พบเห็น ถ้าท่านผู้อ่านได้ติดตามบทความ โรคพริก มาก่อนแล้ว ก็เป็นที่ทราบดีว่า ผลที่ได้ควบคู่กันกับการป้องกันและกำจัด แมลงศัตรูพริก คือ ช่วยป้องกันโรคพริกที่มีแมลงเป็นพาหะ ได้อีกหลายโรค…แบบนี้เรียกว่า ‘ยิงปืนนัดเดียว ได้นกหลายตัว’…เห็นแบบนี้แล้วคงอยากรู้จักแมลงศัตรูพริกกันแล้วสินะคะ

แมลงศัตรูพริกที่สำคัญ มีดังนี้

เพลี้ยไฟพริก

เพลี้ยไฟพริก

เพลี้ยไฟพริก

เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็ก มีลำตัวยาวประมาณ 1.5 ถึง 2.0 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอมเหลือง หรือสีน้ำตาลเข้ม ตัวเต็มวัยมีปีกบินได้ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริกนี้มีประสิทธิภาพทำลายต้นพริกได้เท่าๆ กัน ด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงที่เนื้อเยื่อบริเวณ ยอดอ่อน ใบ ตาดอก ดอก และผลอ่อน ใบพริกจะหงิก งอ บิด ม้วน เหลือง แห้ง กรอบ และร่วงหล่น ส่วนผล จะงอเปลี่ยนรูป พบระบาดในสภาวะอุณหภูมิสูง ความชื้นต่ำ อากาศแห้ง แดดจัด และลมแรง พืชอาหารของเพลี้ยไฟพริก ได้แก่ พริก ถั่วลิสง เงาะ มังคุด ทุเรียน มะม่วง มะขาม มะละกอ ลิ้นจี่ ลำไย และส้ม    ศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยไฟพริก ได้แก่ ด้วงเต่าห้ำ ไรตัวห้ำ แมงมุมใยกลม และแมงมุมตาหกเหลี่ยม

การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในช่วงที่มีเพลี้ยไฟพริกระบาดมาก
  • บำรุงและดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • ช่วงอากาศแล้ง ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่าต้นพริกให้ขาดน้ำ
  • เมื่อพบเห็นอาการผิดปกติของต้นพริกตามลักษณะที่กล่าวไว้ข้างต้น ให้รีบสำรวจ หากพบตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัยของเพลี้ยไฟพริก ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำหมักสมุนไพร (ติดตามสูตรน้ำหมักสมุนไพรกำจัดเพลี้ยไฟพริกได้ในบทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร) หรือ สารคาร์บาริล หรือสารโพรไทโอฟอส หรือสารอิมิดาโคลพริด หรือสารพิโปรนิล ให้ทั่วต้นพริก
  • กำจัดวัชพืช และเศษซากพืชบริเวณแปลงปลูกทั้งหมด เพื่อกำจัดแหล่งอาศัยของเพลี้ยไฟพริก

รูปจาก : สวนเกษตรผสมผสาน นครปฐม

ไรขาวพริก
ลำตัวของไรขาวพริกนั้นมีสีขาว ตัวผู้จะเคลื่อนไหวได้เร็วกว่าตัวเมียและตัวอ่อน พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน อากาศชื้น หรือระยะแตกใบอ่อน โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน หรือยอดอ่อนของต้นพริกทำให้ใบหงิก ขอบใบม้วนลง ยอดแตกเป็นฝอย ใบเล็กลง หนา แต่เปราะ ใต้ใบเป็นสีน้ำตาล ใบร่วงหล่น ต้นพริกชะงักการเจริญเติบโต ไม่ติดผล พืชอาหารของไรขาวพริก ได้แก่ พริก ชา ถั่วเขียว บวบ เบญจมาศ ฝ้าย มะม่วง ส้มโอ และส้มเขียวหวาน ศัตรูธรรมชาติของไรขาวพริก ได้แก่ ไรตัวห้ำ

การป้องกันและกำจัด

  • บำรุงและดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • สำรวจแปลงปลูกทุกๆ 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด หรือช่วงที่ต้นพริกเริ่มแตกใบอ่อน ถ้าพบเห็นไรขาวพริกให้ทำการฉีดพ่นด้วยสารเคมีป้องกันและกำจัดไร เช่น กำมะถัน เป็นต้น หรือใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น

เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนเป็นพาหะของเชื้อไวรัสที่ทำให้ใบด่าง ซึ่งหากสังเกตอาการแบบผิวเผินอาจคิดว่าเป็นโรคใบด่าง แต่เพลี้ยอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบอ่อนทำให้ใบด่าง เส้นใบย่น รูปร่างของใบผิดปกติ มีเชื้อเชื้อราสีเทาดำคลุมใบหรือกิ่ง เนื่องจากเชื้อราสีเทาดำนี้มากินของเสียที่เพลี้ยอ่อนขับออกมาเป็นอาหาร

เพลี้ยอ่อนพริก

เพลี้ยอ่อนพริก

การป้องกันและกำจัด

  • หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในช่วงที่มีเพลี้ยอ่อนระบาด
  • พ่นสารสกัดจากพืช หรือน้ำหมักสมุนไพร หรือสารเคมีกำจัดแมลง
  • ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มมีความโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เป็นแหล่งอาศัยของเพลี้ยอ่อนและแมลงอื่นๆ
  • กำจัดวัชพืช และเศษซากพืชบริเวณแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ

 

 

แมลงวันผลไม้
เข้าทำลายผลพริกโดยการวางไข่ที่ผลอ่อน ฟักตัวเมื่อผลสุก แล้วกัดกินรกภายในผลพริก ทำให้เปลี่ยนสีเป็นสีดำ ซึ่งจะเห็นรอยหรือตัวหนอนในผลพริกได้ เนื้อผลมีแผลสีน้ำตาล ฉ่ำน้ำและร่วง พืชอาหารของแมลงวันผลไม้ ได้แก่ พริกขี้หนู มะเขือพวง มะแว้งต้น มะแว้งเครือ มะเขือยาว และยี่เข่ง

การป้องกันและกำจัด

  • ถ้าพบผลพริกเน่า หรือเสียหาย ให้เก็บออกจากแปลงปลูกแล้วนำไปทำลายด้วยการเผา
  • บำรุง และดูแลให้ต้นพริกมีความสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ตลอด
  • ปลูกพืชที่ไม่ใช่พืชอาหารของแมลงวันผลไม้ สลับกับการปลูกพริก
  • วางเหยื่อพิษที่เป็นองค์ประกอบโปรตีนไฮโดรไลเสท หรือเหยื่อพิษโปรตีนออโตไลเสทที่บนใบหรือใต้ใบ หรือฉีดพ่นด้วยสารปิโตรเลียมสเปรย์ออยล์

หนอนกระทู้ผัก
เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืนที่พบการระบาดตลอดทั้งปี วางไข่บนยอดอ่อนของต้นพริก ฟักออกจากไข่เมื่อใดก็จะทำลายต้นพริกทันที ด้วยการกัดกินใต้ใบ กัดกินดอก และผลอ่อน หนอนกระทู้ผักอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มพืชอาหารของหนอนกระทู้ผัก ได้แก่ กล้วยไม้ กะหล่ำปลี ฝ้าย ถั่วเหลือง กุหลาบ เผือก มะระ หน่อไม้ฝรั่ง องุ่น ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ และหอมแดง ศัตรูธรรมชาติของหนอนกระทู้ผัก ได้แก่ แตนเบียนหนอน มวนพิฆาต มวนเพชฌฆาต และแมลงเบียนหนอนกระทู้ผัก

การป้องกันและกำจัด

  • ดูแลและบำรุงต้นพริกให้สมบูรณ์แข็งแรง
  • หากพบกลุ่มไข่และหนอน ให้นำไปทำลายในทันที อย่าปล่อยให้มีการระบาด
  • ช่วงที่ต้นพริกเริ่มติดผล หรือช่วงที่มีการระบาดมากๆ ให้พ่นสารแลมด้าไซฮา โลทริน หรือสารไซเปอร์เมทริน หรือใช้สารชีวินทรีย์นิวเคลียโพลีฮีโดรซีสไวรัส (NPV)

แมลงวันทองพริก
ตัวเต็มวัยจะวางไข่ในผลพริก เมื่อผลพริกเริ่มสุกหรือเริ่มเปลี่ยนสี หนอนแมลงวันทองพริกจะไชภายในเนื้อผล และเจาะรูออกมาเข้าดักแด้ในดินเมื่อโตเต็มที่ ทำให้ผลเน่าและร่วง

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจแปลงปลูกทุกๆ 7 วัน
  • ใช้กับดัก (กาวเหนียวทาแผ่นพลาสติกหรือฟิวเจอร์บอร์ดสีเหลือง) ในอัตรา 100 กับดัก ต่อไร่ โดยติดระดับเดียวกับทรงพุ่มเพื่อดักผีเสื้อกลางคืน เพลี้ยไฟและแมลงวันทองพริก

 

แมลงหวี่ขาว
เป็นแมลงปากดูด ที่เป็นแมลงศัตรูพริก และเป็น พาหะนำโรคพริก มี 2 ชนิด คือ แมลงหวี่ขาวยาสูบ และแมลงหวี่ขาวใยเกลียว การสำรวจหาแมลงหวี่ขาวนั้น ให้สำรวจบริเวณใต้ใบหรือหลังใบพริก เมื่อแมลงหวี่ขาวดูดกินน้ำเลี้ยงและนำเชื้อไวรัสโรคใบด่างเหลืองเข้าสู่ต้นพริก

 

 

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดของแมลงหวี่ขาวให้รีบกำจัดทันทีโดยใช้ ปิโตรเลียม  สเปรย์ออยล์ 83.9 เปอร์เซ็นต์ อีซี หรือไวท์ออยล์ 67 เปอร์เซ็นต์ อีซี ในอัตราส่วน 150 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นติดต่อกัน 2 ถึง 3 ครั้ง ทุก 7 วัน หรือใช้สารสกัดจากสมุนไพรฉีดพ่น

อย่าพลาดติดตามบทความ เพิ่มรายได้ ด้วย พริกปลอดสาร นะคะ จะได้ร่ำ ได้รวย จากการปลูกพริก

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *