การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น

ปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปุ๋ยหมักใต้โคนต้น

เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี และประหยัดต้นทุนการทำปุ๋ยหมัก ควรเลือก การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น คำว่าวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นนั้น ไม่ว่าในสวน ในบริเวณบ้านของเราจะมีวัสดุเหลือใช้ชนิดใด ก็สามารถนำมาหมักเป็นปุ๋ยได้ทั้งนั้น อาจจะทำไว้ใช้ในครัวเรือน เรือกสวนไร่นาของตัวเอง หรือจำหน่ายเสริมรายได้ ซึ่งไม่ต้องลงทุนมาก ตัวอย่างเช่น ทำสวนลำไย ก็ใช้กิ่งและใบลำไยมาทำปุ๋ยหมัก หรือ กิ่งและใบไม้อื่นๆ ก็นำมาผสมปนเปกันได้ ข้อมูล การทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น ในบทความนี้ ได้มาจากประสบการณ์ตรงของเกษตรกร โดยผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลมาจาก หนังสือ ล้ำยุคกับ…นวัตกรรมปุ๋ยหมัก โดย อภิชาต ศรีสะอาด หรือ ถ้าเกษตรกรอยู่ใกล้พื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมที่มีเศษวัสดุเหลือใช้ ที่นำมาทำปุ๋ยหมักได้ สามารถศึกษาสูตรการทำปุ๋ยหมักเพิ่มเติมจากบทความ เคล็ดลับการทำปุ๋ยหมัก ด้วยวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม สูตรการทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น มีดังนี้ สูตรการทำปุ๋ยหมักโดยใช้กิ่งลำไย ของ คุณดำรงค์ จินะภาศ นายกเทศมนตรีดำบลทากาศเหนือ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ได้คิดพัฒนาวิธีการทำให้ต้นไม้สมบูรณ์ขึ้น โดยใช้วัสดุเหลือใช้อย่างกิ่งและใบลำไย จนได้ สูตรการทำปุ๋ยหมักโดยใช้กิ่งลำไย โดยมีรายละเอียดดังนี้

การทำปุ๋ยหมักใต้โคนต้น
ส่วนผสม
1.กิ่งและใบลำไย 100-200 กิโลกรัม รัศมี 6 เมตร (ปริมาณที่ได้มากน้อยขึ้นอยู่กับการตัดแต่งกิ่ง) หรือเศษพืชอื่นที่หาได้ในท้องถิ่น
2.ปุ๋ยคอก 5 กิโลกรัม ต่อต้น (สำหรับต้นใหญ่ ใส่ได้ 2 ต้น ต่อกระสอบ ถ้าต้นเล็กประมาณ 4 ต้น ต่อกระสอบ) สามารถเลือกใช้ที่หาได้ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นมูลวัว มูลไก่ มูลหมู นำมาใช้ได้ทั้งหมด
3.น้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร หรือ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1
วิธีทำ
1.ตัดแต่งกิ่ง เน้นใบและกิ่งลำไยขนาดไม่เกินนิ้วโป้งมาหมักเพื่อให้ย่อยสลายง่าย (กิ่งใหญ่นำไปทำฟืน) แล้วนำมาสับให้เล็กลงคลุมให้เต็มโคนต้น
2.นำปุ๋ยคอกมาโรยทับกิ่งและใบลำไยให้ทั่ว (เจ้าของสูตรใช้มูลวัวนม เพราะวัวนมต่างจากวัวปกติ คือถูกบำรุงให้มีแร่ธาตุอาหารครบ ทั้งแคลเซียม โปรตีน จะมีธาตุอาหารมากกว่ามูลวัวบ้าน ปีถัดไปจะเปลี่ยนเป็นมูลไก่ ซึ่งมีธาตุอาหารสูงกว่ามูลวัว มูลหมู แต่มีข้อเสียคือ จะทำให้ดินเค็มเพราะมีกรดสูง ดังนั้น แต่ละปีจึงต้องสลับใช้มูลไก่กับมูลวัวเพื่อลดความเป็นกรดลง
3.ระหว่างการหมักให้ตัดหญ้าบ้าง และรดน้ำทุกๆ 5-10 วัน ต่อ 1 ครั้ง คือ รดไปพร้อมกับการรดน้ำต้นไม้นั่นเอง แล้วใส่สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 หรือน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร ปล่อยไปกับน้ำระบบสปริงเกลอร์ หรือราดที่กองปุ๋ยช่วยให้ย่อยสลายวัสดุในกองปุ๋ยหมักได้เร็วขึ้น
ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ควบคู่กับการใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งใบและผลบ้าง ปุ๋ยหมักจะค่อยๆ ย่อยสลาย ทำงานไปเรื่อยๆ จนครบ 1 ปี ปุ๋ยหมักที่สุมอยู่โคนต้นก็จะถูกใช้หมดพอดี ก็ถึงเวลาที่ต้องตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวอีกครั้ง นำมาทำปุ๋ยหมักที่โคนต้นได้อีกครั้งอย่างนี้ทุกปี

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ปุ๋ยหมักบนพื้นที่โล่ง

การทำปุ๋ยหมักบนพื้นที่โล่ง
ส่วนผสม
เหมือนกับวิธีการทำปุ๋ยหมักใต้โคนต้น
วิธีทำ
กองกิ่งและใบลำไยบนพื้นที่โล่งเป็นชั้นแรก ชั้นที่สองโรยปุ๋ยคอกให้ทั่วแล้วใส่กิ่งและใบลำไยเป็นชั้นที่สาม ตามด้วยปุ๋ยคอกอีก ทำสลับกันแบบนี้ให้กองปุ๋ยมีลักษณะเป็นกองแบบสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม หรือกองเป็นภูเขาก็ได้ ความสูงขึ้นอยู่กับความสามารถของคนทำ ระหว่างชั้น ให้ใช้น้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหาร หรือ สารเร่งซุปเปอร์ พด. 1 ราดทุกชั้น หมักไว้ประมาณ 15 วัน ถ้าใบลำไยค่อนข้างย่อยสลายแล้วจึงกลับกองประมาณ 3-4 วัน ต่อ 1 ครั้ง สังเกตลักษณะการย่อยสลาย คือ ใบเริ่มยุ่ยทั่วทั้งกอง แต่ถ้าทำเพื่อจำหน่าย เมื่อย่อยสลายได้ระดับหนึ่ง ต้องนำไปใส่เครื่องโม่ช่วยโม่ให้ละเอียด เพราะหากรอให้ย่อยสลายเองทั้งหมดจะช้า จากนั้น อาจนำไปผสมดินเหนียว ขี้เถ้าแกลบ หรือตามสูตรของแต่ละที่แล้วนำมาอัดเม็ด หรือถ้าหากไม่อัดเม็ดก็สามารถบรรจุถุงนำไปจำหน่ายได้เช่นกัน
หมายเหตุ : กิ่งและใบลำไยค่อนข้างย่อยยากกว่าฟางข้าว เพราะมีซิลิก้าและไขมันในตัว ใช้เวลาหมักประมาณ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย
วิธีใช้
ใช้ปรับปรุง บำรุงดินให้กับต้นลำไย และพืชทุกชนิด สูตรการทำปุ๋ยหมักจากกิ่งกระถิน ต้นแบบการใช้ โรงเรียนวัดเกาะวังไทร จ.นครปฐม โดยตัวแทนโรงเรียนฯ อ.อภิชาติ จาดคล้ายกระถิน เป็นพืชตระกูลถั่วมีธาตุไนโตรเจนสูง จึงเหมาะที่จะนำมาทำปุ๋ยหมัก
ส่วนผสม
กิ่งกระถิน (ชิ้นป่นๆ โดยการใช้เครื่องโม่) 1 ส่วน
มูลสัตว์ ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น (เจ้าของสูตรใช้มูลแพะ มูลม้า และมูลวัว) 1 ส่วน
สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 จำนวน 1 ซอง (1 ซอง ใช้ได้กับกองปุ๋ย 1 ตัน) ผสมน้ำในปริมาณที่เพียงพอในการรดกองปุ๋ยจนชุ่ม
น้ำหมักชีวภาพ
วิธีทำ
1.นำกิ่งกระถินมาใส่เครื่องโม่ให้ย่อยหรือป่นเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปกองในพื้นที่ร่ม (เพราะกลางแดดจะร้อน น้ำจะระเหยเร็วไม่มีความชุ่มชื้น ทำให้การย่อยสลายช้า) ชั้นแรกสูง 30 เซนติเมตร ฐานกว้างเท่าที่ต้องการ
2.โรยมูลสัตว์บนกิ่งกระถินที่กองไว้ชั้นแล้ว เกลี่ยให้ทั่วความสูง 30 เซนติเมตร ทำแบบนี้สลับกันไปจนกองปุ๋ยมีความสูงประมาณ 1.20 เมตร หรือให้มีความสูงที่สามารถเข้ากลับกอง หรือตรวจความชื้นได้สะดวก ทำเป็นกองสี่เหลี่ยม โดยชั้นบนสุดให้ปิดด้วยมูลสัตว์แทนกิ่งกระถิน เพราะช่วยเก็บความชื้นได้ดีกว่า จากนั้น ราดด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ที่ละลายน้ำเตรียมไว้ ราดให้ทั่วกองปุ๋ย
3.ระหว่างที่หมักปุ๋ย ให้รดน้ำทุกๆ 3 วัน (ไม่ใช่สูตรตายตัว ให้ดูจากสภาพกองปุ๋ยถ้ายังมีความชื้นอยู่ สามารถขยับวันรดน้ำออกไปได้ หรือถ้ากองปุ๋ยแห้งเร็วยังไม่ค่อยมีความชื้นในอย่างในช่วงแรกของการเริ่มหมักอาจรดน้ำทุกวันก็ได้) รวมถึงทุกๆ 10 วัน ต้องกลับกองปุ๋ย 1 ครั้ง เพราะในช่วงแรก ความร้อนจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่คอยกลับกองปุ๋ยจะทำให้จุลินทรีย์บางส่วนตายได้ แต่ก็สามารถยืดหยุ่นได้ถ้ามีความร้อนมาก อาจกลับกองได้เร็วกว่ากำหนด หรือถ้าเลย 10 วันแล้วร้อนไม่มากอาจกลับกองหลังกำหนดได้
4.ใช้น้ำหมักชีวภาพราดกองปุ๋ย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยให้มีอาหารที่พืชต้องการมากขึ้น เมื่อหมักผ่านไปประมาณ 1 เดือน เป็นช่วงที่ปุ๋ยเริ่มย่อยสลายแล้ว และรดน้ำตาม น้ำจะซึมไปทั่วกองปุ๋ย ทำแบบนี้จนอุณหภูมิเริ่มลดลงเรื่อยๆ จึงรดน้ำให้ห่างขึ้น กิ่งกระถินจะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาล หักง่าย เมื่อการย่อยสลายเริ่มสมบูรณ์ หยุดรดน้ำ สูตรนี้ใช้เวลาหมักประมาณ 3-4 เดือน สามารถนำไปใช้ได้
หากทำเพื่อจำหน่าย ต้องนำปุ๋ยหมักที่สมบูรณ์แล้วไปบดอีกครั้ง แล้วบรรจุถุง
วิธีใช้
ใช้ได้กับพืชทุกชนิด ช่วงเตรียมดิน ให้ใส่แปลงคลุกเคล้าให้เข้ากับดินก่อนปลูกผัก 2-3 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร
ไม้กระถาง พรวนดินแล้วใส่หน้ากระถางได้เลยทำดินปลูก ผสมดิน 1 ส่วน ต่อ ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน สูตรการทำปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าว ของ กลุ่มอาชีพเกษตรอินทรีย์ (สืบค้นข้อมูลจากwebhost.cpd.go.th/nikombsp/download/กลุ่มอาชีพเกษตรอินทรีย์.doc)
ส่วนผสม
ขุยมะพร้าว 1 ตัน
มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
สารเร่ง พด.1 1 ซอง
น้ำ
วิธีทำ
1. ผสมสารเร่ง พด.1 กับน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 10 นาที
2.การทำกองปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าว ชั้นแรกกองขุยมะพร้าว ใส่มูลสัตว์ ปุ๋ยยูเรีย หว่านให้ทั่วทั้งกอง รดน้ำให้ชื้นประมาณ 60 % รดสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ให้ทั่วกองขุยมะพร้าวด้านบน ทำประมาณ 2 – 3 ชั้น ชั้นบนสุดเป็นขุยมะพร้าว รดน้ำให้มีความชื้นทั่วทั้งกอง คลุมด้วยผ้าพลาสติก หรือกระสอบปุ๋ย ปิดทับด้วยทางมะพร้าว
3.กลับกองปุ๋ย ทุก ๆ 15 – 20 วัน ระหว่างกลับกองปุ๋ยให้รดน้ำเพิ่มความชื้นในกองปุ๋ยเพื่อและลดอุณหภูมิในกองปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์
4. หมักไว้ประมาณ 1 เดือน จะได้ปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าวที่มีลักษณะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เนื้อละเอียด ไม่มีกลิ่นเหม็น และความร้อนในกองปุ๋ยหมักลดลง จึงสามารถนำไปใช้ในแปลงปลูกได้
วิธีใช้
1.ข้าว ไม้ดอก ใช้ 2 ตัน/ไร่ หว่านให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบก่อนปลูกพืช
2.พืชไร่ ใช้ 2 ตัน/ไร่ โดยเป็นแถวตามแนวปลูกพืช แล้วคลุกเคล้ากับดิน
3.พืชผัก ใช้ 4 ตัน/ไร่ หว่านทั่วแปลงปลูกไถกลบขณะเตรียมดิน
4.ไม้ผล ไม้ยืนต้น
ก.เตรียมหลุมปลูก ใช้ 20 กิโลกรัม/หลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดิน ใส่รองก้นหลุม
ข.ต้นพืชที่เจริญแล้ว ใช้ 20– 50 กิโลกรัม โดยขุดร่องลึก 10 เซนติเมตร ตามแนวทรงพุ่มของต้น ใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *