สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม

สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม

สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม มีทั้งสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศ นำเข้าจากต่างประเทศ และผสมขึ้นมาใหม่ ทำให้กล้วยไม้จากประเทศไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลก สายพันธุ์กล้วยไม้ยอดนิยม ในประเทศไทย มีดังนี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ แคทรียา

แคทลียา
เรียกว่าเป็นราชินีแห่งกล้วยไม้ก็คงไม่ผิดนัก ดอกของแคทลียามีรูปทรงเฉพาะตัวขนาดใหญ่ สีสันสวยงาม บางสายพันธุ์ยังมีกลิ่นหอมชวนหลงใหลอีกด้วย เจริญเติบโตได้ดีในแถบภูมิอากาศร้อน จึงเหมาะกับการนำมาปลูกในประเทศเรามากที่สุด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ รองเท้านารี

รองเท้านารี
เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือ บุหงากะสุต (ภาษามาเลเซีย หมายถึงรองเท้าของสตรี) กลีบดอก หรือที่เรียกว่า ‘กระเป๋า’ มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อน แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึงรองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม

  • ต้น หรือ ไรโซม หรือ เหง้า ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น
  • ราก ออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป
  • หน่อใหม่ จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า
  • ลำต้น สั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย
  • ใบ มีขนาดรูปร่างต่างกันไป มีใบยาว ใบตั้ง ใบทอดขนานกับพื้น ใบมีลาย
  • ดอก ออกที่ยอด มีทั้งชนิดดอกเดี่ยว และดอกเป็นช่อ

กลีบดอกหรือกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้ โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้รองเท้านารี ที่สำรวจพบ ได้แก่ รองเท้านารีอินทนนท์ รองเท้านารีเหลืองปราจีน รองเท้านารีเมืองกาญจน์ รองเท้านารีเหลืองตรัง รองเท้านารีอ่างทอง รองเท้านารีสุขะกุล รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีเหลืองพังงา รองเท้านารีคางกบ รองเท้านารีฝาหอย รองเท้านารีขาวสตูล รองเท้านารีเหลืองเลย รองเท้านารีเชียงดาวและรองเท้านารีม่วงสงขลา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ ฟาแลนนอปซิส

ฟาแลนนอปซิส
ได้ฉายาว่าเป็นกล้วยไม้ผีเสื้อกลางคืนตามชื่อภาษากรีก มีดอกบานใหญ่ ใบกว้าง ลำต้นอวบเป็นปล้อง ช่อดอกยาว และเป็นกล้วยไม้ที่แข็งแรง ปรับตัวตามสภาพที่ต้องเผชิญได้ กล้วยไม้สกุลนี้ได้ถูกปรับปรุงพันธุ์และผสมกันมาหลายทอด ทำให้สวยงามทั้งรูปทรงดอก และสีของดอก ดอกกลมใหญ่ กลีบหนา ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว สีชมพู สีเหลือง ก้านช่อยาว เหมาะสำหรับปักแจกัน ต้นหนึ่งออกดอกได้หลายช่อ แต่ละพันธุ์ออกดอกต่างเดือนกัน บางชนิดออกดอกในเดือนที่ตลาดต้องการดอกไม้ตัดดอก เหมาะสำหรับผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ตัดดอก สามารถผสมข้ามสกุลกับสกุลกล้วยไม้สกุลต่างๆ ได้หลายสกุล เช่น ผสมกับสกุลแวนด้า ผสมกับสกุลอะแรคนิส ผสมกับสกุลเรแนนเทอร่า เป็นต้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ แวนด้า

แวนด้า
ในแถบเอเชียพบในป่าธรรมชาติได้มากถึง 40 ชนิด แวนด้าชอบการปลูกอยู่ในกระถางโปร่งหรือตะกร้าแบบแขวนมากกว่าอยู่ในกระถางตั้งพื้น เพราะอากาศมีความจำเป็นต่อแวนด้าเป็นอย่างมาก เหมาะสำหรับการจำหน่ายเป็นไม้กระถาง แวนด้าเป็นกล้วยไม้ประเภท ไม่แตกกอ เจริญเติบโตไปทางยอด รากเป็นรากอากาศ ใบมีลักษณะกลม แบนหรือร่อง ใบซ้อนสลับกัน ช่อดอกจะออกด้านข้างของลำต้นสลับกับใบ ช่อดอกยาวและแข็ง กลีบนอกและกลีบในมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน โคนกลีบแคบ และไปรวมกันที่โคนเส้าเกสร กลีบดอกในล่างด้านใต้มีเดือยแหลมยื่นออกมาเป็นส่วนท้ายของปากกระเป๋า ปากกระเป๋าของแวนด้าเป็นแบบธรรมดาแบนเป็นแผ่นหนาแข็ง และพุ่งออกด้านหน้า รูปลักษณะคล้ายช้อน หูกระเป๋าทั้งสองข้างแข็งและตั้งขึ้น สีดอกมีมากมายแตกต่างกันตามแต่ละชนิด ปัจจุบันได้มีการจำแนกประเภทของแวนด้า โดยอาศัยรูปร่างลักษณะของใบออกเป็น 4 ประเภท คือ

  • แวนด้าใบกลม เลี้ยงง่ายที่สุด สามารถปลูกลงแปลงกลางแจ้งได้โดยไม่ต้องมีโรงเรือน แต่ดอกมักจะบานไม่ทน มีลักษณะของใบกลมยาว ทรงกระบอก ต้นสูง ข้อห่าง สังเกตได้ที่ใบติดอยู่ห่างๆ กัน มีดอกช่อละหลายดอก ดอกจะบานติดต้นอยู่คราวละ 2 ถึง 3 ดอกเท่านั้น เมื่อดอกข้างบนบานเพิ่มขึ้น ดอกข้างล่างจะโรยไล่กันขึ้นไปเรื่อยๆ การปลูกใช้ดอกจึงนิยมปลิดดอกมากกว่าตัดดอกทั้งช่อ
  • แวนด้าใบแบน เลี้ยงยากที่สุด ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ฟ้ามุ่ย เพราะดอกใหญ่ สีสวย การเลี้ยงแวนด้าใบแบนจำเป็นต้องมีโรงเรือนเพราะต้องการแสงที่พอเหมาะ ลักษณะใบแผ่แบนออก หน้าตัดจะเป็นรูปตัววี มีข้อถี่ปล้องสั้น ใบซ้อนชิดกัน ปลายใบโค้งลงและจักเป็นแฉก
  • แวนด้าใบร่อง ทรงของใบและลำต้นคล้ายใบแบนมากกว่าใบกลม ประเภทนี้ไม่พบในป่าธรรมชาติ การนำมาปลูกเลี้ยงเป็นพันธุ์ลูกผสมทั้งสิ้น โดยนำแวนด้าใบกลมมาผสมกับแวนด้าใบแบน ถูกผสมขึ้นเพื่อให้ปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น แต่ดอกมักจะสีไม่สวยและปากหักง่าย
  • แวนด้าก้างปลา มีรูปทรงของใบและลำต้น กิ่งใบกลมกับใบแบน กล้วยไม้กลุ่มนี้พบว่าเป็นหมันเสียส่วนใหญ่ จึงพบว่ามีจำนวนในธรรมชาติน้อยมาก

ชนิดพันธุ์ของแวนด้า ที่มักพบได้ง่าย มีดังนี้

  • เอื้องโมกข์-เป็นกล้วยไม้ป่าพื้นเมืองของไทย
  • แวนด้าฮุกเคอเรียน่า-มีถิ่นกำเนิดทางภาคใต้ของประเทศไทย
  • ฟ้ามุ่ย-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือของไทย
  • เอื้องสามปอยขาว
  • เอื้องสามปอยชมพู
  • เอื้องสามปอยขุนตาล-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
  • เอื้องสามปอยหลวง-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • เข็มขาว-มีถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคกลางตอนบน
  • แวนด้าไตรคัลเลอร์-เป็นกล้วยไม้แวนด้าพื้นเมืองของชวา
  • แวนด้าแซนเดอเรียน่า-มีถิ่นกำเนิดที่ประเทศฟิลิปปินส์
  • แวนด้าเดียรีอิ-มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะบอเนียว
  • แวนด้าอินซิกนิส-เป็นกล้วยไม้พื้นเมืองของเกาะโมลูกัส

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ หวาย

กล้วยไม้สกุลหวาย
เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย ออกดอกขนาดใหญ่ ลำต้นแตกหน่อเมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ สายพันธุ์นี้ดูแลรักษาง่ายไม่ต้องยุ่งยากอะไรมากนัก กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทย มีหลายชนิดอันได้แก่พวก “เอื้อง” ต่างๆ เช่น

  • เอื้องผึ้ง
  • เอื้องม่อนไข่ เอื้องม่อนไข่ใบมน
  • เหลืองจันทบูร-มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดจันทบุรี
  • พวงหยก หวายปม
  • เอื้องช้างน้าว เอื้องคำตาควาย
  • เอื้องมัจฉาณุ
  • เอื้องเงินหลวง
  • เอื้องเงิน
  • เอื้องเงินแดง
  • เอื้องมะลิ แส้พระอินทร์
  • เอื้องสายประสาท เอื้องสายน้ำผึ้ง
  • เอื้องเก๊ากิ่วแม่สะเรียง เอื้องไม้ตึง
  • เอื้องแปรงสีฟัน
  • เอื้องสายหลวง เอื้องสาย
  • เอื้องครั่ง
  • เอื้องคำ
  • แววมยุรา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ ออนซิเดียม

ออนซิเดียม
เป็นกล้วยไม้นำเข้า จัดว่าเป็นกล้วยไม้ขนาดใหญ่ประเภทรากกึ่งดิน ลำต้นบางชนิดมีลำลูกกล้วย ใบยาวเรียวแหลมและบางชนิดมีใบกว้าง ดอกส่วนมากจะมีสีเหลืองลายน้ำตาล ปลายปากใหญ่

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ มิลโทนอปซิส

มิลโทนอปซิส
มีกลิ่นหอมที่คล้ายคลึงกับน้ำหอม ออกดอกและให้สีสันสวยงาม เป็นกล้วยไม้ขนาดเล็กที่เหมาะกับการปลูกเอาไว้ในบ้านเป็นอย่างมาก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ โอดอนโทกลอสซัม

โอดอนโทกลอสซัม
มีลักษณะเด่นเฉพาะก็ตรงที่กลีบดอกเรียวแต่บานใหญ่ มีลวดลาย สีสันที่สวยงามแตกต่างกันออกไป เหมาะกับการเลี้ยงในเรือนกระจก หรือในบ้านที่มีความชื้นเพียงพอ ดูแลรักษาง่ายไม่ยุ่งยากเท่าที่ควร

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ ซิมบิเดียม

ซิมบิเดียม ทนร้อน
ซิมบิเดียมมี 2 ชนิดด้วยกันนั่นก็คือ เขตหนาวและเขตร้อน แต่ซิมบิเดียมทนร้อนกลับเป็นที่นิยมมากกว่าเพราะเป็นกล้วยไม้ลูกผสมระหว่างซิมบิเดียมเขตร้อนกับซิมบิเดียมเขตหนาว ทนต่อสภาวะอากาศร้อนได้อย่างดี มีสีสันสดใส กลีบดอกแคบ และในหนึ่งช่อจะออกดอกน้อย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้เข็ม

กล้วยไม้สกุลเข็ม
ได้สมญาว่าเป็น ‘ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า’ เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ช้าง

กล้วยไม้สกุลช้าง
มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ประเทศในแถบอินโดจีน อินเดีย ศรีลังกา ภาคใต้ของหมู่เกาะในทะเลจีน และหมู่เกาะอินเดียตะวันออก สำหรับในประเทศไทยพบว่ากล้วยไม้สกุลช้างมีกระจายพันธุ์อยู่ทุกภาคของประเทศ บางภาคอาจมีกล้วยไม้สกุลช้างชนิดหนึ่งแต่อาจไม่มีอีกชนิดหนึ่ง กล้วยไม้สกุลช้างที่พบตามธรรมชาติเพียง 4 ชนิด คือ ช้าง ไอยเรศหรือพวงมาลัย เขาแกะและช้างฟิลิปปินส์ สำหรับ 3 ชนิดแรกมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ส่วนช้างฟิลิปปินส์มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ ยังมีชนิดอื่นอีก เช่น ช้างกระ ช้างแดง ช้างเผือก กล้วยไม้ช้างเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากเนื่องจากเลี้ยงได้ง่าย ออกดอกทุกปี การที่กล้วยไม้ชนิดนี้ได้ชื่อว่า “ช้าง” อาจมาจากสองกรณีคือ ลักษณะที่มีลำต้น ใบ ราก ช่อดอก และดอกใหญ่กว่ากล้วยไม้ชนิดอื่น อีกกรณีหนึ่งอาจเป็นเพราะดอกตูมของกล้วยไม้ชนิดนี้มีรูปร่างคล้ายหัวช้างและมีเดือยดอกคล้ายกับงวงช้าง

ในภาพอาจจะมี ดอกไม้ และ ต้นพืช

กล้วยไม้สกุลกุหลาบ
เป็นกล้วยไม้ที่พบตามธรรมชาติในป่าทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกล้วยไม้ที่เลี้ยงง่าย มีบทบาทสำคัญในการผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ สามารถผสมในสกุลเดียวกัน และผสมข้ามสกุลต่างๆ เช่น ผสมกับสกุลแวนด้าเป็นสกุลแอริโดแวนด้า ผสมกับสกุลช้างเป็นสกุลแอริโดสไตลิส สำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบที่พบตามธรรมชาติในประเทศไทยได้แก่ กุหลาบกระเป๋าปิด กุหลาบกระเป๋าเปิด กุหลาบเหลืองโคราช กุหลาบแดง กุหลาบอินทจักร กุหลาบน่าน กุหลาบเอราวัณ กุหลาบไอยรา กุหลาบมาลัยแดง กุหลาบชมพูกระบี่ หรือ กุหลาบพวงชมพู

กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตา
เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ พบตามธรรมชาติประมาณ 1,000 ชนิด มากเป็นอันดับสองรองจากกล้วยไม้สกุลหวาย สำหรับประเทศไทยพบกระจัดกระจายตามธรรมชาติในทั่วทุกภาคของประเทศประมาณ 140 ชนิด และแต่ละชนิดมักใช้คำว่า “สิงโต” นำหน้า ในภาษาไทยที่เรียกกันว่า “สิงโตกลอกตา” นั้น เจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิตได้ทรงเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ตำราเล่นกล้วยไม้” เมื่อปี พ.ศ.2459 เกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของกล้วยไม้สกุลเซอร์โรเพตาลัม (Cirrhopetalum) ซึ่งเป็นสกุลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับสกุลบัลโบฟิลลัมมาก และในปัจจุบันนี้นักพฤกษศาสตร์ได้จัดรวมไว้ในสกุลบัลโบฟิลลัม ดังนี้ ลูกกล้วยรูปกลมมักเล็กขนาดผลพุทรา บางชนิดเขื่องกว่านั้น แลบางชนิดใบยาวตั้งคืบก็ได้ มีใบลูกกล้วยละ 1 ใบ สีเขียวแก่ด้านๆ ดอกลำพังตัวกลีบนอกสองข้างนั้นใหญ่ยาวเกินส่วน รวบปลายแหลมแลพับเบื้องโคนกลีบทบไปข้างหน้า ปลายกลีบซ้อนกันฤๅมาประสานติดกัน ทำนองห่มสไบคล้องคอ ปากเล็กเกือบแลไม่เห็น แลรังเกสรกระดิกได้เป็นดอกไม้ไหว ซึ่งเป็นเหตุให้เรียกกันในนี้ว่า “สิงโตกลอกตา”

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้สิงโตกรอกตา

กล้วยไม้ที่จัดอยู่ในสกุลสิงโตกลอกตา ได้แก่

  • สิงโตพัดแดง สิงโตร่มใหญ่ สิงโตก้ามปูแดง สิงโตอาจารย์เต็ม สิงโตสยาม สิงโตงาม สิงโตรวงข้าวฟ่าง สิงโตรวงข้าว สิงโตรวงทอง สิงโตตาแดง สิงโตแดง สิงโตนกเหยี่ยวใหญ่ สิงโตนกเหยี่ยวเล็ก สิงโตสมอหิน สิงโตใบพายและสิงโตลินด์เลย์ ผู้ปลูกกล้วยไม้มือใหม่ได้รู้จักสายพันธุ์ของกล้วยไม้กันไปแล้ว น่าจะพอตัดสินใจได้แล้วนะคะ ว่าจะเลือกซื้อสายพันธุ์ไหนมาปลูกเลี้ยง เพื่อไว้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือเพื่อการค้า แล้วศึกษาวิธีปลูกเลี้ยงกันต่อนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.orchidtropical.com, www.panmai.com, www.kapook.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *