มะเขือพวง

การปลูกมะเขือพวง

มะเขือพวง หากนำมารับประทานสด จะมีรสชาติขม ตามคำโบราณว่าไว้ ‘หวานเป็นลม ขมเป็นยา’ วิถีพื้นบ้านชาวไทย จึงนิยมนำมะเขือพวงมาเป็นส่วนประกอบอาหาร และใช้ทางยา การปลูกมะเขือพวงก็ไม่ยาก ดูแลง่าย หากท่านผู้อ่านสนใจจะปลูกไว้สักต้น หรือปลูกเป็นรายได้เสริม ก็จะดีไม่น้อยนะคะและที่สำคัญ มะเขือพวง เป็นไม้ที่ทนโรค ไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลง ปลอดสารพิษ เพราะไม่ต้องลงทุนมาก ประหยัดแรงงาน ประหยัดเวลา รับรองค่ะว่า มีแต่จะได้ประโยชน์

ชื่ออื่นๆ ของ มะเขือพวง ได้แก่ มะแคว้งกุลา(ภาคเหนือ), หมากแข้ง (ภาคอีสาน), มะเขือละคร (โคราช), เขือน้อย, เขือพวง, ลูกแว้ง, เขือเทศ (ภาคใต้) และมะแว้งช้าง (สงขลา)

ลักษณะทั่วไป ของ มะเขือพวง
ในบรรดาพืชตระกูลมะเขือนั้น ส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุก แต่มะเขือพวงเป็นไม้ข้ามปี ให้ผลผลิตหลังจากปลูกได้นาน 3 ถึง 4 ปี ชอบความร้อนชื้น ไม่ชอบน้ำท่วมขัง

  • ลำต้น สูงประมาณ 1 ถึง 3 เมตร เป็นต้นเดี่ยวจากดินแตกพุ่มด้านบน มีทั้งสายพันธุ์ที่มีหนาม และไร้หนาม
  • ใบ รูปไข่กว้าง ขอบใบเรียบหรืออาจเว้าเป็นรอยหยัก เรียงตัวแบบตรงข้าม ใบมีขนปกคลุม
  • ดอก เป็นดอกช่อ ดอกทรงแตรมีกลีบปลายแหลม 5 กลีบสีขาวหรือม่วง เกสรสีเหลือง
  • ผล ผลมีรสขม เป็นผลแบบเบอร์รี่ อยู่เป็นช่อ ดอกหนึ่งๆ จะติดผลตั้งแต่ 2 ผลจนถึง 10 ผล
    มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวหนาและเหนียว ลักษณะผลคล้ายเมล็ดถั่วลันเตา เมื่อสุกมีสีเหลืองหรือสีส้มแดง เนื้อผลบาง ภายในเต็มไปด้วยเมล็ดกลม แบนสีน้ำตาลอัดแน่นประมาณผลละ 300 ถึง 400 เมล็ด

ถิ่นกำเนิดของมะเขือพวง เริ่มตั้งแต่เขตฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์ อินดีส์ เม็กซิโก จนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชขึ้นกระจัดกระจายเกือบทั่วเขตร้อน ปัจจุบันพบในทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย และหมู่เกาะแปซิฟิกไกลถึงมลรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นพืชเพาะปลูกเป็นอาหารในแถบเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก

การใช้ประโยชน์ทางอาหารของมะเขือพวงในประเทศไทย
มะเขือพวงเป็นผักคู่อาหารไทยมานาน ทำให้กลิ่นรสของอาหาร มีความพิเศษ ผลอ่อนมะเขือพวงโขลกกับน้ำพริกปลาทู น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกหอยแมลงภู่ น้ำพริกไข่เค็ม และปลาร้าทรงเครื่อง สำหรับการรับประทานเป็นผักจิ้ม นิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ หรืออาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ นอกจากนี้ ใช้มะเขือพวงใส่แกงเขียวหวาน แกงป่า แกงคั่วปลาไหล แกงอ่อมปลาดุก ซุปอีสานและแกงเผ็ดอื่นๆ

การใช้ประโยชน์ทางอาหารของมะเขือพวงในต่างประเทศ
ชาวไอเวอรี่โคสต์ นำผลมะเขือพวงใส่ซุปและซอสต่างๆ ชาวทมิฬทางใต้ของอินเดีย ใช้ผลแช่นมเปรี้ยวแล้วตากแห้งประกอบอาหาร เป็นทั้งเครื่องเคียงอาหารแป้ง และใส่ในแกงแบบทางใต้หลายชนิด ชาวลาวใส่มะเขือพวงในแกงเผ็ด

คุณค่าของสารอาหาร ใน มะเขือพวง
คาร์โบไฮเดรต, น้ำตาล, เส้นใยอาหาร, ไขมัน, โปรตีน, วิตามีนบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามินบี 5, วิตามินบี 6, วิตามินบี 9, วิตามินซี, แคลเซียม, เหล็ก, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม, สังกะสี, แมงกานีส

การใช้ประโยชน์ทางยาของมะเขือพวง ตามตำราแพทย์แผนไทย

  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • ช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยระบบขับถ่าย
  • บำรุงธาตุ
  • ขับเสมหะ
  • แก้ไอ, แก้ไอเป็นเลือด
  • ช่วยให้โลหิตหมุนเวียนได้ดี
  • แก้ฟกช้ำ
  • รักษาฝีหนอง
  • เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของลำไส้ เพื่อตอบสนองต่อสารพิษที่เข้ามายังระบบทางเดินอาหาร
  • มีฤทธิ์ต้านอุนมูลอิสระ
  • ช่วยป้องกันความเสื่อมและแก่ก่อนวัย
  • ช่วยคุมระดับน้ำตาลในโรคเบาหวาน
  • มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง ยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง

ข้อควรระวัง ในการรับประทานมะเขือพวง

  • ผู้ป่วยโรคไขข้อไม่ควรรับประทานพืชตระกูลมะเขือ เพราะมีสารโซลานีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกาย
  • บุคคลทั่วไปที่ร่างกายแข็งแรงปกติ ควรรับประทานพืชตระกูลมะเขือควบคู่กับอาหารกลุ่มนม-เนย เพื่อป้องกันความไม่สมดุลของแคลเซียม
  • ผู้ที่ไวต่อสารโซลานีน อาจมีอาการท้องเสีย ปวดหัว หรืออาเจียน และเกิดอาการทางระบบประสาทได้ ถ้ารับประทานสด แต่ถ้าทำให้สุกด้วยความร้อนแล้วโอกาสที่จะป่วยด้วยสารดังกล่าวนี้จะลดลง

ข้อมูลจาก : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

การนำส่วนต่างๆ ของมะเขือพวงมาใช้ประโยชน์    
ต้น ใบ และผล เป็นยาเย็นรสจืด ทำให้โลหิตหมุนเวียนดี แก้ปวด ฟกช้ำ ตรากตรำทำงานหนัก กล้ามเนื้อบริเวณเอวฟกช้ำ ไอเป็นเลือด ปวดกระเพาะ ฝีบวมมีหนอง อาการบวมอักเสบ และขับเสมหะ

ต้น ชาวอินเดียใช้น้ำสกัดจากต้นมะเขือพวงแก้พิษแมลงกัดต่อย

  • ใบสด น้ำคั้นใบสดใช้ลดไข้ ชาวแคเมอรูนใช้ใบห้ามเลือด ใช้เป็นยาระงับประสาท พอกให้ฝีหนองแตกเร็วขึ้น แก้ปวด ทำให้ฝียุบ แก้ชัก ไอหืด ปวดข้อ โรคผิวหนัง ขับปัสสาวะ ขับเหงื่อ และแก้ซิฟิลิส

ผล ผลของมะเขือพวงมีรสขื่น เฝื่อน อมเปรี้ยวเล็กน้อย

  • หลายประเทศนำผลมาต้มน้ำกรองน้ำดื่ม มีสรรพคุณในการขับเสมหะ ช่วยระบบย่อยอาหาร รักษาโรคเบาหวาน
  • ชาวแคเมอรูนใช้ผลมะเขือพวงรักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • ชาวจีนใช้ต้มน้ำดื่มแก้ไอและบำรุงเลือด ทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง ผลแห้งย่างกินแกล้มอาหารบำรุงสายตาและรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ชาวอินเดียกินผลเพื่อบำรุงตับ ช่วยบรรเทาโรคแผลในกระเพาะอาหาร ขับปัสสาวะ ช่วยย่อย และช่วยให้ผ่อนคลายง่วงนอน บำรุงตับ
  • ชาวอินเดียทางตอนใต้ใช้ผลอ่อนบำรุงกำลังให้ร่างกาย ผลแห้งหุงน้ำมันเล็กน้อย บดเป็นผงกินครั้งละ 1 ช้อนชาลดอาการไอและขับเสมหะ
    เมล็ด ชาวมาเลเซียนำเมล็ดไปเผาให้เกิดควัน สูดเอาควันรมแก้ปวดฟัน

ราก

  • ชาวมาเลเซียใช้รากสดตำพอกรอยแตกที่เท้า หรือโรคตาปลา
  • ชาวอินเดียนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงต้มดื่มลดพิษในร่างกาย

มะเขือพวงกับเพ็กทิน
จากผลงานวิจัยพบว่า มะเขือพวงมีสารเส้นใยละลายน้ำได้ที่เรียกว่า เพ็กทิน ซึ่งเป็นสารที่พบในผนังเซลล์ของพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ เมื่อผ่านการกินเพ็กทินจะเปลี่ยนรูปเป็นวุ้นไปเคลือบผิวลำไส้ และช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า ลำไส้จึงดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างคงที่ การดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารหรือน้ำดีลดลง และเกิดการสร้างน้ำดีขึ้นมาทดแทน นอกจากนี้ พบว่าเพ็กทินมีคุณสมบัติดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย สารเส้นใยนี้ยังสามารถดึงน้ำไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ ที่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารย่อยเพ็กทินให้กรดไขมันขนาดเล็กซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกาย

มะเขือพวงบำรุงไต
งานวิจัยในอินเดีย พบว่าสารสกัดมะเขือพวง มีความสามารถป้องกันและรักษาอาการพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมรักษามะเร็งได้

มะเขือพวงรักษาแผลในกระเพาะอาหาร
กลุ่มวิจัยในแคเมอรูน พบว่า สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ยา และความเครียด ส่วนที่ให้ผลดังกล่าวเพราะมีองค์ประกอบเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และไทรเทอร์พีน ผลวิจัยนี้สนับสนุนการใช้งานใบมะเขือพวงของแพทย์พื้นบ้านในประเทศแคเมอรูน

ติดตามวิธีปลูกมะเขือพวง และมะเขือพวงไร้หนาม ได้ในบทความ การปลูกมะเขือพวง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.doctor.or.th, หนังสือ แนวทาง…และแบบอย่างการเพาะปลูกสารพัดมะเขือทำเงิน สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *