ถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง

ถั่วเหลือง เป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นพืชสารพัดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นทางอาหาร อุตสาหกรรม หรือเกษตรกรรม ในบทความนี้ นอกจากจะส่งเสริมให้ การปลูกถั่วเหลืองเป็นพืชหมุนเวียนในพื้นที่การเกษตรแล้ว ยังส่งเสริมให้เกษตรได้ต่อยอดจากการปลูกถั่วเหลือง สร้างรายได้ และยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตมากยิ่งขึ้น

 

 

ประโยชน์ของ ถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีเมล็ดอันอุดมไปด้วยโปรตีนและน้ำมัน ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ดังนี้

1. ทางอาหาร

  • ใช้เป็นอาหาร นำมาต้มรับประทานเมื่อเมล็ดเจริญดีแล้วแต่ยังไม่แก่หรือสุกเต็มที่ เรียกว่าถั่วแระ
  • ถั่วเหลืองบางพันธุ์มีเมล็ดโต ใช้ปรุงบริโภคเป็นถั่วเหลืองฝักสด หรือบรรจุกระป๋อง
  • ใช้เมล็ดสุกมาทำถั่วงอกซึ่งให้ลักษณะต้นถั่วงอกคล้ายถั่วเขียว
  • ใช้ทำเต้าเจี้ยว เต้าหู้ ซีอิ้ว และนมถั่วเหลือง
  • ใช้ผลิตและปรับปรุงให้เป็นอาหารมังสะวิรัติ เป็นเนื้อคล้ายเนื้อสัตว์ซึ่งเรียกว่าเนื้อเทียม โดยอาจทำให้มีลักษณะเป็นเนื้อไก่ เนื้อวัว เนื้อไก่งวง แฮม และเบคอน ฯลฯ
  • แป้งถั่วเหลืองใช้ผสมหรือปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น ทำขนมต่าง ๆ อาหารทารก น้ำมันซึ่งสกัดจากถั่วเหลืองใช้ในการปรุงอาหาร ทำมักการีน น้ำสลัด ฯลฯ

2. ทางอุตสาหกรรม

  • ใช้ในทางอุตสาหกรรม ใช้ผลิตกาว
  • ใช้เป็นส่วนผสมยาฆ่าแมลง สี ปุ๋ย วิตามิน ยาต่าง ๆ กระดาษ ผ้า ฉนวนไฟฟ้า หมึกพิมพ์ สบู่ เครื่องสำอาง เบียร์ และเส้นใย ฯลฯ เป็นส่วนสำคัญของผลิตภัณฑ์หรือเป็นส่วนช่วยให้มีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ดีขึ้น

3. ทางการเกษตร

  • ใช้ทำปุ๋ยหรือบำรุงดิน ถั่วเหลืองและถั่วอื่น ๆ จัดเป็นพืชบำรุงดิน เมื่อไถกลบถั่วเหลืองลงไปในดินก่อนที่ถั่วเหลืองจะแก่ ก็จะเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และมีคุณสมบัติดีขึ้นที่รากของถั่วเหลืองมักมีปมซึ่งเป็นที่อาศัยของเชื้อแบคทีเรียไรโซเบียม แบคทีเรียนี้จะดูดตรึงไนโตรเจนให้มาอยู่ในรูปที่พืชสามารถใช้เป็นปุ๋ยได้เรียกว่าปม เมื่อเก็บถั่วแล้วรากและปมนี้จะขาดตกค้างอยู่ในดิน ไนโตรเจนที่ดูดตรึงไว้จะกลายเป็นปุ๋ยของพืชอื่นต่อไป

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของ ถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองเป็นพืชตระกูลถั่ววงศ์เดียวกันกับถั่วลิสง
ราก ถั่วเหลือง มีระบบรากแก้ว ตามรากจะพบปม ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียเข้าไปอาศัยอยู่ แบคทีเรียจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากต้นถั่วเหลือง และถั่วเหลืองก็จะได้ไนโตรเจนในรูปไนเตรตที่แบคทีเรียตรึงได้จากอากาศไปใช้ประโยชน์ต่อไป การอยู่อาศัยของแบคทีเรียที่รากเรียกว่าเป็นแบบชีวสัมพันธ์ (symbiosis) หรือพึ่งพาอาศัยกัน

ลำต้น ถั่วเหลืองที่ปลูกกันเป็นการค้า ส่วนมากมีลำต้นตรงเป็นพุ่มตรง มีการแตกแขนงค่อนข้างมาก สูงประมาณ 30 ถึง 150 เซนติเมตร ความสูงขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความชื้น และฤดูที่เพาะปลูก

ใบ ใบเกิดแบบสลับบนลำต้น ใบมีรูปร่างหลายแบบ เช่น รูปไข่ จนถึงรูปเรียวยาว ใบมีขนสีเทาหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ทั่วไป ส่วนมากใบจะร่วงเมื่อผลเริ่มแก่ เมื่อผลแก่เต็มที่ใบจะร่วงหมด มีบางพันธุ์เท่านั้นที่ไม่สลัดใบเมื่อผลแก่เต็มที่

ดอก ถั่วเหลืองมีดอกเป็นช่อ ดอกมีสีขาวหรือสีม่วง

ฝัก ฝักเกิดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2 ถึง 10 ฝัก มีขนสีเทาหรือสีน้ำตาล ปกคลุมอยู่ทั่วไป ฝักมีความยาวประมาณ 2 ถึง 7 เซนติเมตร แต่ละฝักมีเมล็ดประมาณ 1 ถึง 5 เมล็ด แต่ส่วนใหญ่มี 2 ถึง 3 เมล็ด เมื่อฝักสุกจมีสีน้ำตาล ฝักอาจแตกซึ่งทำให้เมล็ดร่วง

เมล็ด เมล็ดมีขนาดและรูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งแต่กลมรีจนถึงยาว อาจมีสีเหลือง เขียว น้ำตาล และดำก็ได้

 

 

ถั่วเหลืองแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามวิธีการเจริญเติบโต คือ

  1. ชนิดทอดยอด—ช่อดอกไม่เกิดที่ยอดของลำต้น แต่เกิดตามมุมใบ จึงทำให้ยืดการเจริญของยอดถั่วไปได้อีกระยะหนึ่ง ภายหลังจากมีการออกดอกแล้ว พันธุ์พวกนี้จะมีปลายเรียว ยาว ทำให้ต้นหยุดเจริญเติบโตเมื่อเริ่มติดฝัก
  2. ชนิดไม่ทอดยอด—ช่อดอกเกิดที่ยอดของลำต้นเป็นกลุ่ม ถั่วเหลืองส่วนมากมีขนสีน้ำตาลหรือสีเทา ปกคลุมอยู่ทั่วไป เช่น ตามลำต้น ก้านใบ ใบ กลีบเลี้ยง ผล ยกเว้นที่ใบเลี้ยงเท่านั้นที่ไม่มีขน

สภาพอากาศที่เหมาะต่อการปลูกถั่วเหลือง

  • เขตอบอุ่นหรือกึ่งร้อนเหมาะสำหรับปลูกถั่วเหลือง มากกว่าเขตร้อน ทั้งนี้เพราะต้นกำเนิดเดิมของพืชนี้อยู่ในเขตอบอุ่น การปลูกในเขตร้อนได้ผลน้อยคือการไวต่อแสงและอุณหภูมิของถั่วเหลือง ถั่วเหลืองเป็นพืชวันสั้น เมื่อวันสั้นลงกว่า 13 ชั่วโมงโดยประมาณก็จะมีการออกดอก แต่ถ้ากลางวันยาวกว่านี้ก็จะออกดอกช้าลงหรือไม่มีการออกดอก แต่จะเป็นการเจริญทางด้านลำต้นกิ่งใบ ดังนั้นในแถบร้อนซึ่งมักมีกลางวันสั้นกว่านี้ ก็มีช่วงให้ถั่วเจริญทางด้านลำต้น กิ่ง ใบ น้อย แต่จะออกดอกเร็ว จึงให้ดอกน้อยและผลผลิตต่ำ
  • ความปรวนแปรของอากาศและฤดูปลูกมีผลต่อถั่วเหลืองอย่างมาก
  • ในอุณหภูมิต่ำๆ ถั่วเหลืองออกดอกช้ากว่าในอุณหภูมิสูงๆ

สภาพดินที่เหมาะสมในการปลูกถั่วเหลือง

  • ถั่วเหลืองขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ถ้าเป็นดินร่วน อาจปนทรายได้เล็กน้อย น้ำไม่ขังแฉะ ไม่เป็นกรดหรือเป็นด่างมากเกินไป คือมี pH ระหว่าง 5.8 ถึง 7.0 ทั้งนี้เพราะเป็นช่วงที่เชื้อไรโซเบียมสามารถเจริญได้ดี จะให้ผลดีให้ผลผลิตสูง
  • ต้องเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ คือทำให้ถั่วเหลืองมีปมมากและมีการตรึงไนโตรเจนได้มาก ดินที่เหมาะต่อการปลูกถั่วเหลืองควรมีอินทรียวัตถุในดิน 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าต่ำกว่านี้ก็ไม่เหมาะต่อถั่วเหลือง ถ้าสูงไปถั่วเหลืองก็เจริญเติบโตทางกิ่งก้านและใบมากจะทำให้มีจำนวนฝักน้อย
  • สำหรับดินที่ไม่เคยปลูกถั่วเหลืองมาก่อน หรือว่างเว้นการปลูกเป็นเวลานาน ควรมีการคลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก เพื่อเพิ่มผลผลิตของถั่วเหลืองให้สูงขึ้น 20 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์

การใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดินนับว่าจำเป็นมากสำหรับดินเป็นกรดหรือดินเปรี้ยว ทั้งนี้เพราะการดูดธาตุอาหารต่าง ๆ ของถั่วเหลืองไปจากดินมีความสัมพันธ์กับ pH ของดินอย่างมาก

ฤดูกาลที่เหมาะสม
ฤดูปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทยมี 2 ฤดูคือ ฤดูฝน และฤดูแล้ง วันปลูกในฤดูฝนนั้นแตกต่างกันไปตาม

ภาคต่าง ๆ ของประเทศ แต่ก็อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนกรกฎาคมนั่นเอง การเลือกวันปลูกนั้นประมาณว่าให้ถั่วเหลืองสุกและเก็บเกี่ยวได้ในช่วงที่หมดฝนพอดี มิฉะนั้นเมล็ดถั่วจะเน่า ขึ้นรา นวดลำบาก

ภาคใต้ถ้าปลูกถั่วเหลืองควรปลูกในเดือนเมษายน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักมีระยะที่ฝนทิ้งช่วงประมาณ 15 ถึง 20 วัน ในปลายเดือนมิถุนายน หรือ ต้นเดือนกรกฎาคม

สายพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูก

พันธุ์พื้นเมือง เช่น พันธุ์แม่ริม พันธุ์สันป่าตอง
พันธุ์ที่ผสมและคัดเลือกพันธุ์ใหม่ ขึ้นมาคือ สจ.1, สจ.2,สจ.4 และ สจ.5
พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากในปัจจุบันคือ สจ.4 และสจ.5 เป็นพันธุ์ที่ต้านทานโรคราสนิมได้ดี
พันธุ์ที่เผยแพร่ใหม่ คือพันธุ์นครสวรรค์ 1, สุโขทัย 1 และเชียงใหม่ 60

ขั้นตอน การปลูกถั่วเหลือง

การเตรียมดิน
ดินร่วนปนดินเหนียว
ไม่ควรเตรียมดินให้มีความละเอียดมาก เพราะเมื่อปลูกถั่วเหลืองแล้วฝนตก จะทำให้หน้าดินแข็งจับตัวแน่ ต้นอ่อนไม่สามารถดันดินขึ้นมาได้

ดินทราย หรือ ดินร่วนปนทราย
ดินประเภทนี้มีการระบายน้ำที่ดี น้ำไม่ขัง การเตรียมดินให้ร่วนละเอียดเพื่อให้เมล็ดสัมผัสกับความชื้นในดินและงอกได้ดี

ดินเหนียว
ต้องไถพรวนให้ดินแตกเป็นก้อนขนาด 1 ถึง 2 นิ้ว ไม่ควรทำให้แตกละเอียด เพราะเมื่อปล่อยน้ำเข้าแล้วดินจะจับเป็นก้อนอีก ควรมีการยกแปลงและทำร่องสำหรับส่งน้ำเข้าแปลง ลึกประมาณ 30 เซนติเมตร หลังแปลงไม่ควรกว้างกว่า 1 เมตร เพื่อให้น้ำซึมเข้าถึงกลางแปลงได้

การเตรียมเมล็ด
ควรคลุกไรโซเบียมทุกครั้งในการปลูกถั่วเหลือง ช่วยให้ตรึงไนโตรเจนได้สูงกว่าไรโซเบียมเดิมในดิน และอาจเพียงพอต่อการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต ช่วยลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ในกรณีที่ปลูกถั่วเหลืองในนาที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ โดยดูจากค่าวิเคราะห์ดิน อาจไม่ต้องใส่ปุ๋ยไนโตรเจน

วิธีปลูก
การปลูกถั่วเหลือง มี 2 วิธี คือ

  1. การปลูกแบบไม่ยกร่อง หลังจากเตรียมดินแล้ว ให้หยอดเมล็ดลงในหลุมให้ลึกประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร กลบหลุมให้มิด ระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร หลุมละ 3 ถึง 4 เมล็ด หลังจากงอกแล้ว 7 ถึง 10 วัน ทำการถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2 ต้น (ควรได้จำนวนต้นทั้งหมด 32,000 ต้น ต่อไร่)
  2. การปลูกแบบยกร่องสำหรับฤดูแล้ง เพื่อสะดวกในการให้น้ำและระบายน้ำ ระยะปลูกควรชิดกว่าวิธีแรก อย่างไรก็ตาม ควรคำนวณให้ได้ 32,000 ต้น ต่อไร่

การปลูกในฤดูแล้งในนาหลังปลูกข้าว ทำโดยตัดตอซังให้ชิดดิน ปล่อยน้ำให้เข้านาพอดินเปียกแต่ไม่ให้มีน้ำขัง แล้วหยอดเมล็ดถั่วลงบนตอซัง 5-6 เมล็ด ระยะกอขึ้นอยู่กับระยะของตอซังนั่นเอง ต่อจากนั้นก็ใช้ขี้เถ้ากลบตอซังกอละหนึ่งกำมือเพื่อป้องกันมิให้หนูมากินเมล็ดที่หยอดไว้ หรืออาจใช้เสียมฝังเมล็ดใกล้ ๆ ตอซัง วิธีหลังนี้อาจเผาซังกลบทั้งแปลงปลูกอีกก็ได้ จะได้เป็นการทำลายวัชพืช โรค แมลงได้ด้วยในตัว การปลูกในนาข้าวไม่ต้องมีการไถ หรือเตรียมดิน ไม่มีการใส่ปุ๋ย เป็นการปลูกเพื่อบำรุงดิน ผลผลิตที่ได้อาจต่ำกว่าปกติ

การดูแลรักษาถั่วเหลือง หลังการปลูก
***การปลูกโดยวิธีหว่านไม่อำนวยการปฏิบัติงานใด ๆ หลังการปลูก นอกจากการฉีดป้องกันโรค และกำจัดแมลงเท่านั้น หลังการปลูกควรฉีดสารเคมีป้องกันวัชพืช เช่น ฉีดอะลาคลอร์***

การให้น้ำ
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่อ่อนแอขาดน้ำไม่ได้ การให้น้ำต้องสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก ถ้าอากาศร้อนถั่วเหลืองไม่ควรจะขาดน้ำเกิน 10 วัน การขาดน้ำในช่วงออกดอกหรือในช่วงที่ฝักกำลังเจริญทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก การปลูกในหน้าแล้งควรได้มี
การระบายน้ำเข้าแปลงทุก ๆ 7 ถึง 10 วัน โดยที่ไม่ปล่อยน้ำเข้ามากจนท่วม เมื่อน้ำท่วมแปลงก็ควรระบายออกในเวลาไม่เกิน 4 วัน แต่เมื่อถั่วเหลืองต้นโตแล้วจะทนต่อน้ำขังมากขึ้น

การถอนแยก
ถ้าถั่วเหลืองงอกขึ้นหนาแน่นเกินไปก็ถอนทิ้ง หากปลูกเป็นหลุมก็ให้เหลือไว้ไม่เกินหลุมละ 2 ถึง 3 ต้น ถ้าโรยเป็นแถวก็ให้ระยะระหว่างต้นห่างกันราว 5 ถึง 8 เซนติเมตร การถอนแยกกระทำเมื่อกล้าถั่วเหลืองมีอายุได้ประมาณ 10 วัน

การปลูกซ่อม
ในกรณีที่ต้องปลูกซ่อมให้ซ่อมให้ครบทุกหลุม ในระยะ 10 วันแรก หลังการปลูก เพื่อไม่ทำให้ต้นที่ปลูกซ่อมให้ผลเก็บเกี่ยวช้า

การให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ควรมีการวิเคราะห์ดิน เมื่อได้ผลการวิเคราะห์ดินแล้ว :

ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 20 ถึง 25 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยข้างแถว แล้วพรวนดินกลบ ขณะที่ถั่วเหลืองมีอายุ 10 ถึง 15 วัน หลังงอก หรือใส่ปุ๋ยสูตร 0-46-0 อัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าใช้ปุ๋ยคอกหรือกากตะกอนหม้อกรองจากโรงงานน้ำตาล ควรใช้กลบหลุมปลูกถั่วเหลืองประมาณไร่ละ 30 ถึง 35 ปีบ

ดินเป็นกรด ให้ใส่กากตะกอนหม้อกรองจากโรงงานน้ำตาล ในอัตรา 30 ถึง 35 ปีบ ต่อไร่ แล้วไถกลบ

คำแนะนำ
ควรหลีกเลี่ยงวิธีให้ปุ๋ยแบบหว่าน เพราะปุ๋ยบางชนิด โดยเฉพาะปุ๋ยฟอสเฟต พืชจะนำไปใช้ได้โดยการที่รากพืชไปสัมผัสปุ๋ย หรือโดยการแพร่กระจายของปุ๋ย รากต้องอยู่ใกล้ปุ๋ยมากที่สุด จึงควรให้ปุ๋ยอยู่ตำแหน่งใกล้รากที่สุดเพราะถั่วเหลืองมีระบบรากแก้ว

การกำจัดวัชพืช
นับว่าจำเป็นมาก เมื่อพบเห็นการเกิดวัชพืช ก่อนถั่วเหลืองออกดอกควรกำจัดวัชพืช เพราะหลังจากนั้นถั่วเหลืองจะเจริญเติบโตครอบคลุมแปล

การระบายน้ำ
บางพื้นที่หรือบางฤดู หากมีน้ำท่วมหรือขังในแปลง ควรระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุด ถ้าขังไว้นานเกิน 2 หรือ 3 วัน จะทำให้ใบเหลืองและร่วง

การป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูถั่วเหลือง

รูปภาพจาก : สวนเกษตรผสมผสาน นครปฐม

แมลงวันเจาะลำต้น ควรป้องกันด้วยการพรวนดิน ดายหญ้าระหว่างต้นถั่วเหลือง อย่างน้อย 2 ครั้ง ก่อนถั่วเหลืองออกดอก

การเก็บเกี่ยวและนวดถั่วเหลือง
ถั่วเหลืองจะสุกและเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 75 ถึง 110 วัน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เมื่อฝักสุกจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลและร่วงจากลำต้น การเก็บเกี่ยวอาจกระทำโดยตัดต้นให้ชิดดินแล้วรวบรวมเพื่อนำไปยังลานนวด ถ้านวดด้วยเครื่องจักรควรที่ตัดต้นและนวดในแปลงปลูกเลย เพราะส่วนของลำต้นและฝักจะได้คืนกลับไปสู่ดินต่อไป

การนวดถั่วเหลืองอาจนวดในลานนวดโดยใช้สัตว์เดินย่ำ หรือใช้รถแทรคเตอร์เล็กวิ่งทับ ถ้าจำนวนน้อย ๆ ก็ใส่กระสอบป่านแล้วใช้ไม้ทุบ แต่จะนวดออกดีเมื่อตากแห้งสนิทเท่านั้น

ภายหลังการนวดให้ทำความสะอาดเมล็ด และเก็บบรรจุกระสอบ หรือตากแดดต่อจนแห้งสนิทก่อน เพราะ การเก็บเมล็ดเมื่อยังมีความชื้นจะทำให้เมล็ดขึ้นรา สูญเสียความงอกเร็ว

การเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

เมล็ดถั่วเหลืองจะสูญเสียความงอกได้เร็วมาก เมื่อเก็บไว้ข้ามปีจะเหลือความงอกประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างสูง
ในกรณีที่เกษตรกรจะเก็บเมล็ดของตัวเองไว้ปลูกในปีถัดไปก็พอกระทำได้ การเก็บเมล็ดไว้ในที่เย็น อากาศถ่ายเทน้อย สามารถชะลอเวลาการสูญเสียความงอกลงไปได้บ้าง

วิธีเก็บที่ดีที่สุดคือเก็บในห้องเย็นอุณหภูมิต่ำ ความชื้นต่ำ วิธีนี้อาจเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ได้ถึง 4 ถึง 5 ปี โดยมีการสูญเสียความงอกเพียงเล็กน้อย หรือใส่ปีบแล้วปิดให้สนิท หรือใส่ถุงพลาสติกแล้วปิดไม่ให้อากาศเข้าได้ ก็สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกข้ามปีได้โดยมีการสูญเสียความงอกบ้าง

ฝากติดตามบทความ ถั่วเขียว และพืชหมุนเวียนชนิดอื่นๆ ด้วยนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.baanjomyut .com, หนังสือ พืชหลังนา สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *