ถั่วเขียว

ถั่วเขียว

ถั่วเขียว พืชตระกูลถั่วที่มีเปลือกเมล็ดสีเขียว แต่เนื้อเมล็ดสีเหลือง สามารถนำเมล็ดมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เช่น การประกอบอาหาร การทำขนม การเพาะถั่วงอก การแปรรูปเป็นวุ้นเส้น การประกอบอาหารสัตว์ และเป็นปุ๋ยบำรุงดิน โดยปลูกเป็นพืชหมุนเวียนในนาข้าว หรือพื้นที่เพาะปลูกพืชไร่ต่างๆ และสร้างรายได้ที่ดี ซึ่งมีช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก ถั่วเขียวมีรากเป็นระบบรากแก้ว เหมือนกับถั่วเหลือง และมีรากแขนง ทำให้ถั่วเขียวเติบโตได้เร็ว ดินที่มีความชื้น บริเวณรากมักจะพบปมของเชื้อแบคทีเรียไรโซเบียม ทำหน้าที่ช่วยตรึงไนโตรเจน

ลำต้น ถั่วเขียวเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม ไม่ใช่เถาเลื้อย ความสูงของลำต้นประมาณ 30 ถึง 150 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุ์ ลำต้นเป็นเหลี่ยมมีสีเขียว และมีขนอ่อนปกคลุม ในบางสายพันธุ์อาจมีลักษณะลำต้นเลื้อย

ใบ มีสีเขียวอ่อนถึงเข้ม รูปไข่ ตามก้านใบและบนใบมีขนสีขาว
ดอก ดอกมีลักษณะเป็นช่อ เกิดขึ้นบริเวณมุมใบด้านบนบริเวณปลายยอด และกิ่งก้าน ช่อดอกประกอบด้วยก้านดอก ยาวประมาณ 2 ถึง 13 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ดอกเกิดเป็นกลุ่ม จำนวนดอกประมาณ 10 ถึง 15 ดอก สีดอกมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว และสีม่วง

ฝัก และเมล็ด ฝักมีลักษณะกลมยาว สีเขีย+ว ปลายโค้งงอเล็กน้อย โดยเฉพาะถั่วเขียวผิวมัน ส่วนถั่วเขียวผิวดำฝักจะตรง และสั้นกว่าถั่วเขียวผิวมัน เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลจนถึงสีดำตามอายุ และขึ้นอยู่กับพันธุ์ ฝักจะมีเมล็ดประมาณ 10 ถึง 15 เมล็ด 100 เมล็ด หนักประมาณ 2 ถึง 8 กรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ประโยชน์ของ ถั่วเขียว

  • นำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทของหวานได้หลายชนิด เช่น ถั่วเขียวต้มน้ำตาล ขนมถั่วแปบ และถั่วกวน เป็นต้น
  • นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ทำวุ้นเส้น และแป้ง เป็นต้น
  • นำมาสกัดเป็นน้ำมันถั่วเขียวสำหรับประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ใช้ประกอบอาหาร ส่วนผสมเครื่องสำอาง ใช้ในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ชนิดของถั่วเขียว ในประเทศไทย
แบ่งตามลักษณะเปลือกออกเป็น 4 ชนิด คือ

  1. ถั่วเขียวเมล็ดมัน เป็นถั่วเขียวที่มีลักษณะเมล็ดสีเขียวมีมันวาว ฝักเมื่อแก่จะลักษณะสี 2 สี ตามสายพันธุ์ คือ พันธุ์อู่ทอง 1 ฝักมีสีดำ และพันธุ์พื้นเมืองฝักขาว ฝักมีสีขาวนวล
  2. ถั่วเขียวธรรมดา หรือถั่วเขียวเมล็ดด้าน เป็นถั่วเขียวที่มีสีเขียว มีลักษณะเมล็ดด้าน
  3. ถั่วเขียวสีทอง มีลักษณะคล้ายกับถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวธรรมดา แต่เมล็ดมีสีเขียวอมเหลือง มีทั้งลักษณะเมล็ดด้าน และเมล็ดมัน
  4. ถั่วเขียวผิวดำ เป็นถั่วเขียวที่มีลักษณะเมล็ดคล้ายกับถั่วเขียวธรรมดา แต่ต่างจากถั่วเขียวธรรมดาคือ ลำต้นมีทรงพุ่มใหญ่ และแตกกิ่งก้านมากกว่า บางพันธุ์อาจมีลักษณะยอดเลื้อยพันกัน ใบหนา ลำต้นมีขนปกคลุม ลักษณะก้านใบ และฝักหนากว่า ดอกออกสีเขียวอมเหลือง ฝักป้อมสั้นกว่า เมล็ดมีสีดำมีขนาดปานกลาง อายุเก็บเกี่ยวในช่วง 80 ถึง 90 วัน

จุดประสงค์ในการปลูก ถั่วเขียว

  1. เพื่อปรับปรุง บำรุงดิน
  2. เพื่อเป็นรายได้เสริม

สภาพดินที่เหมาะสม

  • ดินร่วน ดินร่วนปนทราย
  • มีหน้าดินลึก
  • ระบายน้ำได้ดี และไม่มีน้ำท่วมขัง
  • มีแร่ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และอินทรีย์วัตถุที่เพียงพอ และควรมีจุลินทรีย์ในดินสูง

***ดินเหนียวหรือดินเลน เป็นดินที่ให้ผลผลิตถั่วไม่ค่อยดี เนื่องจากอุ้มน้ำดี ทำให้ดินแฉะ และท่วมขังง่าย หากต้องการปลูกจะต้องทำร่องหรือทางน้ำไหลสำหรับระบายน้ำออกแปลง โดยเฉพาะการปลูกในฤดูฝน***

***ดินทราย มักจะประสบปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอ และมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จึงต้องบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก และปุ๋ยเคมีในปริมาณที่พอเหมาะ และที่สำคัญต้องจัดหาระบบให้น้ำที่เพียงพอ แต่โดยทั่วไปการปลูกในพื้นที่ดินทรายมักปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือปลูกในที่ดอนหลังการเก็บเกี่ยวข้าว***

ฤดูกาลที่เหมาะสม
แบ่งตามช่วงฤดูเป็น 3 ฤดูกาล คือ

  1. การปลูกถั่วเขียวผิวมันต้นฤดูฝน เป็นการปลูกตามพื้นที่ไร่ในต้นฤดูฝนช่วงเดือนเมษายน ถึง ต้นเดือนมิถุนายน และจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง สิงหาคม การปลูกในช่วงนี้ถั่วเขียวจะเจริญเติบโตดี แตกกิ่งก้านสาขามาก เพราะได้รับน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง มีอุณหภูมิ และความชื้นเหมาะแก่การเจริญเติบโต จึงทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าฤดูอื่น แต่อาจประสบปัญหาเรื่องฝักเสียหายจากน้ำฝน
  2. การปลูกถั่วเขียวปลายฝน ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึง เดือนกันยายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนธันวาคม ถั่วเขียวที่ผลิตในช่วงนี้มีปริมาณมากที่สุด ประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีปริมาณ พื้นที่ปลูกมากขึ้นหลังหลังการเก็บเกี่ยวพืชไร่อื่น ๆ เช่น ปลูกหลังข้าวโพด ปลูกหลังถั่วลิสง เป็นต้น ผลผลิตที่ได้ต่อไร่จะต่ำกว่าการปลูกในช่วงต้นฝน เนื่องจากได้รับน้ำที่น้อยลง แต่คุณภาพไม่แตกต่างมากนัก อีกทั้งลดความเสียหายของเมล็ดจากน้ำฝนได้
  3. การปลูกถั่วเขียวผิวมันหลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว การปลูกถั่วเขียวในลักษณะนี้ เรียกว่า ถั่วนา โดยปลูกในช่วงเดือนธันวาคม ถึง เดือนมกราคม หลังการเก็บเกี่ยว และเก็บเกี่ยวประมาณเดือนเมษายน ถึง เดือนพฤษภาคม มีผลผลิตประมาณร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากมีพื้นที่การปลูกน้อย และมีเฉพาะบางพื้นที่

ขั้นตอน การปลูกถั่วเขียว

วิธีการเพาะปลูก

  1. ทำได้โดยการหว่าน
    ข้อเสีย คือ
    สิ้นเปลืองเมล็ด
    เมล็ดงอกไม่สม่ำเสมอ
    ไม่สามารถเข้าไปพรวนดิน ดายหญ้า และพ่นยากำจัดศัตรูพืชหลังการเพาะปลูกได้
    ถ้าหว่านเมล็ดมากเกินไป ต้นจะขึ้นเบียดกัน ผลผลิตไม่สมบูรณ์ และได้ผลผลิตไม่เต็มที่
    เก็บเกี่ยวได้ช้า
  2. ทำได้โดยการโรยเมล็ด
  • โรยเป็นแถว เว้นระยะระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 20 ถึง 60 เมล็ด ต่อแถวยาว 1 เมตร

การเตรียมดิน
การเตรียมดินอาจแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ และฤดูการปลูก โดยทั่วไปจะทำการเตรียมดินด้วยการไถพรวนดิน และกำจัดวัชพืชอย่างน้อย 1 ถึง 2 ครั้ง โดยอาจไถครั้งเดียวก่อนปลูกเพื่อลดต้นทุน ด้วยการไถหน้าดินลึกประมาณ 30 เซนติเมตร โดยมีระยะห่างการไถประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ หรือ 5 ถึง 10 วัน ก่อนปลูก ไถขึ้นร่อง เป็นร่องเดี่ยว กว้างประมาณ 30 ถึง 40 เซนติเมตร

การเตรียมเมล็ดพันธุ์
คลุกเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียมก่อนปลูก เพื่อให้เชื้อไรโซเบียมติดบริเวณรากถั่ว และสร้างปมสำหรับตรึงธาตุอาหารไนโตรเจน โดยใช้เชื้อ 1 ถุง ขนาด 200 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัม

วิธีการปลูก และระยะปลูก

  1. การปลูกเป็นหลุม วิธีนี้เป็นการปลูกโดยวิธีขุดหลุมบนคันร่องที่เตรียมไว้ โดยมีระยะระหว่างแถวประมาณ 50 เซนติเมตร และระยะระหว่างหลุม 20 เซนติเมตร หยอดเมล็ดหลุมละ 2 ถึง 3 ต้น ความลึกประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ซึ่งจะใช้เมล็ด 3 ถึง 5 กิโลกรัม ต่อไร่
  2. การปลูกแบบโรยเป็นแถว วิธีนี้เป็นการปลูกบนคันร่องเช่นกัน ด้วยการเปิดร่องตามแนวยาวบนคันร่อง ระยะระหว่างร่อง 50 เซนติเมตร ทำการโรยเมล็ดลงในร่อง 10 ถึง 15 เมล็ด ต่อระยะ 1 เมตร ความลึกประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ใช้เมล็ดประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อไร่ ไม่ควรลึกมากกว่านี้เพราะเมล็ดจะงอกยาก หรืองอกแล้วอาจเน่าได้ ภายหลังจากโรยเมล็ดให้เกลี่ยดินด้านบนกลบตาม

การดูแลถั่วเขียว หลังการปลูก

การให้น้ำ
ถั่วเขียวเป็นพืชที่ทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชไร่หลายๆ ชนิด แต่ถ้าต้องการปลูกแล้วมีรายได้เสริม และได้ผลผลิตต่อไร่สูง ควรให้น้ำ 2 ครั้ง ใน 3 สัปดาห์ โดยรดน้ำพอชุ่ม อย่าให้น้ำขังหรือเฉอะแฉะ

การตรวจเช็คการงอก การปลูกซ่อม และการถอนแยก
โดยทั่วไปเมล็ดถั่วเขียวจะงอกภายใน 4 ถึง 5 วัน เมล็ดอาจไม่งอกจากสาเหตุของเมล็ดถูกทำลายจากแมลงหรือสัตว์หน้าดิน รวมถึงความชื้นหรือปลูกในระดับที่ลึกเกิน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบการงอกของเมล็ดในแต่ละแถว หากพบหลุมหรือแนวเมล็ดที่ไม่งอกให้ทำการหยอดเมล็ดปลูกซ่อมแซมใหม่โดยเร็วเพื่อให้ต้นเกิดใหม่สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกับต้นอื่นๆ เมล็ดที่งอกมากกว่า 3 ต้น ต่อหลุม ให้ทำการถอนต้นถั่วเขียวที่เล็กหรือไม่สมบูรณ์ทิ้ง โดยให้เหลือเพียง 2 ถึง 3 ต้น ต่อหลุม

การให้ปุ๋ย

การใส่ปุ๋ยแก่ถั่วเขียวมักใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 25 กิโลกรัม ต่อไร่ ใส่รองก้นหลุมหรือโรยตามแนวร่องก่อนปลูก และใส่ปุ๋ยสูตร 12-12-24 ในระยะที่ต้นเริ่มแตกงอก

การป้องกันกำจัดวัชพืช

  1. สารเคมีสำหรับป้องกันกำจัดวัชพืชที่ได้ผลดี คือ อะลาคลอร์ (Alachlor) ในอัตรา 300 ถึง 600 ซีซี ต่อไร่ โดยฉีดพ่นหลังปลูกเสร็จทันที ไม่ควรฉีดพ่นหลังมีการงอดของเมล็ด ในระยะที่มีวัชพืชเริญเติบโตแล้ว อาจใช้ฉีดพ่นด้วยสารพาราควอท อัตรา 300 ถึง 400 ซีซี ต่อไร่
  2. การป้องกันกำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงาน เป็นวิธีที่ปลอดภัยต่อเกษตรกร และคุณภาพของถั่วเขียวมากที่สุด เนื่องจากไม่ต้องเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี และผลที่อาจเกิดกับต้นถั่วของสารเคมี โดยมากนิยมใช้จอบถากกำจัดวัชพืชตามแนวแถวให้
    หมด โดยอาจต้องทำการกำจัด 1 ถึง 2 ครั้ง ตลอดอายุการปลูก ในช่วง 10 ถึง 14 วัน หลังการปลูก และ 30 ถึง 40 วัน หลังปลูก

การป้องกันและกำจัด โรคและแมลงศัตรูถั่วเขียว

โรคถั่วเขียว

โรคใบจุดสีน้ำตาล
ระบาดในฤดูฝน มักเกิดกับถั่วเขียวอายุตั้งแต่ 2 สัปดาห์ หลังการงอก และมีการระบาดมากในช่วงออกดอกจนถึงระยะที่ใกล้เก็บเกี่ยว ใบเป็นจุดสีน้ำตาล มีลักษณะค่อนข้างกลม ตรงกลางแผลมองเห็นเป็นเส้นใยสี อาจมีลักษณะเป็นวงสีเหลืองรอบแผล ขณะขยายตัว เมื่อแผลชิดกันจะมีลักษณะสีน้ำตาล ผลของโรค คือ ทำให้ฝักลีบ และมีขนาดเล็ก

 

การป้องกันและกำจัด

  • โดยการฉีดสารเคมีพวกท็อกซิน เคลซีน หรือเบนเลท ในอัตราส่วน 6 ถึง 12 กรัม หรือ 1 ถึง 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร โดยฉีดพ่นเมื่อถั่วอายุประมาณ 30 วัน หลังงอก และฉีดพ่นทุก ๆ 14 วัน

 

โรคราแป้ง
ระบาดในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูแล้ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีอากาศเย็น จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากผิวใบของถั่ว ทำให้ใบแห้ง ลักษณะที่พบมักเกิดตามใบล่าง โดยมีเส้นใยของราสีขาวคล้ายผงแป้งบนใบถั่ว ต่อมาใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และแห้งตาย ต้นถั่วเขียวแคระแกรน หากเกิดโรคในระยะออดอกหรือติดฝัก จะทำให้ผลผลิตน้อยลง

 

การป้องกันและกำจัด

  • กำจัดวัชพืชในแปลง
  • ปลูกถั่วเขียวสลับกับพืชอื่นในระหว่างแถว
  • ใช้สารเคมี จะใช้สารพวกเบนเลท อัตรา 6 ถึง 12 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น เมื่อถั่วเขียวอายุ 30 วัน หลังงอก และฉีดซ้ำทุก ๆ 15 วัน

แมลงศัตรูถั่วเขียว

รูปภาพจาก : สวนเกษตรผสมผสาน นครปฐม

หนอนแมลงวันเจาะต้นถั่ว
ในระยะต้นกล้าหลังงอกใหม่ เมื่อฟักตัวเป็นหนอนจะเข้ากัดกินเนื้อเยื่อตามใบ และลำต้น ทำให้ต้นถั่วตาย หากเป็นต้นถั่วโตแล้ว หนอนจะเข้าเจาะกินลำต้นบริเวณยอด ทำให้ยอดเหี่ยวตาย
การป้องกัน และกำจัด

  • โดยการหว่านฟูราดาน 3 เปอร์เซ็นต์ G อัตรา 3 ถึง 5 กิโลกรัม ต่อไร่ ก่อนปลูกหรือหลังปลูก
  • ฉีดพ่นด้วยสารโมโนโครโตฟอส 56 เปอร์เซ็นต์ WSC ในอัตราส่วน 15 ถึง 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หลังการงอก 7 วัน

 

เพลี้ยอ่อน
ระบาดมากในฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง เพลี้ยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามยอดอ่อน ใบอ่อน ช่อดอก และฝักอ่อน ทำให้ยอดหงิกงอ ดอกร่วง ฝักร่วง และต้นแคระแกรน
การป้องกันและกำจัด

  • โดยการฉีดพ่นด้วยสารโมโนโครโตฟอส์ ในอัตราส่วน 25 ถึง 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

เพลี้ยไฟ
ระบาดมากในช่วงฝนทิ้งช่วง และแดดร้อน โดยเข้าดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนยอด และดอก ทำให้ยอดหงิกงอ ใบแห้ง ดอกร่วง ฝักอ่อนร่วงหรือลีบ ไม่ติดเมล็ด
การป้องกัน และกำจัด

  • โดยวิธีฉีดพ่นด้วยสารโมโนโครโตฟอส 56 เปอร์เซ็นต์ WSC อัตรา 25 ถึง 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

หนอนเจาะฝัก
ระบาดในปลายฤดูฝนหรือฤดูแล้ง
การป้องกัน และกำจัด

  • โดยการฉีดพ่นโมโนโครโตฟอส 56 เปอร์เซ็นต์ WSC ในอัตราส่วน 40 ถึง 50 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

 

มอดถั่ว
เป็นแมลงที่เข้าทำลายเมล็ดถั่วในระยะที่อยู่ในฝัก สามารถติดไปกับเมล็ดในช่วงการเก็บเกี่ยว ทำให้มีการแพร่พันธุ์ และกัดกินเมล็ดขณะเก็บในถุงกระสอบ
การป้องกันและกำจัด

  • คลุกเมล็ดด้วยสารเคมีพวกมาลาไธออนผง หรือสารอลามอน หากต้องการเก็บไว้นาน
  • เมล็ดที่เก็บไว้บริโภคนั้นไม่ควรคลุกสารเคมีใดๆ แต่สามารถป้องกันได้โดยการคลุกด้วยน้ำมันถั่วเหลือง ประมาณ 3 ถึง 5 ซีซี ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยว และการนวดถั่วเขียว
การเก็บเกี่ยว
ถั่วเขียว มักออกดอกไม่พร้อมกัน จึงทำให้ฝักแก่ไม่พร้อมกัน ต้องเก็บเกี่ยวหลายครั้ง หากมีระยะการเก็บในฤดูฝนเมล็ดอาจเสียหายได้ และอาจต้องรีบเก็บเกี่ยวฝักทันทีเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน แต่หากเก็บผลผลิตแบบทยอยเก็บ ต้องระวังไม่ให้ดอกถั่วเขียวรุ่นหลังร่วงหรือติดฝักมาด้วย
ระยะการเก็บเกี่ยวฝักถั่วเขียว โดยส่วนใหญ่มีอายุประมาณ 60 ถึง 70 วันนับจากวันงอก ทั้งรุ่นแรก และรุ่นที่สอง

การนวดถั่วเขียว
เป็นการแยกเมล็ดออกจากฝักถั่วเขียว วิถีชาวบ้านมักใช้วิธีการเก็บฝักเมล็ดถั่วเขียวที่ตากแห้งแล้วใส่ถุงกระสอบ และทุบด้วยไม้เบาๆ เพื่อให้ฝักกระเทาะ และแยกเมล็ดออกตกลงสู่ด้านล่างกระสอบ จากนั้นนำมาฝัดแยกเศษฝักด้วยกระด้งหรือเครื่องสีฝัด ส่วนฝักที่ไม่แตกเมล็ดออกอาจนำมาบรรจุกระสอบทุบอีกครั้ง หรือใช้มือขยี้เพื่อให้ฝักแตกออกอีกที

ติดตามบทความ ถั่วพุ่ม กันต่อเลยนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.puechkaset.com, หนังสือ พืชหลังนา สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *