การเพาะเห็ดถุง

การเพาะเห็ด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพาะเห็ดถุง

การเพาะเห็ดถุง ทำได้กับเห็ดเกือบทุกสายพันธุ์ นอกจากจะเป็นการเพาะเพื่อจำหน่ายดอกเห็ดแล้ว ยังสามารถจำหน่ายเชื้อเห็ดถุงได้อีกด้วย

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับ การเพาะเห็ดถุง
1. วัสดุเพาะ เช่น ขี้เลื้อยไม้ยางพารา ไม้เบญจพรรณ ชานอ้อย อาหารเสริม
2. แม่เชื้อเห็ด ชนิดที่ต้องการ
3. ถุงพลาสติกทนร้อนขนาด 6 1/2 x12 1/2 นิ้ว หรือ 8×12 นิ้ว
4. คอขวดพลาสติกเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 1/2 นิ้ว
5. สำลี, ยางรัด, จุกสำเร็จ
6. ถังนึ่งไม่อัดความดัน
7. โรงเรือนหรือที่บ่มเส้นใย และโรงเปิดดอกแยกกัน

การผลิตเชื้อวุ้นสำหรับ การเพาะเห็ดถุง
สูตรอาหารวุ้น พี.ดี.เอ. ในการเตรียมอาหารวุ้นจำนวน ๑ ลิตร จะมีส่วนประกอบต่างๆ ดังนี้
– มันฝรั่ง 200-300 กรัม
– น้ำตาลเด๊กโทรสหรือกูโคส 20 กรัม
– วุ้น 15 กรัม
– น้ำ 1 ลิตร
วิธีการเตรียมอาหาร

ต้มน้ำกลั่น น้ำฝน หรือน้ำจืดสะอาด ใส่มันฝรั่งที่ปลอกเปลือกล้างน้ำแล้วหั่นเป็นชิ้นขนาดกว้าง x ยาว x สูง ประมาณ 1 x 1x 1 เซนติเมตร ลงไป ต้มจนน้ำเดือด ใช้ไฟอ่อนๆ นาน 15 นาที กรองเอาแต่น้ำ ใช้น้ำเย็นผสมกับวุ้นพอเปียกแล้วใส่วุ้นลงไป กวนให้ละลายจนหมด นำมาวัดปริมาตรแล้วเติมน้ำให้พอดี 1 ลิตร จากนั้นใส่น้ำตาลเด๊กโทรสหรือกูลโคสลงไป กวนให้ละลายจนหมดแล้วนำไปกรอกใส่ขวดต่อไป การกรอกใส่ขวด

นิยมใช้ขวดเหล้าแบนที่ล้างสะอาดและตากแห้งแล้วมากรอกอาหารวุ้น โดยใช้กรวยเล็กๆ กรอก ใส่อาหารวุ้นลงไปให้สูงจากพื้นก้นขวดประมาณ 1 นิ้ว ระมัดระวังไม่ให้อาหารเปื้อนปากขวด หากเปื้อนต้องใช้สะอาดเช็ดออกให้เกลี้ยงหรือถ่ายอาหารลงขวดใหม่ การอุดจุกใช้สำลีปั้นเป็นจุกขนาดยาว 1½ -2 นิ้ว ให้อุดปากขวดได้ไม่แน่นไม่หลวมมากจนเกินไป อุดให้ลึกเข้าไปในขวดประมาณ 1 นิ้ว ด้านนอกขวดประมาณ 1 นิ้ว ด้านนอกขวดประมาณ ½-1 นิ้ว ให้สามารถใช้นิ้วก้อยกับฝ่ายมือคีบจุกได้โดยสะดวก และจุกสำลีจะต้องมีความแข็งแรงพอสมควรเพราะในการเลี้ยงเชื้อบนวุ้น เวลาต่อเชื้อจะต้องทำการเปิดปิดจุกสำลีหลายครั้ง
การป้องกันสำลีเปียกขณะที่นึ่งฆ่าเชื้อ

ควรใช้ฝาพลาสติกครอบจุกสำลีอย่างหลวมๆ หรือใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อหุ้มแล้วรัดด้วยหนังยาง เพื่อป้องกันไม่ให้สำลีเปียกขณะนึ่งฆ่าเชื้อ เพราะหากสำลีเปียกจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อราและบักเตรีได้ง่าย การนึ่งฆ่าเชื้อในอาหารวุ้น นำขวดอาหารวุ้นลงนึ่งความดันไอน้ำ แล้วปิดฝาหม้อนึ่งอย่างถูกวิธี คือ เช็ดขอบฝาและขอบหม้อในส่วนที่จะสัมผัสกันให้สะอาด ทาจาระบีบางๆ แล้ววางฝาให้เสมอกัน บิดขันน๊อตทีละคู่ตรงกันข้ามให้ฝาลงแน่นโดยไม่เอียง ทำทีละคู่จนครบทุกหูบิด ส่วนน้ำในหม้อนึ่งจะต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำสะอาดให้ใหม่ทุกครั้ง และมีปริมาณมากพอที่จะนึ่งจนครบขบวนการโดยน้ำไม่แห้งเสียก่อน ถ้าเป็นหม้อนึ่งขนาด 41 คว็อทหรือ 25 คว็อทควรเติมน้ำสูงจาก้นหม้อไม่น้อยกว่า 1 นิ้ว ต้มน้ำให้เดือดเป็นไอ เปิดที่ระบายไอ (อีเจ๊คเตอร์) เพื่อไล่ลมออกจนเหลือแต่ไอล้วนๆ จึงปิดที่ระบายไอทีละน้อย สังเกตดูเกจ์วัดความดัน เข็มชี้จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึง 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ค่อยๆ หรี่ไฟลงทีละน้อยแต่อย่าให้ไฟดับ รักษาความดันไปน้ำในหม้อนึ่งให้อยู่ที่ระดับ 15-16 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 25-35 นาที (ถ้านึ่งอาหารวุ้นจำนวนน้อยให้ใช้เวลานึ่ง 25 นาที แต่ถ้านึ่งจำนวนมากให้ใช้เวลา 35 นาที) เมื่อครบกำหนดแล้วก็ปิดไฟและคลายเกลียวที่ระบายไอให้ออกช้าๆ จนความดันลดลงถึงศูนย์จึงเปิดฝาหม้อเอาอาหารวุ้นออกมา

การเพิ่มพื้นที่ผิววุ้น

เมื่อขวดอาหารวุ้นเย็นลงจนพอจับได้ให้นำขวดไปเอียงเพิ่มพื้นที่ผิววุ้น ไม่ควรเอียงในขณะที่ขวดร้อนเกินไป เพราะจะเกิดไอน้ำเกาะที่ผนังขวดด้านในจำนวนมากและหากรอให้เย็นเกินไปวุ้นก็ อาจจะแข็งตัวได้ (วุ้นเหลวจะแข็งตัวที่อุณหภูมิประมาณ 43-45 องศาเซลเซียส) การเอียงขวดให้หาไม้มารองด้านปากหรือคอขวดให้เอียงในระดับ 15 องศา หรือคะเนให้อาหารวุ้นไหลมาตามความเอียงเพียงหนึ่งในสามของขวดไม่ควรให้วุ้น ไหลเข้ามาใกล้ปากขวดมากเกินไปเพราะ เชื้ออื่นจะเข้ามาปนเปื้อนได้ง่ายในขณะเขี่ยเชื้อ เมื่อวุ้นแข็งตัวดีแล้วให้เก็บรวบรวมไว้ในห้องเย็นหรือตู้เย็น โดยใส่ถุงพลาสติกรัดยางจะสามารถเก็บไว้รอการใช้งานได้นานหลายเดือนแต่ ถ้าหากนำไปใช้เลยก็ไม่ต้องใส่ตู้เย็น

การจับเข็มเขี่ยเชื้อ

ให้จับในท่าจับปากกาหรือดินสอ โดยจับที่ปลายด้ามให้ปลายด้ามวางบนง่ามมือนิ้วหัวแม่โป้งกับนิ้วชี้ ตัวด้ามเข็มห่างจากปลายประมาณ 2 นิ้ว วางบนปลายนิ้วกลาง นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่โป้งช่วยในการยืดเข็มเขี่ยโดยวางบนด้ามเข็ม ส่วนนิ้วนางกับนิ้วก้อยเป็นอิสระให้สามารถใช้จับจุกสำลีได้สะดวก โดยไม่ต้องเร็งนิ้วเกินไป

การจับจุกสำลี

ในเวลาเปิดขวดจะต้องระมัดระวังไม่ให้จุกเปื้อนหรือรับเชื้อใดๆ มิฉะนั้นพอปิดจุกเข้าที่จะมีเชื้ออื่นตกลงไปบนอาหารวุ้นได้ง่าย วิธีการจับจุกสำลีให้ใช้มือที่จับเข็มเขี่ยหงายมือจับจุกตรงนอกขวดด้วยนิ้ว ก้อยกับนิ้วนาง หรือนิ้วก้อยกับฝ่ามือ จับจุกบิดหมุนเล็กน้อยเพื่อให้ดึงออกได้ง่าย ดึงออกจากปากขวดช้าๆ อย่าดึงเร็วหรือแรงจนลมย้อนเข้าขวดรุนแรง เพราะเชื้ออื่นภายนอกอาจปะปนเข้าไปในขวด เมื่อดึงจุกออกมาแล้ว จุกจะอยู่ด้านนอกของอุ้งมือ จับให้ลอยอยู่ในอากาศตลอดเวลาโดยไม่ให้แตะต้องสัมผัสสิ่งใดเลยจนกว่าจะเขี่ย เชื้อเสร็จ แล้วค่อยๆ บรรจุอุดปากขวดตามเดิม

เทคนิคปลอดเชื้อสำหรับ การเพาะเห็ดถุง
การเขี่ยเชื้อหรือย้ายเชื้อโดยไม่ให้เกิดการปนเปื้อนเชื้ออื่นๆ จะประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
– ก่อนใช้เข็มเขี่ยไปเชื้อใดๆ ให้นำเข็มซึ่งโดยทั่วไปทำด้วยลวดนิโครมไปลนไฟจนปลายเข็มร้อนแดงเสียก่อน แล้วลนอย่างเร็วๆ ผ่านมาทางด้ามตรงใกล้มือจับเล็ดน้อย นำมารอให้เย็นในอากาศประมาณ 5 วินาที จึงค่อยนำไปเขี่ยเชื้อ ไม่ควรรีบนำไปเขี่ยเชื้อตั้งแต่เข็มยังร้อนแดงใหม่ ๆ เพราะเชื้ออาจจะตายหมดหรือตายเป็นส่วนใหญ่ได้
– เมื่อใช้มือจับเข็มไปขับเขี่ยไปจับจุกเปิดแล้ว ต้องนำปากขวดมาลนไฟหมุนกลับไปกลับมา 2-3 รอบก่อน เพื่อฆ่าเชื้อและเผาเศษสำลีที่อาจจะมีติดอยู่ตามปากขวด (ห้ามใช้มือหยิบ)
– หลังสอดเข็มเขี่ยเข้าทางปากขวด ไปเขี่ยเชื้อหรือวางเชื้อเรียบร้อยแล้ว นำเข็มเขี่ยออกมาแล้วลนไฟปากขวดอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงจุกสำลี
– การเปิดปิดปากขวดด้วยจุกสำลีต้องลนไฟก่อนทุกครั้ง และเข็มเขี่ยที่ใช้เขี่ยเชื้อเสร็จแต่ละครั้งจะต้องลนไฟก่อนเริ่มเขี่ยเชื้อในขวดต่อไปเสมอ
– ระหว่างขบวนการเขี่ยเชื้อจะต้องไม่ให้เข็มเขี่ยไปสัมผัสสิ่งอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อที่ปลายเข็มแพร่ออกไปที่อื่น และไม่รับเชื้ออื่นเข้ามาที่ปลายเข็มเขี่ย
การเลี้ยงเนื้อเยื่อดอกเห็ดบนอาหารวุ้น เลือกดอกเห็ดที่มีลักษณะสมบูรณ์ไม่แก่หรืออ่อนจนเกินไป ฉีกเป็น ๒ ซีก ลนไฟฆ่าเชื้อปลายเข็มเขี่ย ค่อย ๆ ใช้ปลายเข็มสะกิดเอาเนื้อดอกเห็ดบริเวณใจกลางดอกหรือตรงส่วนหนาๆ ของดอกให้ติดปลายเข็มเขี่ยเป็นชิ้นเล็ก ๆ ต้องระมัดระวังไม่จิ้มเข็มจนทะลุเนื้อดอกเห็ดหรือเขี่ยจนปลายเข็มออกมาถึง ขอบนอกของดอกเห็ด หากเกิดปัญหาเช่นนี้ต้องเริ่มทำใหม่ โดยใช้ดอกเห็ดดอกใหม่ หลังจากเขี่ยเนื้อเยื่อดอกเห็ดได้แล้วให้นำไปวางบนบริเวณกลางอาหารวุ้น

การต่อเชื้อวุ้นไปวุ้นใหม่

ใช้เข็มเขี่ยลมไฟฆ่าเชื้อ ทิ้งให้เย็น เปิดจุก ลนไฟปากขวดใช้เข็มเขี่ยสอดเข้าไปตัดชิ้นวุ้นที่มีเส้นใยของเห็ดเจริญอยู่ ขนาดประมาณ 1 ตารางเซนติเมตร นำออกมาวางบนบริเวณกลางวุ้นของขวดใหม่ แล้วปล่อยให้เส้นใยเจริญจนเต็มผิวหน้าจึงนำไปขายหรือเก็บไว้ใช้ต่อไป

การเก็บรักษาเชื้อ

นำขวดอาหารวุ้นที่เส้นใยเห็ดเจริญดีแล้วมาปิดหุ้มด้วยกระดาษไขหุ้มถึงปากขวดแล้วรัดยางที่ปากขวด นำขวดใส่ในถุงพลาสติกใหม่ รัดยางที่ปากถุงนำไปเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาจะเก็บไว้ได้นานหลายเดือน แต่หากไม่เก็บไว้ในห้องเย็นหรือตู้เย็นจะเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดาจะเก็บไว้ได้นานหลายเดือน แต่หากไม่เก็บไว้ในห้องเย็นหรือตู้เย็นจะเก็บได้ประมาณ ๑ เดือน วุ้นจะค่อย ๆ แห้ง ต้องทำการถ่ายเชื้อหรือต่อเชื้อใหม่ลงบนอาหารวุ้นอีกครั้ง การเสียของเชื้อวุ้นที่ใช้สำหรับ การเพาะเห็ดถุง เกิดจากเชื้อราหรือบักเตรีชนิดอื่นลงไปเจริญอยู่บนผิวอาหารวุ้นโดยเชื้อ เหล่านี้อาจเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนคลุมผิวหน้าวุ้นหมด ไม่เหลือพื้นที่ให้เส้นใยเห็ดได้ขึ้นหรือแบ่งพื้นที่กันอยู่ หรือขึ้นผสมปนเปกัน ซึ่ง การปนเปื้อนนี้เกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ เข็มเขี่ยไม่สะอาดเพียงพอ การเปิดปากขวดไม่ลนไฟ เปิดปากขวดนานเกินไป มีลมพัดวูบวาบขณะเขี่ยเชื้อหรือการพูด การหายใจแรง ๆ รดปากขวดในขณะที่เปิดขวด ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อวุ้นเสียได้

ลักษณะเชื้อเห็ดบนวุ้น

โดยทั่วไปเส้นใยเห็ดจะมีลักษณะคล้ายสำลีฟูขึ้นมาจากผิวหน้าวุ้น สีขาว ขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร ยกเว้นเชื้อวุ้นเห็ดเป๋าฮื้อจะมีจุดดำๆ ของส่วนขยายพันธุ์เป็นหยดชิ้นเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ส่วนเชื้อวุ้นเห็ดหอมเมื่อแก่จะมีบางส่วนรวมกันเป็นแผ่นสีน้ำตาล เหนียว เขี่ยยาก เชื้อเห็ดที่แก่ จะมีการแตกตัวของเส้นใย ทำให้เส้นใยยุบตัวลงค่อนข้างราบติดกับผิววุ้น บางส่วนของเส้นใยมีสีเหลืองอ่อน หรือมีหยดของเหลวสีเหลืองอ่อนอยู่ประปราย ถ้าจะใช้งานควรนำเชื้อนี้ไปต่อเชื้อลงวุ้นใหม่ ให้เส้นใยเจริญออกใหม่เป็นเส้นใยที่แข็งแรงก่อนนำไปใช้งานต่อไป การผลิตเชื้อข้าวฟ่างสำหรับ การเพาะเห็ดถุง

เมล็ดข้าวฟ่าง

เมล็ดข้าวฟ่าง

การเลือกเมล็ดข้าวฟ่าง 
ให้เลือกเมล็ดที่มีขนาดใหญ่ เมล็ดไม่ค่อยแตกหักมากนัก และเป็นเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จำหน่ายให้พวกเลี้ยงสัตว์เท่านั้น เนื่องจากไม่มีสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงเชื้อราตกค้าง ส่วนพันธุ์ข้าวฟ่างแดงหรือขาวก็ได้
การล้างเมล็ดข้าวฟ่าง
นำเมล็ดมาล้างเอาฝุ่นละอองออกและคัดเมล็ดที่ลอยน้ำ ซึ่งเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์หรือถูกแมลงทำลายออกไป เหลือแต่เมล็ดที่จมน้ำซึ่งเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์นำมาทำให้สุกต่อไป
การทำให้สุกโดยการนึ่ง
แช่เมล็ดที่ล้างสะอาดแล้วในน้ำ เพื่อให้เมล็ดอมน้ำ สามารถนึ่งสุกได้ง่ายเป็นเวลา 1 คืน แล้วนำมาล้างน้ำอีกหลายๆ ครั้ง จนหมดกลิ่นเปรี้ยวที่เกิดจากการบูดเน่าของเมล็ดที่แตก นำมาใส่ห่อผ้าหลวมๆ ห่อละ 2-3 ขีด เอาไปนึ่งในลังถึงหรือหม้อนึ่งความดันจนสุกดี แต่ไม่ถึงกับแฉะ ซึ่งในปัจจุบันการทำให้สุก ด้วยวิธีนี้ได้รับความนิยมลดลงและหันมาใช้วิธีการ ทำให้สุกโดยการต้มเมล็ดข้าวฟ่างมากกว่า
การทำให้สุกโดยการต้ม
นำเมล็ดข้าวฟ่างที่ล้างสะอาดดีแล้วลงต้มในหม้อ หรือภาชนะขนาดใหญ่พอเหมาะกับจำนวนเมล็ด เร่งไฟให้น้ำเดือดแล้วจึงค่อยหรี่ไฟให้เดือดเบาๆ อาจใช้ไม้พายช่วยกวนบ้าง เพื่อให้เมล็ดกระจายได้รับความร้อนอย่างทั่วถึง จนเมล็ดข้าวฟ่างเริ่มสุกเล็กน้อย คือ พองและมีรอยปริเล็กน้อย ไม่ควรต้มจนเมล็ด พองเบาเพราะจะใช้ทำงานไม่สะดวกจากนั้นตัก เมล็ดข้าวฟ่างขึ้นมาจากหม้อแล้วเกลี่ยบางๆ ผึ่งลมให้สะเด็ดน้ำต่อไป
การผึ่งเมล็ดข้าวฟ่างสุก
นำเมล็ดข้าวฟ่างใส่ในกระด้าง ถาด หรือตะแกรง ที่น้ำผ่านออกได้ง่าย เช่น ถาดที่พื้นเป็นมุ้งไนลอน ใส่เมล็ดวางแผ่ให้บาง ในบางแห่งอาจใช้พัดลมเป่า และคอยเกลี่ยเมล็ด ก็จะทำให้เมล็ดแห้งเร็วยิ่งขึ้น
การกรอกใส่ขวด
นิยมใช้ขวดเหล้าแบนใหญ่ที่ล้างสะอาดและตากแห้งมา แล้วกรอกเมล็ดโดยใช้กรวยกรอกเพื่อป้องกันปากขวดเปื้อนเมล็ดข้าวฟ่างสุก ซึ่งอาจทำให้เชื้อราอื่นเจริญเข้าไปภายในขวดได้ ทำการกรอกจนได้ปริมาณครึ่งขวดหรือ 2 ใน 3 ของขวด โดยไม่ควรใส่เมล็ดข้าวฟ่างสุก มากหรือน้อยเกินไป เนื่องจากหากใส่มากเกินไป เส้นใยเห็ดจะเจริญได้ช้า แต่ถ้าใส่น้อยเกินไปเส้นใย เห็ดจะเจริญได้เร็วเหมาะแก่การใช้งาน แต่มีราคาแพงไม่เป็นนิยมของผู้ซื้อ
การอุดจุก
ใช้สำลีปั้นจุกให้มีขนาดพอเหมาะ อุดได้ไม่แน่นไม่หลวมจนเกินไป ซึ่งวิธีการทำเช่นเดียวกับการทำจุกอุดขวดอาหารวุ้น พี.ดี.เอ.
การป้องกันจุกเปียกขณะนึ่ง อาจใช้ถ้วยพลาสติกชนิดทนร้อนที่ทำขึ้นโดยเฉพาะสวมครอบทีละจุก หรือนำขวดใส่ตะกร้าหลายๆ ขวดแล้วคลุมด้านบนด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก็ได้ ซึ่งเหมาะกับการทำงานที่ต่อเนื่อง คือ มักจะเขี่ยเชื้อในวันรุ่งขึ้น ไม่ทิ้งขวดที่ฆ่าเชื้อแล้วเอาไว้นาน แต่ถ้านึ่งครั้งละหลายๆ ขวดแล้วแบ่งเก็บไว้เขี่ยเชื้อหลายรุ่นในภายหลัง ควรใช้กระดาษหุ้มจุกสำลีและรัดยางติดกับปากขวดก่อนนึ่ง ซึ่งหลังจากฆ่าเชื้อแล้วจะเก็บรอการใช้งานได้นาน โดยไม่ต้องแกะกระดาษหุ้มจุกออก
การฆ่าเชื้อ
ใช้หม้อนึ่งความดันไอน้ำเช่นเดียวกับการฆ่าเชื้อในอาหารวุ้น โดยใช้ความดันไอน้ำไม่น้อยกว่า 15 ปอนด์ และรักษาระดับความดันที่ 15-16 ปอนด์ นาน 35-60 นาที ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับจำนวนขวดที่นึ่ง และหลังฆ่าเชื้อแล้ว 2 วัน ถ้ามีเวลาเตรียมงานมากจึง ค่อยเขี่ยเชื้อวุ้น

หม้อนึ่งความดันไอน้ำ

หม้อนึ่งความดันไอน้ำ

การใส่เชื้อวุ้นลงข้าวฟ่าง
สำรวจดูว่าเมล็ดข้าวฟ่างไม่บูด (ถ้าไม่ดีข้าวฟ่างจะบูดภายใน 2 วัน) สังเกตเห็นน้ำเยิ้มขาวๆ หรือแฉะเหนียวหนืด มักเกิดขึ้นกับ ผู้ผลิตมือใหม่ที่นึ่งโดยไล่ลมออกไม่หมดก่อนให้ความดันเพิ่มขึ้น มีเชื้อหลงเหลือภายในหม้อนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเชื้อบักเตรีทนร้อน แต่ไม่พบเชื้อราที่ตายง่ายกว่า การใส่เชื้อวุ้นลงข้าวฟ่างจะใช้เข็มเขี่ยลนไฟเชื้อแล้วทิ้งไว้เย็น เปิดจุกสำลีขวดเชื้อวุ้น ซึ่งควรเป็นเชื้อเส้นใยเจริญดีเกือบเต็มผิวหน้าวุ้นหรือเพิ่งเจริญเต็มผิววุ้นใหม่ๆ ไม่มีเชื้ออื่นปะปน ตัดชิ้นวุ้นที่มีเส้นใยเจริญขนาดประมาณ 1×1 เซนติเมตร เอาออกมานอกขวด ลนไฟปากขวดและปิดสำลี จากนั้นจับปากขวดข้าวฟ่างขึ้น เปิดจุกสำลี ลนไฟปากขวด ตะแคงขวดให้เมล็ดข้าวฟ่างไหลมาทาง ใกล้ปากขวดส่วนหนึ่ง แต่อย่าให้หกออกมาวางชิ้นวุ้นลงในส่วนลึกของขวด คะเนว่าเมื่อวางขวดตั้งแล้วเมล็ดข้าวฟ่างจะไหลกลบชิ้นวุ้นให้อยู่ท่ามกลางเมล็ดข้าวฟ่างพอดี นำเข็มเขี่ยออกลนไฟปากขวด อุดจุกสำลีและห่อจุกด้วยกระดาษแล้วรัดด้วยกระดาษแล้วรัดด้วยหนังยาง นำไปบ่นเชื้อต่อไป
การบ่มเชื้อข้าวฟ่าง
นำขวดที่ใส่เชื้อวุ้นลงข้าวฟ่างไปเก็บหรือวางบนชั้นในห้องที่ไม่ถูกแดดส่อง และไม่มีเศษผงละอองมากเกินไป เก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ยกเว้นเห็ดหอมถ้าต้องการให้โตเร็วควรเก็บในห้องที่ปรับอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส หมั่นตรวจสอบทุกวันหากพบขวด ใดมีการปะปนของเชื้อซึ่งอาจมีตัวไรที่กินเส้นใยเห็ดเป็นแมลงพาหะ ในขั้นตอนนี้เส้นใยเห็ดจะเจริญแผ่ลามออกมาจากชิ้นวุ้นกระจายออกทุกทิศทางจนเต็มขวด ซึ่งกลุ่มเห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าจะใช้เวลา ๗-๑๐ วันเชื้อเห็ดเป๋าฮื้อใช้เวลา 14-20 วันเชื้อเห็ดหอมอาจใช้เวลานานกว่านี้ ส่วนเห็ดหูหนูจะใช้เวลา 10-14 วัน
การแก่ของเชื้อ
เชื้อข้าวฟ่างที่เหมาะสมต่อการใช้งานมากที่สุด คือ เมื่อเส้นใยเริ่มเจริญเต็มขวดใหม่ๆ สามารถเขย่าให้เมล็ดร่วนได้ง่าย เหมาะต่อการเทเชื้อลงในถุงขี้เลื่อย ซึ่งถ้าทิ้งไว้นานเกินไปจนเส้นใยแก่ เส้นใยจะสานกันแน่น เขย่าไม่ร่วน เทเชื้อไม่ได้ หากจำเป็นและ ต้องการยืดอายุเชื้อข้าวฟ่างที่เจริญเต็มที่แล้วออกไป อาจทำได้โดยการเขย่าให้ร่วนทุกวัน แต่คุณภาพของเชื้อจะ ไม่ดีเท่าระยะที่เพิ่งเจริญเต็มขวดใหม่ๆ
การเสียของเชื้อ อาการ สาเหตุ
-มีการบูดเน่าที่เมล็ดข้าวฟ่างมีลักษณะเยิ้มแฉะสีขาวขุ่น -เป็นการเน่าเสียเพราะเชื้อบักเตรี เนื่องจากการนึ่งฆ่าเชื้อเมล็ดข้าวฟ่างไม่หมด ควรแก้ไขโดยการนึ่งฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง
-มีเชื้อราอื่นตกหล่นบนเมล็ดข้าวฟ่าง -ขี้ผงหล่นลงไปขณะเปิดปากขวดเขี่ยเชื้อ
-ชิ้นวุ้นที่ใส่กลางเมล็ดข้าวฟ่างเสียหาย -เชื้อวุ้นที่นำมาใช้มีเชื้ออื่นปะปน หรือเข็มเขี่ยไม่สะอาด ไม่ได้ฆ่าเชื้อดีพอ
-ทุกขวดเสียเหมือนกันหมด จากวุ้นกลางเมล็ดข้าวฟ่าง -เชื้อวุ้นสกปรกหรือมีการปนเปื้อนมาก่อน
-มีเชื้อราลามจากปากขวดลงบนผิวหน้าเมล็ดข้าวฟ่าง แล้วลามลงด้านล่างขวด -ทำจุกไม่ดีหรือปากขวดเปื้อนขณะที่กรอกเมล็ดใส่ลงขวด
สำหรับฟาร์มใหม่ๆ ควรใช้เชื้อข้าวฟ่างที่ซื้อจากฟาร์มที่มีความชำนาญในการผลิตจะดีกว่าการลงทุนทำเอง เนื่องจากไม่มีความรู้ความชำนาญพอ และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
(แหล่งข้อมูลจาก http://www.bassbio.com)

การผลิตถุงเชื้อเห็ด
เชื้อถุง หมายถึง เชื้อเห็ดที่เลี้ยงในถุงพลาสติก ซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นขี้เลื่อย ฟางหมักหรือปุ๋ยหมักก็ได้ เป็นเชื้อที่จะนำไปเปิดให้เป็นดอกเห็ดต่อไป สำหรับเกษตรกรที่เริ่มทำใหม่ๆ ควรซื้อถุงเชื้อเห็ดจากฟาร์มเก่าไปผลิตดอกเห็ด จนตลาดรับซื้อกว้างขวางแล้วจึงค่อยผลิตเองต่อไป
ขี้เลื่อยไม้ทั่วไป จำพวกไม้เนื้อแข็ง ไม้ที่ผุพังสลายตัวช้า จะเป็นอาหารที่ไม่ดีของเห็ด ดังนั้น หากจะใช้ขี้เลื่อยแบบนี้ต้องทำการหมักให้ดีเสียก่อน ซึ่งมีสูตรในการหมักดังนี้

ขี้เลื่อยแห้ง

ขี้เลื่อยแห้ง

สูตรที่ 1
ขี้เลื่อยแห้ง 1,000 กิโลกรัม
ยูเรีย 1 กิโลกรัม

สูตรที่ 2
ถ้ามีมูลสัตว์ เช่น ขี้ม้า ขี้ควาย ขี้ไก่ จะใช้สูตร
ขี้เลื่อยแห้ง 1,000 กิโลกรัม
มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
ทั้งสูตร 1 และ สูตร 2 ปรับให้มีความชื้น 60 เปอร์เซ็นต์

ทำการหมักกลางแจ้งประมาณ 3 เดือน กลับกองบ่อยๆ หรือทุก 15 วัน หากฝนไม่ตก รดน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่กองขี้เลื่อยหมักบ้างเป็นครั้งคราว และเมื่อกองขี้เลื่อยหมักหมด ความร้อนและกลิ่นแอมโมเนียก็สามารถนำมาใช้ได้ โดยก่อนนำมาใช้ควรใส่ปูนขาวในอัตรา 1 กิโลกรัมต่อขี้เลื่อยหมัก 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าผสมกันแล้วแผ่ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมง ให้แอมโมเนียส่วนเกินที่ตกค้างอยู่ระเหยออกไป ขี้เลื่อยไม้ยางพารา สามารถนำมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องหมัก ซึ่งขี้เลื่อย 1 คันรถสิบล้อสามารถนำมาผลิตถุงเชื้อเห็ดได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ถุง การเก็บรักษาขี้เลื่อยไม้ยางพาราที่ยังไม่ใช้ อาจเก็บในสภาพแห้งๆ หรือทิ้งไว้กลางแจ้งเปียกน้ำเปียกฝนก็ได้ฟางหมัก ใช้ฟางแห้งสับเป็นท่อนสั้นๆ ประมาณ 1-3 นิ้ว นำมาหมักกับมูลสัตว์หรือปุ๋ยเคมีให้ฟางนิ่ม จนสีเปลี่ยนเป็นสีชา ซึ่งมีสูตรในการหมักดังนี้

สูตรที่ 1
ฟางแห้งสับ 100 กิโลกรัม
มูลสัตว์ 1-3 ปี๊บ
กลับกองฟางหมักทุก 2-3 วัน จนหมดกลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

ฟางข้าว

ฟางข้าว

สูตรที่ 2
ฟางแห้งสับ 100 กิโลกรัม
ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 3 กิโลกรัม
หรือปุ๋ยยูเรีย 1 กิโลกรัม
ทั้งสูตร 1 และ 2 ปรับให้มีความชื้น 60 เปอร์เซ็นต์
แช่ฟางให้อมน้ำจนเต็มความสามารถของฟาง แล้วนำมาคลุกกับปุ๋ยหรือมูลสัตว์ซึ่งกองฟางจะร้อนจัดและมีกลิ่นแอมโมเนียใน 1-2 วันแรก ประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงนำมาใช้งานได้ ก่อนนำมาใช้ควรไล่แอมโมเนียที่เหลือตกค้างในกองฟางหมักด้วยการใส่ปูนขาวในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อฟางแห้ง 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าผสมทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมงก่อนนำมาใช้
ขี้เลื่อยจากถุงเก่า ถุงเชื้อเห็ดที่ทิ้งแล้วจะยังมีอาหารสำหรับเห็ดเหลืออยู่ สามารถนำเอาถุงขี้เลื่อยที่หมดอายุมาใช้เพาะเห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า หรือเอามาใช้เป็นส่วนผสมของขี้เลื่อยใหม่ก็ได้ ซึ่งดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้จนอาจมีปัญหาการสะสมของศัตรูเห็ดในภายหลัง
ความชื้นของวัตถุดิบ ควรอยู่ในระดับ 50-70 เปอร์เซ็นต์ (โดยเฉลี่ย 60 เปอร์เซ็นต์) ไม่เปียกหรือแห้งเกินไป ซึ่งหากทำจนมีประสบการณ์จะทราบว่าควรใช้ความชื้นของวัตถุดิบในระดับใด
การใช้อาหารเสริมใช้รำละเอียด 6 เปอร์เซ็นต์ จะได้ผลดีที่สุด (หากรำละเอียดมีเปอร์เซ็นต์สูงกว่านี้จะเสียหายได้ง่าย และเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่านี้ผลผลิตจะได้น้อย) ถ้าเป็นเห็ดหอมอาจใช้ 8-10 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการใช้ดีเกลือ 0.01 เปอร์เซ็นต์นั้น ควรทดสอบดูก่อนว่าใช้แล้วให้ผลผลิตดีขึ้นหรือไม่ หากทดสอบแล้วไม่ได้ผลก็ไม่จำเป็นต้องใช้

สูตรส่วนผสมวัสดุเพาะ
สูตรอาหารเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 8 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 3 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 1 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 1-2 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 1-2 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 1 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม

สูตรอาหารเห็ดเป๋าฮื้อ
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 6 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 2 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 1 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 2 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 2 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม

สูตรอาหารเห็ดขอนขาว เห็ดลม เห็ดแครง
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 8 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 3 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 2 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 2 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 1 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม
ปูนยิปซัมดิบ 2 กิโลกรัม

สูตรอาหารเห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดตีนแรด เห็ดต่งฝน เห็ดนางรมหลวง
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 7 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 3 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 2 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 2 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 2 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม

สูตรอาหารเห็ดหอม
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 10 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 2 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 1 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 2 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 1 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม
ปูนยิปซัมดิบ 2 กิโลกรัม

สูตรอาหารเห็ดหูหนู
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 5 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 1 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 1 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 1 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 2 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม

สูตรอาหารเห็ดหลินจือ
ขี้เลื่อยแห้ง 100 กิโลกรัม
รำละเอียดหรือรำข้าวสาลี 6 กิโลกรัม
ใบกระถินป่น 1 กิโลกรัม
ส่าเหล้า หรือกากถั่วต่างๆ 1 กิโลกรัม
แป้งต่างๆ หรือน้ำตาลทราย 2 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 2 กิโลกรัม
ปูนโดโลไมท์ หรือหินปูน 1 กิโลกรัม
ดีเกลือ 0.1 กิโลกรัม
ปูนยิปซัมดิบ 2 กิโลกรัม
วิธีการเตรียมวัสดุสำหรับ การเพาะเห็ดถุง
นำส่วนผสมดังกล่าวข้างต้น (สูตรใดก็ได้แล้วแต่หาวัสดุได้) ผสมให้เข้ากันด้วยมือหรือเครื่องผสม แล้วปรับความชื้น 60-70% โดยเติมน้ำพอประมาณ ใช้มือกำวัสดุเพาะบีบให้แน่น ถ้ามีน้ำซึมที่ง่ามมือแสดงว่าเปียกเกินไป (ให้เติมวัสดุเพาะ) ถ้าไม่มีน้ำซึมให้แบมือออก วัสดุเพาะจะรวมกันเป็นก้อนแล้วแตกออก 2-3 ส่วน ถือว่าใช้ได้ แต่ถ้าแบมือแล้ววัสดุเพาะไม่รวมตัวกันเป็นก้อน แสดงว่าแห้งไปให้เติมน้ำเล็กน้อย

วิธีการเพาะเห็ดถุง
1. บรรจุวัสดุเพาะใส่ถุงพลาสติกทนร้อน น้ำหนัก 8-10 ขีด ทุบให้แน่นหรือใช้เครื่องอัดให้แน่น ใส่คอขวดรัดปิดด้วยจุกสำเร็จ

2. นำไปนึ่งฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นาน 3 ชั่วโมง
3. ให้ขนย้ายก้อนเชื้อไปเก็บในห้องสะอาด ลมสงบ ดีกว่าการเก็บรอการเขี่ยเชื้อในที่ที่มีฝุ่นละออง เพื่อป้องกันการปะปนของเชื้ออื่นขณะเปิดปากถุงใส่เชื้อ
4. การใช้จุกสำเร็จจะแก้ปัญหาจุกเปียกเพราะการควบแน่นของไอน้ำขณะนึ่ง ที่ทำให้มีเชื้อราเข้าง่าย หรือแมลงหวี่วางไข่เกิดหนอนทำลายได้
5. เลือกเชื้อข้าวฟ่างที่เส้นใยเห็ดเพิ่งเจริญเต็มทั่วทุกเมล็ดใหม่ๆ ไม่มีเชื้ออื่นปะปน ใช้ขวดกระแทกเบาๆ กับไม้หรือพ่นให้เมล็ดขยับตัวแล้วเขย่าให้ร่วนก็นำมาใช้ได้
6. เตรียมถุงที่จะเทเชื้อข้าวฟ่างให้พร้อม ครั้งละ 40-50ถุงขึ้นไป หรือไม่น้อยกว่าที่จะใช้เชื้อให้หมด 1 ขวด อาจทำคนเดียว หรือ 2 คน ก็จะช่วยลำเลียงส่งก้อนเชื้อได้เร็วขึ้น นำเชื้อที่เขย่าร่วนดีแล้วมาเปิดปากขวดลนไฟฆ่าเชื้อที่ปากขวด อีกมือหนึ่งเปิดปากถุงเทเมล็ดข้าวฟ่างที่มีเชื้อเห็ดลงไป 15-20 เมล็ด แล้วปิดจุกสำลีที่ถุงตามเดิม เชื้อในขวดจะเทต่อเรื่อยไปจนกว่าจะหมดโดยไม่ต้องปิดเปิดอีก
7. นำถุงเชื้อเห็ดไปวางตั้งบนชั้นในเรือนบ่มเชื้อ วางแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ หมั่นตรวจดูทุกวัน หากพบถุงเสียหายมีเชื้ออื่นปะปนให้รีบแยกออกมา นำไปนึ่งฆ่าเชื้อแล้วใส่เชื้อเห็ดนางรมหรือเห็ดนางฟ้าลงไปใหม่ แต่ถ้าเสียหายมากๆ ก็ให้ทิ้งไป ก้อนเชื้อเห็ดจะใช้ได้ดีเมื่อเส้นใยเต็มถุงหรือเกือบเต็มถุง เห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้าเป็นเห็ดที่โตเร็ว จะใช้เวลาบ่มเชื้อประมาณ 3-4 สัปดาห์เช่นเดียวกับเห็ดสีชมพู เห็ดหูหนูใช้เวลา 4-5 สัปดาห์ เห็ดเป๋าฮื้อใช้เวลา 5-6 สัปดาห์ ส่วนเห็ดหอมจะใช้เวลานานกว่านี้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เห็ดเป๋าฮื้อ

ลักษณะเชื้อเห็ดที่ดี มีวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้:
1. เห็ดตระกูลนางรม (เห็ดนางรมฮังการี เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางฟ้า) เส้นใยเดินเต็มถุง มีสีขาว หากมีสีเหลือง แสดงว่าเส้นใยเห็ดเริ่มแก่แล้ว
2. เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดขอนขาว เห็ดลม เส้นใยเดินเต็มถุง มีสปอร์เห็ดสีดำตกอยู่
3. ถุงบรรจุต้องไม่มีรอยแตกและรั่วนะ
4. ไม่มีเชื้อราเขียวหรือราอื่นเจริญบนก้อนเห็ด

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(ดัดแปลงข้อมูลจาก คู่มือการเพาะเห็ดเงินล้าน รวมสารพันเห็ดเศรษฐกิจทำเงิน)
สืบค้นข้อมูลการเพาะเห็ดถุงเพิ่มเติมได้ในบทความ เทคนิดการเพาะ (เห็ดถุงชนิดต่างๆ)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *