การปลูกกล้วยไม้ลงดิน

การปลูกกล้วยไม้ลงดิน

การปลูกกล้วยไม้ลงดิน แนะนำกล้วยไม้ดินสกุลสปาโตกลอสติส (Spathoglottis) หรือ กล้วยไม้ดินใบหมาก เนื่องจากเป็นที่นิยมปลูกเลี้ยงกันอย่าง แพร่หลาย หาซื้อต้นพันธุ์ได้งาย พบได้ทุกภาคของประเทศไทย กล้วยไม้สกุลสปาโตกลอสติสนี้ ปกติเราเรียกว่า ‘กล้วยไม้ดิน’ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงสกุลหนึ่งของกล้วยไม้ดินเท่านั้น ยังมีกล้วยไม้ดิน สกุลอื่นอีกหลายชนิด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ดิน

ลักษณะของกล้วยไม้ดิน สปาโตกลอสติส
ดอก เหมือนกล้วยไม้ทั่วไป คือ มีกลีบเลี้ยง กลีบดอก เส้าเกสร เท่ากันกับกล้วยไม้สายพันธุ์อื่น ออกดอกเป็นกลุ่มที่ปลายช่อ ออกดอกได้ทั้งปี ดอกบานติดต่อกันได้นานตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป แล้วแต่ชนิดพันธุ์ แต่ถ้าเป็นกล้วยไม้ดินป่า จะออกดอกปีละครั้ง

ช่อดอก แทงออกมาจากหน่อๆ ละ 1 ถึง 3 ช่อ แต่กล้วยไม้สายพันธุ์รากอากาศจะแทงช่อออกจากลำต้น

 จะเหมือนใบหมาก หรือใบต้นอ่อนของปาล์ม จึงมีชื่อเรียกง่ายๆ ไทยๆ ว่า ‘กล้วยไม้ดินใบหมาก’

ลำต้น เป็นกอ

หน่อ ใช้ในการขยายพันธุ์ได้ง่าย

ประเภทของกล้วยไม้ดินใบหมาก แบ่งได้ง่ายตามขนาดความสูงของลำต้น
พันธุ์สูง-ต้นสูงได้ตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป (แต่ผู้เขียนเคยเห็นที่เป็นกอใหญ่ แล้วดูรกๆ เลยชอบ พันธุ์กลาง กับพันธุ์แคระมากกว่า-เป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะคะ)

พันธุ์กลาง-ต้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร ดอกบานทนนาน

พันธุ์แคระ-ต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร ดอกดกมาก

การปลูกกล้วยไม้ลงดิน ต้องรู้จักนิสัยของกล้วยไม้ดินใบหมาก ก่อนปลูก…..ว่าชอบอะไร

  • ชอบแดดรำไร ขอแค่ครึ่งวันก็พอใจแล้ว
  • ชอบอุณหภูมิประหยัดไฟ ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส แต่บางชนิดชอบอากาศเย็น จะออกดอกได้ดก
  • ชอบวัสดุปลูกระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำเฉอะแฉะ เก็บความชื้นได้พอสมควร มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์
  • ชอบสถานที่ปลอดโปร่ง อากาศถ่ายเท แต่ไม่ชอบลมแรงมาก
  • ชอบปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยละลายช้า ***ระวัง การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์มาก ทำให้ใบไหม้ และลำต้นเน่าได้***

วัสดุปลูก
วัสดุที่จะนำมาผสมเป็นเครื่องปลูกนั้นมีหลายชนิด เช่น กาบมะพร้าวสับ ใบก้ามปู ใบสน เปลือกถั่วลิสง แกลบ ถ่าน อิฐ ขี้เถ้าแกลบ ดิน ทรายหยาบ  ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ฯลฯ ซึ่งระบายน้ำได้ดี เก็บความชื้น หาง่าย

ที่นิยมใช้ส่วนใหญ่ คือ กาบมะพร้าวสับเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ผสมใบไม้แห้ง หรือดินใบก้ามปู

การขยายพันธุ์
การแยกหน่อ
ง่ายและสะดวกที่สุด
ช่วงเวลาที่ เหมาะสม ก็คือ ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน สำรบช่วงฤดูหนาวไม่นิยมทำกันเพราะกล้วยไม้จะทิ้งใบ มีโอกาสตายสูงมาก เนื่องจากกำลังพักตัว

วิธีการแยกหน่อ

  • นำกล้วยไม้ออกกระถาง เขย่าเบาๆ ให้วัสดุปลูกร่วงหล่นให้มากที่สุด
  • ดูลักษณะการแตกหน่อของแต่ละกอ โดยใช้มีดหรือกรรไกร ตัดแยกโดยให้มีหน่อใหม่ และ/หรือ หน่อเก่าติดมาด้วย 1 ถึง 2 หน่อ จะทำให้ต้นที่แยกออกมาเจริญเติบโตและตั้งตัวได้เร็วขึ้น หน่อหากรากแน่นไป เลือกหน่อ หรือแยกหน่อไม่สะดวก ใช้กรรไกรตัดรากออกบ้างก็สามารถทำได้ รากจะแตกออกมาใหม่
  • นำหน่อที่แยกไว้มาลงปลูกให้วัสดุปลูกที่เตรียมไว้เสร็จแล้วรดน้ำ ผสมฮอร์โมน เร่งรากแล้วรดตามด้วยยาฆ่าเชื้อรา
  • ให้ปุ๋ย หลังการปลูก 2 สัปดาห์ ไปแล้ว ใช้ปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอ กระถางละ 1 ช้อนชา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ดิน เพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ด
วิธีนี้ ยุ่งยากแต่ได้จำนวนต้นกล้าเยอะกว่าการแยกหน่อ กล้วยไม้ดินเป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวและเกสรตัวเมียในดอกเดียวกันใน ธรรมชาติการผสมเกสรเกิดขึ้นจากแมลง การผสมเกสรอาจเป็นการผสมตัวเอง หรือข้ามพันธุ์ หลังการผสมพันธุ์ ดอกจะพัฒนาเป็นฝัก อายุของฝักไม่แน่นอน โดยเฉลี่ยอายุฝักจะอยู่ที่ 30 ถึง 60 วัน ขึ้นอยู่กับฤดูกาล และการดูแลรักษา และชนิดพันธุ์ เมื่อฝักแก่จะแตกออก ภายในจะมีเมล็ดเป็นผงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก วิธีการเพาะที่ง่ายที่สุดคือ การโรยเมล็ดลง ในกระถางต้นแม่พันธุ์ แต่การเหลือรอดมีน้อย อีกวิธีหนึ่งคือการเพาะลงบนอาหารวุ้นในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ใช้เวลาในการเพาะต้นกล้าในขวดวุ้นประมาณ 7 ถึง 10 เดือน ก็สามารถนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวดอนุบาลได้

วิธีการนำลูกกล้วยไม้ออกจากขวดและการปลูก
กล้วยไม้ที่พร้อมปลูก ต้องมีใบจริง 2 ถึง 4 ใบ ปลายใบสูงชนขวดราก อาหารวุ้นในขวดหมดแล้ว

  1. ใส่น้ำครึ่งกะละมัง
  2. ทุบก้นขวดให้แตกออก
  3. เทกล้วยไม้ หรือต้นกล้า ลงในตระกร้าพลาสติก( ขนาดเล็กกว่าภาชนะใส่น้ำ)
  4. นำตะกร้าไปแช่น้ำในกะละมัง ล้างวุ้นออกให้หมด
  5. นำต้นกล้ากล้วยไม้ที่ล้างวุ้นสะอาดแล้วมาแช่น้ำยาป้องกันเชื้อรา
  6. ผึ่งต้นกล้ากล้วยไม้ในที่ร่มให้พอหมาด
  7. ปลูกกล้ากล้วยไม้ในถาดหลุมโดยปลูกหลุมละ 1 ต้นสำหรับเพาะกล้ามีทั้งที่เป็นพลาสติกและโฟม
  8. นำกาบมะพร้าวสับที่แช่น้ำไว้จนชุ่ม หมดรสฝาดแล้ว ผสมกับวัสดุชนิดอื่นเพื่อเป็นวัสดุปลูกต้นกล้ากล้วยไม้
  9. นำต้นกล้าไปไว้ในโรงที่พรางแสง 60 ถึง 80 เปอร์เซนต์
  10. ใช้น้ำผสมวิตามินบี 1 รดน้ำทุกวันในสัปดาห์แรก หลังการปลูก
  11. รดน้ำช่วงสัปดาห์ถัดไป 2 วัน ต่อครั้ง
  12. หลังจากย้ายปลูก 15 ถึง 20 วันเริ่มให้ปุ๋ยฉีดพ่นแบบเจือจาง
  13. ต้นกล้าจะใช้เวลาอยู่ในถาดหลุมประมาณ 2 ถึง 3 เดือน ก็โตพอที่จะแยกปลูก
  14. ย้ายปลูกในกระถางแล้ว กล้วยไม้จะใช้เวลาตั้งตัว 10 ถึง 15 วัน จึงใส่ปุ๋ยละลายช้า สูตรเสมอกระถางละ 1 ช้อนชา

รวมระยะเวลาปลูกเลี้ยงตั้งแต่เริ่มต้นอนุบาลต้นอ่อนจากขวด จนเริ่มออกดอกแรก ใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 10 เดือน

การดูแลรักษา

การให้น้ำ

  • ใช้น้ำสะอาด ปราศจากสารพิษเจือปน
  • ควรให้น้ำ ช่วงเช้าและเย็น(ขณะที่ยังมีแสงแดด) เพื่อลดปัญหาโรคลำต้นเน่าได้
  • ควรใช้หัวรดน้ำที่มีฝอยละเอียด เพื่อป้องกันมิให้ใบเสียหาย
  • ฤดูร้อน หรือช่วงที่อากาศร้อนจัด ควรฉีดพ่นน้ำตามพื้น หรือบริเวณรอบๆ ที่ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ดิน เพิ่มความชื้นและช่วยลดอุณภูมิในโรงเรือนสำรับ
  • ฤดูฝนให้สังเกตุวัสดุปลูก ว่ายังมีความชื้นอยู่หรือไม่ หากยังชื้นอยู่ก็ยังไม่ต้องรดน้ำ หรือในช่วงฝนตกมากอาจไม่จำเป็น ต้องรดน้ำเลยก็ได้

การกำจัดวัชพืช
ถ้าวัสดุปลูกที่ใช้เป็นดินจะมีปัญหามากเรื่องวัชพืชที่ ซึ่งอาจติดมากับปุ๋ยคอก กำจัดโดยการถอน การใช้แกลบดิบ เปลือกถั่ว หรือ มะพร้าวสับคลุมดิน จะช่วยลด ปัญหานี้ได้

การจัดวางกระถาง

  • ฤดูฝนความชื้นในอากาศสูง ควรตั้งกระถางให้ห่างกัน ช่วยลดการสะสมความชื้น ป้องกันการเกิดโรคเน่าได้ กล้วยไม้ดิน ชอบความชื้นแต่ไม่แฉะ
  • อาจทำชั้นวางโดยยกให้สูงจากพื้น 30 ถึง 50 เซนติเมตร ชั้นวางอาจทำจากไม้ไผ่ตีเป็นซี่ๆ หรือ ตระแกรง เหล็กก็ได้เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ดีบริเวณก้นกระถาง

การให้ปุ๋ย

  • ไม่ควรใช้ปุ๋ยกับกล้วยไม้ที่แยกหน่อใหม่ๆ หรือเพิ่งออกจากขวด
  • หากใช้ปุ๋ยเกร็ด ละลายน้ำฉีดพ่นในอัตราส่วนที่เจือจาง
  • ปุ๋ยเม็ดละลายช้า สามารถให้ได้หลังจากย้ายปลูกจนกล้วยไม้ตั้งตัวดีแล้ว
  • เมื่อต้นไม้สมบูรณ์พร้อมที่จะออกดอก สามารถใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าสูตรเร่งดอก เช่น สูตร 13-26-7
  • งดปุ๋ยวิทยาศาสตร์ชนิดเม็ดทุกชนิดเช่น ยูเรีย เพื่อ ป้องกันกล้วยไม้ดินเน่าที่โคนได้
  • ให้ปุ๋ยอินทรีย์ ทุกๆ 2 ถึง 3 เดือน กระถางละ 1 ถึง 2 ช้อนชาจะทำให้กล้วยไม้โตเร็ว
  • การใส่ปุ๋ย ควรโรยรอบๆ ด้านข้างกระถางปลูก อย่าโรยใกล้โคนต้น เพราะจะทำให้รากเน่า

โรค และแมลงศัตรูกล้วยไม้ดินใบหมาก
โรค

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กล้วยไม้ โรคเน่า

โรคเน่า เกิดจากเชื้อรา ระบาดมากหากมีฝนตกชุก ความชื้นในอากาศสูง เครื่องปลูกระบายน้ำได้ไม่ดี โรงเรือนไม่มีอากาศถ่ายเท มีการใช้ปุ๋ยที่ไนโตรเจนสูงติดต่อกันเวลานาน

การป้องกันกำจัด

  • แยกต้นที่เป็นโรคออกมาทำลาย
  • ใช้วัสดุปลูกที่สะอาดและระบายน้ำได้ดี
  • ทำชั้นวางเพื่อให้ลมโกรก และอากาศถ่ายเทพื้นก้นกระถาง
  • หากเป็นไปได้ควรทำโรงเรือนหลังคาพลาสติก
  • ใช้ยาเทอราคลอ ผสมน้ำรดโคนต้น
  • การโรยปูนโดโลไรท์ ที่โคนต้นช่วยป้องกันได้
  • งดการให้น้ำชั่วคราว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แอนแทรคโนส กล้วยไม้

โรคแอนแทรกโนส เกิดจากเชื้อรา ใบจะเป็นแผลกลมๆ สีน้ำตาล และขยายใหญ่ขึ้นเป็นวงซ้อนกันเป็นชั้นๆ สามารถทำลายดอกได้

การป้องกันกำจัด

  • ตัดใบและช่อดอกไปทำลาย
  • ใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อราเช่น แบนเลท ออร์โธไซด์ ไดเทนเอ็ม ทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ถ้าพบการระบาดของโรค

แมลงศัตรู

เพลี้ยไฟพริก

เพลี้ยไฟ ตัวเล็ก สีดำ แพร่ระบาดในฤดูร้อน พบการทำลายมากที่ดอก โดยดูดน้ำเลี้ยง ดอกมีสีซีด

การป้องกัน กำจัด
ใช้สารเคมี เช่น พอสซ์ แลนเนท ฯลฯ

แมลงเต่าทอง ตัวเต็มวัยทำลาย กัดกินดอก และออกไข่ที่ช่อดอก เมื่อไข่พัฒนาเป็นตัวอ่อน มีลักษณะเหมือนหนอน จะกัดกินทำลายช่อดอก ทำให้เกิดความ เสียหาย

การป้องกันกำจัด
ใช้สารเคมีเช่น แลนเนท เซฟวิน อโซดริน ฯลฯ

การปรับปรุงพันธุ์
กล้วยไม้ดินใบหมาก นำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอย่าง เช่น ทำเป็นไม้กระถาง จัดสวนประดับสถานที่, ทำเป็นไม้ตัดดอก และใช้เป็นพืชคลุมดิน

วิธีการผสมพันธุ์กล้วยไม้ดิน

ควรผสมพันธุ์ในตอนเช้า เวลาประมาณ 7.00-9.00 นาฬิกา ที่แสงแดดยังไม่จัด เลือกดอกที่บานได้ 2 ถึง 3วัน เลือกต้นที่มีความสมบูรณ์ และควรเป็นดอกที่อยู่โคนช่อ ฝักมีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์เด็ดกลีบปากออก แล้วเขี่ยเกสรตัวผู้ในดอกออกทิ้ง จากนั้นนำเกสรที่จะใช้เป็นพ่อพันธุ์ จากอีกดอกหนึ่ง (โดยเลือกจากสี และทรงดอก) เขี่ยเกสรตัวผู้จากดอกที่ต้องการ นำไปติดไว้ที่แอ่งเกสรตัวเมีย จดบันทึก หรือติดป้ายชื่อระบุชื่อพ่อ และแม่พันธุ์ วันที่ทำการผสม ควรผสมครั้งละ 2 ถึง 3 ดอก ต่อช่อ เพื่อป้องกันความผิดพลาด เช่น แมลงมากัดทำลายหรือฝักแตก อายุการถือฝักจะแตกต่างกันไป เช่น ฤดูร้อน ฝักมีอายุสั้น ฤดูหนาว ฝักมีอายุนานกว่าฤดูร้อนเล็กน้อย อายุฝักโดยเฉลี่ยประมาณ 1 เดือน หรือ 2 เดือนในบางชนิด ปัญหาที่พบเกี่ยวกับอายุฝักกล้วยไม้ชนิดนี้ คือ ฝักจะแก่และแตกเร็วมาก

เทคนิคการยืดอายุฝัก (ให้ฝักแตกช้าลง)

  • งดใส่ปุ๋ย
  • ผสมกล้วยไม้ในช่วงฤดูหนาว
  • เพิ่มความชื้นให้กับฝัก โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดเล็กหุ้มฝักไว้
  • อาจใช้ตู้อบเพิ่มความชื้น เช่นเดียวกับการปลูกบอนสี(ควรระวังเรื่องโรค)
  • ย้ายต้นมาไว้ในที่ร่มให้ถูกแสงแดดน้อยที่สุด

การปลูกกล้วยไม้ลงดิน หรือปลูกโดยใช้วัสดุปลูกอื่นๆ ไม่ยุ่งยาก และดูแลรักษาได้ง่าย ในบทความนี้ ท่านได้วิธีการดูแลรักษากล้วยไม้ดินไปแล้ว ติดตามบทความการดูแลกล้วยไม้หลังปลูก กันด้วยนะคะ จะได้มีกล้วยไม้ดอกสวยๆ ไว้ประดับบ้าน หรือสร้างผลกำไรที่คุ้มทุน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: http://www.orchidtropical.com, https://www.youtube.com/watch?v=bZTuXVQa9-0)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *