การดูแลพริกหลังการปลูก

การดูแลพริกหลังการปลูก

การดูแลพริก หลังการปลูก มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับฤดูกาล เรียกได้ว่า ดูแลตามความต้องการของพริก ถ้าเกษตรกรปล่อยปละละเลย หรือเห็นว่าไม่สำคัญ ก็จะมีผลกระทบต่อผลผลิต หรือสร้างความเสียหายแก่พริกที่ปลูกไว้ได้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายนะคะ หากเกิดโรคระบาด หรือความเสียหายแล้วจึงคิดป้องกันหรือแก้ไข วิธีที่ดีที่สุด คือ การดูแลพริก อย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามขั้นตอนที่ผู้เขียนนำมาฝากในบทความนี้ค่ะ

ขั้นตอน การดูแลพริก
การให้น้ำ

  • หลังการย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูก ต้องให้น้ำทันที
  • หลังการปลูกต้นกล้า เป็นเวลา 1 เดือน ต้องรดน้ำให้ชุ่ม ทุกวัน ในตอนเช้า
  • หลังการให้ปุ๋ยทุกครั้ง ต้องให้น้ำทันที
  • ในช่วงที่พริกเริ่มออกดอก เป็นช่วงที่พริกต้องการน้ำมากกว่าปกติ หากพริกได้รับน้ำไม่พอเพียง จะทำให้ดอกร่วง และได้ผลผลิตต่ำ
  • ในฤดูหนาว หรือในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ต้องลดการให้น้ำลง เพื่อป้องกันการชะลอการเจริญเติบโต การติดดอกที่ต่ำลง และดอกร่วง

วิธีการให้น้ำ
ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งน้ำ และงบประมาณของเกษตรกร ซึ่งวิธีการให้น้ำต้นพริกนั้น มี 4 วิธี ดังนี้

  1. แบบใช้สายยางติดหัวฉีดพ่นฝอย—รดทุกวัน ในตอนเช้า
  2. แบบระบบสปริงเกลอร์พ่นฝอย—ทุกวัน ในตอนเช้าเช่นกัน
  3. แบบปล่อยน้ำลงร่องระหว่างแปลงปลูก แล้ววิดน้ำสาดขึ้นหลังแปลง ทุกๆ 3 ถึง 5 วัน ในตอนเช้า
  4. แบบระบบน้ำหยด—ระหว่างแถว ทุกวัน ในตอนเช้า

การให้ปุ๋ย
การให้ปุ๋ยรองพื้น

  • ใช้ปุ๋ยคอก และ/หรือ ปุ๋ยหมัก 800 ถึง 1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยหว่านลงแปลงปลูกให้ทั่วในการเตรียมดิน หรือใส่รองก้นหลุมปลูกอย่างน้อยในอัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ และคลุกเคล้าให้ย่อยละเอียดและเข้ากับดินให้ดี

การให้ปุ๋ยหลังการปลูก

  • ครั้งที่1 หลังการย้ายปลูก 15 วัน เกษตรกรสามารถให้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันกับปุ๋ยเคมีก็ได้ค่ะ ถ้าใช้ปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยสูตร 21-0-0 โดยโรยปุ๋ยห่างๆ รอบโคนต้นในอัตรา 20 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วรดน้ำพอชุ่มทันที
  • ครั้งที่2 หลังการย้ายปลูก 25 วัน ด้วยวิธีการเดียวกันกับครั้งที่1 ในอัตรา 30 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วรดน้ำพอชุ่มทันที แต่ในครั้งนี้ ถ้าใช้ปุ๋ยเคมี ควรใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15
  • ครั้งที่3 เมื่อต้นกล้าอายุได้ 40 วัน หลังการย้ายปลูก ในอัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ โรยปุ๋ยห่างๆ รอบโคนต้น ถ้าใช้ปุ๋ยเคมี ควรใช้สูตร 13-13-21
  • ครั้งที่4 เมื่อต้นกล้ามีอายุ 55 วัน หลังการย้ายปลูก ในอัตรา 30 กิโลกรัม ต่อไร่ และใช้ปุ๋ยเคมีสูตรเดียวกันกับ ครั้งที่3

คำแนะนำ การให้ปุ๋ย

  1. การให้ปุ๋ยโดยใช้ปุ๋ยเคมี โดยวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีละลายน้ำรด แทนการหว่าน หรือโรยด้วยปุ๋ยเม็ด จะช่วยประหยัดแรงงานและเวลา และให้ปุ๋ยกระจายได้อย่างทั่วถึง ทั้งพื้นที่เพาะปลูก อัตราการใช้ปุ๋ยเคมีละลายน้ำรด คือ ปุ๋ย 5 หรือ 10 กิโลกรัม (เพิ่มปริมาณตามขนาดของต้นพริก) ต่อน้ำ 200 ลิตร เพราะฉะนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ ปริมาณการให้ปุ๋ยจึงไม่ควรต่ำกว่า 30 ถึง 60 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1,200 ลิตร
  2. การเลือกใช้ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ให้กับพริก ควรมีค่าธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียมสูง เช่น มูลไก่ไข่ มูลโคเนื้อ มูลโคนม และมูลแกะ เป็นต้น

การตัดแต่งกิ่งแขนง
เกษตรกรหรือผู้ปลูกควรตัดแต่งกิ่งแขนงเพื่อต้นพริกนำอาหารไปเลี้ยงส่วนที่จำเป็นได้เต็มที่ ทำให้ทรงพุ่มโปร่ง ระบายอากาศได้ดี ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ สามารถกำจัดโรคและแมลงได้อย่างทั่วถึง และช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก

  • กิ่งแขนงใต้ง่ามแรก—เมื่อมีกิ่งแขนงยาวไม่เกิน 10 ถึง 15 เซนติเมตร ให้ปลิดแขนงออกด้วยมือได้ แต่ถ้าปล่อยไว้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ควรใช้กรรไกรที่สะอาดตัดออก เพื่อป้องกันการติดโรคจากสิ่งสกปรกที่กรรไกร และไม่ให้เกิดแผลใหญ่ซึ่งเป็นช่องทางแพร่ระบาดของโรคต่างๆ
  • ดอกแรกที่ง่ามแรก—ถ้าต้นกล้าพริกมีอายุเกิน 40 วัน หลังย้ายปลูก แล้วติดดอกแรกที่ง่ามแรก ให้เด็ดทิ้ง เพื่อช่วยให้ต้นพริกเจริญเติบโตได้ดี ป้องกันการเน่าเสียของผลพริกที่ห้อยลงติดกับดินหรือพลาสติกคลุมแปลง

การกำจัดวัชพืช

  • ควรกำจัดวัชพืชในทันทีที่พบเห็นเพื่อให้ง่ายในการกำจัด และลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนการปลูกพริกแล้ว ยังปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้ปลูกอีกด้วย

ข้อควรจำ

  • ควรกำจัดวัชพืช ก่อนให้ปุ๋ยทุกครั้ง
  • ควรกำจัดวัชพืชเมื่อต้นพริกเริ่มแตกตายอด และก่อนออกดอก โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช

การเก็บเกี่ยวผลพริก

  • หากใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ควรเก็บเกี่ยวผลพริกหลังจากฉีดพ่นสารเคมี 15 วันขึ้นไป จึงทำการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ยาหรือสารเคมีหมดฤทธิ์
  • เมื่อผลเริ่มมีสีเขียวเข้ม หรือเริ่มแก่ ให้ทำการเก็บเกี่ยว ไม่ควรรอให้ผลพริกสุกทั้งต้น นอกเสียจากว่า ลูกค้าต้องการผลสุก
  • ใช้มือเด็ดที่ก้านขั้วผลทีละผล ทีละต้น

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวผลพริก

  • หลังเก็บเกี่ยวผลพริกหมดรุ่นแล้วให้ใส่ปุ๋ยคอกมูลสัตว์ เช่น มูลไก่ เป็นต้น หรือปุ๋ยเคมีสูตรเดิม

การดูแลพริก หลังการปลูก ด้วยสูตรบำรุงแบบอินทรีย์

สูตรมูลไก่+พ.ด.3
ผสมมูลไก่ 200 กิโลกรัม ต่อไร่ กับ พ.ด.3 คลุกเคล้าให้เข้ากัน หว่านให้ทั่วแปลง
ระยะในการให้ปุ๋ยสูตรนี้ คือ
หลังการย้ายปลูก 15 วัน ในอัตรา 200 กิโลกรัม ต่อไร่
หลังจากพริกออกดอก ในอัตรา 1 ตัน ต่อไร่
หลังการเก็บเกี่ยว ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัม ต่อไร่
หรือถ้าหากต้นพริกดูโทรม ก็สามารถให้ปุ๋ยสูตรนี้ได้

สูตรน้ำหมักชีวภาพจากปลา
นำเศษปลาเท่าที่มี หมักรวมกับกากน้ำตาล อัตราส่วนตามความเหมาะสม โดยสังเกตว่าส่วนผสมไม่เข้มข้นหรือจางเกินไป หมักทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน นำมาใช้ฉีดพ่นในอัตราส่วน น้ำหมักชีวภาพจากปลา 1 ลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตร ฉีดพ่นทุก 4 ถึง 5 วัน จนพริกเริ่มออกดอก หรือฉีดพ่นฮอร์โมนจากผลไม้

สูตรฮอร์โมนจากผลไม้
นำกล้วย มะละกอ และฟักทอง หรือผลไม้ที่มี มาหมักรวมกัน ใส่กากน้ำตาลลงไปพอประมาณ หมักทิ้งไว้ประมาณ 3 เดือน นอกจากใช้ฉีดพ่นบำรุงดิน ต้น ใบ ยังใช้ฉีดพ่นเพื่อเร่งดอกได้ด้วย โดยฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน ในอัตราส่วน น้ำหมักจากผลไม้ 1 ลิตร ต่อน้ำ 100 ลิตร

สูตรปุ๋ยหมักแห้ง

สูตรที่1
ปุ๋ยคอก 3 ส่วน
แกลบดิบเก่า 3 ส่วน
แกลบดำ 1 ส่วน
กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม

สูตรที่2
ปุ๋ยคอก 400 กิโลกรัม
แกลบดิบเก่า 100 กิโลกรัม
รำอ่อน 30 กิโลกรัม
กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม

สูตรที่3
ปุ๋ยคอก 3 ส่วน
กากถั่วเหลือง 3 ส่วน
แกลบดิบเก่า 2 ส่วน
แกลบดำ 1 ส่วน
กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม

สูตรที่4
ปุ๋ยคอก 3 ส่วน
กากตะกอนอ้อย 2 ส่วน
แกลบดิบเก่า 2 ส่วน
แกลบดำ 1 ส่วน
กากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพ 10 ลิตร ต่อปุ๋ยหมัก 100 กิโลกรัม

วิธีทำ

  • กองส่วนผสมทุกชนิดของแต่ละสูตรที่เลือกใช้ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
  • ผสมกากน้ำตาลและน้ำหมักชีวภาพกับน้ำ ตามปริมาณที่เหมาะสม ต่อปริมาณน้ำ 1 บัวรดน้ำ แล้วรดลงบนกองส่วนผสมวนจากข้างนอกเข้าข้างใน พอชุ่ม ถ้าแฉะเกินไปจะทำให้เกิดความร้อนที่สูงในกองส่วนผสม และส่วนผสมจะจับกันเป็นก้อน
  • หลังจากนั้น 8 ชั่วโมง หากกองปุ๋ยยังมีความร้อนสูงอยู่ ให้กลับกองทุกวัน ประมาณ 7 ถึง 10 วัน
  • เมื่อความร้อนในกองปกติแล้ว ให้เก็บใส่ถุงหรือกระสอบปุ๋ยไว้ใช้ตามระยะเวลาและอัตราส่วนที่กำหนดไว้ในหัวข้อ การให้ปุ๋ย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

อย่าพลาดติดตามบทความ แมลงศัตรูพริก และ บทความ โรคพริก นะคะ

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ วางแผน…การปลูกสารพัดพริกช่วงแพง สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสะอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *