การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยตนเอง

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยตนเอง

การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยตนเอง เป็นการเพิ่มปริมาณกล้วยไม้ ช่วยบำรุงและปรับสภาพให้กล้วยไม้ที่ปลูกเลี้ยงไว้นานหรือมีขนาดกอใหญ่ และสภาพทรุดโทรมให้กลับมามีสภาพที่ดี และเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้ให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่ดี และหลากหลาย นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดธุรกิจในการจำหน่ายต้นพันธุ์ หรือจำหน่ายในลักษณะของไม้กระถาง สร้างรายได้เพิ่มขึ้นมา ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้หลายราย มีรายได้หลักล้านต่อปีจากการจำหน่ายต้นพันธุ์ ทำไมผู้เขียนจึงเน้นให้ทำ การขยายพันธุ์กล้วยไม้ ด้วยตนเอง หากเกษตรกรผู้ปลูก หรือ ถึงแม้จะเป็นมือใหม่ ก็สามารถทำเองได้ไม่ยาก การขยายพันธุ์ด้วยตนเองนั้น เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ศึกษาขั้นตอนและทดลองทำดูนะคะ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แยกกอ กล้วยไม้

การขยายพันธุ์กล้วยไม้แบ่งออกได้ 2 ประเภทใหญ่ คือ
1.การขยายพันธุ์แบบไม่ผสมเกสร – เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก แต่ได้จำนวนน้อย
เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่เหมาะสำหรับกล้วยไม้ที่มีคุณลักษณะดี สวย เหมาะเป็นกล้วยไม้เพื่อการตัดดอก การขยายพันธุ์วิธีนี้จะได้ต้นใหม่ที่มีสายพันธุ์เหมือนต้นพันธุ์เดิม โดยนำส่วนใดส่วนหนึ่งของกล้วยไม้ (ที่ไม่ได้มาจากการผสมเกสร ) ไปขยายพันธุ์ การขยายพันธุ์กล้วยไม้โดยไม่มีการผสมเกสรแบ่งวิธีการขยายพันธุ์ตามลักษณะการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ ดังนี้
การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทแตกกอ
กล้วยไม้ที่เจริญเติบโตประเภทแตกกอ เช่น หวาย แคทลียา เมื่อหน่อหรือลูกกล้วยไม้ผลิดอกและต้นโรย กล้วยไม้จะแตกหน่อใหม่ออกมาแทน ทำให้กอแน่นขึ้น หากปล่อยไว้จะทำให้กอแน่นเกินไป กล้วยไม้อาจทรุดโทรมเพราะมีธาตุอาหารไม่เพียงพอ ควรตัดแยกหน่อไปปลูกใหม่ ซึ่งได้ประโยชน์ถึง 2 ทาง คือ ได้กล้วยไม้เพิ่มขึ้นและทำให้กล้วยไม้เจริญงอกงามดี ควรทำในช่วงต้นฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงที่ต้นไม้เจริญเติบโตดีและแตกหน่อใหม่

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

  • มีด
  • ปูนแดง

วิธีการตัดแยก
การตัดแยกลำหลัง-นอกจากเป็นการขยายพันธุ์แล้ว ยังช่วยให้กล้วยไม้เจริญเติบโตได้เร็ว ออกดอกได้ง่าย เหมาะสำหรับกล้วยไม้ประเภทแตกกอที่มีลำลูกกล้วย เช่น กล้วยไม้สกุลแคทลียา สกุลหวาย สกุลออนซิเดี้ยม

  • ต้นพันธุ์ที่นำมาตัดแยกควรมีลำลูกกล้วยอย่างน้อย 2 ลำ ตาที่โคนลำหลังไม่แห้ง
  • ใช้มีดหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งไม้สอดเข้าไประหว่างลำลูกกล้วยแล้วตัดเหง้าให้ขาดจากกัน
  • ใช้ปลายมีดป้ายปูนแดงทาที่บาดแผลให้ทั่ว เพื่อให้แผลแห้งและเป็นการป้องกันเชื้อโรคเข้าทำลายทางบาดแผล ลำหลังเป็นลำแก่อยู่ในระยะฟักตัว ถ้านำปปลูกเลยรากแก่อาจจะชำรุดได้ รากใหม่ก็ไม่มีโอกาสเจริญออกมา ทำให้การแตกหน่อช้าและได้หน่อใหม่ที่ไม่แข็งแรง การตัดแยกเพื่อให้เกิดลำใหม่เร็วควรทำช่วงต้นฤดูร้อน ซึ่งเป็นระยะที่ต้นกล้วยไม้เริ่มจะเกิดหน่อใหม่หลังจากฟักตัวในช่วงฤดูหนาว หน่อใหม่จะเจริญเติบโตพร้อมที่จะนำไปปลูกได้พอดีในช่วงฤดูฝน

ใช้การตัดแยกลำหน้าได้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอทุกชนิด แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้ในกรณีที่จำเป็น เพราะลำหน้าเป็นลำกล้วยไม้ที่กำลังเจริญเติบโต และเป็นลำที่ให้ดอก เช่น กล้วยไม้กอใหญ่ล้นกระถาง เครื่องปลูกเน่า ผุ เปื่อย แต่การตัดแยกลำหน้าสามารถจำหน่ายได้ราคาที่สูงกว่ากล้วยไม้ลำหลัง
วิธีการตัดแยก
ใช้หลักการคัดเลือกเช่นเดียวกันกับการตัดแยกลำหลังไปปลูก แต่ลำหน้าจะพร้อมสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อลำหน้าสุดมีรากและรากยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร

  • ใช้มีดหรือกรรไกรตัดแยกลำหน้า 2 ลำติดกัน แล้วแยกไปปลูกได้เลย ไม่ต้องปล่อยทิ้งไว้ให้แตกหน่อใหม่ก่อนจึงจะยกไปปลูกเหมือนการตัดแยกลำหลัง
    ข้อควรระวัง: การนำลำหน้าไปปลูกควรระวังอย่าให้รากอ่อนของลำหน้าสุดช้ำ

การตัดชำ
ใช้วิธีนี้กับกล้วยไม้ประเภทแตกกอบางชนิด เช่น กล้วยไม้สกุลหวาย
เลือกลำหวายที่เป็นลำหลังซึ่งใบร่วงหมดแล้ว ถ้ายังมีใบติดอยู่ควรปลิดออกให้หมดและตัดรากออกให้หมด นำมาปักชำในกระบะทรายหยาบหรือกาบมะพร้าวอัดในแนวตั้ง ควรฝังโคนลำลงไปประมาณ 2 ถึง 3 ซม. ห่างกันประมาณ 4 ถึง 5 ซม. วางกระบะปักชำไว้ในที่มีแสงแดดจัด โดนแดดเต็มที่ประมาณครึ่งวัน รดน้ำให้ชุ่มวันละ 2 ถึง 3 ครั้ง ตาที่อยู่ใกล้ปลายลำจะแตกเป็นลำใหม่ เรียกว่า ‘ตะเกียง’ เมื่อลำตะเกียงเริ่มมีรากก็สามารถตัดไปปลูกได้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แยกลำกล้วยไม้

เครดิตรูป : oknation

การตัดแยกกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ
การตัดยอดเป็นการขยายพันธุ์ที่ใช้กับกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ เช่น กล้วยไม้สกุลแวนด้า สกุลช้าง สกุลเข็ม สกุลกุหลาบ สกุลเสือโคร่ง สกุลแมลงปอ และสกุลเรแนนเธอร่า ต้นพันธุ์ที่นำมาขยายพันธุ์ต้องเจริญเติบโตแข็งแรง ต้นสูงพอประมาณ มีรากติดอยู่กับส่วนยอดที่ต้องการตัดอย่างน้อย 2 ถึง 3 รากขึ้นไป ถ้ามีรากติดอยู่กับส่วนยอดยิ่งมากยิ่งดี เพราะเมื่อนำยอดไปปลูกแล้วจะทำให้แข็งแรงและตั้งตัวเร็วขึ้น

วิธีการตัดยอด

  • โดยใช้มีดหรือกรรไกรที่สะอาดตัด
  • ทาปูนแดงที่รอยตัดทั้งส่วนต้นและส่วนยอดเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าบาดแผล
  • นำส่วนยอดไปปลูกในที่ร่มหรือมีแสงแดดน้อยกว่าปกติจนกว่ายอดนั้นจะตั้งตัวได้ จึงย้ายไปไว้ในที่ปลูกหรือรังกล้วยไม้ ใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 เดือน สำหรับส่วนต้นเมื่อนำไปปลูกจะมีหน่อหรือตะเกียงเกิดขึ้น

การแยกหน่อหรือตะเกียง
ยอดของกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอจะเจริญเติบโตโดยมีความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และมีการแตกหน่อจากตาที่อยู่ข้างลำต้นเป็นหน่อหรือตะเกียง สำหรับต้นที่ไม่มีหน่อหรือตะเกียงเมื่อถูกตัดยอดไปปลูกจะทำให้ต้นที่ถูกตัดแตกหน่อได้ง่ายขึ้น ผู้ปลูกสามารถตัดตะเกียงนี้ไปปลูกใหม่ได้ การตัดแยกหน่อหรือตะเกียงไปปลูกใหม่ ควรเป็นหน่อหรือตะเกียงที่เจริญเติบโตพอสมควร มีรากที่แข็งแรงติดอยู่อย่างน้อย 2 ถึง 3 ราก และมีใบ 2 ถึง 3 คู่

วิธีการแยกหน่อหรือตะเกียง

  • ใช้มีดหรือกรรไกรตัดยอดกล้วยไม้ที่มีตะเกียงติดอยู่ ตัดบริเวณใต้ตะเกียงประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร หรือตัดเฉพาะตะเกียงที่มีหน่อติดอยู่
  • ทาปูนแดงที่บาดแผลเพื่อป้องกันโรค
  • นำหน่อหรือตะเกียงไปปลูกไว้ในที่ร่มจนกว่าจะตั้งตัวได้ ฤดูกาลที่เหมาะสำหรับวิธีนี้ คือต้นฤดูฝน เพราะเป็นฤดูที่กล้วยไม้กำลังเจริญเติบโต รากจะเจริญเกาะเครื่องปลูกได้เร็วกว่าฤดูอื่น ไม่ทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงักเมื่อนำไปปลูก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพาะเนื้อเยื้อกล้วยไม้

การเพาะเนื้อเยื่อแบบปลอดเชื้อในขวดแก้ว
การเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้ หรือที่เรียกกันว่า ‘การปั่นตา’ เป็นส่วนสำคัญในการปลูกกล้วยไม้เพื่อการค้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะการส่งออกกล้วยไม้ ตลาดกล้วยไม้ ไม่ได้รองรับแค่เพียงกล้วยไม้ตัดดอกเท่านั้น ยังรองรับการจำหน่ายต้นพันธุ์ ทั้งที่เป็นต้นพันธุ์ในขวดเพาะเนื้อเยื่อ ต้นพันธุ์ 1 นิ้ว และแบบไม้กระถาง การขยายพันธุ์กล้วยไม้ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ โดยนำเนื้อเยื่อจากส่วนต่างๆ ของกล้วยไม้ เช่น ตายอด ตาข้าง ปลายใบอ่อน มาเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อและมีการควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น แสง อุณหภูมิ ให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโต จะได้ต้นกล้วยไม้ที่มีลักษณะพันธุ์เหมือนเดิม การกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ยาก ได้ต้นพันธุ์ในปริมาณมาก เจริญเติบโตในเวลาอันรวดเร็ว ผลผลิตสวย ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงนำไปปลูกได้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 10 เดือน แต่ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ ความสมบูรณ์ของหน่อ เทคนิคในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สูตรอาหารสังเคราะห์ และสภาพแวดล้อม

ขั้นตอนในการเพาะเนื้อเยื่อกล้วยไม้

  • เลือกชิ้นส่วนของกล้วยไม้ที่มีเนื้อเยื่อที่สามารถพัฒนาเป็นต้นอ่อนได้ เช่น
    กล้วยไม้สกุลหวายใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ดอกอ่อน
    กล้วยไม้คัทลียาใช้หน่ออ่อน ตาข้าง ตายอด ปลายใบอ่อน
    กล้วยไม้สกุลแวนด้าและลูกผสมใช้ยอดอ่อนที่มีตาข้างและตายอด ช่อดอกอ่อน
  • ฟอกฆ่าเชื้อที่ผิวชิ้นส่วนกล้วยไม้ให้ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ก่อนตัดส่วนเยื่อเจริญออกไปเพาะเลี้ยง
  • การเลี้ยงชิ้นส่วนหรือตาในระยะแรก เมื่อฟอกฆ่าเชื้อแล้วใช้มีดเจาะตาขนาดเล็กไม่เกิน 0.5 เซนติเมตร นำไปเลี้ยงในอาหารเหลวหรืออาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ตาจะมีโปรโตคอร์ม (protocorm) สีเขียวแตกออกมารอบๆ

หรือ

  • แคะตากล้วยไม้ไปเพาะในอาหารเหลว กระตุ้นโดยการเขย่าให้มีการขยายตัว จากนั้นผ่าแบ่ง ระยะนี้ต้องเปลี่ยนอาหารทุกสองสัปดาห์
  • การเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์มโดยคัดเลือกโปรโตคอร์มที่เป็นก้อนกลมไม่มีใบยอด ไปเลี้ยงในอาหารสูตรที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มจำนวนโปรโตคอร์ม ถ้าโปรโตคอร์มพัฒนาเป็นยอดต้องตัดยอดทิ้งเพื่อให้เกิดการแตกโปรโตคอร์ม

การเลี้ยงโปรโตคอร์มให้เป็นต้น ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เมื่อได้จำนวนโปรโตคอร์มตามต้องการแล้ว ย้ายไปเลี้ยงในอาหารแข็งสูตรที่เหมาะสม ให้โปรโตคอร์มแต่ละหน่วยเจริญเติบโตเป็นต้นกล้ามีใบยอดและราก เมื่อต้นสูงประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ก็คัดแยกแต่ละต้นย้ายไปเลี้ยงในอาหารวุ้นสูตรถ่ายขวดประมาณ 40 ถึง 50 ต้นต่อขวด คือ ระหว่างที่อยู่ในขั้นตอนเลี้ยงในอาหารวุ้นนี้ ต้องถ่ายขวดเมื่ออาหารวุ้นหมด เพื่อให้เจริญเติบโตแข็งแรง พร้อมที่จะนำออกปลูกภายนอกได้

***ควรปิดฝาขวด โดยมีสำลีอุดรูให้ออกซิเจนผ่านได้นิดหน่อย***

***อาหารวุ้น มีธาตุอาหาร N P K (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม) มักใช้น้ำตาล ผสมน้ำมะพร้าว น้ำมันฝรั่ง หรือน้ำกล้วยหอม***

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพาะเมล็ดกล้วยไม้

2.การขยายพันธุ์โดยการผสมเกสร และเพาะเมล็ด
วิธีนี้อาจทำให้ได้คุณภาพของกล้วยไม้ที่ผสมได้เปลี่ยนไปบ้าง การขยายพันธุ์เพื่อเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะของกล้วยไม้ให้ดีขึ้น จำเป็นต้องคัดเลือกพันธุ์ที่ดีมาผสมกัน เช่น การนำต้นพันธุ์ต้นที่ 1 ดอกใหญ่ สีไม่สด ช่อดอกไม่ยาว ต้นพันธุ์ต้นที่ 2 ดอกเล็ก แต่สีสด ก้านช่อยาว นำมาผสมกัน เพื่อให้ได้กล้วยไม้ที่มีลักษณะดีขึ้น ดอกใหญ่ สีสด ก้านช่อยาวและเลี้ยงง่ายขึ้น แต่จะเห็นผลเมื่อกล้วยไม้ที่ผสมใหม่นั้นออกดอก ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ต้องเป็นกล้วยไม้ที่มีการเจริญแบบเดียวกัน เช่น กล้วยไม้ประเภทเจริญเติบโตทางยอดต้องผสมกับกล้วยไม้ประเภทเดียวกัน จะผสมกับกล้วยไม้ประเภทเจริญเติบโตแบบแตกหน่อออกมาด้านข้างไม่ได้-การผสมเกสรกล้วยไม้ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่เจริญเติบโตเต็มที่ ลำต้นใหญ่ แข็งแรง ช่วยให้อาหารที่มาเลี้ยงฝักอย่างเต็มที่ ฝักจะสมบูรณ์ เมื่อนำเมล็ดไปเพาะ จะลูกกล้วยไม้ที่แข็งแรง เลี้ยงง่าย
  • ระยะเวลาต้องเหมาะสม และดอกมีความสมบูรณ์ คือ บานเต็มที่ทั้งดอกแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์ ดอกบานเท่ากัน ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ควรเป็นเวลาเช้า แสงแดดยังไม่จัดและไม่มีฝนตก
  • อุปกรณ์หรือไม้ที่ใช้เขี่ยเกสรตัวผู้ต้องสะอาดปราศจากเชื้อรา

วิธีการผสมพันธุ์กล้วยไม้

  • นำไม้จิ้มฟันที่สะอาดเขี่ยเกสรตัวผู้ของต้นที่ต้องการให้เป็นพ่อพันธุ์ซึ่งมีเรณูอยู่จำนวนมาก ใส่ลงที่ยอดเกสรตัวเมียของต้นแม่พันธุ์ซึ่งเป็นแอ่ง ในแอ่งนี้มีน้ำเมือกเหนียว ใส คล้ายแป้งเปียก ซึ่งช่วยให้ก้อนเกสรตัวผู้ติดอยู่ได้ แล้วจะเกิดเป็นฝัก ฝักของกล้วยไม้ใช้เวลานานจึงจะแก่ เช่น ฝักของกล้วยไม้สกุลหวายใช้เวลาประมาณ 4 ถึง 5 เดือน ฝักของกล้วยไม้สกุลแวนด้าใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 8 เดือน แต่ถ้าเป็นฝักของฟ้ามุ่ยจะต้องใช้เวลาประมาณ 17 ถึง 18 เดือน การเพาะฝักกล้วยไม้จะเพาะฝักแก่หรือฝักอ่อนก็ได้ ฝักอ่อนกล้วยไม้มีสีเขียวแต่พอเริ่มแก่จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่จัด ขณะที่ฝักเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีเหลืองต้องระวังไม่ให้ถูกน้ำ ฝักกล้วยไม้สุกจะมีสีเหลืองแบบมะนาวสุก เก็บฝักไปเพาะได้ อย่ารอให้ฝักเป็นสีน้ำตาล เพราะฝักจะแตก

การเพาะฝักอ่อนต้องเป็นฝักอ่อนที่มีเชื้อสมบูรณ์แล้ว ไข่จะกลายเป็นเชื้อที่สมบูรณ์หลังจากผสมแล้ว ขึ้นอยู่กับชนิดของกล้วยไม้ เช่น หวายประมาณ 45 วัน แวนด้าประมาณ 80 ถึง 90 วัน หรือใช้เวลาประมาณ 1 ใน 3 ของระยะฝักแก่ ฝักอาจแก่เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่สิ่งแวดล้อม เช่น แสงสว่าง ความชุ่มชื้น และความสมบูรณ์ เป็นต้น
การเพาะเมล็ด
เมื่อได้ฝักแล้ว นำเมล็ดภายในฝักมาทำการเพาะเมล็ด แต่ละฝักมีเมล็ดตั้งแต่ 1,000 – 4,000,000 เมล็ด มีขนาดเล็กมากจนแทบจะเป็นละออง ปัจจุบันใช้การเพาะเมล็ดในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งมีธาตุต่างๆ ที่กล้วยไม้ต้องการในปริมาณและสัดส่วนที่พอเหมาะ แต่อาหารดังกล่าวก็เป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศด้วย ดังนั้นควรเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดเพาะ และอุปกรณ์ต่างๆ ในการเพาะต้องทำให้สะอาด ปลอดเชื้อจุลินทรีย์ ไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์ทำลายเมล็ดกล้วยไม้ได้

ข้อดี ของการเพาะเมล็ดจากฝักอ่อน คือ ประหยัดเวลา ไม่ต้องรอจนฝักแก่ ต้นพันธุ์ไม่โทรมเนื่องจากต้องเลี้ยงฝักนาน และป้องกันปัญหาฝักร่วงก่อนกำหนด
ข้อเสีย ของการใช้ฝักอ่อนคือ ต้องรีบเพาะทันทีหลังจากตัดฝักจากต้น มิฉะนั้นฝักจะเหี่ยวหรือเสีย
แต่ฝักแก่หากเก็บไว้ในที่แห้งและเย็นจะสามารถเก็บได้นานเป็นปี
มาถึงบทความนี้ ใกล้ที่จะครบขั้นตอนของการปลูกกล้วยไม้แล้วล่ะค่ะ เรายังเหลือข้อมูลการส่งออกในบทความ กล้วยไม้พารวย ด้วยการส่งออกกล้วยไม้ อย่าพลาดนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.panmai.com, www.youtube.com/watch?v=OJLUCcvqXrk)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *