การปลูกถั่วดาวอินคา

การปลูกถั่วดาวอินคา

การปลูกถั่วดาวอินคา ง่ายไม่มีขั้นตอนอะไรมาก ปลูกแล้วดูแลให้ดี สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ 5 เดือนหลังการเพาะปลูกจนถึง 50 ปี แต่ละปียังเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายรอบ และทำรายได้จากหลายๆ ส่วนของลำต้น ผลผลิตและรายได้จาก การปลูกถั่วดาวอินคา ขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาหลังการปลูก

ปัจจัยสำคัญในการปลูกถั่วดาวอินคา

  1. ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและและยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ในการปลูกถั่วดาวอินคา เพราะถั่วดาวอินคามีความไวจากผลกระทบที่เกิดจากสารเคมีและอุณหภูมิมาก แทนที่จะได้ผลผลิตที่ดี อาจได้ความเสียหายมาแทน
  2. ให้น้ำพอชุ่ม อย่าปล่อยให้มีน้ำขังรอบลำต้น หรือปลูกแบบยกร่องสูงป้องกันน้ำท่วม
  3. ตัดแต่งกิ่งถั่วดาวอินคาให้โปร่งอยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น

สถานที่และสภาพดินที่เหมาะสม
ถั่วดาวอินคา ปลูกได้ในทุกพื้นที่ ทุกภาคของประเทศไทย และทุกสภาพดิน ขอเพียงแค่ได้รับน้ำอย่างชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ ไม่ขัง และไม่น้อยเกินไป และไม่อยู่ใกล้แหล่งสารเคมี

ฤดูกาลที่เหมาะสม ในการปลูกถั่วดาวอินคา
เดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน เตรียมเพาะกล้า และแปลงปลูก
เดือนพฤษภาคม ถึง เดือนมิถุนายน (ฤดูฝน) นำต้นกล้าปลูกลงในแปลงปลูก

การเตรียมเมล็ดพันธุ์

  • คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ สมบูรณ์ เมล็ดไม่ลีบ ไม่มีเชื้อรา สีเข้ม มีน้ำหนัก
    ***เมล็ดพันธุ์ที่ดี มีอัตราการงอกสูง คือเมล็ดที่มีอายุไม่เกิน 2 – 4 เดือน หลังการเก็บเกี่ยวจากต้น***
  • นำเมล็ดพันธุ์ไปแช่ในน้ำอุ่น 1 คืน เลือกเมล็ดที่ลอยน้ำทิ้งไป เพราะเป็นเมล็ดที่ไม่สมบูรณ์
  • เมื่อครบกำหนดเวลา 1 คืน บ่มเมล็ดพันธุ์ โดยนำผ้าสะอาดไปชุบน้ำให้ชุ่มนำไปห่อเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการแช่น้ำแล้ว ใส่ภาชนะที่มีฝาปิดหรือกระติกน้ำ ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 5 – 7 วัน เมล็ดพันธุ์จะมีรากสีขาวงอกออกมา จึงนำไปเพาะ หรือ นำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำแล้วไปเพาะในกระบะทราย หรือ นำไปเพาะลงในถุงเพาะชำที่เตรียมไว้ วิธีนี้ประหยัดขั้นตอน รากไม่หัก เสียหาย แต่มีอัตราเสี่ยงในการไม่งอกของเมล็ดพันธุ์สูง

คำแนะนำ

  • ใช้น้ำยาล้างจานล้างเมล็ดพันธุ์และล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อฆ่าเชื้อราได้
  • ผ้าที่ใช้ในการบ่มเมล็ดพันธุ์ สามารถฆ่าเชื้อด้วยการต้มในน้ำเดือด ลดการเกิดเชื้อราในการบ่มได้
  • การบ่มเมล็ดพันธุ์ไม่ควรทิ้งเมล็ดพันธุ์ที่งอกไว้ในผ้านานเกินกำหนดเวลา เพราะรากจะยาว ดึงออกจากผ้ายาก อาจทำให้รากหักหรือขาดได้ง่าย
  • ระยะเวลาในการงอกของเมล็ดพันธุ์ในช่วงอากาศเย็นและมีความชื้นสูง เช่น ฤดูฝน หรือฤดูหนาว อาจจะช้ากว่าปกติ และะทยอยงอก

การเตรียมวัสดุเพาะ
ผสมดิน ทราย และปุ๋ยคอก (หรือใช้แกลบดำ หรือขุยมะพร้าว) อัตราส่วนที่ 1 : 1 : 2 คลุกให้เข้ากัน ใส่ลงในถุงเพาะชำ
***อัตราส่วนนี้นำไปใช้ได้ทั้งในการเพาะต้นกล้า และปลูกต้นกล้า***

วิธีการเพาะต้นกล้า

  • ฝังเมล็ดพันธุ์ที่งอกแล้วลงในถุงเพาะชำลึกประมาณ 1-2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม แต่ไม่แฉะเพราะจะทำให้เมล็ดเน่าได้
  • รดน้ำพอชุ่มทุกเช้า ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมล็ดถั่วดาวอินคาจะเริ่มงอกออกมา ช่วงนี้ต้องระหวังอย่าให้ขาดน้ำ
  • ต้นกล้าอายุได้ 30 ถึง 45 วัน หรือต้นสูงประมาณ 30 เซนติเมตร สามารถนำไปปลูกลงแปลงปลูกที่เตรียมดินไว้

การเตรียมดินปลูก

  • ไถ พลิกหน้าดิน และตากไว้ 15 ถึง 30 วัน เพื่อให้วัชพืชในดินตาย และย่อยสลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์
  • พรวนดินให้ละเอียด ทำแปลงปลูกแบบยกร่อง กว้างประมาณ 1.50 ถึง 2 เมตร ความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่
  • ขุดหลุมปลูกให้ลึก 30 เซนติเมตร กว้างและยาว 30 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 2 ถึง 3 เมตร จำไว้ว่า ยิ่งมีความโปร่งของเถาเลื้อยให้รากได้หายใจได้ดียิ่งเพิ่มผลผลิต จากนั้น ตากหลุมไว้ประมาณ 5-7 วัน
  • ผสมดินที่ขุดทำหลุมกับปุ๋ยคอก 3 ถึง 5 กำมือ ต่อหลุม หรือสารปรับปรุงดิน คลุกให้เข้ากัน แบ่งใส่รองก้นหลุม

การทำค้าง
ช่วงที่รอการตากหลุม ให้ใช้เสาปูน หรือเสาที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรง มีอายุการใช้งานได้นาน เพราะถั่วดาวอินคามีอายุอยู่ได้ตั้งแต่ 10 ถึง 50 ปีต่อต้น ความสูงของเสาประมาณ 2 ถึง 2.50 เมตร ปักลึกลงไปในดินประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ละเสา มีระยะห่างกัน 2 ถึง 4 เมตร ยึดโครงเสาด้วยลวดตาข่าย หรือตาข่ายไนล่อนตามแนวยาวของแปลงปลูก

วิธีการปลูก

  • นำต้นกล้าลงปลูก – ฉีกถุงเพาะชำออกวางต้นกล้าและดินจากถุงชำลงในหลุมปลูก ให้ระดับต้นกล้าต่ำกว่าปากหลุมเล็กน้อย
  • เกลี่ยดินกลบโคนต้นให้สูงขึ้นมาเล็กน้อย
  • ใช้เชือกผูกลำต้นกับเสาค้ำยันเป็นวงหลวม
  • รดน้ำให้ชุ่มแต่ไม่แฉะ นำหญ้าแห้งหรือฟางข้าวแห้งคลุมที่โคนต้น ช่วยเก็บความชื้นของดิน

การดูแลรักษา ต้นถั่วดาวอินคา หลังการเพาะปลูก

การให้น้ำ

  • การให้น้ำหลังการปลูก อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า หากอากาศร้อนจัด หรือฝนทิ้งช่วง สังเกตว่าดินที่แปลงปลูกไม่ชื้น ให้เพิ่มการให้น้ำพอชุ่มอีกครั้งในตอนเย็น หรือตามลักษณะหน้าดินในแปลงปลูก หากฝนทิ้งช่วงจะต้องคอยให้น้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
  • หลังจากที่ต้นถั่วดาวอินคาแข็งแรงดี ควรให้น้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์
  • ถ้าฝนตกชุก ให้ระวังเรื่องน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นและแปลงปลูก
  • หากพื้นที่เพาะปลูกกว้างและมีจำนวนต้นถั่วดาวอินคามาก ควรให้น้ำด้วยระบบน้ำหยดหรือสปริงเกลอร์ เพื่อประหยัดเวลาและต้นทุนค่าจ้างแรงงาน

การกำจัดวัชพืช

  • หลังจากการปลูกต้นกล้าประมาณ 1 ถึง 2 เดือน ควรกำจัดวัชพืช 1 ครั้ง หรือ ถ้ามีฝนตกชุก วัชพืชเริ่มเจริญเติบโตเร็ว ให้รีบกำจัด โดยการถาง หรือพรวนดิน
  • ระยะ 1 ปีแรก กำจัดวัชพืชทุก 3 เดือน
  • ปีที่ 2 ขึ้นไป กำจัดวัชพืชทุก 2 ครั้ง ต่อปี

การตัดยอด
ต้นถั่วดาวอินคา 1 ต้น ควรมีเถาประมาณ 5 เถา ควรตัดยอดเพื่อควบคุมจำนวนเถาและให้ต้นถั่วมีความโปร่ง อากาศถ่ายเท รากหายใจได้สะดวก เริ่มตั้งแต่ต้นถั่วดาวอินคาสูงได้ประมาณ 1 ถึง 1.50 เมตร ซึ่งสามารถนำยอดที่ตัดได้มารับประทาน ได้ประโยชน์อีกทางหนึ่ง

การให้ปุ๋ย
ข้อควรจำ  : ต้นถั่วดาวอินคาต้องปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์เท่านนั้น (ไม่ใช้สารเคมี)

  • เดือนที่ 2 หลังการเพาะปลูก ใส่ปุ๋ยคอก 2 ถึง 3 กำมือ ต่อต้น โดยหว่านห่างโคนต้นประมาณ 20 ถึง 30 เซนติเมตร ให้รอบ
  • เดือนที่ 4 หลังการเพาะปลูก ซึ่งเป็นระยะก่อนการติดดอก และผล ใส่ปุ๋ยคอกอีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม วิธีเดิม
    **ควรให้ปุ๋ยคอกรอบลำต้น ปีละ 3-4 ครั้ง ปุ๋ยทางใบ เดือนละ 1-2 ครั้ง โดยเฉพาะช่วงก่อนออกดอก และหลังจากเก็บผลผลิต**

การป้องกันและแก้ไขปัญหาในการปลูกถั่วดาวอินคา

โรคเชื้อรา โรคโคนเน่า
ในบางพื้นที่ ดินอาจมีความเป็นกรดสูง อากาศร้อนจัด ทำให้พบกับปัญหารากเน่าโคนเน่าได้ ถึงแม้ว่าจะมีการจัดการที่ดี

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • หากเกิดจากสภาพดิน โรยปูนขาวที่ก้นหลุมในตอนปลูกต้นกล้า ช่วยลดความเป็นกรดของดินลงได้ หรือ นำฟางแห้งหรือหญ้าแห้งมาคลุมรอบๆ โคนต้น ใส่มูลสัตว์ เช่น มูลวัวที่หมักแล้วมาโรยบนฟาง ราดตามด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์
  • หากพบว่ามีการให้น้ำที่มากเกินไป มีน้ำขังเฉอะแฉะ ให้ระบายน้ำออกทันที
  • ต้นที่เริ่มเป็นโรคเน่า ใบจะเหลืองซีดและค่อยๆ ร่วง สีของเปลือกเข้มบริเวณที่เกิดโรคเชื้อรา ในขั้นรุนแรง จะมีน้ำยางไหลออกมาโดยเฉพาะช่วงเช้า อากาศชุ่มชื้น เชื้อรา สามารถแพร่กระจายโดยทางลม น้ำ ดิน ใบ กิ่งพันธุ์และผล โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และความชื้นสูง ให้รีบกำจัดด้วยการตัดทิ้งและทำลายด้วยการเผาไฟ จากนั้น ฉีดยาป้องกันเชื้อราแบบอินทรีย์หรือใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน ผสมน้ำ 200 ส่วน นำไปรดรากที่เน่า

การขาดธาตุอาหาร
การปลูกพืชในพื้นที่เดิมเป็นเวลานาน เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดปัญหาการขาดธาตุอาหารในดิน หรือ สารอาหารไม่เพียงพอ
อาการ คือ ใบเหลืองซีด ดอกร่วง ติดดอกแต่ไม่ออกผล รากเน่าและขยายวงกว้าง เป็นสภาวะของรากที่อ่อนแอดูดซับธาตุอาหารไม่ได้

วิธีป้องกันและแก้ไข

  • ฉีดพ่นใบและรากของต้นถั่วดาวอินคาด้วย จุลินทรีย์ดีไลท์สูตรเกลือซึ่งมีสารอาหารครบทุกชนิด ในอัตราส่วน 30 ถึง 40 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้เปียกชุ่ม ในทุก ๆ 2 ถึง 3 วัน ดอกจะร่วงหมด และมีการสลัดใบทิ้งบางส่วนในระยะแรก
  • การฉีดพ่นต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จนต้นถั่วผลิดอกและออกผลขึ้นมาใหม่ วิธีการนี้จะช่วยกำจัดโรครากเน่าให้หายไปด้วยทั้งหมด
  • เมื่อต้นถั่วดาวอินคาเริ่มสมบูรณ์ขึ้น ให้ลดอัตราการใช้จุลินทรีย์ดีไลท์ลงให้เหลือปริมาตรที่ 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก ๆ 3 ถึง 4 วันต่อครั้ง ให้เปียกชุ่ม

แมลงศัตรูถั่วดาวอินคา
ที่พบบ่อยเมื่อต้นโต คือ ด้วง, แมลงอินูน, หนอนผีเสื้อ, หนอนเจาะผล, มดคันไฟ, จิ้งหรีด และปลวก

วิธีป้องกันและกำจัด หนอนเจาะลำต้น
ให้สำรวจให้ทั่วและสม่ำเสมอ หากพบว่าใบเหี่ยว ให้กำจัดโดยการตัด และผ่าลำต้น เพื่อนำหนอนออกมา วิธีนี้สามารถลดการแพร่ระบาดและลดจำนวนต้นที่เสียหายได้

วิธีป้องกันและแก้ไข แมลงกินใบ
ปัญหานี้ พบได้ทุกพื้นที่การเพาะปลูกถั่วดาวอินคาตั้งแต่ต้นถั่วมีอายุได้ 1 ถึง 4 เดือนแรก ขั้นรุนแรงจะพบว่าแมลงกัดกินใบหมดทั้งต้น

  • ใช้น้ำส้มควันไม้ละลายน้ำ อัตราส่วน 5 ซีซี ผสมน้ำ 1 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้น ทุก 1 หรือ 2 สัปดาห์
  • ฉีดพ่นให้ทั่วลำต้นด้วยน้ำหมัดสะเดาสด หรือผงสะเดา หากพบแมลงกินใบ

เมื่อต้นถั่วดาวอินคาได้รับการดูแลอย่างดีและสม่ำเสมอ จะให้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่สูง ขั้นตอนต่อไป เราก็เตรียมเก็บเกี่ยว, จำหน่าย หรือทำการแปรรูปเพื่อจำหน่าย ศึกษารายละเอียดได้ในบทความ การจำหน่ายและการแปรรูปถั่วดาวอินคา

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.baannoi.com, www.dowinca.com, www.puechkaset.com, www.manager.co.th, www.suanbanmoh.com, Facebook : จุลินทรีย์ เพื่อเกษตรกรไทย)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *