การดูแลกุ้งก้ามแดงระหว่างการเพาะเลี้ยง

การดูแลกุ้งก้ามแดง

การดูแลกุ้งก้ามแดง ระหว่างการเพาะเลี้ยง มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก หากผู้เลี้ยงปฏิบัติตาม และเอาใจใส่ดูแลเป็นประจำตามขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การถ่ายน้ำ, อุณหภูมิ, การลอกคราบ, การผสมพันธุ์, การดูแลแม่พันธุ์ระหว่างอุ้มไข่จนกระทั่งคลอด การอนุบาลลูกกุ้ง, และรวมไปถึงการป้องกันแก้ไข ปัญหาในการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

ขั้นตอน การดูแลกุ้งก้ามแดง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ถ่ายน้ำบ่อกุ้งก้ามแดง

การถ่ายน้ำ
เลี้ยงในตู้ปลา, กะละมัง, หรือ กล่องพลาสติก

  • ถ่ายน้ำทุก 7 วัน หรือเมื่อสังเกตเห็นว่าน้ำขุ่นหรือสกปรก โดยดูดขี้กุ้งและเศษอาหารที่พื้นบ่อออก ถ่ายน้ำเก่าออกเพียงครึ่งบ่อแล้วจึงเติมน้ำใหม่เพิ่มให้ได้ระดับเดิม เพื่อให้กุ้งปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับน้ำ การใส่น้ำใหม่ทั้งหมดจะทำให้กุ้งน๊อคน้ำตายได้ (น้ำใหม่ที่ใช้เติม ต้องเตรียมให้พร้อมเหมือนการเตรียมน้ำเมื่อเริ่มเลี้ยงกุ้งก้ามแดงในครั้งแรก)

เลี้ยงในบ่อดิน หรือ นาข้าว

  • ปกติแล้วไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพียงแต่คอยเติมน้ำให้ได้ระดับเดิม เนื่องจากบ่ออยู่กลางแจ้งมีการระเหยของน้ำมากกว่าการเลี้ยงด้วยวิธีอื่น และให้ระวังเรื่องการให้อาหาร อย่าให้มากเกินไป เพราะจะทำให้น้ำเน่าเสียจากเศษอาหารที่เหลืออยู่ในบ่อ กุ้งขาดอ๊อกซิเจน หรือน๊อคน้ำตายได้

เลี้ยงในบ่ออิฐประสาน หรือ บ่อผ้าใบพลาสติก

  • ถ่ายน้ำทุก 2 สัปดาห์ หรือ 20 วัน ปฏิบัติตามขั้นตอนเดียวกันกับการเลี้ยงในตู้ปลา

เลี้ยงในบ่อปูน

  • ปัญหาของความเป็นด่างสูงของบ่อปูน ทำให้ต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ทุก 10 วัน ควรที่จะมีน้ำพักบ่อ สำรองเอาไว้ในการปรับเปลี่ยนน้ำ

***ข้อควรระวัง ในการถ่ายน้ำ***

  • ช่วงเวลาที่กุ้งกำลังจะลอกคราบ ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ อาจทำให้กุ้งลอกคราบไม่ผ่านและตายได้ กุ้งที่กำลังจะลอกคราบสังเกตได้จากช่วงระหว่างหัวกับตัวกุ้ง จะปริออกเหมือนจะหลุดจากกัน หรือลองแตะเปลือกกุ้งก็ได้ ถ้าเริ่มนิ่ม นั่นคือ ใกล้จะลอกคราบแล้ว(ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อ การลอกคราบ)
  • ช่วงแม่กุ้งอุ้มไข่ไม่ควรถ่ายน้ำ จนกว่าลูกกุ้งจะลงเดิน

 

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กุ้งก้ามแดงลอกคราบ

การลอกคราบ

การลอกคราบ หมายถึงการเจริญเติบโตของกุ้ง (กุ้งตัวใหญ่ขึ้น) และหมายถึงช่วงที่กุ้งอ่อนแอด้วย นี่คือเหตุผลที่จำเป็นต้องมีวัสดุหลบซ่อน เพราะกุ้งก้ามแดงมักจะกินกันเอง ซึ่งการเลี้ยงรวมหลายขนาด หรือหลายตัวจะมีปัญหาในเรื่องตัวใหญ่กินตัวเล็ก หรือกินกุ้งที่ลอกคราบ ช่วงที่กุ้งใกล้จะลอกคราบ หรือลอกคราบแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่ถ้าเลี้ยงจำนวนไม่มากหรือสามารถทำได้ แนะนำให้แยกตัวกุ้งที่ลอกคราบออกมาไว้ในบ่อพักที่เตรียมน้ำผสมแคลเซียมผงไว้ เพื่อให้กุ้งเปลือกแข็งและแข็งแรงเร็วขึ้น และเก็บคราบกุ้งที่ลอกแล้วออกจากบ่อเพื่อป้องกันปรสิตที่เกาะอยู่ตามเปลือกกุ้ง ซึ่งก่อให้เกิดโรคได้ กุ้งจะลอกคราบสัปดาห์ละครั้ง, เดือนละครั้ง หรือทุกช่วงวันพระ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงและความพร้อมของกุ้งเมื่อสะสมอาหารและแร่ธาตุเพียงพอ สัญญาณบ่งบอกว่ากุ้งจะลอกคราบ นอกจากช่วงระหว่างหัวกับตัวกุ้ง จะปริออกเหมือนจะหลุดจากกัน หรือเปลือกที่เริ่มนิ่มแล้ว กุ้งจะกินอาหารน้อยลง, เปลือกตามรอยต่อช่วงลำตัวจะปริ และกุ้งไม่ค่อยเคลื่อนไหว แต่ผู้เขียนได้รับคำแนะนำมาว่า ไม่รบกวนกุ้งช่วงลอกคราบจะดีที่สุด เราผสมแคลเซียมผงในน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งไว้อยู่แล้วในการถ่ายน้ำทุกครั้ง, ทำที่หลบซ่อนไว้ให้กุ้ง, เก็บคราบกุ้งที่ลอกแล้วทิ้ง, ให้อาหาร, ดูแลไม่ให้น้ำสกปรกในช่วงนี้ และปล่อยให้กุ้งอยู่ด้วยตัวเองจนเปลือกแข็งจึงทำการถ่ายน้ำ เพียงเท่านี้กุ้งก็ลอกคราบผ่านและไม่ตาย กุ้งลอกคราบไม่ผ่านซึ่งมีหลายสาเหตุนอกเหนือไปจากการถ่ายน้ำ เช่น สารอาหารไม่เพียงพอ, โรคสนิม หรืออ๊อกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ตายได้ หรือลอกคราบไม่สมบูรณ์เพราะมีสิ่งรบกวน หรือตกใจ ชิ้นส่วนของเปลือกเก่ายังติดอยู่บริเวณก้าม เมื่อเปลือกชุดใหม่เริ่มแข็งตัว อาจทำให้เกิดความผิดปกติ เช่น มีเปลือกสองชั้นทับซ้อนกัน หรือก้ามบิดเบี้ยวผิดรูป

อุณหภูมิ และสภาพน้ำ

อุณหภูมิของน้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งก้ามแดงนั้น ไม่ควรสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส กุ้งจะไม่กินอาหาร หลบอยู่ในวัสดุหลบภัย และทำให้เกิดคราบสนิมที่ก้าม แต่ก็ไม่ควรต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศเย็นอาจใช้การเปิดไฟช่วย หรือเพิ่มระดับน้ำให้สูงขี้น ถ้าร้อนไปสามารถเปิดพัดลมช่วยระบายอากาศบริเวณบ่อเลี้ยง

การดูแลกุ้งก้ามแดง ช่วงฤดูหนาว

กุ้งก้ามแดงที่เลี้ยงในประเทศไทยนั้น เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย เหมาะกับสภาพอากาศในบ้านเราทั้งร้อนและหนาว และไม่ค่อยมีปัญหาช่วงฤดูหนาว ดูแลง่ายๆ ดังนี้

  • ถ่ายน้ำตามปกติ ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ให้เพิ่มระดับน้ำขึ้นมา 5 ถึง 10 เซนติเมตร แต่ระดับน้ำในบ่อหลังจากเพิ่มระดับแล้วไม่ควรสูงเกิน 40 เซนติเมตร
  • ให้อาหารที่มีโปรตีนสูง
  • ใช้สแลนที่มีอัตราการกรองแสงสูง หรือความถี่สูง 70 ถึง 80 เปอร์เซนต์ คลุมบ่อเลี้ยงทุกบ่อ กันลม

การผสมพันธุ์

ส่วนใหญ่กุ้งก้ามแดงจะพร้อมผสมพันธุ์เมื่อมีขนาดประมาณ 4 นิ้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของตัวกุ้งด้วย ใน 1 บ่อสำหรับพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์นั้น ควรมีตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 3 ตัว ซึ่งกุ้งจะผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ ใช้เวลาครั้งละ ไม่เกิน 15 นาที

เทคนิคกระตุ้นการผสมพันธุ์

  • ให้อาหารจำพวกเนื้อสัตว์สด เช่น เนื้อปลาสับ, ไส้เดือนดินสับ, ไส้เดือนน้ำ, ไข่ปู, เนื้อหมึกสับ หรือกุ้งฝอยต้มสุก เพราะมีโปรตีนสูงกว่าอาหารเม็ด
  • หลังจากกุ้งผสมพันธุ์แล้ว แยกกุ้งก้ามแดงพ่อพันธุ์และปลาออกไป กุ้งแม่พันธุ์จะอุ้มหรือห่อไข่ไว้ประมาณ 50 วันหรือ 2 เดือน ช่วงที่ไข่ยังอ่อนอยู่ ***ห้ามรบกวนแม่พันธุ์ขณะอุ้มไข่อ่อน*** เพราะกุ้งแม่พันธุ์จะสลัดไข่หรือดีดไข่ทิ้ง เมื่อไข่แก่ช่วงตัวของกุ้งบริเวณที่อุ้มไข่ไว้จะแผ่ออก จับกุ้งแม่พันธุ์ที่ไข่แก่มาดูได้ จะสังเกตเห็นตาและหนวดของลูกกุ้ง เมื่อลูกกุ้งลงเดินก็สามารถแยกแยกลูกกุ้งไปไว้ในบ่ออนุบาล
แม่กุ้งอุ้มไข่

แม่กุ้งอุ้มไข่

การให้อาหารแม่กุ้งอุ้มไข่

ระหว่างแม่กุ้งอุ้มไข่หรืออุ้มท้อง ไม่ต้องให้อาหารจนกว่าลูกกุ้งจะลงเดินทั้งหมด เพื่อป้องกันการลอกคราบและขยายตัวของแม่กุ้ง เพราะถ้าเกิดการลอกคราบ ไข่ที่แม่กุ้งอุ้มท้องก็จะหลุดติดคราบออกไปทำให้ไข่เสียไป หากไม่ลอกคราบก็อาจจะสลัดไข่จนหมด และการให้อาหารในช่วงนี้ ถ้ามีเศษตกค้างก็จะทำให้น้ำเน่า มีปัญหาเชื้อราที่เกิดขึ้นกับไข่ ทำให้ไข่เสียด้วยเช่นกัน ***ห้ามถ่ายน้ำช่วงระหว่างที่แม้กุ้งอุ้มไข่ เพราะอุณหภูมิและค่าน้ำเปลี่ยน แม่กุ้งจะเกิดความเครียด และสลัดไข่***

ลูกกุ้งลงเดิน คือ กุ้งจะคลอดไม่พร้อมกันหมดทุกตัว ตัวที่แข็งแรงจะออกจากท้องแม่มาลงเดินก่อน 1 ถึง 2 สัปดาห์ แยกลูกกุ้งไว้ในบ่ออนุบาล ช่วงนี้

ลูกกุ้งจะมีการลอกคราบ ขนาดตัวก็จะใหญ่ขึ้น หลังจากลูกกุ้งลงเดินหมดทุกตัวแล้ว ให้แยกแม่พันธุ์ออกแต่ยังไม่ต้องเลี้ยงรวมกันกับตัวพ่อพันธุ์ เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกุ้ง และให้แม่พันธุ์ได้พัก ถ้าไม่แยกกุ้งจะมีการผสมพันธุ์บ่อย กุ้งจะไม่เจริญอาหาร โตช้า ตู้อนุบาลลูกกุ้ง ควรเหลือพื้นที่ในบ่อให้ลูกกุ้ง ไม่ควรใส่ลูกกุ้งในแต่ละบ่อเยอะเกินไป และมีวัสดุหลบซ่อน เพราะช่วงเดือนแรก ลูกกุ้งจะลอกคราบบ่อย ลำตัวนิ่ม และมีโอกาสถูกกินเป็นอาหารมากขึ้น และต้องดูแลเก็บคราบกุ้งออกจากบ่ออนุบาลให้หมด เมื่อลูกกุ้งมีอายุครบ 1 เดือนขึ้นไป จะมีสีเหมือนกุ้งที่โตเต็มวัย ช่วงการอนุบาลลูกกุ้งให้ตรวจสภาพน้ำทุก 15 วัน อย่าให้เน่าเสีย และอย่าปล่อยให้ลูกกุ้งกินกันเอง กุ้งจะเจริญเติบโตไม่เท่ากัน ให้แยกตัวเล็กกับตัวใหญ่ไว้คนละบ่อ หรือเพิ่มวัสดุหลบซ่อนให้ลูกกุ้ง

อาหารลูกกุ้ง

ให้อาหารเม็ดบด ตามปริมาณกุ้งในบ่อ หากให้แล้วมีอาหารเหลือเยอะในตอนเช้า ให้ลดปริมาณอาหารลง
เมื่อกุ้งก้ามแดงเติบโตขนาด 1 นิ้ว ก็สามารถจำหน่ายได้ หรือจะรอจนถึงขนาด 6 นิ้ว หรือประมาณ 15 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม หรือจะปล่อยให้มีขนาดใหญ่กว่านี้ก็ใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 4 ปี ซึ่งราคาก็จะสูงขึ้นตามอายุของกุ้งด้วย

ติดตามบทความ การป้องกันแก้ไข ปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล: www.baannoi.com, www.money.sanook.com, www.bplobsterfarm.com, crayfishfarmth.blogspot.com, www.facebook.com/RedClaw.Crayfish.TH, หนังสือ หลากวิธีการเลี้ยง กุ้งก้ามแดง ชีววิถี ต้นทุนต่ำ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุธิพงศ์ ถิ่นเขาน้อย)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *