การแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

การแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง

การป้องกันแก้ไขปัญหาในการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลกุ้งก้ามแดง หากผู้เลี้ยงปล่อยปละละเลยไม่ดูแล ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็จะตามมา :
ปัญหาในการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง
โรคสนิม
เป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัวร์ มีผงสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลทองคล้ายสนิมเกาะที่กุ้ง ต้องอาศัยเกาะติดกับสัตว์น้ำ ในฐานะปรสิต อาศัยสัตว์น้ำ สามารถสังเคราะห์แสงได้เหมือนพืช จะดูดซับสารอาหาร จากตัวกุ้ง ทำให้เกิดแผล ติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราแทรกซ้อนได้ กุ้งมีอาการซึม ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ไม่กินอาหาร จนตายในที่สุด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กุ้งก้ามแดง โรคในกลุ่มของ โรควิบริโอซีส

โรคในกลุ่มของ โรควิบริโอซีส
มีรอยไหม้สีดำตามรยางค์ของกุ้ง (รยางค์ คือ ส่วนที่อยู่ระหว่างปล้องใต้ลำตัวจากส่วนหัวจนถึงท้อง แต่ละปล้องจะมีรยางค์ 1 คู่) ตับและตับอ่อนอักเสบ ไม่เจริญอาหารและในที่สุดก็ตาย (มีการระบาด เมื่อสภาพน้ำมีความเค็มสูง)
การป้องกัน

  1. ควบคุมการให้อาหาร ในปริมาณที่พอเหมาะกับจำนวนกุ้ง และให้อาหารที่มีคุณภาพ
  2. ดูแลรักษาน้ำให้สะอาด โรคสนิม จะลุกลามได้เร็วในสภาพน้ำที่ไม่ดี กุ้งจะลอกคราบไม่ผ่าน และตายได้

ยาที่ใช้ในการรักษา

  1. ใช้สารเคมีกลุ่มไอโอดีน
  2. ใช้ยาในกลุ่มยาปฏิชีวนะ

การแก้ไข

  • ถ่ายน้ำ และเร่งให้กุ้งลอกคราบ ด้วยน้ำที่มีค่าอัลคาลินิตี้สูงกว่าน้ำที่ใช้เลี้ยงในบ่อ
    (น้ำจืด 80 – 100 ppm น้ำเค็ม 150 – 200 ppm ) ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ ใช้ยา Chioramphenicol 5 ถึง 7 มิ่ลลิกรัม ผสมอาหาร 1 ขีด ให้กุ้งกินติดต่อกัน จนกว่าจะหาย (ระวังปริมาณการใช้ยารักษา ต้องคำนวณให้เหมาะสม เพราะเกิดอันตรายต่อกุ้งได้)
  • เก็บคราบกุ้งออก หลังการลอกคราบ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กุ้งก้ามแดง โรคในกลุ่มของ โรคหางพอง

โรคหางพอง
เกิดจากน้ำไม่สะอาด
การป้องกัน

  • ดูแลสภาพน้ำให้สะอาดอยู่ตลอด ถึงแม้ว่ายังไม่ถึงกำหนดเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่ถ้าน้ำขุ่น มีขี้กุ้งและเศษอาหารเยอะ กำจัดไม่หมด ก็ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำ

การแก้ไข

  • ตัดตรงส่วนที่พองออก
  • นํากุ้งไปแช่น้ำเกลือ 10 ถึง 15 นาที เมื่อกุ้งลอกคราบแล้ว หางจะกลับสู่สภาพปกติ

ปัญหากุ้งกินกันเอง
การป้องกันและแก้ไข ทำที่หลบซ่อนให้กุ้งอย่างเพียงพอ

ปัญหาความซุกซนของกุ้ง
กุ้งชอบปีนป่าย ซึ่งหากปีนออกไปจากบ่อได้อาจตัวแห้งตาย

การป้องกันและแก้ไข

  • บ่อดิน หรือ นาข้าว ทำตาข่ายล้อมกุ้ง นอกจากจะป้องกันไม่ให้กุ้งปีนป่ายแล้ว ยังช่วยป้องกันศัตรูกุ้งได้
  • บ่อปูน, บ่อพลาสติก, กะละมัง, วงบ่อซีเมนต์ ฯ ทำฝาปิด หรือใช้ตาช่ายคลุม หรือล้อมบ่อไว้
  • ไม่ควรวางวัสดุที่กุ้งใช้ขาหนีบ หรือคีบปีนขึ้นขอบบ่อได้ ใกล้กับขอบบ่อ

ปัญหากุ้งน็อคน้ำ
ฤดูฝน สําหรับผู้ที่เลี้ยงกุ้งกลางแจ้งจะประสบปัญหานี้บ่อย น้ำฝน ตกลงไปผสมกับน้ำในบ่อ กุ้งปรับสภาพไม่ทัน น็อคน้ำตายได้

การป้องกัน

  • เปิดปั้มมลมให้แรงๆ เพื่อให้ของเสียเจือปนอยู่ในน้ำฝนแตกตัว และโมเลกุลของน้ำไปจับกับ อ๊อกซิเจนแทน
  • ควรมีผ้ายาง หรือผ้าใบปิดคลุมไว้ เพื่อช่วยลดปริมาณการเพิ่มของน้ำให้ช้าลง ให้กุ้งค่อยๆ ปรับตัว

ปัญหาแม่กุ้งสลัดไข่
อาจมีสาเหตุมาจาก

  • มีสิ่งรบกวน มีเสียงดัง ทำให้แม่กุ้งตกใจ
  • น้ำไม่สะอาด
  • แสงมากไป

การป้องกัน

  • แยกแม่กุ้งอุ้มไข่ใส่ตะกร้าไว้ตัวเดียว หลังการผสมพันธุ์ เพื่อที่จะไม่ให้กุ้งตัวอื่นมารบกวน
  • ห้ามเปลี่ยนน้ำ
  • งดให้อาหาร

ปัญหากุ้งลอกคราบไม่ผ่านอาจเกิดจาก

  • โรคสนิม
  • อ๊อกซิเจนไม่พอ
  • มีการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ช่วงที่กุ้งใกล้จะลอกคราบ
  • กุ้งสะสมสารอาหารไม่พอ

การป้องกัน

  • สังเกตตัวกุ้ง หากใกล้จะลอกคราบ กุ้งจะไม่ค่อยกินอาหาร ไม่ค่อยเคลื่อนไหว เปลือกนิ่มลง และปริ ห้ามถ่ายน้ำในช่วงนี้
  • ให้อ๊อกซิเจนอย่างเพียงพอ ในช่วงใกล้ลอกคราบ
  • ดูแลป้องกัน โรคสนิม
  • รักษาสภาพน้ำให้สะอาด
  • ให้อาหารที่มีคุณภาพ ทั้งอาหารหลัก และอาหารเสริม ในปริมาณที่เพียงพอ

ไฟดับหรือปั้มลมดับ
หาวัสดุที่ช่วยให้กุ้งปีนขึ้นมาเกาะ เพื่อหายใจรับอ๊อกซิเจนเหนือผิวน้ำได้ เช่น ใช้ตะกร้าวางคว่ำ, ใช้ตาข่ายไนล่อนสีฟ้า หรือผ้ามุ้ง หรือ สแลนลอยไว้ในบ่อ แต่ระวังอย่าให้ใกล้กับขอบบ่อ จนกุ้งปีนออกไปนอกบ่อได้

ปัญหาจากการเลี้ยงกุ้งรวมกัน
กุ้งจะกินกันเอง ตัวใหญ่กินตัวเล็ก หรือกินกุ้งที่ลอกคราบ

การป้องกัน

  • บ่อควรมีขนาดใหญ่พอให้กุ้งมีพื้นที่หลบซ่อน และต้องใส่วัสดุหลบซ่อนให้กุ้ง เพียงพอกับจำนวนกุ้ง หรือมากกว่าจำนวนกุ้งบ้าง
  • หากมีแม่กุ้งอุ้มไข่ ต้องแยกตัวอื่นๆ และปลาออกจากบ่อ เพื่อป้องกันแม่กุ้งสลัดไข่จากการถูกรบกวน

ปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้กุ้งตาย ที่พบได้บ่อย

  1. หมดอายุไข หรือแก่ตาย
  2. ดูแลบริหารจัดการเรื่องน้ำไม่ดี อาทิเช่น
    ปล่อยเศษอาหารที่เหลือ และคราบกุ้งทิ้งไว้ ไม่เก็บทิ้ง,
    ไม่เปลี่ยนถ่ายน้ำตามกำหนด รอจนกระทั่ง น้ำเสีย หรือ ส่งกลิ่นเหม็น,
    และ กุ้งขาดอ๊อกซิเจน หรืออ๊อกซิเจนไม่พอ
  3. ใส่อาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารสด ทำให้น้ำเสียเร็ว
  4. กุ้งปีนออกนอกตู้หรือบ่อเลี้ยงอื่นๆ จนแห้งตายหรือโดนศัตรูทำร้าย
  5. ได้รับสารเคมีจาก ยาฆ่าแมลง, ยาฉีดยุง, ยาฉีดปลวก, โลชั่น, ครีมทามือ, เส้นผมที่ปนเปื้อนยาย้อมผมหรือเจลแต่งผม, ยาทาเล็บ, น้ำมัน หรือน้ำมันเครื่อง เป็นต้น เพียงแค่เปื้อนมือมา แล้วมือจุ่มโดนน้ำในตู้กุ้ง  ***ก่อนให้อาหารกุ้งหรือจับกุ้งในบ่อเลี้ยง ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง สำหรับการเลี้ยงในนาข้าว ให้ระวังยาฆ่าปูจากพื้นที่ข้างเคียง***

เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาฝาก

    • ให้กุ้งกินแครอท ช่วยเร่งสีได้
    • ใช้วัสดุปูพื้นบ่อสีดำ กุ้งจะสีเข้มขึ้น เช่น หินนิลดำ, หินกรวดรองตู้กระจก และ พลาสติกปูบ่อสีดำ
    • ไม่ควรใช้ภาชนะปากแคบเลี้ยงกุ้งก้ามแดง เพราะการระบายอากาศไม่ดี และลมพัดผ่านผิวน้ำได้ไม่ดี
    • ใช้แปรงสีฟันชุบน้ำเกลือ ขัดตัวกุ้งเพื่อขจัดคราบดำที่เกิดจากการเลี้ยงในบ่อดิน หรือนาข้าว ช่วยให้กุ้งมีสีสวย
    • ใช้ใบหูกวางแห้ง เป็นอาหารเสริมของกุ้งก้ามแดง เก็บเฉพาะใบที่ร่วงเอง แต่ห้ามใช้ใบสีเขียวที่ยังสดอยู่ เพราะ เป็นพิษ แต่ถ้าใช้ใบแห้งจะมีสารเทนนิน และใบหูกวางต้องไม่เป็นเชื้อรา นำมาล้างน้ำให้สะอาด โดยน้ำไปต้มในน้ำเดือด เมื่อใบหูกวางจมลงก้นหม้อต้ม ยกลงจากเตา เทน้ำทิ้ง แล้วแช่น้ำเปล่าไว้ 1 คืน เมื่อครบกำหนด ให้ตัดก้านออกแล้วให้กุ้งก้ามแดงกิน เพื่อช่วยขจัดปรสิต, ป้องกันโรค, คลายเครียด, เร่งสีสัน และรักษาแผล แต่อาจจะทำให้น้ำมีสีเหลืองได้บ้าง นอกจากนี้ ใบหูกวางยังช่วยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำได้ด้วย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: หนังสือ หลากวิธีการเลี้ยง กุ้งก้ามแดง ชีววิถี ต้นทุนต่ำ สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุธิพงศ์ ถิ่นนเขาน้อย, www.farmthailand.com, www.baannoi.com, crayfishfarmth.blogspot.com,
redlobsterclawsthai.blogspot.com, aqua.c1ub.net)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *