โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม

โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม

 

โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม มีอยู่ไม่มากนัก และมีวิธีป้องกันกำจัดที่ไม่ยุ่งยาก หากเกษตรกรหรือผู้ปลูกอินทผาลัมละเลย ไม่ใส่ใจดูแล ก็จะทำให้เรื่องง่ายกลายเป็นยาก และเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน…กันไว้ดีกว่าแก้ดีกว่านะคะ

 

ขั้นตอนการป้องกันกำจัด โรคและแมลงศัตรูอินทผาลัม

โรคอินทผาลัม
โรคใบไหม้

  • สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Curvularia eragrostidis
  • อาการของโรคใบไหม้
    เกิดแผลรูปร่างกลมรีที่มีรอยบุ๋มตรงกลางเนื้อแผลสีน้ำตาล ขอบแผลนูน มีลักษณะฉ่ำน้ำ มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล ความยาวของแผลประมาณ 7 ถึง 8 มิลลิเมตร ในขั้นรุนแรง แผลขยายตัวรวมกันทำให้ใบแห้งม้วนงอ เปราะ และฉีกขาดง่าย ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต และตายได้

 

การป้องกันและกำจัด

  • เผาทำลายใบและต้นที่เป็นโรค
  • ฉีดพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่ไม่มีสารทองแดงเป็นองค์ประกอบ เช่น ไทแรม 75 เปอร์เซ็นต์ WP อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 5 ถึง 7 วัน ในช่วงที่มีการระบาด

 

โรคยอดเน่า
พบระบาดมากในฤดูฝน โรคนี้สามารถเข้าทำลายต้นอินทผาลัมตั้งแต่ในระยะต้นกล้า และพบมากกับต้นอินทผาลัมที่มีอายุ 1 ถึง 3 ปี

  • สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากเชื้อโรคใด แต่จากการแยกเชื้อพบเชื้อโรคพืชหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกเชื้อราฟิวซาเรียม (Fusarium spp.) และเชื้อแบคทีเรียพวกเออร์วิเนีย (Erwinia sp.)
  • อาการของโรคยอดเน่า
    เกิดแผลเน่าสีน้ำตาลดำ ขอบแผลฉ่ำน้ำที่บริเวณใกล้ๆ โคนใบยอดที่ยังไม่คลี่ บางครั้งอาการเน่าดำจะเริ่มจากปลายใบย่อยที่ยังไม่คลี่ จากนั้นแผลเน่าดำจะขยายทำให้ใบยอดทั้งใบเน่าแห้งเป็นสีน้ำตาลแดง สามารถดึงหลุดออกมาได้ง่าย

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นกำจัดวัชพืช อย่าให้ปกคลุมบริเวณโคนต้นอินทผาลัม เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงที่จะไปกัดบริเวณส่วนยอด ทำให้เกิดแผลซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าทำลายยอดได้ง่ายขึ้น
  • หากพบการระบาดของโรคนี้ ควรตัดส่วนที่เป็นโรคออกให้หมด แล้วใช้สารไทแรม (Thiram) ในอัตรา 130 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารแมนโคเซ็บ (Mancozeb) ในอัตรา 150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ราดบริเวณกรวยยอดของต้นที่เป็นโรค

โรคใบจุด

  • สาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา Graphiola phoenicis แหล่งระบาดเชื้อราของโรคนี้สามารถเกิดได้ทุกภูมิภาคที่มีการปลูกพืชปาล์มตระกูล จากการศึกษาโรคชนิดนี้ในรัฐฟลอริด้า พืชตระกูลปาล์มทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเชื้อราชนิดนี้ แต่จะเกิดมากที่สุดกับปาล์ม 2 ตระกูล คือ ตระกูล Phoenix canariensis (ปาล์มประดับ Canary lsland) และตระกูล Phoenix dactylifera (อินทผาลัมพันธุ์รับประทานผล)
  • อาการของโรคใบจุด
    สามารถสังเกตเห็นได้ง่าย คือ จุดสีเหลือง หรือสีน้ำตาล หรือสีดำ ทั้งสองข้างของใบ อาการเริ่มแรกนี้ หากไม่สังเกตอย่างละเอียดแทบมองไม่เห็นเลย เชื้อราจะเริ่มโผล่มาจากเส้นใยของผิวใบ เมื่อเชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตมากขึ้น จะเริ่มปรากฏให้เห็นบริเวณผิวใบที่ได้รับผลกระทบซึ่งมีขนาดเล็กมาก จะเป็นจุดสีดำบนผิวใบ ลักษณะคล้ายอาการของการขาดธาตุโพแทสเซียม เชื้อราจะทะลุใบขึ้นมามีลักษณะเหมือนรูปถ้วย มีเส้นใยเล็กๆ สีเหลือง คล้ายเส้นด้ายโผล่ขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายสปอร์ออกไป เมื่อกระจายสปอร์ออกไปแล้วเส้นใยเล็กๆ จะยุบลงเป็นสีดำ และเมื่อโรคได้ระบาดเต็มที่แล้ว ผงจุดที่โผล่ขึ้นมาจะมองเห็นชัดเจน รวมทั้งสามารถสัมผัสได้ด้วยมือ อาการของโรคชนิดนี้เมื่อเกิดแล้วเป็นเพียงแค่บนจุดบนผิวใบเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้น

การป้องกันและกำจัด

  • กำจัดด้วยยาฆ่าเชื้อรา เมธิล, คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์ ฉีดพ่นทางใบ

แมลงศัตรูอินทผาลัม
หนอนหน้าแมว
เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืนขนาดเล็ก จัดอยู่ในกลุ่มหนอนร่านชนิดหนึ่ง และมีความสำคัญอย่างมาก สามารถทำให้อินทผาลัมเสียหายอย่างรุนแรงเมื่อเกิดการระบาดขึ้น หนอนหน้าแมวจะกัดทำลายใบจนเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต หนอนหน้าแมวมีระยะไข่ 4 ถึง 5 วัน ระยะหนอน 30 ถึง 40 วัน ระยะดักแด้ 9 ถึง 14 วัน ระยะตัวเต็มวัย 6 ถึง 11 วัน

 

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจต้นอินทผาลัมให้ทั่วพื้นที่เป็นประจำ เพื่อวางแผนการกำจัดไม่ให้แมลงขยายพันธุ์ เพิ่มขึ้น
  • จับแมลงทำลายโดยตรง เช่น จับผีเสื้อในเวลากลางวัน เก็บดักแด้ และถ้าพบหนอนปริมาณน้อยให้ทำกำจัดทำลายโดยตรงทันที
  • สามารถใช้กับดักแสงไฟนีออนสีขาว หรือหลอด Black Light วางเหนืออ่างพลาสติกที่มีน้ำผสมผงซักฟอก โดยให้หลอดไฟอยู่ห่างจากน้ำประมาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ดักผีเสื้อในช่วงเวลา 18.00 ถึง 19.00 น.
  • เลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลงที่มีผลกระทบต่อแมลงที่มีประโยชน์ต่อต้นอินทผาลัมน้อยที่สุด

 

ด้วงกุหลาบ
เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก สีน้ำตาล ตัวเต็มวัยจะเข้าทำลายในช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น โดยกัดทำลายใบของต้นอินทผาลัมขนาดเล็กที่เพิ่งปลูกใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการบุกเบิกใหม่ ในขั้นรุนแรง ใบจะถูกทำลายจนหมดเหลือแต่ก้านใบ ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

 

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารฆ่าแมลงประเภทคาร์บาริล (เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์ WP) ในอัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์โบซัลแฟน (Posse 20 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 7 ถึง 10 วัน

 

 

ด้วงแรด
ตัวเต็มวัยของด้วงชนิดนี้จะเจาะใบอินทผาลัมที่บริเวณโคนทางใบที่ 2 หรือที่ 3 ทะลุเข้าไปถึงยอดอ่อนตรงกลาง หรือทำลายบริเวณยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ทำให้ใบอินทผาลัมที่คลี่แตกใบใหม่ขาดแหว่ง เป็นสามเหลี่ยมคล้ายถูกกรรไกรตัด ถ้าด้วงกัดกินทางใบจะทำให้ทางใบพับ ต้นอินทผาลัมชะงักการเจริญเติบโต และอาจเป็นเหตุให้โรคและแมลงศัตรูชนิดอื่นเข้าทำลายต่อไป

การป้องกันและกำจัด

  • โดยวิธีเขตกรรม คือ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ โดยการเผา หรือฝังซากตอหรือลำต้นของอินทผาลัม และเกลี่ยกองซากพืชหรือกองมูลสัตว์ให้กระจายออกโดยมีความหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร
  • ใช้เชื้อราเขียว (Metarhizium anisopliae) สร้างกับดักราเขียวโดยใช้ขุยอินทผาลัมที่หมักแล้ว ผสมกับหัวเชื้อราเขียวเพื่อล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวอ่อนจะถูกเชื้อราเขียวเข้าทำลายและตายในที่สุด
  • ใช้ทรายหรือสารคาร์บาริล (เซฟวิน 85 เปอร์เซ็นต์WP) ผสมขี้เลื่อยในอัตรา สารฆ่าแมลง 1 ส่วน ต่อ ขี้เลื่อย 33 ส่วน ใส่รอบยอดอ่อน ซอกโคนทางใบเดือนละครั้ง หรืออาจใช้ ลูกเหม็นจำนวน 6 ถึง 8 ลูกต่อต้น ใส่ไว้ในซอกโคนทางใบ
  • กำจัดแหล่งขยายพันธุ์ และกำจัดที่อยู่ของไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ได้แก่ ซากเน่าเปื่อยของลำต้น ตอของต้นปาล์ม ซากชิ้นส่วนของพืชที่เน่าเปื่อย กองปุ๋ยหมัก กองปุ๋ยคอก ซากทะลายอินทผาลัม และกองขยะเป็นต้น ใช้ฮอร์โมนเพศ (ฟีโรโมน) เป็นกับดักล่อตัวเต็มวัยมาทำลาย

 

 

ด้วงงวงมะพร้าว
ด้วงงวงมะพร้าวจะขยายพันธุ์อยู่ภายในคอต้นอินทผาลัม และโคนลำต้น ทำให้ต้นตาย
อาการบ่งชี้ที่แสดงว่าต้นถูกด้วงงวงทำลาย คือ ยอดอ่อนเหี่ยวแห้งใบเหลือง

 

 

การป้องกันและกำจัด

  • ป้องกันและกำจัดด้วงแรดอย่าให้เข้าทำลายอินทผาลัม เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดเจาะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้าวางไข่และทำลายจนต้นตายได้
  • หมั่นตรวจสอบด้วงมะพร้าวตามยอดหรือลำต้น
  • ทำความสะอาดลำต้นและตัดใบแห้งแก่ไปกำจัดทิ้ง อาจใช้สารอินทรีย์ชีวภาพราด เช่น EM เพื่อให้ขุยเยื่อย่อยสลายได้ง่าย ไม่เป็นที่วางไข่ด้วงหรือใช้สารเคมี เช่น ฟูราดาน หว่านในช่วงที่มีการระบาด
  • ถ้าพบรอยแผลรอยเจาะและยอดอ่อนที่ยังไม่เหี่ยว ให้ใช้เหล็กยาวปลายเป็นตะขอแทงเข้าไปเกี่ยวเอาตัวหนอนทำลาย และทาบริเวณรอยดังกล่าวด้วยสารทาร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่อง 1 ลิตร ผสมกับกำมะถันผง 100 กรัม คนให้เข้ากัน เพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงงวงเข้าทำลายซ้ำ
    ดูแลทำความสะอาดแปลงอินทผาลัม ถ้าพบมีการทำลายให้ใช้สารฆ่าแมลง เช่น คลอร์ไพริฟอส (ลอร์สแบน 40 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ทำลายต้นอินทผาลัมที่มีหนอนด้วงงวงอยู่ หรือทำลายตัวหนอนเพื่อมิให้แพร่พันธุ์ต่อไป

ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.datepalm.in.th, www.idatepalm.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *