ไส้เดือนดิน 4.0

ไส้เดือน 4.0

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไส้เดือนแต่ละสายพันธ์

ไส้เดือนดิน 4.0

ยุคนี้มีคนพูดถึงแต่ ไทยแลนด์ 4.0 กันบ่อยๆ ทำไมผู้เขียนถึงขึ้นชื่อเรื่องว่า ไส้เดือนดิน4.0 ฯ มาแบบนี้…แต่ชื่อนี้ตรงประเด็นกับ ไทยแลนด์ 4.0 จริงๆ มาทำความเข้าใจกันก่อนนะคะ ที่ผู้เขียนบอกว่าตรงประเด็น โมเดลของ ไทยแลนด์ 4.0 คือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การเกษตรก็เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลนี้ ที่ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องหรือ Smart Farming (สม๊าร์ท ฟาร์มมมิ่ง) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้นและเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าตามหลักความเป็นจริงนั้นไม่ใช่แค่ไส้เดือนดินที่จะเป็น 4.0 ได้ การเกษตรในทุกภาคส่วนควรเป็น 4.0 ให้ได้ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งเบื่อก่อนนะคะ ติดตามต่อไปแล้วจะเข้าใจยิ่งขึ้นว่าการเลี้ยงไส้เดือนดิน ทำให้เกษตรกรร่ำรวยได้อย่างไร และเป็นผู้ประกอบการอะไรได้บ้าง ไส้เดือนดิน4.0 จะช่วยให้เกษตรกร มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้อย่างไร…

ถ้าเราย้อนกลับไปหา ไทยแลนด์ 1.0 ซึ่งเป็นยุคเกษตรกรรม ไส้เดือนดิน เป็นสัตว์ที่เปรียบเสมือนเครื่องชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน ดินที่มีไส้เดือนอยู่อาศัยเป็นดินที่มีธาตุอาหารครบถ้วน ไม่มีสารพิษ สารปนเปื้อน และแม้กระทั่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างในดิน เพราะเจ้าไส้เดือนตัวเล็กแต่เล็กพริกขี้หนูนี่แหละ ใช้ไขมันที่มีอยู่ในตัวกำจัดสารเหล่านี้ได้ การเคลื่อนไหวของ ไส้เดือนดินมีประโยชน์ในทุกอิริยาบถ ไส้เดือน กระดื๊บบบ…กระดื๊บ…เคลื่อนที่ไป…พรวนดินไป ทำให้ดินร่วน ซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี เชื้อจุลินทรีย์ดินแพร่กระจายได้ดีไปด้วย ความสามารถของ ไส้เดือนดิน ไม่ได้มีแค่นี้ พอไส้เดือนดินอิ่มท้อง ขับถ่ายออกมา มูลของไส้เดือนดินก็เป็นประโยชน์ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เพราะไส้เดือนกินง่ายอยู่ง่าย ย่อยอินทรีย์สารได้ดีมาก มูลไส้เดือนจึงมีคุณค่าอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ ตามความต้องการของพืช แต่พอขยับเข้าไปยัง ไทยแลนด์ 2.0 และ 3.0 (ยุคปัจจุบัน) เป็นยุคอุตสาหกรรม ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง ไส้เดือนดินช่วยได้ แต่ไม่ได้ช่วยแค่พรวนดินเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น

ไส้เดือนดินกำจัดขยะได้ ทั้งในภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม ไส้เดือนดิน มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบนิเวศ ปัจจุบันมีผู้ลงทุนเลี้ยงไส้เดือนดินกันเพิ่มขึ้น ขยะยิ่งเพิ่ม ปริมาณความต้องการไส้เดือนดินในการกำจัดขยะก็เพิ่ม แม้กระทั่งในต่างประเทศก็มีการใช้ประโยชน์จากไส้เดือนดิน ปริมาณการส่งออกจึงขยับขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน เริ่มจะเห็นช่องทางมั่งคั่ง ร่ำรวย กับไส้เดือนดินกันบ้างรึยัง แต่ว่าแค่มั่งคั่งร่ำรวยไม่พอ ต้องมั่นคง และยั่งยืนด้วย ควรศึกษาวิธีเลี้ยง เทคนิคต่างๆ ต่อยอดด้วยวิธีการผลิตผลิตภัณฑ์จากไส้เดือนดิน ให้เข้าใจแล้วค่อยลงมือทำ

ทำความรู้จักกับ สายพันธุ์ไส้เดือนดิน และข้อดี-ข้อเสียของแต่ละสายพันธุ์…..

ผู้เขียนขอจำกัดสายพันธุ์ของไส้เดือนดินให้อยู่ในวงแคบๆ เพื่อให้มือใหม่หัดเลี้ยงไส้เดือนเลือกได้ง่ายขึ้น เพราะสายพันธุ์ไส้เดือนดินที่พบมีอยู่ประมาณ 6,000ชนิด ที่นิยมเลี้ยงมีประมาณ 10 ชนิด แต่ในประเทศไทยมีเพียง 4 ชนิดที่โดดเด่นเป็นที่นิยมกันดังนี้

ไส้เดือนแอฟฟริกัน ไนท์ ครอว์เล่อร์( African Night Crawler )
ข้อดี คือ กินเก่ง โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีนสูง ขยายพันธุ์เร็ว ลูกดก ตัวโต เหมาะในการนำไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารโปรตีน เช่น อาหารกบ หรือนก
ข้อเสียหากผู้เลี้ยงฝึกให้กินแต่โปรตีน หรืออาหารดีๆ ไส้เดือนพันธุ์นี้มักไม่กินขยะ ตัวมักเปื่อยง่ายเพราะมีโปรตีนในตัวมาก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไส้เดือนแอฟฟริกัน ไนท์ ครอว์เล่อร์( African Night Crawler )

ไส้เดือนพันธุ์บลูเวิร์ม( Blue Worm )
ข้อดีคือ กินเก่งเช่นกัน แต่ไม่เลือกกิน ขยายพันธุ์เร็ว และลูกดกมากๆ
ข้อเสียของไส้เดือนพันธุ์นี้ คือ ตัวเล็กแยกตัวลำบาก ถ้าในบ่อหรือภาชนะที่เลี้ยงมีประชากรแออัด ไส้เดือนพันธุ์นี้ก็จะเริ่มซุกซน กระดื๊บไปที่บ่ออื่น

ในภาพอาจจะมี ต้นพืช, อาหาร และ สถานที่กลางแจ้ง

ไส้เดือนพันธุ์ไทเก้อร์( Tiger )
ข้อดี ที่กินเก่ง ตัวใหญ่พอสมควร
ข้อเสีย อยู่ตรงที่ ฟักไข่นาน ชอบอากาศเย็น ถ้าอากาศร้อนจะกินไม่ค่อยเก่ง

ไส้เดือนสายพันธุ์ไทเก้อร์

ไส้เดือนสายพันธุ์ไทเก้อร์

ไส้เดือนพันธุ์ขี้ตาแร่( Pheretima pegana )

เป็นไส้เดือนแดงสายพันธุ์ไทย นิยมกันมากในขณะนี้
ข้อดี คือ กินขยะเก่ง ตัวใหญ่พอสมควร เป็นไส้เดือนท้องถิ่น หาได้ง่ายตามธรรมชาติ
ข้อเสีย คือ โตช้า หนีเก่ง ต้องให้อาหารต่อเนื่อง

***ถ้าคุณไปขุดหาไส้เดือนขี้ตาแร่ในสวน ให้จำไว้ว่า ไส้เดือนพันธุ์นี้ สีแดง ส่วนใหญ่ที่ขุดเจอจะเป็นสีเทา ผิวหนังจะสากมือ แต่ก็เลี้ยงได้เช่นกัน ให้ลูกดก ชอบกินอินทรีย์วัตถุในดินมากกว่าอาหาร*** ไส้เดือนตามธรรมชาติมีชีวิตอยู่ได้ 4-5 ปี แต่ไส้เดือนเลี้ยงมีชีวิตอยู่ในบ่อได้ไม่เกิน2 ปี วงจรชีวิตของไส้เดือนดิน เริ่มที่ ระยะถุงไข่ หรือ โคคูน(Cocoon) สร้างได้เกือบ 200 ถุง ต่อตัว ต่อปี ระยะตัวอ่อน ซึ่งจะใช้เวลาฟักเป็นตัวไม่เกิน 40 วัน(ขึ้นอยู่กับฤดูกาล) ระยะก่อนเต็มวัย และระยะตัวเต็มวัย(ไคเทลลัม เจริญเต็มที่) ช่วงนี้ใช้เวลา 3-6 เดือนจะเติบโตเต็มวัย (ขึ้นอยู่กับฤดูกาลอีกเช่นกัน) โดยทั่วไปไส้เดือนดินจะจับคู่ผสมพันธุ์กันในบริเวณใต้ดิน แต่บางสายพันธุ์ก็จับคู่ผสมพันธุ์กันบริเวณผิวดินด้วย ชอบผสมพันธุ์ตอนกลางคืน

ไส้เดือนทุกสายพันธุ์มีสองเพศในตัวเดียวกัน แต่ไส้เดือนก็ต้องจับคู่ผสมพันธุ์ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการสร้างถุงไข่ คือ อุณหภูมิ และความชื้น อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์ไทยคือ ประมาณ 15-25 องศาเซลเซียส ไส้เดือนจะสร้างถุงไข่ในฤดูฝนที่มีความชื้นสูง ได้มากกว่าในช่วงฤดูร้อน หรือฤดูหนาว ไส้เดือนดินจะสร้างถุงไข่และวางถุงไข่ไว้บริเวณใกล้กับผิวดิน ในบริเวณที่มีความชื้นมาก ส่วนในบริเวณที่แห้งแล้งไส้เดือนดินจะวางถุงไข่ในชั้นดินที่ลึกกว่า ไส้เดือนดินที่ฟักออกจากถุงไข่ใหม่ๆ ลำตัวจะใสจนเห็นเส้นเลือดในลำตัวชัดเจน แต่เมื่อเจริญเติบโตขึ้นลำตัวจะเปลี่ยนสี

ประเภทของไส้เดือนดินด้วยสายพันธุ์ไส้เดือนดินมีอยู่มากมาย จึงมีการจัดกลุ่มของไส้เดือนดินตามแหล่งที่อยู่อาศัย ได้ 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ในดินชั้นล่าง อยู่ลึกลงไปในดินถึง 3 เมตร กินใบไม้และอินทรียวัตถุในดิน สามารถกลับดินที่มีปริมาณมากได้โดยการกินอาหารที่อยู่ในระดับล่างแล้วถ่ายมูลออกมาบนหน้าดิน การขุดโพรงของไส้เดือนดิน ทำให้สิ่งแวดล้อมของจุลินทรีย์ในดินและในรากพืชเกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเกิดการปรับปรุงดิน
  2. ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ในดินชั้นบน อยู่ลึกไม่เกิน 30 เซนติเมตร ลำตัวมีสีซีด มีกิจกรรมเหมือนไส้เดือนดินประเภทแรก แต่สามารถขุดโพรงได้หลายทิศทางในบริเวณดินชั้นบน
  3. ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่หน้าดิน ไม่ขุดรู อาศัยอยู่ผิวดิน สีลำตัวจะเข้ม ***ไส้เดือนดินทุกประเภท ทุกสายพันธุ์ ไม่ชอบแสงสว่างจ้า ชอบอยู่ในที่มืด***

เมื่อได้รู้จักสายพันธุ์ของไส้เดือนดินกันแล้ว ก่อนจะตัดสินใจว่าเลี้ยงพันธุ์ไหน ควรศึกษาประโยชน์ของไส้เดือนดิน เป็นขั้นตอนต่อไปจาก บทความ รวยได้อย่างไร กับไส้เดือนดิน  เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงไส้เดือน เพราะการจะเข้าสู่ยุค 4.0 ได้นั้น เลี้ยงไส้เดือนขายเป็นตัวๆ อย่างเดียวคงไม่ได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล http://home.kku.ac.th, http://www.fil.or.th/home, หนังสือ ‘คู่มือการผลิต ปุ๋ยมูลไส้เดือน เงินล้าน’ สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และศุภวรรณ์ ใจแสน)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *