ในหลวงรัชกาลที่ 9

ครบรอบ 1 ปี ทำดีเพื่อพ่อ ท่านได้ทบทวนกันบ้างหรือไม่ว่าได้ทำความดีอะไรเพื่อพ่อกันไปบ้าง และทำอย่างไร แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราคนไทย ต้องไม่ลืมว่าพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราทรงทำสิ่งใดไว้ให้กับประชาชนคนไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 หรือ พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ของชาวไทย เสด็จสู่สวรรคาลัย แต่ทุกพระราชกรณียกิจที่ท่านทรงทำเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่ปวงประชายังคงดำเนินต่อ ปวงชนชาวไทยบ้างนำมาปฏิบัติ บ้างพยายามปฏิบัติ เป็นวิถี ทำดีเพื่อพ่อ ทำดีเพื่อชีวิต และทำดีเพื่อประเทศชาติกันต่อเนื่องมา 13 ตุลาคม 2560 ครบรอบ 1 ปี ที่พ่อจากไป ได้ระลึกถึงพระราชกรณียกิจที่ให้ประโยชน์ใกล้ตัวเรามากที่สุดคือ ด้านทรัพยากรน้ำ และ การเกษตร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้ พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

“หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตนั้นอยู่ที่น้ำ ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้” โครงการตามพระราชดำริของพระองค์และพระราชกรณียกิจด้านการเกษตรและการยกระดับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในฐานะประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในจังหวัดของ ‘โครงการแก้มลิง’ ที่เลือกกล่าวถึงโครงการนี้เป็นอันดับแรก เพราะเป็นโครงการในพระราชดำริที่ใกล้ตัวที่สุด ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เหมาะสม จังหวัดสมุทรสาครจึงได้ถูกจัดอยู่ในพื้นที่ในโครงการแก้มลิงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จังหวัดสมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดใน ‘โครงการแก้มลิง’ รับน้ำ เก็บน้ำ จากน้ำท่วมขังของพื้นที่ทางตอนบนของประเทศไทย และระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่สอดคล้องกับโครงการแก้มลิง นอกจากนี้ โครงการแก้มลิงยังช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำไว้ใช้ยามขาดแคลนและบำบัดน้ำเสียได้อีกด้วย โครงการด้านทรัพยากรน้ำยังมี ‘โครงการฝนหลวง’ ช่วยบรรเทาภัยแล้งสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ‘เขื่อนดิน’ อ่างเก็บน้ำที่ไม่ใช้คอนกรีต เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแก่งกระจาน ฯ ส่งน้ำจากแหล่งกักเก็บไปตามท่อส่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรและการอุปโภคบริโภค บรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำ ป้องกันน้ำท่วม เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กอย่างปลาและกุ้งน้ำจืดได้ และโครงการ    ‘กังหันน้ำชัยพัฒนา’ เป็น เครื่องกลเติมอากาศ ที่ปั่นน้ำเสียและเติมออกซิเจนให้กับน้ำ โดยทรงได้แนวทางจาก ‘หลุก’ ซึ่งเป็นอุปกรณ์วิดน้ำเข้านาแบบภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นจุดคิดค้นเบื้องต้น กังหันน้ำชัยพัฒนาใช้บำบัดฟื้นฟูแหล่งน้ำที่มีความลึกมากกว่า 1 เมตร และมีความกว้างมากกว่า 3 เมตร เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง แต่ การขาดแคลนน้ำเพื่อเกษตรกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ที่อยู่ในเขตที่มีฝนค่อนข้างน้อย และส่วนมากเป็นนาข้าวและพืชไร่เกษตรกรรม ก็ยังคงเป็นปัญหาหลักของเกษตรกร สามารถทำการเพาะปลูกได้ปีละครั้งในช่วงฤดูฝนเท่านั้น และมีความเสี่ยงกับความเสียหายอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ และฝนทิ้งช่วง แม้ว่าจะมีการขุดบ่อหรือสระเก็บน้ำไว้ใช้บ้างแต่ก็ไม่มีขนาดแน่นอน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นปัญหาให้มีน้ำไม่พอใช้ รวมทั้งระบบการปลูกพืชไม่มีหลักเกณฑ์ใดๆ และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่ทรงเรียกว่า “ทฤษฎีใหม่” อันเป็นแนวทางหรือหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ท่านจึงได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้โดยไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก การเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการ การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 ซึ่งหมายถึง การแบ่งพื้นที่จากที่ดินที่เรามีอยู่ ดังนี้ พื้นที่ส่วนที่หนึ่งจากพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 30% สำหรับขุดสระเก็บกักน้ำเพื่อใช้เก็บกักน้ำในฤดูฝน และใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์และพืชน้ำต่างๆ พื้นที่ส่วนที่สองจากพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 30% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝนเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันสำหรับครอบครัวให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สาม ยังคงแบ่งจากพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 30% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย พื้นที่ส่วนที่สี่ เป็นส่วนสุดท้ายที่เหลืออีก ประมาณ 10% เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ ถนนหนทางและโรงเรือนอื่นๆ เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ เป็นหลักการในการบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้ มีการบริหารและจัดแบ่งที่ดินแปลงเล็ก ออกเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อน มีการคำนวณโดยหลักวิชาการ เกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะกักเก็บให้พอเพียง ต่อการเพาะปลูกได้ตลอดปี มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับเกษตรกรรายย่อย 3 ขั้นตอน เพื่อให้พอเพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและเพื่อเป็นรายได้ จากการเกษตรทฤษฏีใหม่ ที่เรานำมาปฏิบัติเพื่อยกระดับความเป็นอยู่แล้ว และเดินตามรอยเท้าพ่อก็ควรเดินตามอย่างพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง “…การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็น เบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด…” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพัฒนาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้เข้าถึงทางสายกลางของชีวิตและเพื่อคงไว้ซึ่งทฤษฏีของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทฤษฎีนี้เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตซึ่งอยู่ระหว่างสังคมระดับท้องถิ่นและตลาดระดับสากล จุดเด่นของแนวปรัชญานี้คือ แนวทางที่สมดุล โดยประเทศชาติสามารถทันสมัย และก้าวสู่ความเป็นสากลได้ โดยปราศจากการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า ไม่ได้มีความจำเป็นที่เราจะกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) โดยทรงอธิบายว่า ความพอเพียงและการพึ่งตนเอง คือ ทางสายกลางที่จะป้องกันการเปลี่ยนแปลงความไม่มั่นคงของประเทศได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ได้รับการเชิดชูสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ ว่าเป็นปรัชญาที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยและนานาประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกยึดเป็นแนวทางสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน การสูญเสียพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ยังความอาดูรแก่ปวงชนชาวไทยทุกคน การเดินตามรอยเท้าพ่อไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม เอื้อประโยชน์สุขทางใจเราได้ไม่น้อย ความภูมิใจในความเป็นอัจฉริยะกษัตริย์ของพระองค์ท่าน ความภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทย ภายใต้ร่มพระบารมีของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 และความภูมิใจที่ได้เดินตามรอยเท้าพ่อเป็นนามธรรมความสุข ส่วนรูปธรรมความสุข คือ ผลที่ได้รับจากการใช้ชีวิตตามรอยเท้าพ่อ ปฏิบัติตามพระราชดำริ และพระราชดำรัสของพ่อ ซึ่งนับว่าเป็นพระประสงค์ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 หรือ พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ของชาวไทย ท่านทรงเหนื่อย ตรากตรำพระวรกายเพื่อคนไทยมาตลอด และทรงครองใจไทยทั้งชาติ ร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยการทำความดี ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้

ข้าพระพุทธเจ้า คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานบริษัท มหาโชค มหาชัย เทรดดิ้ง จำกัด 

( ที่มา : สำนักข่าวเจ้าพระยา และ http://www.manager.co.th )

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *