โสนอัฟริกัน

โสนอัฟริกัน
โสนอัฟริกัน

โสนอัฟริกัน

โสนอัฟริกัน เป็นพืชตระกูลถั่ว มีการสนับสนุนให้ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนด้วยเช่นกัน เพราะโสนอัฟริกันนั้น เมื่อถูกไถกลบในระยะออกดอกอายุประมาณ 50 วัน จะให้น้ำหนักสดประมาณ 2,000 ถึง 4,000 กิโลกรัม ต่อไร่ และน้ำหนักแห้งเฉลี่ยประมาณ 400 ถึง 1,120 กิโลกรัม ต่อไร่

เมื่อสลายตัวในดิน จะให้ธาตุอาหารพืชไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เกษตรกรนิยมปลูกโสนอัฟริกันเป็นปุ๋ยพืชสด แล้วไถกลบก่อนปลูกข้าว หรือปลูกหมุนเวียนสลับกับพืขไร่อื่นๆ เช่น ข้าวโพด และอ้อย เป็นต้น

ลักษณะทางพฤษศาสตร์
เป็นพืชอายุสั้น ไวต่อแสงและจะออกดอกเมื่อช่วงแสงต่ำกว่า 12 ชั่วโมง เป็นทั้งไม้ล้มลุกและไม้พุ่มขนาดกลาง

ลําต้น เดี่ยวตั้งตรงมีกิ่งก้านมาก ลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากโสนอื่นๆ ก็คือ นอกจากมีปมรากแล้วยังมีปมที่ต้นอีก โดยปมที่ต้นนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนในอากาศ ต้นสูงประมาณ 2 ถึง 3 เมตร
ใบ เป็นใบประกอบ ปลายใบย่อยมีลักษณะมน
ดอก มีสีเหลืองช่อดอกจะอยู่ที่ปลายยอดตามโคนกิ่ง แต่ละช่อดอกจะมี 7 ถึง 10 ดอก
ผล เรียกว่าฝัก ช่อหนึ่งจะมี 3 ถึง 8 ฝัก มีลักษณะกลมยาวประมาณ 15 ถึง 25 เซนติเมตร กว้างประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ด ค่อนข้างเล็ก ยาวประมาณ 0.4 เซนติเมตร ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดประมาณ 11 ถึง 17 เมล็ด
ยอดใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสดได้

จุดประสงค์ของการปลูกโสนอัฟริกัน

  1. เพื่อปลูกแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด
  2. เพื่อจำหน่าย และใช้รับประทานยอดใบอ่อนได้

พื้นที่และสภาพอากาศที่เหมาะสม

  • โสนอัฟริกันสามารถเจริญเติบโตในสภาพอากาศทั่วไป
  • ปรับตัวได้ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
  • ทนต่อสภาพดินเค็มได้ดีกว่าพืชตระกูลถั่วชนิดอื่นๆ
  • พื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดคือ นาข้าว

ฤดูกาลที่เหมาะสม
ช่วงเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน เพื่อให้โสนมีการเจริญเติบโตดี ให้มวลชีวภาพสูง

การปลูก โสนอัฟริกัน

วิธีการเพาะปลูก
ใช้วิธีการหว่าน หรือโรยเมล็ดที่ผ่านการกระตุ้นความงอกด้วยน้ำร้อน หรือกรดกำมะถัน (เข้มข้น) หรือน้ำเย็นเรียบร้อยแล้ว ในอัตรา 5 ถึง 7 กิโลกรัม ต่อไร่

การเตรียมดิน
ควรไถพรวนดิน 1 ครั้ง เพื่อให้ดินอยู่ในสภาพที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืช หรือหว่านเมล็ดลงไปในพื้นที่เพาะปลูก โดยไม่มีการไถพรวน เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมต้นโสนจะงอกขึ้นมาเอง

สำหรับพื้นที่ที่เป็นดินร่วนซุยนั้น ไม่จำเป็นต้องไถกลบ

การทำลายระยะฟักตัว
เมล็ดโสนมีเปลือกหนาและแข็ง ทำให้เปอร์เซ็นต์การงอกต่ำ การแก้ไขนี้ ควรทำลายระยะฟักตัวของเมล็ดเพื่อให้การงอกสม่ำเสมอและรวดเร็ว โดยนำเมล็ดโสนไปแช่ในน้ำเดือด 1 นาที แล้วนำมาผ่านน้ำเย็นหรืออาจขัดด้วยกระดาษทรายก่อนนำไปปลูกต่อไป วิธีการนี้จะส่งผลให้เมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอก 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

การคลุกเชื้อไรโซเบียมที่เหมาะสม
ในพื้นที่ที่ไม่เคยเพาะปลูกโสนมาก่อน ควรนำเมล็ดโสนมาคลุกเชื้อไรโซเบียมที่เหมาะสม คือ ไรโซเบียมสายพันธุ์ ORS 571

ขั้นตอน การปลูกโสนอัฟริกัน
สามารถปลูกโดยการโรยเป็นแถว หรือหว่านให้ทั่วแปลงในช่วงเวลาที่เหมาะสม หรืออาจจะหว่านทิ้งไว้ในช่วงเดือนเมษายน เมล็ดจะงอกได้เองเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม ซึ่งการปลูกโสนอัฟริกัน มี 3 แบบ ดังนี้

  1. แบบหว่าน นำเมล็ดพันธุ์ที่เตรียมไว้ หว่านให้ทั่วทั้งแปลง ใช้อัตราเมล็ด 5 ถึง 7 กิโลกรัม ต่อไร่
  2. แบบโรยเป็นแถว ใช้เมล็ดพันธุ์โรยลงในแถวที่เตรียมไว้ คือ มีระยะห่างระหว่างแถว 75 เซนติเมตร เมื่อโรยเมล็ดแล้วกลบเมล็ดด้วยดินบางๆ ใช้อัตราเมล็ด 3 ถึง 4 กิโลกรัม ต่อไร่
  3. แบบหยอดเป็นหลุม ใช้ในกรณีที่มีเมล็ดพันธุ์จำกัดมาก ใช้ระยะปลูก 50 x 50 หรือ 100 x 100 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2 ถึง 3 เมล็ด ต่อหลุม ใช้อัตราเมล็ด 1.5 ถึง 2.0 กิโลกรัม ต่อไร่

การดูแลโสนอัฟริกัน หลังการเพาะปลูก
หลังจากเมล็ดโสนงอก การดูแลรักษาแปลงโสนนั้นน้อยมาก เพราะโสนสามารถเจริญเติบโตได้ดี ส่วนในช่วงฤดูฝน ข้อควรระวัง คือ อย่าให้น้ำท่วมขังหลังจากหว่านเมล็ด ก่อนเมล็ดงอกต้นโสนจะเจริญเติบโตช้า ในระยะ 30 วันแรก หลังจากนั้นอัตราการเจริญเติบโตจะเร็วและมีความสูงถึง 2 เมตร

แมลงศัตรูโสนอัฟริกัน
ด้วงน้ำมัน เป็นศัตรูที่พบช่วงต้นโสนออกดอก หรือระยะดอกบานกัดกินใบโสนและยอดโสนเสียหาย โดยเฉพาะในที่ๆปลูกโสนเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ สามารถกําจัดด้วยการฉีดยากำจัดแมลงศัตรูพืช

การใช้ประโยชน์โสนอัฟริกันในการบำรุงดิน

  • ไถกลบโสนอัฟริกัน เมื่อมีอายุได้ประมาณ 50 ถึง 70 วัน
  • สำหรับนาข้าว ควรไถขณะที่มีน้ำขังอยู่ในแปลง แล้วเตรียมดินหรือทำเทือกนาเพื่อปักดำข้าว แต่ไม่ควรทิ้งไว้นาน เพราะจะทำให้สูญเสียธาตุไนโตรเจน ควรปักดำหรือปลูกข้าวภายใน 1 ถึง 3 วัน

การเก็บเมล็ดพันธุ์
ต้นโสนจะเริ่มออกดอกช่วงเดือนกันยายน และฝักจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เมล็ดโสนจะทยอยแก่และสามารถเก็บเกี่ยวพร้อมกันได้ แต่ควรเก็บเกี่ยวในช่วงเช้า เพื่อลดปัญหาการแตกและการร่วงหล่นของเมล็ด ฝักของโสนอัฟริกันจะสุกแก่ไม่พร้อมกัน ฝักจะเริ่มสุกแก่จากโคนต้นไปหายอด โดยสังเกตได้จากสีฝักที่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล การเก็บเกี่ยวทำได้ 2 วิธีคือ

  1. เก็บเฉพาะฝักแก่ โดยทยอยเก็บเป็นครั้งไป ใช้มีดหรือกรรไกรตัดที่ขั้วก้านฝักที่สุกแก่แล้ว เก็บประมาณ 3 ครั้ง วิธีนี้จะทำให้สูญเสียเมล็ดน้อยและเมล็ดมีคุณภาพ แต่สิ้นเปลืองแรงงานในการเก็บเกี่ยวมาก
  2. เก็บโดยวิธีตัดทั้งกิ่งและต้น เป็นวิธีที่สะดวกรวดเร็ว ตัดเมื่อฝักสุกแก่ทั้งต้นประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่ควรปล่อยให้ฝักสุกแก่ทั้งต้น เพราะฝักที่แห้งมากจะแตก เมล็ดจะร่วงหล่น จากนั้นนำฝักโสนไปตากแดดประมาณ 3 แดด แล้วนำมานวด โดยใช้ไม้ เพื่อให้เมล็ดออกจากฝัก และเก็บเมล็ดไว้ขยายพันธุ์ในครั้งต่อไป โดยกำจัดสิ่งเจือปนออกจากเมล็ด แล้วบรรจุในภาชนะ เก็บไว้ได้นานประมาณ 1 ถึง 2 ปี

สำหรับพืชหมุนเวียนชนิดต่อไป ติดตามได้ในบทความ ถั่วลิสง นะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.mcc.cmu.ac.th, หนังสือ พืชหลังนา สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *