โรคและแมลงศัตรูกาแฟ

โรคและแมลงศัตรูกาแฟ

โรคและแมลงศัตรูกาแฟ จะเข้าทำลายต้นกาแฟและผลผลิต ทำให้เกิดความเสียหายหากไม่ป้องกันหรือกำจัดในทันทีที่สำรวจพบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอาจถึงขั้นรุนแรงทั่วพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างรวดเร็วในฤดูการระบาด เพราะฉะนั้น เราควรศึกษาอาการของโรคกาแฟ และลักษณะการเข้าทำลายของแมลงศัตรูกาแฟ เพื่อการป้องกันและกำจัดได้ถูกต้องและทันท่วงที ให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุนนะคะ

ลักษณะอาการ การเข้าทำลาย และการป้องกันกำจัด โรคและแมลงศัตรูกาแฟ มีดังนี้

โรคกาแฟ

โรคราสนิม
เกิดจากเชื้อรา Helmileia vastatrix ทำความเสียหายร้ายแรงแก่กาแฟอาราบิก้าทั้งใบแก่และใบอ่อนมานานกว่าร้อยปี ทั้งในระยะที่เป็นต้นกล้าในเรือนเพาะชำและต้นโตในแปลง อาการเริ่มแรกมักจะเกิดเป็นจุดสีเหลืองเล็กๆ ขนาดประมาณ 3 ถึง 4 มิลลิเมตร กับใบแก่ก่อนบริเวณด้านในของใบ และเป็นจุดสีเหลืองบนใบขยายโตขึ้นเรื่อยๆ สีของแผลจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีส้มหรือสีส้มแก่ เมื่ออายุมากขึ้นสีบนแผลจะมีผงสีส้ม บริเวณด้านบนของใบซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดที่เป็นโรค จากนั้นใบกาแฟพันธุ์อาราบิก้าจะร่วง ต้นโกร๋น และกิ่งจะแห้งในเวลาต่อมา ในขั้นรุนแรงใบกาแฟจะร่วงเกือบหมดต้น

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อราที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัดโรคราสนิมได้ เช่น บอร์โดซ์มิกซ์เจอร์ (Alkaline Bordeaux Mixture) 0.5 เปอร์เซ็นต์ หรือ คูปราวิท (Cupravit) 85 เปอร์เซ็นต์ W.P. ในอัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • ใช้พันธุ์กาแฟที่ต้านทานต่อโรคราสนิม ได้แก่ กาแฟอาราบิก้าพันธุ์คาติมอร์ CIFC 7960 พันธุ์คาติมอร์ CIFC 7961 พันธุ์คาร์ติมอร์ CIFC 7962 และพันธุ์คาติมอร์ CIFC 7963

 

โรครากขาว
เกิดจากเชื้อรา Rigidoporus lignosus (Klotzsch) imazeki
เชื้อราโรครากขาวสามารถเข้าไปทำลายรากของต้นกาแฟได้ทุกระยะของการเจริญเติบโตตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยในระยะเริ่มแรกไม่สามารถสังเกตเห็นอาการของโรคได้ แต่เมื่อส่วนรากถูกทำลายเสียหายจนไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้ จะแสดงอาการใบเหลืองและใบร่วง สำหรับต้นเล็กที่เป็นโรค พุ่มใบทั้งหมดจะมีสีเหลืองผิดปกติ หากเป็นต้นใหญ่พุ่มใบบางส่วนจะดูเหมือนว่าใบแก่จัดและมีสีเหลือง ซึ่งจะแตกต่างกับสีเขียวเข้มของพุ่มใบของต้นที่สมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด ในขั้นรุนแรง จะไม่สามารถรักษาได้ บริเวณรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะปรากฏกลุ่มเส้นใยสีขาวเจริญเติบโตและแตกสาขาปกคลุมและเกาะติดแน่นกับผิวราก เมื่อเส้นใยมีอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูนสีเหลืองซีด เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคในระยะแรก จะมีลักษณะแข็งกระด้างและเป็นสีน้ำตาลซีด ในระยะรุนแรงจะกลายเป็นสีครีม หากอยู่ในที่ชื้นแฉะรากจะมีลักษณะอ่อนนิ่ม ดอกก็จะมีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวหรือซ้อนกันเป็นชั้นๆ ส่วนผิวด้านบนจะเป็นสีเหลืองส้ม โดยมีสีเข้มอ่อนเรียงสลับกันเป็นวง และผิวด้านล่างจะเป็นสีส้มแดงหรือสีน้ำตาล ส่วนขอบดอกเห็นเป็นสีขาว

การป้องกันและกำจัด

  • ทำการขุดตอพืชเดิมให้มากที่สุดและขุดพืชที่เป็นโรคออกไปเผาทำลาย
  • หลุมปลูกที่เป็นโรค ควรตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรคไว้ประมาณ 1ถึง2เดือน
  • อาจใช้สารเคมี Propiconazole หรือ Triabimenol ในการกำจัดโรค ตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา

 

โรคเน่าคอดิน
เกิดจากเชื้อรา Rhizoctonia solani
มักเกิดในระยะที่ต้นกล้ามีอายุ 1 ถึง 3 เดือนในแปลงเพาะชำ หากถาดเพาะกล้าหรือแปลงเพาะกล้ามีการระบายน้ำที่ไม่ดี การเพาะเมล็ดซ้ำในแปลงเดิมติดต่อกันหลายครั้งโดยไม่เปลี่ยนวัสดุใหม่ หลังคาเรือนเพาะชำอาจจะทึบเกินไป ปริมาณของต้นกล้าที่งอกออกมาหนาแน่นเกินไป และที่สำคัญคือสภาพอากาศในช่วงที่ต้นกล้างอกมีความชื้นสูงสลับกับอากาศร้อน

อาการของโรคเน่าคอดิน มี 2 ระยะคือ
ระยะแรก การเน่าของเมล็ดก่อนงอก จะถูกเชื้อราซึ่งอยู่ในดินเข้าทำลายทำให้เมล็ดเน่าและแตกออก

ระยะที่สอง การเน่าของเมล็ดหลังจากกล้ากาแฟงอกออกจากเมล็ด และโผล่ขึ้นมาเหนือดินแล้ว เชื้อราอาจเข้าทำลายบริเวณโคนต้นที่อยู่เหนือพื้นดินหรือระดับผิวดิน จะทำให้ต้นมีแผลสีน้ำตาลในระยะแรก ต่อมาจะเน่ากลายเป็นสีดำ และในที่สุดต้นกล้าจะเหี่ยวและตาย หลังจากต้นกล้างอกขึ้นมาเหนือดิน ตั้งแต่เป็นลักษณะของหัวไม้ขีดซึ่งใบเลี้ยงคู่ยังไม่หลุดออกจากเมล็ดกาแฟ และระยะที่เป็นปีกผีเสื้อ ซึ่งใบเลี้ยงคู่จะหลุดออกมาจากเมล็ดและเป็นปีกผีเสื้อ และในระยะที่กล้ากาแฟมีใบจริง 1 ถึง 2 คู่ หรือในกรณีที่ยังต้นกล้ายังอยู่ในแปลงและไม่ได้ย้ายลงถุง

การป้องกันและกำจัด

  • ควรเปลี่ยนดินหรือวัสดุเพาะใหม่ ไม่ควรนำของเก่ามาเพาะซ้ำ เพราะอาจจะมีเชื้อราสะสมอยู่ในวัสดุ
  • ไม่ควรให้น้ำต้นกล้ามากเกินไปในแต่ละครั้ง เพราะอาจจะทำให้น้ำท่วมขังในแปลงได้
  • ควรจัดการระบบการระบายน้ำในแปลงให้ดี
  • ควรเว้นระยะห่างในการเพาะเมล็ดในแปลงให้เหมาะสม ไม่ชิดกันจนเกินไป มิฉะนั้นเมื่อกล้างอกออกมาหนาแน่น จะต้องถอนทิ้งในภายหลัง
  • หากพบต้นกล้าที่เป็นโรคเน่าคอดิน ให้ถอนและเผาทำลายทิ้ง หลังจากนั้นฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคแซบ

 

โรครากเน่าแห้ง
เกิดจากเชื้อรา Fusarium spp.
โรคนี้จะทำความเสียหายร้ายแรงแก่กาแฟพันธุ์อาราบิก้ามากกว่ากาแฟพันธุ์โรบัสต้า ทำให้ต้นกาแฟตายภายในเวลาอันสั้น อาการขั้นรุนแรงของโรคมักเกิดขึ้นในสภาพพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันมากระหว่าง อุณหภูมิสูงสุดและอุณหภูมิต่ำสุด และในสภาพที่มีอุณหภูมิของดินแตกต่างกันมากด้วยเช่นกัน ดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ แปลงกาแฟที่ปลูกกลางแจ้งและรากหรือโคนต้นที่อยู่ใต้ผิวดินที่เกิดแผลจากหนอนเจาะโคนต้นหรือแผลที่เกิดจากอุปกรณ์การเกษตร ทำให้เชื้อราสามารถเข้าทางแผลนั้น ต้นกาแฟที่เป็นโรคจะมีใบสีเหลืองและเหี่ยว และในเวลาต่อมาใบจะร่วงและกิ่งที่อยู่เหนือดินแห้งตาย รากเน่าและแห้งตายทำให้ถอนต้นกาแฟได้ง่าย และเมื่อมีการปาดเปลือกของรากและโคนต้นกาแฟที่อยู่ใต้ดิน จะทำให้มีสีน้ำตาล สีน้ำตาลเทาและรากส่วนใหญ่จะแห้ง

การป้องกันและกำจัด

  • ถอนต้นกาแฟที่เป็นโรคเน่าแห้งไปเผาเพื่อทำลายแหล่งเพาะเชื้อ
  • ควรปลูกไม้บังร่มให้กาแฟอาราบิก้าในแหล่งที่มีโรครากเน่าแห้งระบาด
  • เอกสารต่างประเทศได้แนะนำให้ใส่ปูนขาวลงไปในดิน ในกรณีพบโรครากเน่าแห้งและทดสอบ pH ของดินพบว่าต่ำกว่า 5.5

 

โรคใบจุดตากบ
เกิดจากเชื้อรา Cercospora coffeicola
เป็นโรคที่พบระบาดแพร่หลายทั่วไป ทั้งกับกาแฟอาราบิก้าและกาแฟโรบัสต้า ระบาดมากในระยะกล้าที่ปลูกในเรือนเพาะชำ ขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เมื่อนำกล้าที่เป็นโรคนี้ไปปลูกในแปลง หากขาดการบังร่มให้แก่ต้นปลูกใหม่ ในระยะแรก โรคใบจุดตากบก็จะทำความเสียหายกับใบรุนแรง จะพบใบที่เป็นโรคร่วง บ่อยครั้งที่พบต้นกาแฟ เป็นโรคใบจุดตากบภายใต้ร่มเงาที่ไม่เหมาะสม โรคนี้พบการระบาดมากในฤดูแล้ง เริ่มต้นอาการด้วยใบกาแฟที่เป็นโรคจะมีลักษณะเป็นจุดกลมๆ ขนาดประมาณ 3 ถึง 15 มิลลิเมตร จะมีสีน้ำตาลในระยะเริ่มแรก ต่อมาจุดนี้จะกลายเป็นสีเทาหรือสีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาวบริเวณจุดกึ่งกลางของแผล ขอบแผลจะมีสีน้ำตาลแดง และจะล้อมรอบด้วยวงสีเหลือง ส่วนบริเวณตรงกลางของแผลจะมีสีเทาและเห็นจุดเล็กๆ สีดำกระจายอยู่ทั่วไป จุดเล็กๆ เหล่านี้คือกลุ่มของสปอร์และสปอร์ของเชื้อรา

เชื้อราชนิดนี้สามารถทำให้เกิดโรคกับผลกาแฟได้ โดยทำให้ผลกาแฟเน่าและมีสีดำ ในขั้นรุนแรงกาแฟจะมีสีดำและเหี่ยวย่น และทำให้ผลร่วงก่อนสุกในบางครั้ง
การป้องกันและกำจัด

  • แปลงที่ปลูกกาแฟควรมีร่มเงาอย่างเพียงพอ และต้นกาแฟที่ปลูกใหม่ควรจะมีร่มเงาชั่วคราวอย่างเพียงพอ เพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงของโรค
  • การให้ปุ๋ยไนโตรเจนอย่างเพียงพอ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคในระยะต้นกล้าที่ปลูกในแปลงเพาะและแปลงปลูกได้

 

โรคแอนแทรคโนสที่ผล
เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum coffeanum Noack. C. gloeosporioides (Penz) และ Sacc.
มักพบในต้นกาแฟที่ให้ผลผลิตมาก เชื้อสามารถเข้าทำลายทั้งในผลอ่อนและผลแก่ ปรากฎอาการครั้งแรกเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มบนด้านใดด้านหนึ่งของผล แผลจะขยายออกและรวมกันเป็นแผลรูปร่างไม่แน่นอนและมีอาการเนื้อเยี่อยุบ ต่อมาผลจะหยุดการเจริญและเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ยังคงติดอยู่บนกิ่งกาแฟ

 

การป้องกันและกำจัด

  •  เก็บผลและตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคเผาทำลาย
  • หลังเก็บเกี่ยวกาแฟแล้วควรตัดแต่งกิ่งและเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นพืช
  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมีแมนโคเซบ (mancozeb) หรือ คอปเปอร์ (copper) เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ตามอัตราส่วนที่ระบุในเอกสารกำกับยา

 

โรคกิ่งแห้ง
เกิดจากเชื้อราชนิดเดียวกันกับโรคแอนแทรคโนสที่ผล
เกิดอาการใบเหลืองและไหม้บนกิ่งสีเขียว เมื่อสังเกตที่กิ่งจะเห็นแผลจากเนื้อเยื่อที่ตาย บริเวณข้อและปล้องขยายไปตาม ปลายกิ่ง ใบที่เหลืองจะร่วงในเวลาต่อมา กิ่งจะเหี่ยวและแห้ง ตกดอกเหี่ยว พบโรคนี้ในสภาพอากาศแห้งแล้ง อาจเกิดจากใบไหม้เพราะแดด หรือเกิดจากแมลงหรือ เกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้พืชอ่อนแอเหมาะต่อการเข้าทำลายของเชื้อ เช่น สภาพอากาศแล้งมาเป็นเวลายาวนาน การขาดร่มเงา เป็นต้น

การป้องกันและกำจัด

  • ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคออก และฉีดพ่นสารบอร์โดมิกซ์เจอร์ หรือ แมนโคเซบ 5เปอร์เซ็นต์ ตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารกำกับยา
  • รักษาระดับร่มเงาให้เหมาะสม
  • คลุมโคนรอบๆ ต้นพืชเพื่อรักษาระดับความชื้นในดิน
  • บำรุงต้นพืชให้แข็งแรงเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อ

 

แมลงศัตรูกาแฟ
เพลี้ยหอยสีเขียว และเพลี้ยแป้ง
เพลี้ยหอยสีเขียวเป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของกาแฟ ในกลุ่มแมลงปากดูดขนาดเล็กด้วยกัน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเข้าทำลายต้นกาแฟโดยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณยอดอ่อน ใบอ่อน และเป็นเหตุให้ยอดและใบหงิกงอผิดปกติ ใบร่วง ต้นกาแฟชะงักการเจริญเติบโต และหากเกิดการระบาดในขณะที่กาแฟกำลังติดผล จะทำให้ผลอ่อนของกาแฟมีขนาดเล็กลง เมล็ดลีบและผลร่วง ผลผลิตเล็กลง ต้นกาแฟจะทรุดโทรมเป็นระยะเวลานาน นอกจากนี้เพลี้ยหอยสีเขียวยังขับถ่ายน้ำหวาน ขึ้นคลุมผิวใบ ทำให้พื้นที่ในการสังเคราะห์แสงลดลง

การป้องกันและกำจัด

  • ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงประเภทดูดซึม โดยใช้คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20 เปอร์เซ็นต์ EC) ใช้ในอัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

 

หนอนเจาะลำต้นกาแฟ
เป็นแมลงที่มีความสำคัญที่ทำความเสียหายต่อต้นกาแฟพันธุ์อาราบิก้าอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นกาแฟที่ปลูกในสภาพกลางแจ้ง ส่วนกาแฟที่ปลูกในสภาพภายใต้ร่มเงาและปลูกในพื้นที่ระดับต่ำจะพบการทำลายน้อย โดยเฉพาะกาแฟที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป ต้นกาแฟที่ถูกหนอนเจาะและเข้าทำลายจะแสดงอาการใบสีเหลือง ใบเหี่ยว และมีอาการยืนต้นแห้งตายในที่สุด เมื่อหนอนฟักออกจากไข่ก็จะกัดกินเนื้อไม้ ในลักษณะการควั่นไปตั้งแต่บริเวณโคนต้นขึ้นมารอบลำต้น และเจาะเข้าไปกินภายในต้นด้วย

การป้องกันและกำจัด

  • ควรกำจัดตัวเต็มวัยก่อนผสมพันธุ์และวางไข่ ทำลายไข่ หรือหนอนระยะแรกที่ฟักออกจากไข่ ก่อนที่จะเจาะเข้าไปในลำต้นหรือกิ่ง
  • หากพบการระบาด ให้ฉีดพ่นสารฆ่าแมลง เฟนิโตรไธออน (ซูมิไธออน 50 เปอร์เซ็นต์ EC) ในอัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ในระยะเวลาของช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม และเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม

 

หนอนกาแฟสีแดง
หนอนจะเจาะกินเนื้อเยื่อภายในลำต้น เกิดอาการแห้งเหี่ยวตายตั้งแต่ยอดลงมาจนถึงบริเวณที่ถูกเจาะ และเมื่อลมพัดก็ทำให้กิ่งไม้หักล้ม ตัวเต็มวัยซึ่งเป็นผีเสื้อกลางคืน มีปีกสีขาว มีจุดดำประเต็มทั่วทั้งปีก จะมาวางไข่บริเวณเปลือก ลำต้นหรือกิ่งของกาแฟ โดยไข่มีลักษณะเป็นสีเหลือง และตัวเมีย 1 ตัว จะวางไข่ได้ ประมาณ 300 ถึง 500 ฟอง ระยะการวางไข่ประมาณ 7 ถึง 10 วัน แล้วจึงฟักออกเป็นตัวหนอน และเจาะเข้าสู่กิ่งหรือลำต้นของกาแฟ กัดกินเนื้อเยื่อเป็นโพรงเล็กๆ ตามความยาวของกิ่ง เพื่อเป็นช่องให้มูลของหนอนออกมาจากกิ่งและลำต้น ระยะการเป็นตัวหนอน ประมาณ 2.5 ถึง 5 เดือน ระยะเป็นดักแด้ ประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์ ในรอบปีหนึ่งจะพบโรคนี้ประมาณ 2 ชั่วอายุขัย และเมื่อพบร่องรอยการทำลายแล้วให้ตัดกิ่งหรือต้นกาแฟที่ถูกทำลายไปเผาทิ้ง

การป้องกันและกำจัด

  • ทำลายพืชอาศัยของหนอนกาแฟสีแดงและการขยายพันธุ์ของหนอน
  • ดูแลรักษาพื้นที่ปลูกให้สะอาด
  • หมั่นสำรวจลำต้นและกิ่งกาแฟอยู่เสมอ หากพบรอยที่หนอนเจาะเข้าทำลายต้นกาแฟให้ตัดกิ่ง และนำไปเผาทำลาย เพื่อเป็นการลดการขยายพันธุ์
  • ในพื้นที่ที่พบการระบาดขั้นรุนแรง ให้ใช้สารเคมีฆ่าแมลงเฟนิโตร ไธออน ในอัตรา 80 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร และนำไปทาด้วยแปรงทาสีบริเวณลำต้นกาแฟให้ทั่ว สำหรับวิธีฉีดพ่นให้ใช้ในอัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร
  • หากพบตัวหนอนเต็มวัยระบาดมากระหว่างเดือนเมษายน เดือนมิถุนายน และเดือนกันยายน ให้กำจัดต้นกาแฟที่ถูกหนอนเจาะลำต้นเข้าทำลายทันที เมื่อตรวจพบให้ทำการตัดแล้วเผาทำลาย นอกจากนี้ควรปลูกไม้บังร่มช่วยลดการเข้าทำลายของหนอน

 

มอดเจาะผลกาแฟ
เป็นแมลงปีกแข็งสีดำขนาด 1 มิลลิเมตร เข้าทำลาย วางไข่ และขยายพันธุ์อยู่ภายในผลกาแฟที่มีขนาด ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตร ขึ้นไปอาศัยกัดกิน อยู่ภายในจนกระทั่งผลกาแฟเริ่มสุกและสุกเป็นสีแดงมอดจะเข้าทำลายต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยว มอดจะติดผลกาแฟไปถึงลานตากของเกษตรกรต่อไป และอาศัยอยู่ต่อไปในผลกาแฟสุกจนแห้งติดค้างอยู่บนกิ่ง และหล่นอยู่ใต้ต้น

การป้องกันและกำจัด

  • กำจัดโดยวิธีทางเขตกรรม
    -ควรเก็บผลผลิตกาแฟในระยะเวลาและฤดูกาลที่ถูกต้อง
    -อย่าปล่อยผลกาแฟที่สุกหรือผลกาแฟแห้งแล้วทิ้งให้ติดค้างอยู่บนต้น หรือผลกาแฟที่ร่วงหล่นลงสู่พื้นใต้ทรงพุ่ม ควรกำจัดออกไปจากพื้นที่เพาะปลูกให้หมด
    -ตัดแต่งกิ่งที่ให้ผลแล้ว หรือกิ่งที่มีผลแห้งติดอยู่เพื่อกำจัดมอดที่หลบซ่อนอยู่ และทำให้ทรงพุ่มกาแฟโปร่ง ไม่เกิดร่มเงามาก
    -หลีกเลี่ยงการตากผลกาแฟสุกบนพื้นดิน หรือตากอยู่ในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก หรือบริเวณใกล้เคียง
  • กำจัดโดยชีววิธี
    -ใช้แมลงศัตรูธรรมชาติที่สำคัญ เช่น แตนเบียน
    -ใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย บาสเซียน่า (Beauveria bassiana) ทำให้เกิดโรคกับมอดกาแฟ ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนและชื้น
  • กำจัดโดยการใช้สารเคมี (ควรใช้ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมด้วยวิธีที่กล่าวมาข้างต้น)
    -ใช้สารฆ่าแมลง เช่น พิริมิฟอส เมทธิล (pirimiphos methyl) 50เปอร์เซ็นต์ EC อัตรา 15 ถึง 20 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน (carbosulfan) 20เปอร์เซ็นต์ EC อัตรา 80 ถึง 95 ซีซี ต่อ น้ำ 20 ลิตร

หลังศึกษาการเพาะปลูกและดูแลกาแฟ ตลอดจนป้องกันกำจัด โรคและแมลงศัตรูกาแฟ จนได้ผลผลิตแล้ว ติดตามบทความ การเก็บเกี่ยว และ การแปรรูปกาแฟ กันต่อเลยนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.thaikasetsart.com, www.arda.or.th, www.kafaesansuk.wordpress.com, www.prd.go.th, www.doa.go.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *