โรคและปัญหาของการเพาะเห็ด

โรคและปัญหาของการเพาะเห็ด

โรคและปัญหาที่พบทั่วไปของผู้ผลิตดอกเห็ดถุงหรือเห็ดฟางขาย คือ เชื้อราเขียว ราต่างๆ เข้ากินก้อนเชื้อ ถูกหนอนของแมลงรบกวน และการเกิดไรหลายชนิด กินเส้นใยเห็ด การเกิดแบคทีเรียสีสนิมทำลายโคนต้นเห็ด ปัญหา และโรคต่างๆ อาจเกิดจากความสะอาด กระบวนการเพาะ วัสดุที่นำมาใช้ในการเพาะ การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก็จะทำให้มีพิษตกค้างในเห็ด เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ในปัจจุบันหลายได้มีการใช้จุลินทรีย์มาแก้ปัญหา ซึ่งนับว่าได้ผลและเสียค่าใช้จ่ายน้อย เช่น ใช้ไบโอบีทีชีวภาพ กำจัดหนอนของแมลง

โรคและปัญหาที่สำคัญของการเพาะเห็ดฟาง

1. โรค ราเม็ดผักกาด โรคนี้มักเกิดกับกองเห็ดฟางที่ใช้ฟางเก่าเก็บค้างปี ตากแดดตากฝนมาก่อน ส่วนใหญ่ โรคราเม็ดผักกาดนี้มักเกิดกับการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ลักษณะที่สังเกตเห็นคือเส้นใยของเชื้อรามีลักษณะหนากว่าเส้นใยของเห็ดฟาง โรค จะเริ่มเกิดขึ้นได้ในวันที่ 3 หรือ 4ของการเพาะและเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ต่อมาจะเกิดเส้นใยแผ่ขยายออกไป มีลักษณะเป็นวงกลม เมื่อเส้นใยมีอายุมากขึ้นจะสร้างส่วนขยายพันธุ์รูปร่างกลมมีสีขาวเมื่ออ่อน และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อแก่ ลักษณะคล้ายคลึงกับเมล็ดผักกาด จึงได้ชื่อว่า ราเม็ดผักกาด–ทำลายดอกเห็ดอ่อน ๆ ทำให้ดอกเห็ดอ่อนมีลักษณะนิ่มกว่าดอกปกติ

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โรคเห็ดฟาง

2. โรค ราเขียว โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา 3 ชนิด เป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่ในดินหรืออยู่ในอากาศก็ได้ เมื่อดินหรือวัสดุเพาะมีความชื้น เชื้อราจะเริ่มเจริญขึ้นที่ดินและเจริญต่อไปถึงขี้ฝ้ายและฟางข้าว ราเขียวเป็นราประเภทสร้างสปอร์มากและมีขนาดเล็กปลิวได้ในอากาศ เชื้อราเขียวเหล่านี้เป็นเชื้อราแข่งขันหรือราคู่ของเชื้อเห็ดฟาง โรคนี้จะทำให้เห็ดฟางเจริญไม่ทัน นอกจากนี้โรคราเขียวยังทำลายดอกเห็ดอ่อน ๆ ด้วย เส้นใยของราเขียวขณะอ่อนมีสีขาว ค่อนข้างบาง เมื่ออายุ 3 วันขึ้นไปแล้วเชื้อราจะเริ่มสร้างสปอร์ ซึ่งมีสีเขียวทำให้เกิดระบาดได้ราเขียว 3 ชนิด ดังกล่าว คือ ราเขียว มีสีเขียวอ่อนและ / หรือเขียวเข้ม ราเขียว มีสีเขียวอมเทา

3. โรค ราขาวนวล เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราชนิดนี้มีลักษณะสีขาวนวลหรือสีเหลืองอ่อน ๆ สามารถพบโรคนี้ได้ตั้งแต่วันแรกของการเพาะเห็ด เชื้อรานี้มักจะเกิดบนวัสดุเพาะและเจริญแผ่ขยายติดต่อกันเป็นปื้นใหญ่ ทำให้มองเห็นเป็นก้อน ๆ หรือเป็นแผ่น ๆ เชื้อราชนิดนี้เจริญเติบโตเร็วกว่าชนิดอื่น ทำให้บริเวณที่มีเชื้อรานี้ไม่มีเชื้อเห็ดฟางขึ้นเลย ถ้ามีตุ่มดอกเกิดขึ้นเชื้อราชนิดนี้มักเจริญปกคลุมดอกเห็ดเล็ก ๆ หรือทำให้ดอกเห็ดกลุ่มนั้นมีลักษณะผิดปกติหรือดอกเห็ดไม่เจริญต่อไป

4. โรค ราขาวฟู เชื้อรานี้เส้นใยมีลักษณะขาวจัดและฟู มักพบโรคราขาวฟูบนหลังกองเพาะ ตั้งแต่วันแรกหรือวันที่ 2 ของการเพาะเห็ด เมื่อราชนิดนี้อายุมากขึ้นจะมีสีเทา เชื้อรานี้เกิดเร็ว โรคนี้ถ้าเกิดแล้วเชื้อราจะไปปกคลุมดอกเห็ดทำให้ดอกเห็ดฝ่อ

5. โรคราเห็ดหมึก หรือราเห็ดขี้เมา โรคนี้เกิดได้ทั้งในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย และเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม โรคราเห็ดหมึกที่เกิดขึ้นในกองเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม แสดงถึงการหมักฟางไม่ได้ที่ จะมีก๊าซแอมโมเนียหลงเหลืออยู่ในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย การเกิดเห็ดหมึกเกิดจากการใช้ฟางเก่าหรือวัสดุเพาะที่มีเชื้อเห็ดหมึกอยู่ สาเหตุอีกประการหนึ่งของโรคคือ ไม่มีการระบายอากาศในกองเพาะ ทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนียในขบวนการหมัก จึงทำให้เกิดเห็ดหมึกได้

6. โรคเน่าเละของเห็ดฟาง เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบในการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ปัจจุบันยังไม่มีสารเคมีป้องกันและกำจัดได้ วิธีป้องกันโรคที่ทำได้ คือ การรักษาความสะอาด และการปฏิบัติดูแลรักษาสม่ำเสมอ

แนวทางป้องกันโรค
1. การเพาะเห็ดฟางโดยใช้ฟางข้าว ควรใช้ฟางข้าวใหม่ไม่ค้างปี
2. การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ไม่ควรเพาะเห็ดซ้ำในพื้นที่เดิม ควรหมุนเวียนพื้นที่เพาะเห็ดในระยะเวลา 1-2 เดือน
3. การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน ควรมีการพักทำความสะอาดโรงเรือน และฆ่าเชื้อ
4. การเลือกหัวเชื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าเป็นพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง มีการปนเปื้อนน้อยที่สุด หรือไม่มี
5. เลือกตอซังหรือฟางข้าวนวดที่สะอาดปราศจากเชื้อราเม็ดผักกาด ฟางต้องมีลักษณะแห้งสนิทและอมน้ำได้ง่าย วัสดุเพาะทุกชนิดไม่ควรทิ้งให้ตากแดดตากฝน หรือเก็บค้างปี
6. มีความเข้าใจถึงสภาพความต้องการต่าง ๆ ในการเจริญเติบโตของเห็ดฟางเพื่อจะได้ปฏิบัติดูแลกองเพาะอย่างถูกต้อง เช่น เรื่องอุณหภูมิในกองเพาะขณะที่เส้นใยเจริญเติบโตต้องการอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 34 – 40 องศาเซลเซียส ซึ่งถ้าในกองเพาะร้อนหรือเย็นเกินไปก็ควรจะต้องระบายอากาศ เพื่อให้เกิดการถ่ายเทออกซิเจนหรือต้องเผารอบกองเพาะ เพื่อให้ความร้อนแก่กองฟางในหน้าหนาว นอกจากนี้ ควรเข้าใจเรื่องความชื้น แสงสว่าง และความสามารถในการกินอาหารของเห็ดฟางอีกด้วย ถ้าเป็นการเพาะเห็ดฟางแบบอุตสาหกรรม ควรศึกษาถึงการเตรียมปุ๋ยเพาะเห็ดอย่างถูกวิธี ตลอดจนการอบไอน้ำฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่ต้องการเพื่อให้ได้ปุ๋ยเพาะเห็ดที่มีคุณภาพดีซึ่งเชื้อเห็ดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด
(ดัดแปลงข้อมูลจาก http://sarakased.blogspot.com)

โรคและปัญหาที่สำคัญของการเพาะเห็ดถุง
โรคที่เกิดจากเชื้อรา
1. เชื้อราดำกลุ่มแอสเพอร์จิลลัส พบว่าบางส่วนของถุงเห็ดจะมีสีเขียวเข้มเกือบดำ อาจเกิดที่ส่วนบนใกล้ปากถุงแล้วลามลงไปข้างล่างหรือเกิดจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน บางส่วนของถุงเห็ดมีสีน้ำตาลเกิดขึ้นติดกับบริเวณที่มีสีเขียวเข้ม
2. เชื้อราดำโบไธโอดิฟโพลเดีย ขี้เลื่อยในถุงเห็ดจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ อาการของโรคในระยะแรกเชื้อราจะมีสีขาว ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทิ้งไว้นานๆ จะเกิดก้อนสีดำเล็กๆ นูนออกมาที่ผิวถุงพลาสติก
3. เชื้อรากลุ่มสีเขียว มีหย่อมสีเขียวมะกอกหรือสีเขียวเข้มในถุงเห็ด
4. ราเขียวเพนนิซีเลียม และเพซีโลไมซีส เชื้อราเพนนิซีเลียม ชอบอุณหภูมิปานกลาง โรคนี้มักเกิดบริเวณด้านล่างของถุงเห็ด เป็นหย่อมสีเขียวตองอ่อน สีเหลืองอ่อนอมเขียว หรือสีเทาอ่อนมองดูคล้ายฝุ่นเกาะสกปรก ส่วนเชื้อราเพซีโลไมซีสชอบอากาศร้อน มักเกิดโรคกับถุงเห็ดหอม เป็นเหมือนฝุ่นสีน้ำตาลซีดๆ ปนเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองจางๆ จะเห็นเส้นแบ่งเขตการเจริญเติบโตของเชื้อเห็ดและเชื้อราได้อย่างชัดเจน
5. ราสีส้ม หรือราร้อน โรคนี้มักเกิดเป็นกระจุกบริเวณปากถุงมีสีชมพูอมส้ม บางถุงอาจมีราสีส้มเกิดที่ก้นถุงได้ เชื้อรานี้จะคลุมเส้นใยเห็ดทำให้เส้นใยเห็ดไม่เจริญเติบโต
6. ราเมือก จะเกิดกับถุงเห็ดที่เปิดถุงเก็บดอกไปแล้วหลายรุ่น และเป็นถุงที่อยู่ด้านล่างสุด จะสังเกตเห็นเส้นใยสีเหลืองชัดเจนบริเวณด้านข้างถุง และปากถุง มักเกิดโรคนี้กับถุงเห็ดหูหนูที่มีการกรีดถุงด้านข้างและรดน้ำนานๆ จนถุงชื้นแฉะ นอกจากนี้ยังเกิดได้กับถุงเห็ดภูฐานที่หมดรุ่นแล้ว แต่ยังไม่มีการขนย้ายทำความสะอาดโรงเรือน
การป้องกันการเกิดเชื้อราปนเปื้อนในการเพาะเห็ดถุง

  • ตรวจสอบความสะอาดและความบริสุทธิ์ของหัวเชื้อก่อนซื้อ
  • การถ่ายเชื้อหรือใส่เชื้อ ควรทำในห้องที่สะอาด ปราศจากฝุ่นละอองหรือเชื้อโรคอื่นๆ หรือเป็นบริเวณที่ไม่มีอากาศถ่ายเท
  • คัดแยกถุงเห็ดเสีย ถุงเห็ดแตก ถุงเห็ดที่มีจุกสำลีชื้น นำไปนึ่งใหม่หรือเผาทำลายเพื่อลดการระบาดของเชื้อรา
  • รักษาความสะอาดโรงเรือนเพาะเห็ด และบริเวณโดยทั่วไปรอบๆ ฟาร์ม
  • เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้ว ควรพักโรงเรือนเพาะเห็ดประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อทำความสะอาดและฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดแมลง หรือเชื้อราที่อาจซุกซ่อนตามพื้น เสา และ ฝาผนังก่อนนำเชื้อเห็ดชุดใหม่เข้ามา ถ้าเป็นไปได้ควรแยกโรงบ่มเชื้อกับโรงเรือนเปิดดอกไว้คนละหลังกัน

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
1. โรคเน่าสีน้ำตาลของเห็ดภูฐาน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หมวกเห็ดด้านบนเป็นจุดสีเหลืองอ่อนแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลขยายไปทั่วหมวก ที่ก้านจะมีปื้นสีเหลืองหรือสีน้ำตาลแดง แผลจะยุบตัวได้เมื่อให้น้ำและทำให้น้ำไปเกาะที่ตรงส่วนนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการกระจายของเชื้อ ดอกเห็ดจะมีขนาดเล็กกว่าปกติ ผิวหมวกมีสีน้ำตาลอ่อนช้ำง่าย
2. โรคจุดสีน้ำตาลของเห็ดเป๋าฮื้อ และโรคเน่าเหลืองของเห็ดสกุลนางรม (เห็ดนางรม เห็ดภูฐาน) ดอกเห็ดจะไม่ค่อยโผล่พ้นคอขวด บางดอกสีเหลืองซีด ม้วนงอ ไม่สมบูรณ์ ส่วนดอกที่โผล่พ้นคอขวดออกมาได้ หมวกก็จะบานไม่เต็มที่ กลุ่มช่อดอกมีตั้งแต่ 2-4 ดอก ก้านลีบเป็นกระจุก หมวกดอกด้านบนและล่างรวมทั้งก้านดอก มีจุดสีน้ำตาลอ่อนประปราย

การป้องกันกำจัดโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในการเพาะเห็ดถุง
มีข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะที่เหมาะสมสำหรับเชื้อแบคทีเรีย ดังนี้

  • ลดความชื้นในโรงเพาะไม่ให้เกิน 80-85 เปอร์เซ็นต์
  • การรดน้ำ ควรให้ผิวหน้าของดอกเห็ด (ดอกอ่อน) แห้งภายใน 3 ชั่วโมง และหลังการให้น้ำทุกครั้ง ไม่ควรให้มีหยดน้ำเกาะค้างอยู่บนดอกเห็ด
  • หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัด ให้รดน้ำคลอรีนอัตราส่วน 250-300 ซีซี ต่อน้ำ 40 แกลลอน หรือ 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ (น้ำคลอรีน คือ การใช้สารละลายคลอร๊อกซ์หรือไฮเตอร์ละลายน้ำ เพื่อทำให้ความเข้มข้นเจือจางลง จะได้น้ำคลอรีนที่เป็นยาฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *