เพาะเห็ดฟางพารวย

เพาะเห็ดฟาง

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เห็ดฟาง

เพ(ร)าะเห็ดฟางพารวย มือใหม่ก็ทำได้

เหมาะกับผู้ที่สนใจเพาะเห็ดไว้รับประทานในครัวเรือน ผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม และเกษตรกรที่มีพื้นที่น้อย

วัสดุในการเพาะ
1. หัวเชื้อเห็ดฟาง ที่ไม่แก่ ไม่อ่อนเกินไป ไม่มีสิ่งปนเปื้อน
2. ตะกร้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้ว มีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างมีช่องระบายน้ำ
3. วัสดุเพาะ เช่น ก้อนเชื้อเห็ดเก่า ฟางข้าว ต้นกล้วย ชานอ้อย เป็นต้น
4. อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา ขี้วัว ไส้นุ่น รำละเอียด
5. อาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว
6. พลาสติกใสสำหรับคุม
7. สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่นๆ ที่ทำเป็นโครง เช่น ชั้นโครงเหล็ก
8. น้ำสะอาด

วิธีเพาะ
1. เลือกพื้นที่สำหรับวางโครงเหล็กหรือสุ่มไก่ ควรเป็นพื้นที่ที่มีแสงรำไร หรือแสงอ่อนๆ น้ำไม่ท่วมขัง สามารถป้องกันการรบกวนจากสุนัขและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ได้ โดยปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน
2. นำเชื้อเห็ดฟางขนาด 1 ปอนด์ ออกจากถุง ฉีกหัวเชื้อเห็ดฟางเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลีหรือแป้งข้าวเหนียว 1 ช้อนโต๊ะ คลุกให้เข้ากัน แบ่งเป็น 6 ส่วนเท่าๆ กัน (ทำได้ 2 ตะกร้า)
3. นำวัสดุเพาะ ได้แก่ ก้อนเชื้อเห็ดถุงเก่าหรือฟางข้าว (ที่แช่น้ำไว้ 1 คืน) หรือวัสดุอื่นๆ มารองก้นตะกร้า แล้วโรยด้วยอาหารเสริมรอบๆ ขอบตะกร้าหนาประมาณ 1 นิ้ว
4. นำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ (เสร็จชั้นที่ 1) โดยให้เชื้อเห็ดฟางอยู่ตรงช่องว่างของตะกร้า
5. ทำตามข้อที่ 2-4 อีก 2 ครั้ง (เสร็จชั้นที่ 2 และ 3) โดยครั้งสุดท้ายให้โรยอาหารเสริมเต็มพื้นที่ด้านบนหนาประมาณ 1 นิ้ว แล้วโรยเชื้อเห็ดฟางเป็นจุดๆ ระยะห่างเท่าๆ กัน ให้เต็มพื้นที่ด้านบนตะกร้า
6. โรยวัสดุเพาะด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ตะกร้าเห็ดฟาง

การดูแลรักษา
1. นำตะกร้าไปวางไว้บนพื้นหรือชั้นโครงเหล็กที่เตรียมไว้ หากเป็นสุ่มไก่ให้วาง 4 ตะกร้า โดยวาง 3 ตะกร้าชิดกันแล้ววาง 1 ตะกร้าไว้ด้านบนตรงกลางระหว่างตะกร้าทั้ง 3 ตะกร้า หรือ นำสุ่มไก่ครอบตะกร้าทั้งหมด โดยให้ห่างจากขอบตะกร้าอย่างน้อย 1 คืบ
2. นำพลาสติกคลุมโครงเหล็กหรือสุ่มไก่จากด้านบนถึงพื้นต้องคลุมให้มิดชิดแล้วนำอิฐหรือไม้ทับขอบพลาสติกป้องกันพลาสติกเปิดออก หากพื้นที่ที่วางตะกร้ามีแสงมากควรพรางแสงให้ด้วย
3. วันแรกหลังเพาะในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน หรือ 1-7 วันแรกหลังเพาะในช่วงฤดูหนาว ต้องควบคุมอุณหภูมิในโครงเหล็กหรือสุ่มไก่ให้อยู่ในช่วงอุณหภูมิ 37-40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงเกินไปให้ค่อยๆ เปิดช่องลมระบายอากาศด้านบนเล็กน้อย หากเปิดมากเกินไป ความร้อนลดลงกะทันหันจะทำให้เส้นใยเห็ดฟางเสียหาย มีผลให้เห็ดไม่ออกดอกหรือออกดอกน้อย แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่าที่กำหนด ต้องปิดช่องระบายอากาศให้มิดชิด เพราะจะทำให้ดอกเจริญเติบโตช้า นอกจากนี้ ต้องควบคุมความชื้นในโครงเหล็กหรือสุ่มไก่ โดยสังเกตจากหยดน้ำเกาะพลาสติกที่คลุม ถ้าไม่มีน้ำเกาะ ให้รดน้ำที่พื้นดินรอบๆ โครงเหล็กหรือสุ่มไก่
4. หลังจากการเพาะ 5-8 วัน ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโครงเหล็กหรือสุ่มไก่ให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส เพราะจะเป็นช่วงรวมตัวกันของเส้นใยเห็ด เกิดเป็นดอกเล็กๆ จำนวนมาก ห้ามเปิดพลาสติกบ่อยเพราะจะทำให้ดอกฝ่อ
5. ประมาณ 7-8 วันหลังเพาะในฤดูร้อน หรือ 9-10 วันหลังเพาะในฤดูหนาว เห็ดฟางเริ่มให้ดอกที่มีขนาดโตสามารถเก็บเกี่ยวได้ ผลผลิตสามารถเก็บได้ 2-3 ครั้งต่อตะกร้า ผลผลิตประมาณ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัมต่อตะกร้า ขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาเพาะ การดูแลรักษาและฤดูกาลที่ผลิต (ฤดูหนาวดอกเห็ดฟางจะมีจำนวนน้อย แต่มีน้ำหนักต่อดอกมากกว่าฤดูร้อน)
(ดัดแปลงข้อมูลจาก เอกสารสืบค้น (ไฟล์ pdf) การเพาะเห็ดเบื้องต้น. กรมส่งเสริมการเกษตร)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพาะเห็ดฟางในโอ่ง

การเพาะเห็ดฟาง ในโอ่ง
วัสดุในการเพาะ
1. โอ่งมังกร จำนวน 1 ใบ
2. ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า จำนวน 20 ก้อน
3. ซาแรนหรือกระสอบป่าน สำหรับปิดปากโอ่ง จำนวน 1 ผืน
4. ไม้ไผ่ตีเป็นตะแกรงขนาดความกว้าง*ยาวให้ดีกับขนาดโอ่งที่เตรียมไว้
5. ไม้ทำฐานรองพื้นโอ่ง(ด้านนอก)
6. ทรายหยาบรองพื้นโอ่ง
7. เชือกฟาง

วิธีเพาะ
1. นำไม้ที่เตรียมไว้สำหรับทำฐานรองโอ่งด้านนอก มาตีล้อมกรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้มีพื้นที่ว่างระหว่างกรอบไม้เพียงพอต่อการวางพื้นที่ผิวของโอ่งที่จะ วางในแนวนอน
2. นำโอ่งมาวางในแนวนอน บนฐานกรอบไม้ที่เตรียมได้ ในบริเวณที่มีร่มเงา และ อากาศถ่ายเทสะดวก
3. นำทรายหยาบมาเทรองพื้นโอ่งที่วางไว้ในแนวนอน กะให้มีความหนาประมาณ 2-3 นิ้ว เพื่อกักเก็บความชื้น
4. นำตะแกรงไม้ไผ่ที่เตรียมไว้มาวางด้านในโอ่ง โดยให้มีพื้นที่ว่างด้านบนมากกว่าพื้นที่ว่างด้านล่าง
5. นำก้อนเชื้อเห็ดมาเปิดดอก ด้วยวิธีการเปิดจุกก้อนเชื้อด้านบน บังคับให้ดอกออกเป็นกระจุกด้านบน ก่อนวางเรียงก้อยเชื้อเห็ดจนเต็ม( แล้วปิดปากโอ่งด้วยกระสอบป่านหรือซาแรน แล้วใช้เชือกผูกยึดกระสอบ(ด้านบน) กับขอบปากโอ่งให้แน่น โดยปล่อยชายกระสอบให้สามารถเปิดขึ้นลงได้
6. รดน้ำบนก้อนเชื้อเห็ด เช้า – กลางวัน – เย็น ถ้าพบว่ากองเห็ดแห้งเกินไป ควรเพิ่มความชื้นโดยกระบอกฉีดน้ำ พ่นน้ำให้เป็นฝอยๆ ในโอ่ง เพื่อเป็นการให้ความชื้นแก่ก้อนเห็ด แล้วปิดปากโอ่งไว้ หลังเพาะประมาณ 1 สัปดาห์ จะเริ่มมองเห็นตุ่มสีขาวเล็กๆ เกิดขึ้นบนก้อนเชื้อเห็ด ในช่วงนี้ต้องระวังเรื่องการรดน้ำ อย่าให้ดอกเห็ดโดนน้ำเป็นอันขาด มิฉะนั้นดอกจะฝ่อและเน่าเสียหาย แต่ยังคงต้องพ่นน้ำให้ความชื้นอยู่ทุกวัน
7. หลังจากสังเกตเห็นตุ่มดอกเห็ดประมาณ 7-10 วัน ตุ่มเห็ดจะพัฒนาเป็นดอกเห็ดที่สามารถเก็บมารับประทานได้จนกว่าดอกเห็ดจะหมด รุ่น ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 เดือน

***ข้อควรระวัง***

  1. ควรระมัดระวังเรื่องความชื้นในช่วงวันที่ 1-3 อย่าให้อุณหภูมิภายในโอ่งร้อน หรือ ขาดความชื้น ถ้าร้อนเกินไป ให้ค่อยๆ เปิดปากกระสอบป่านเพื่อระบายอากาศออกจากโอ่ง
  2. น้ำที่ใช้สำหรับการรดก้อนเชื้อเห็ดจะต้องเป็นน้ำที่จืดมีค่า pH เป็นกลาง ไม่มีคลอรีนเจือปน เรื่องน้ำที่ใช้รดก้อนเห็ดนั้นสำคัญมาก ถ้าน้ำกร่อยหรือเค็มจะส่งผลให้เห็ดไม่ออกดอก น้ำที่ดีที่สุดคือน้ำฝน หรือจะใช้น้ำประปาที่ผ่านการขจัดคลอรีนออกแล้ว ก็ได้ผลดีเช่นกัน (การรองน้ำประปาตากแดดทิ้งไว้ ประมาณ 2 จะช่วยขจัดคลอรีนออกไปได้)
  3. เห็ดที่จะนำมาใช้ในการเพาะแต่ละชนิดนั้นจะมีความต้องการและลักษณะนิสัย ที่แตกต่างกัน เช่น เห็ดประเภท นางรม หูหนู เป๋าฮื้อ จะต้องการสภาพอากาศที่ร้อนชื้นจนถึงสภาพอากาศตามปกติ ส่วนเห็ดนางฟ้า เห็ดหอม จะต้องการอากาศที่ค่อนข้างเย็นในการเจริญเติบโต การเพาะเลี้ยงเห็ดชนิดใดๆ ควรจะมีการจัดการสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดชนิดนั้นๆ ด้วยเช่นกัน
    (ดัดแปลงข้อมูลจาก http://mushroomfarn.blogspot.com)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เพาะเห็ดฟางกองเตี้ยด้วยฟางข้าว

การเพาะเห็ดฟาง กองเตี้ย (ด้วยฟางข้าว)
วัสดุในการเพาะ
1. แบบไม้ ฐานกว้าง 35 ซม. สูง 35 ซม. ด้านบนกว้าง 30 ซม. แบบไม้ยาว 100 – 120 ซม.
2. พลาสติก ใช้พลาสติกใส ขนาดกว้าง 140 ซม. ยาวประมาณ 60 เมตร
3. แผงฟาง ทำจากฟาง นำมาขนาบด้วยซี่ไม้ไผ่ ยาวประมาณ 120 – 150 ซม.
4. หัวเชื้อเห็ดฟางและรำละเอียด โดยเชื้อเห็ดฟาง 1 ก้อน เพาะได้ 2 กอง (ทำ 3 ชั้น)

สถานที่เพาะ
ใช้พื้นที่ราบ เป็นดินที่ใช้เพาะปลูกพืชได้ หรือใช้พื้นที่นา กลางแจ้งปรับแต่งให้เรียบ โดยการถากตอซังข้าวออกให้หมด ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อสะดวกในการเพาะ แต่ต้องอยู่ห่างจากพื้นที่ที่ทิ้งสารเคมีอันตรายหรือที่ทิ้งขยะ เพื่อป้องกันโรคและแมลง

การแช่ฟาง
ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แช่กันในลำคลองเล็กๆ ในคลองชลปะทาน หรือทำการขุดบ่อแช่น้ำให้อิ่มตัว โดยแช่ฟางค้าง 1 คืน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เชื้อเห็ดฟาง

หัวเชื้อเห็ดฟาง
เป็นหัวใจของการเพาะ ควรใช้หัวเชื้อที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป สังเกตจากเส้นใยหนาแน่น สีขาวขุ่นเกาะรอบๆก้อนเชื้อ ทำการขยี้ด้วยมือให้ละเอียด ผสมรำพอควร เพื่อเพิ่มอาหารให้กับเห็ดใช้แป้งข้าวเหนียวแทนก็ได้ หรือใช้ทั้งรำและแป้งข้าวเหนียวทั้งสองอย่างได้ยิ่งดี โดย 1 ก้อนแบ่งเป็น 2 ส่วน แต่ละส่วนแบ่งย่อยเป็น 3 กองเล็กๆ เพาะได้ 2 กองๆละ 3 ชั้น

วิธีเพาะ
1. วางแบบไม้ อัดฟางลงในแบบโดยใช้มือกดให้แน่นพอควร สูงจากพื้นดินประมาณ 1 ฝ่ามือ กดตบแต่งให้เสมอ โรยเชื้อเห็ดฟางชิดแบบไม้ ทั้ง 4 ด้าน ตรงกลางไม่ต้องโรย
2. ทำเหมือนชั้นที่ 1 โรยเชื้อ ส่วนที่ 2
3. ทำเหมือนชั้นที่ 1 โรยเชื้อ ส่วนที่ 3
4. สุดท้ายปิดบนด้วยฟาง จนล้นแบบ กดตบแต่งให้เสมอขอบแบบ แล้วทำการถอดแบบได้ แปลว่าได้ กองที่ 1
5. วางไม้แบบ ให้ห่างจากกองที่ 1 ประมาณ 1 คืบ ทำกองที่ 2 ต่อไป
6. โดยปกติใน 1 แปลง จะเพาะกัน 24 กอง ใช้เชื้อเห็ด 12 ก้อน เหมาะสมที่สุด
7. ถ้าเป็นการเพาะในเขตภาคกลาง จะไม่มีฟางข้าวเหนียวเหมือนภาคเหนือ เราสามารถใช้ปลายฟาง ที่อัดเป็นก้อน ซึ่งมีขายทั่วไปได้ แต่จำเป็นต้องเพิ่มอาหารเสริมเข้าไป ก่อนที่จะโรยเชื้อเห็ดฟาง เช่น ผักตบชวา ผักบุ้ง เศษฝ้าย ไส้นุ่น เปลือกถั่วทุกชนิด ละอองข้าวโพด-ข้าวฟ่าง ละอองข้าว ขี้วัว-ควายแห้ง แป้งข้าวเหนียว – ข้าวเจ้า รำ เป็นต้น

***เหตุที่จำเป็นต้องเพิ่มอาหารเสริมเข้าไปเพราะว่าฟางข้าวจ้าวมีสารอาหารที่เห็ดฟาง ต้องการน้อยไม่เพียงพอ ไม่เหมือนฟางข้าวเหนียว ซึ่งมีอาหารมากกว่า***
8. โดยทั่วไปจะวางแปลงเพาะห่างกันประมาณ 1 เมตร วางลักษณะคู่ขนาน เป็นกลุ่มใหญ่ ทำการรดน้ำให้เปียกชุ่ม ทั้งที่บนกองเห็ด ที่พื้นดิน แล้วคลุมแปลงเพาะแต่ละแปลงด้วยพลาสติกใส 2 ผืน ซ้อนกันตรงกลางแปลง ปิดแปลงเพาะด้วยแผงฟางอีกครั้ง ปล่อยทิ้งไว้ 3 คืน
9. ครบ 3 คืน ช่วงเช้าทำการยกแผงฟางด้านข้างและรอยต่อระหว่างแปลงออก ยกชายพลาสติกขึ้นทั้ง 2 ด้าน ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้อากาศภายในออกทั่วถึง แล้วคลุมกองไว้เหมือนเดิม
10. เช้าวันที่ 7 เปิดดูภายในจะเห็นดอกเห็ดเกิดขึ้นบ้างแล้ว สังเกตดอกเห็ดที่ใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย บนดอกถ้ามีจุดสีเทาดำ รอบข้างสีขาวขุ่น แปลว่าแปลงเห็ดอยู่ในสภาพที่พอดี ทั้งแสง อากาศ และความชื้น แต่ถ้าดอกเห็ดเป็นสีขาวทั้งดอก ให้ทำการระบายอากาศ ยกแผงฟางระหว่างแปลงออกเพื่อให้ แสงเข้าไปได้บ้าง แล้วคลุมแปลงเพาะไว้เหมือนเดิม รอดูดอกเห็ดในวันรุ่งขึ้น ถ้าดอกเห็ดมีสีเทาดำ แสดงว่าที่ระบายอากาศและเปิดแสงเข้าพอดีแล้ว
11. เช้าวันที่ 10 สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว โดยเริ่มเก็บดอกเห็ดที่ใหญ่ก่อน เก็บให้เบามือที่สุด ระวังไม่ให้กระทบกระเทือนดอกเห็ดข้างๆ อาจให้ฝ่อได้ เก็บติดต่อกันได้ประมาณ 5-6 วัน รวมผลผลิตอย่างน้อยควรจะได้ กองละ 1 กก.เป็นอย่างต่ำ ถือว่าใช้ได้แล้ว
12. การเพาะเห็ดฟางทุกวิธี ผู้เพาะจำเป็นต้องดูดอกเห็ดที่มีลักษณะสมบูรณ์เป็น จะได้ปรับสภาพ แสง อากาศ ความชื้นได้ถูกต้อง โดยสังเกตดอกเห็ดที่เกิดขึ้นแต่ละวันเป็นหลักในการดูแลรักษา
13. ลักษณะดอกเห็ดที่สมบูรณ์ ให้สังเกตช่วงเช้าระหว่าง 9.00-10.00 น. เพราะว่าขณะนั้นแสงจะเข้าไปภายในได้ดี จะดูออกว่า ดอกเห็ดสมบูรณ์หรือไม่ คือ มีสีเทาดำบนดอก รอบดอกเป็นสีขาวขุ่น ไม่มีเส้นใยเห็ดเกาะรอบดอก เช่น ถ้าดอกเห็ดเป็นสีขาว มีเส้นใยคลุมดอกอยู่ แปลว่าดอกไม่สมบูรณ์ เห็ดขาดแสง ขาดอากาศ ดังนั้นจำเป็นต้องระบายอากาศ และเปิดให้แสงเข้ามากขึ้น โดยรอสังเกตในวันรุ่งขึ้น ตอนเช้าในเวลาเดียวกัน ถ้าดอกเห็ดเปลี่ยนแปลง เป็นเทาดำบนดอก และดอกเห็ดใหญ่ขึ้น แสดงว่าที่ปรับสภาพเมื่อวานนั้นถูกต้องแล้ว.
การเพาะเห็ดฟาง แบบกองเตี้ย โดยใช้ฟางเป็นตัวหลักในการเพาะดังกล่าว สามารถเพาะโดยใช้วัสดุเพาะอื่นๆได้อีกมากมาย ซึ่งเปลี่ยนไปตามวัสดุเพาะในแต่ละพื้นที่ เช่น ในภาคอีสาน ใช้กากมันสำปะหลัง ในภาคใต้ใช้ทะลายเปล่าปาล์มน้ำมัน แถวภาคกลางมีการเพาะเห็ดนางรม/นางฟ้ากันมาก ใช้ก้อนเชื้อเก่ามาเป็นวัสดุเพาะแทนฟางก็ได้ มีการดัดแปลงให้แบบไม้เล็กลง วิธีการเพาะก็คล้ายกัน

เช่นเดียวกับ การเพาะเห็ดฟาง แบบกองสูง ขยายแบบไม้ให้ใหญ่ขึ้น ใช้ฟางมาก ใช้หัวเชื้อเห็ดฟางมากขึ้น ก็สามารถทำได้ การเพาะเห็ดฟางแบบกองสูง ปกติจะเพาะ 5 ชั้น โดยใช้เชื้อ 3 ก้อน การดูแลต่างๆ เหมือนการเพาะแบบกองเตี้ยทุกประการ เพียงแต่ว่า เห็ดออกได้นานกว่า ออกเรื่อยๆ จนกว่ากองเห็ดจะยุบตัวลง เป็นการเพาะที่เลียนแบบการเกิดดอกเห็ดฟางในธรรมชาติ ไม่สามารถเพาะเป็นอาชีพหลักได้ เหมาะสำหรับเพาะเพื่อเป็นอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หรือเพื่อการเรียนรู้ถึงวิธีการเพาะเห็ดฟางเบื้องต้น เพื่อที่จะเพาะเป็นอาชีพหลักต่อไปติดต่อ

สอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(ดัดแปลงข้อมูลจาก : http://www.phetphichit.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *