เคล็ดลับการป้องกันศัตรูจิ้งหรีด

เคล็ดลับการป้องกันศัตรูจิ้งหรีด

การป้องกันโรคและศัตรูจิ้งหรีด เคล็ดลับ และข้อควรระวัง เป็นการปฏิบัติที่ต้องการความสม่ำเสมอ จิ้งหรีดเป็นสัตว์เลี้ยงง่ายก็จริง แต่ยังต้องการการดูแลเอาใจใส่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย อาหาร น้ำ โรค และศัตรู หากไม่มี การป้องกันโรคและศัตรูจิ้งหรีด แล้วปล่อยให้เกิดความเสียหายขึ้น จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หากมีการบริหารจัดการที่ดี ปฏิบัติตามวิธีป้องกัน เคล็ดลับ และข้อควรระวัง ก็ยังผลให้การส่งออก หรือทำกำไรจากผลผลิตจิ้งหรีด เป็นเรื่องที่ง่ายและเร็วขึ้น

โรคจิ้งหรีดที่สำคัญ ได้แก่
โรคทางเดินอาหาร
เกิดจากอาหารสกปรก มีเชื้อรา ภาชนะสกปรก
วิธีป้องกัน

  • ให้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับประชากรจิ้งหรีดในบ่อเลี้ยง
  • เทอาหารและน้ำที่เหลือทิ้ง พร้อมทั้งเศษอาหารที่หล่นอยู่ในบ่อเลี้ยงและที่อยู่จิ้งหรีด ควรถูกเก็บทิ้งเช่นกัน
  • ทำความสะอาดภาชนะใส่อาหารและน้ำให้สะอาดทุกครั้งที่ให้อาหาร

โรคอิริโดไวรัส ในจิ้งหรีด
ขอบคุณรูปภาพจาก www.niah.dld.go.th

โรคติดเชื้อ อิริโดไวรัส
เกิดอาการรุนแรงในจิ้งหรีด ถึงขั้นตาย แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว สัตว์ตระกูลแมลงชนิดอื่นที่สามารถติดเชื้อนี้ได้ เช่น ตั๊กแตน และ แมลงสาบ เป็นต้น แต่ไม่สามารถติดต่อมาสู่คนได้

สาเหตุ
เกิดจากเชื้อไวรัส
การติดต่อ
ผ่านระบบทางเดินอาหาร ระยะเริ่มแรกอยู่ที่เซลล์ไขมันร่างกาย ระยะสุดท้ายของโรคจะอยู่ที่ชั้นใต้ผิวหนัง ของเหลวในหลอดลม กล้ามเนื้อของผนังลำไส้ ถุงหุ้มอวัยวะสืบพันธุ์ และเซลล์เม็ดเลือดของแมลง
อาการ
จะแสดงอาการหลังจากติดเชื้อภายใน 14 วัน ในระยะตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัย จิ้งหรีดจะซึม หงอยอย่างเห็นได้ชัด และช่วงอายุสั้นลง ท้องบวม มองเห็นด้วยตาเปล่า มีของเหลวสีขาวขุ่น เป็นมันแวววาว อัดแน่นอยู่เต็มช่องท้อง ถ้าถูกกับอากาศจะกลายเป็นสีฟ้าอ่อนๆ
วิธีป้องกันแก้ไขโรค (ข้อมูลจากสำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 5 และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ)

  1. ให้ทำลายจิ้งหรีดที่เป็นโรค โดยฝังใต้ดินไม่ต่ำกว่า 20 เซนติเมตร ป้องกันสัตว์อื่นมาขุดคุ้ย แล้วราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือปูนขาว หรือเผาทำลายซาก รวมทั้งอุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อน เช่น ถาดไข่ที่ทำจากกระดาษ ที่ใช้เป็นที่อยู่ของจิ้งหรีดในบ่อเลี้ยง
  2. ล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอุปกรณ์ที่ใข้ในการเลี้ยงจิ้งหรีด เช่น วงบ่อปูน อุปกรณ์การให้อาหาร และน้ำ ที่วางไข่ มุ้งเขียว หลังคา ผนัง พื้น ทางเดิน และบริเวณรอบโรงเรือน โรงเก็บอาหาร และพักโรงเรือน 14 – 21วันก่อนนำจิ้งหรีดชุดใหม่เข้าเลี้ยง
  3. ปรับปรุงรูปแบบการสุขาภิบาล การควบคุมป้อกันโรคภายในฟาร์ม ให้ทำรั้วรอบฟาร์ม ปิดประตูฟาร์ม ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม ควบคุมการเข้า-ออกของบุคคล ยานพาหนะ จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อนที่จะเข้าฟาร์ม มีมาตรการป้องกัน กำจัดสัตว์ที่อาจเป็นพาหนะของโรค เช่น นก หนู แมลงสาบ หรือสัตว์ที่มักจะเข้ามาจับจิ้งหรีดในฟาร์มเป้นอาหาร เช่น นก กิ้งก่า คางคก ซึ่งอาจเป็นสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรคได้
  4. ปรับปรุงรูปแบบการเลี้ยง เช่น มีการแยกเลี้ยงจิ้งหรีดตามช่วงอายุ มีการแบ่งแยกสัดส่วน พื้นที่การเลี้ยงในโรงเรือนเป็นส่วนๆ หรือใช้ระบบเข้า-ออกพร้อมกัน ในการเลี้ยงเพื่อป้องกันหรือลดการแพร่ระบาดของโรคภายในฟาร์ม
  5. คัดเลือกจิ้งหรีดที่จะนำมาทำพันธุ์ ต้องมาจากฟาร์มที่ปลอดโรค หรือทำการคัดเลือกสายพันธุ์จิ้งหรีด ที่มีความต้านทานต่อโรคมาเลี้ยงในฟาร์ม
  6. ควรเปลี่ยนสายพันธุ์จิ้งหรีดที่ใช้ทำพ่อแม่พันธุ์ ในทุกๆ 1 ถึง 3 รุ่น เพื่อป้องกันการเกิดสายเลือดชิด ซึ่งจะทำให้จิ้งหรีดไม่อ่อนแอ และไม่ติดเชื้อโรคได้ง่าย ตัวไม่เล็ก

ศัตรูจิ้งหรีด
มด แมงมุม ไร มักติดมากับอาหาร
ไร  เกาะตัวจิ้งหรีด มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เข้าไปอาศัยและเจริญเติบโตในท้องจิ้งหรีด ทำให้ท้องอืดตาย สามารถทำให้จิ้งหรีดตาย ภายใน 3 วัน ได้ทั้งบ่อ
วิธีป้องกัน

  • ล้างผัก หญ้า พืชสด ให้สะอาด
  • ไม่ใช้สารเคมีกำจัด นอกจากไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
  • ควรเลือกใช้บ่อ หรือ ภาชนะที่มาทำบ่อเลี้ยงขนาดเล็ก พอเพียงกับปริมาณที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการสูญเสียจำนวนมาก หากเกิดการระบาด
  • เผาทำลายจิ้งหรีดทิ้งทุกบ่อ หากเกิดการระบาด และ ทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้น ทำความสะอาด สถานที่ทุกซอก ทุกมุม
  • เปลี่ยนดิน หรือวัสดุรองพื้นบ่อ
  • เปลี่ยนอาหารเสริม จากอาหารไก่ เป็นอาหารปลาแทน
  • ใช้ปูนขาวโรยพื้นรอบบ่อเลี้ยง เพื่อป้องกันมด หรือใช้ผ้าชุบน้ำมันเครื่องพันรอบบ่อ หรือ ใช้ชอล์คขีดมดขีดรอบบ่อด้านนอกไว้

จิ้งจก ตุ๊กแก คางคก

  • หากพบ ให้จับออกไปนอกบริเวณ
  • ปิดตาช่ายคลุมปากบ่อเลี้ยงให้มิดชิด

ข้อควรระวัง

  • ราคาอาหารเสริมมีการขึ้นลง
  • ป้องกัน และเฝ้าระวังศัตรูและโรคของจิ้งหรีดอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมความชื้น ให้คงที่ ไม่ต่ำหรือสูงเกินไป
  • พยายามสร้างโรงเรือน หรือวางบ่อเลี้ยงให้ห่างจากบริเวณห้องนอน โดยเฉพาะของบ้านใกล้เรือนเคียง เพื่อป้องกันการรบกวนจากเสียงของจิ้งหรีดตัวผู้ โดยเฉพาะเวลาส่งเสียงเรียกหาคู่
  • หากเลี้ยงแมว ไว้ป้องกันศัตรูจิ้งหรีด ระวังอย่าให้แมวกินจิ้งหรีดมากเกินไป เพราะจะย่อยยาก
  • วัสดุรองพื้นบ่อที่ใช้ โดยเฉพาะดินทราย ต้องไม่มีสารพิษ หรือสารเคมีเจือปน หากเลือกใช้ดิน ควรใช้เฉพาะผิวหน้าดิน
  • แปะเทปกาวที่ขอบบ่อเลี้ยงด้านใน ป้องกันจิ้งหรีดไต่หนี โดยเฉพาะ ช่วงตั้งแต่ฟักออกจากไข่มา จนมีขนาดเท่าเมล็ดทราย

เคล็ดลับ ในการเลี้ยงจิ้งหรีด

  • เลี้ยงแมว ไว้ไล่จิ้งจก คางคก ตุ๊กแก หรือสัตว์อื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อจิ้งหรีด
  • เก็บจิ้งหรีดตายทิ้งให้หมด เพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดที่ยังมีชีวิต อยู่กินซากที่ตกค้าง จะทำให้ติดเชื้อ
  • สลับใช้หัวมันฝรั่งเลี้ยงจิ้งหรีด แทนอาหารและน้ำได้ทั้งสองอย่าง
  • ให้ส้มเป็นอาหารจิ้งหรีดบ้าง เพื่อเสริมวิตามินซีให้กับจิ้งหรีด
  • ควรมีพื้นที่ว่างในบ่อเลี้ยง ให้จิ้งหรีดได้หายใจสะดวก อย่าให้มีประชากรจิ้งหรีดหนาแน่นเกินไป จิ้งหรีดหายใจทางผิวหนัง จึงต้องการพื้นที่

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.wikihow.com, www.aopdh03.doae.go.th, หนังสือ คู่มือ…การเพาะเลี้ยง แมลงกินได้ สร้าง…เงินล้าน สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ ทองพูล วรรณโพธิ์)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *