เกษตรผสมผสาน : การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง

เกษตรผสมผสาน : การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง เป็นอีกหนึ่งแนวทางสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราให้มีรายได้หมุนเวียน แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ เป็นการแก้ปัญหาให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอบทความ ‘เกษตรผสมผสาน : การปลูกพืชแซมสวนยาง’ ไปก่อนหน้านี้ การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง เป็นการนำการปศุสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ปีกและแมลงเศรษฐกิจ และการประมง มาผสมผสานในพื้นที่ว่างระหว่างต้นยางพาราให้เป็นประโยชน์และรายได้ บทความนี้ผู้เขียนนำการเลี้ยงด้วงสาคู และหนอนนกมาให้เรียนรู้วิธีเลี้ยง และวิธีดูแล เพื่อให้ การเลี้ยงสัตว์ร่วมยาง เป็นทางเลือกในการทำเกษตรแบบผสมผสาน

ด้วงสาคู


ด้วงสาคู หรือด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงลาน หรือแมงหวัง เป็นแมลงพื้นบ้านที่รู้จักกันดี และเป็นที่นิยมในการบริโภคโดยเฉพาะทางภาคใต้ มีคุณค่าทางอาหาร ให้โปรตีนและพลังงานสูง แต่เป็นแมลงศัตรูพืชที่ทำลายพืชผลทางการเกษตร เป็นอันตรายต่อพืชตระกูลปาล์ม เช่นสาคู ลาน และมะพร้าว เป็นต้น สภาพอากาศของทางภาคใต้ของไทยเหมาะในการเลี้ยงด้วงสาคูมากที่สุด ปัจจุบัน ตัวหนอนของด้วงกำลังเป็นที่นิยมของการเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อนำไปรับประทาน มีราคาซื้อขายที่สูงถึงกิโลกรัมละ 200 ถึง 300 บาท โดยระยะจากไข่-หนอน-ดักแด้ใช้เวลา 60 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุประมาณ 2 ถึง 3 เดือน

การเลี้ยงด้วงสาคู
การคัดเลือกพันธุ์

  • คัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ด้วงสาคูที่มีตัวโตแข็งแรง มีอวัยวะครบส่วน

รูปแบบการเลี้ยง
การเลี้ยงด้วงสาคู มี 2 แบบ คือ

  1. แบบดั้งเดิม โดยใช้ท่อนสาคู หรือท่อนลาน ความยาวท่อนละ 50 เซนติเมตร ใช้อัตราส่วนพ่อพันธุ์ 2 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 4 ตัว ต่อท่อนสาคูหรือท่อนลาน ประมาณ 40 ถึง 45 วัน สามารถจับด้วงสาคูออกขายได้
  2. แบบประยุกต์ โดยใช้กะละมังขนาดกว้าง x ยาว x สูง = 38x38x15 เซนติเมตร อัตราพ่อพันธุ์ 4 ตัว ต่อแม่พันธุ์ 6 ตัว ต่อ 1 กะละมัง ทิ้งไว้ประมาณ 25 ถึง 30 วัน สามารถจับด้วงสาคูออกจำหน่ายได้

การให้อาหารและน้ำ
พืชอาหารหลัก ได้แก่ ต้นสาคูบด กล้วย มันสำปะหลัง และขุยมะพร้าว เป็นต้น
อาหารเสริม ได้แก่ อาหารหมูสำเร็จรูป (หัวอาหารใช้เลี้ยงหมู)

การผสมอาหารเลี้ยงด้วงสาคู

  1. แป้งสาคูที่บดแล้ว 1 ปี๊บ ผสมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ กากนํ้าตาล 1 ช้อนโต๊ะ อาหารหมูใหญ่ 0.5 กิโลกรัม นํ้าประมาณ 2 ลิตร
  2. นำมาใส่ในกะละมัง ในปริมาณอย่างน้อย 2 ใน 3 ส่วน ของกะละมัง
  3. หมักทิ้งไว้ประมาณ 2 ถึง 3 ชั่วโมง (ถ้าไม่หมักด้วงจะลงไปอาศัยอยู่ด้านล่างและกินอาหารได้ไม่ดี)

การผสมอาหารเสริมเลี้ยงด้วงสาคู

  1. ใส่สาคูบดจนเกือบเต็มกะละมัง และใส่อาหารหมูลงไปประมาณ 2 ขีด
  2. ละลายกากน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 2 ลิตร ใส่ในกะละมังอาหารที่เตรียมไว้คลุกเคล้าให้เข้ากันอัดจนแน่นพอประมาณ
  3. ละลายอาหารหมูให้เหลว ใส่ในกะละมังอาหารที่อัดจนแน่นแล้ว วางเปลือกสาคู หรือแผ่นไม้เป็นชั้นบนสุด

วิธีเลี้ยงด้วง

  • เมื่ออาหารที่เตรียมพร้อมแล้ว นำพ่อ-แม่พันธุ์มาปล่อย 4 หรือ 5 คู่ (ตัวผู้งวงข้อที่ 1 มีขนขึ้นชัดเจน ส่วนตัวเมียไม่มี ตัวผู้หรือพ่อพันธุ์จะมีขนาดเล็กกว่าแม่พันธุ์) การเลี้ยงหากใส่พ่อ-แม่พันธุ์มากเกินไปจะไม่ได้ผลดี เนื่องจากเป็นการเพิ่มต้นทุนของพ่อ-แม่พันธุ์ ด้วงที่ได้มากเกินไปทำให้อาหารไม่พอ ส่งผลให้ด้วงมีขนาดที่แตกต่างกันมากเกินไป
  • หลังจากปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ประมาณ 10 ถึง 15 วัน ให้จับขึ้นมาจากกะละมัง จะเห็นว่าตัวด้วงจะมีขนาดเท่าหัวไม้ขีดไฟ
    พ่อ-แม่พันธุ์ที่จับขึ้นมา สามารถนำไปใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้อีก 2 ครั้ง แต่ต้องนำมาพักฟื้นอย่างน้อย 3 วัน โดยให้กล้วยน้ำว้าสุกกับสาคูบดเป็นอาหารเลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ช่วงพักฟื้น ตัวเต็มวัยจะกินกล้วย 1 ผล ต่อ25 ตัว ต่อ 1 คืน
  • ตัวด้วงขนาดหัวไม้ขีดไฟจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ระยะนี้ดูแลความชื้นอาหารให้คงที่ คือ ประมาณ 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
    หากอาหารมีความชื้นมากเกินไปจะทำให้พ่อ-แม่พันธุ์ตาย หรือไข่ที่ออกมาไม่ฟักเป็นตัวด้วงและตายในที่สุด หรือแม่พันธุ์อาจจะไม่ว่างไข่ หากความชื้นน้อย ด้วงจะมีขนาดตัวที่เล็ก
  • หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน สามารถจับตัวหนอนด้วงสาคูออกจำหน่ายได้

วิธีการทดสอบความชื้นอาหาร

  • กำอาหารเป็นก้อนจะมีน้ำไหลออกระหว่างนิ้วมือเล็กน้อยแสดงว่ายังมีความชื้นในอาหารอยู่ ตัวด้วงจะเจริญได้ดี ให้น้ำหนักมาก (200 ตัว ต่อกิโลกรัม) และมีอัตราการตายน้อย

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรเพิ่มอาหารใหม่หรือเสริมอาหารใหม่เข้าไปหลังจากเลี้ยงในกะละมัง เพราะอาหารใหม่จะมีความร้อนสูงทำให้ด้วงไม่กินอาหาร ขนาดตัวเล็ก และตายในที่สุด
  • ดูแลเรื่องของความชื้นให้ได้ 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่เสมอ
  • กำจัดแมลงศัตรูไม่ให้เข้ามารบกวน
  • ห้ามใช้สารฆ่าแมลงในขณะที่พ่อ-แม่พันธุ์วางไข่ เพราะจะทำให้พ่อ-แม่พันธุ์ไม่วางไข่หรือไข่จะลีบ
  • นำพ่อ-แม่พันธุ์ออกจากกะละมังเพาะภายในไม่เกิน 15 วัน หลังการเพาะ

โรคและแมลงศัตรูด้วงสาคู
โรคด้วงสาคู
ได้แก่ โรคทางเดินอาหาร
ศัตรูด้วงสาคู
ได้แก่ นก หนู และไก่

การเก็บผลผลิต

  • นำตัวหนอนด้วงสาคูมาเลี้ยงในอาหารกากมะพร้าวขูดประมาณ 1 ถึง 2 วัน จึงเก็บตัวหนอนมาล้างน้ำให้สะอาด
  • แช่น้ำเกลือทิ้งไว้ประมาณ 10 ถึง 30 นาที เพื่อล้างสิ่งสกปรก ทั้งภายในและภายนอกตัวหนอนออกและตามด้วยการล้างด้วยน้ำปูนใสอีกครั้ง หรือลวกน้ำร้อนก่อนที่จะนำไปประกอบอาหารโดยการ นึ่ง ผัด หรือ ทอด

หนอนนก

เป็นตัวอ่อนของแมลงชนิดหนึ่ง เมื่อโตเต็มวัยจะกลายเป็นแมลงปีกแข็งสีดำ เรียกว่า Meal-Beetle แม่พันธุ์ 1 ตัว วางไข่ 1 ถึง 2 ฟอง ต่อวัน หรือ 80 ถึง 85 ฟอง ต่อแม่พันธุ์ หนอนนกมีคุณค่าทางอาหารสูงโดยเฉพาะโปรตีนและไขมัน จึงเหมาะในการนำไปเลี้ยงเป็นอาหารสัตว์น้ำ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น ปลา รวมถึง นก ไก่ ฯลฯ หนอนนกมีหลายขนาด มีช่วงเวลาการเป็นหนอนยาวนาน

การเลี้ยงหนอนนก


การเตรียมอุปกรณ์

  1. โรงเรือน โดยใช้มุ้งเขียวล้อมรอบเพื่อป้องกันศัตรูของหนอน มีการระบายอากาศให้ปลอดโปร่งได้ดี มีความชื้นเล็กน้อย หนอนนกจะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส
  2. เตรียมถาดอะลูมิเนียม ขนาด 8×10 นิ้ว ขอบสูงประมาณ 2 ถึง 3 นิ้ว เพื่อไม่ให้หนอนคลานออกมานอกถาด และชั้นวางถาดป้องกันมด
  3. ตะแกรงร่อนเพื่อแยกตัวหนอน
  4. พัดลมระบายอากาศ

ขั้นตอนในการเพาะเลี้ยง

  1. นำถาดอะลูมิเนียมหรือถาดพลาสติกใส่อาหารไก่ไข่ อายุเกิน 20 ถึง 35 สัปดาห์ ประมาณ 400 ถึง 500 กรัม ต่อถาด นำพ่อ-แม่พันธุ์หนอนนกจำนวน 300 ถึง 400 ตัว ใส่ถาด นำพืชผักที่มีส่วนประกอบของน้ำจำนวนมาก เช่น มะละกอ ผักบุ้ง แครอท แอปเปิ้ล คึ่นช่าย หรือผักกาดหอม เป็นต้น ล้างน้ำให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นๆ หรือเด็ดเป็นใบให้ทุก 2 ถึง 3 วัน และควรระวังอย่าให้เศษอาหารเน่าหรือตกค้าง
  2. หลังจากนั้นประมาณ 7 ถึง 10 วัน ให้นำตะแกรงร่อนไข่ มาร่อนแยกออกจากพ่อแม่หนอนนกโดยไข่หนอนนกจะปะปนออกมาพร้อมอาหารที่ร่อน แยกใส่ถาดอะลูมิเนียมถาดใหม่ ส่วนพ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากการร่อน ให้นำไปเลี้ยงตามขั้นตอนที่ 1 เพื่อให้พ่อแม่วางไข่และคัดแยกตัวที่ตายออก (มูลหนอนนกสามารถใช้เป็นปุ๋ยเร่งใบ และใช้เป็นอาหารปลากินพืชได้)
  3. ไข่ของหนอนใช้ระยะเวลา 7 ถึง 10 วัน จะฟักออกเป็นตัวหนอน ทุกๆ 7 ถึง 10 วัน ทำการร่อนตัวหนอน เพื่อเปลี่ยนอาหาร แต่ทั้งนี้ให้สังเกตก่อนว่าหากหนอนกินอาหารหมด อาหารจะมีลักษณะละเอียด จึงทำการร่อนตัวหนอน ใส่อาหารใหม่ ตัวหนอนจะเจริญเติบโตและมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2.5 ถึง 3 เซนติเมตร ในระยะเวลาประมาณ 45 ถึง 50 วัน
  4. ตัวหนอนที่มีอายุประมาณ 70 ถึง 80 วัน จะเริ่มพัฒนาเข้าสู่ระยะดักแด้ ในช่วงนี้ระหว่างร่อนตัวหนอนเพื่อเปลี่ยนอาหาร จะต้องทำการคัดเลือกแยกดักแด้ออกมาใส่ถาดอื่น ช่วงนี้มีระยะเวลาประมาณ 5 ถึง 7 วัน และไม่กินอาหาร จึงไม่ต้องใส่อาหารลงในถาด
  5. หลังจากฟักระยะดักแด้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน จะพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย มีลักษณะเป็นแมลงปีกแข็ง ลำตัวสีน้ำตาลดำ สามารถใช้เป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ โดยมีอายุตั้งแต่ 60 ถึง 80 วัน นำเอาด้วงตัวเต็มวัยออกจากภาชนะใส่ดักแด้ทันที เพราะตัวเต็มวัยจะเริ่มกินดักแด้ตัวอื่นๆ ถ้าไม่ได้ถูกย้ายออกอย่างรวดเร็ว

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : หนังสือ รวยด้วย…อาชีพเสริมในสวนยาง สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *