ระบบน้ำหัวใจการเกษตร

ระบบน้ำหัวใจการเกษตร

ระบบน้ำ เป็นหัวใจสำคัญของการเกษตร พืชทุกชนิดต้องการน้ำ ส่วนจะมากน้อยต่างกันเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับชนิดและสายพันธุ์ของพืช การบริหารจัดการระบบน้ำที่ดีนั้นส่งผลต่อการเจริญเติบโต ช่วยป้องกันปัญหาและโรคต่างๆ ได้ดี การจัด ระบบน้ำ ให้เหมาะสมกับความต้องการของพืช มีผลให้ประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง เกษตรกรสามารถเลือกจัดการกับระบบน้ำได้หลายประเภท ซึ่งไม่มีขั้นตอนยุ่งยากอะไร สามารถทำเองได้

ประเภทของ ระบบน้ำ

  • ระบบน้ำหยด
  • ระบบน้ำสปริงเกลอร์
  • ระบบน้ำมินิสปริมเกลอร์
  • ระบบน้ำเหวี่ยง
  • ระบบน้ำพุ่ง

ระบบน้ำหยด
เป็นระบบน้ำที่ใช้ได้ทั้งพืชสวน พืชไร่ และพืชสวนครัว ใช้เวลาในการให้น้ำ 10 ถึง 30 นาที ต่อการให้น้ำ 1 ครั้ง
ข้อดีของระบบน้ำหยด

  1. ประหยัดน้ำ และมีประสิทธิภาพการให้น้ำสูง
  2. ประหยัดน้ำ
  3. ประหยัดแรงงาน
  4. ประหยัดเวลาในการให้น้ำ
  5. ใช้ได้ผลดีกับดินและพืชทุกชนิด
  6. ใช้งานและดูแลรักษาง่าย
  7. ประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร
  8. ค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำระบบน้ำหยดไม่สูง
  9. โอกาสเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมีน้อย เนื่องจากมีถังสำรองน้ำไว้ใช้

ก่อนอื่นขอแนะนำ…อุปกรณ์สำหรับใช้ทำระบบน้ำหยด…ว่ามีอะไรบ้าง

  • ปั๊มน้ำ-เลือกตามลักษณะการใช้งาน และสภาพแหล่งน้ำ
  • ถังน้ำ-ขนาด 200 ลิตร ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ที่ใช้งาน แนะนำให้ใช้แบบพลาสติกเพื่อช่วยลดอุณหภูมิน้ำ
  • ขาตั้งแท้งค์น้ำ-แข็งแรง ทนทาน สูง 1 ถึง 2 เมตร
  • ท่อ PVC-เลือกใช้ PVC 5 ซึ่งหมายถึง รับแรงดันน้ำสูงสุดได้ 5 กิโลกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร หรือ 5 บาร์ (BAR)
  • ท่อ PE -ขนาด 16 มม. เป็นขนาดมาตรฐาน แต่เกษตรกรสามารถเลือกใช้ ขนาด 20 มม. หรือ 25 มม. ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องไม่ลืมว่า อุปกรณ์และข้อต่อต่างๆ ต้องเป็นขนาดเดียวกันกับท่อ ท่อ PE ถ้าจะดูว่ารับแรงดันน้ำได้เท่าไหร่นั้น ดูที่ท่อจะเขียน PN ไว้ เช่น PN6.3 คือ รับแรงดันน้ำสูงสุดได้ 6.3 กิโลกรัม ต่อลูกบาศเมตร หรือ 6.3 บาร์ (BAR)
  • ลูกยาง PE -ขนาดเดียวกับเทปน้ำหยด และข้อต่อ
  • ขาปักน้ำหยด (ถ้าจำเป็น)
  • เทปน้ำหยด –มี 2 ชนิด เทปกลม และเทปแบน เทปแบนจะมีครีบ เวลาติดตั้งต้องให้ครีบอยู่ด้านบน
  • ข้อต่อท่อ PVC, ท่อ PE และ ข้อต่อเทปน้ำหยด-ขนาดเดียวกันกับท่อที่ใช้
  • วาล์วน้ำ-จำนวนที่ใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะของการแบ่งพื้นที่
  • ตัวรัดปลายท่อ PE-ขนาดเดียวกันกับท่อ
  • ที่เจาะรูพีอี-ขนาดเดียวกันกับเทปน้ำหยด
  • กรองน้ำเกษตร
  • สว่านไฟฟ้า
  • ดอกเจาะ Hole Saw

    ดอกเจาะ Hole Saw

  • น้ำสบู่-ไว้ใช้เวลาประกอบข้อต่อและลูกยางของท่อ PE และเทปน้ำหยด
  • เครื่องตั้งเวลาระบบรดน้ำอัตโนมัติ (ทางเลือก)-ใช้ตั้งเวลาเปิด และปิดระบบน้ำอัตโนมัติ สะดวกในการจัดการระบบน้ำ แต่ข้อเสียเวลาระบบไฟฟ้ามีปัญหา ต้องตั้งค่าใหม่ และต้องวางระบบจัดการน้ำให้ดี

ทำความเข้าใจกับอุปกรณ์ระบบน้ำหยด เพิ่มเติมสักนิด…..

  • ถังกักเก็บน้ำ
    ถ้าแปลงเพาะปลูกมีพื้นที่ไม่มาก ใช้ถังเก็บกักน้ำเพียงจุดเดียวก็เพียงพอ แต่สำหรับแปลงเพาะปลูกขนาดใหญ่สามารถเพิ่มจำนวนจุดถังเก็บกักน้ำตามโซนได้
  • ท่อส่งน้ำ
    ท่อส่งน้ำเริ่มต้นที่ ท่อเมน ต่อกับวาล์วออกจากถังกักเก็บน้ำ ส่งน้ำไปยัง ท่อเมนย่อย และส่งต่อไปยังเทปน้ำหยด
    ท่อเมน ให้ใช้ท่อ PVC ได้ แต่ท่อเมนย่อยนั้น แนะนำให้ใช้ท่อ PE ซึ่งเป็นท่อน้ำที่ผลิตขึ้นมาใช้ในการเกษตรโดยเฉพาะ โค้งงอและยืดหยุ่นได้ ที่สำคัญ ทนแดด ทนฝน ในณะที่ท่อ PVC ถ้าถูกกดทับจะแตกหักได้ง่าย และหากโดดแดดเป็นเวลานานจะกรอบแตกได้เช่นกัน
  • เทปน้ำหยด
    ทั้งแบบแบน และแบบกลม จะมีระยะหยด 10, 20 และ 30 เซนติเมตร ระยะหยด หมายถึง ระยะห่างระหว่างรูที่ให้น้ำหยด เกษตรกรเลือกระยะหยดตามชนิดของดิน ได้ดังนี้
    ดินทราย-เป็นดินที่น้ำซึมผ่านเร็ว และน้ำจะไม่กระจายที่ผิวดิน ใช้เทปน้ำหยด ชนิดระยะหยด 10 เซนติเมตร
    ดินร่วน-เป็นดินที่น้ำซึมผ่านปานกลาง เลือกชนิดระยะหยด 20 หรือ 30 เซนติเมตร
    ดินเหนียว-น้ำซึมผ่านได้ช้าและกระจายวงกว้าง ต้องใช้เทปน้ำหยด ชนิดระยะหยด 50 เซนติเมตรขึ้นไป

หรือ จะเลือกระยะหยดตามชนิดของพืช ก็ได้ค่ะ ตัวอย่างเช่น : พืชสวน เช่น พริก, มะเขือ และมะเขือเทศ ใช้ชนิดระยะหยด 10 เซนติเมตร แตงโม และข้าวโพด ระยะหยด 20 เซนติเมตร เป็นต้น
การคำนวณเทปน้ำหยด และการแบ่งพื้นที่
โดยปกติแล้วเทปน้ำหยดควรมีความยาวที่เหมาะสมในการให้น้ำอย่างทั่วถึง ตั้งแต่ต้นสายไปยังปลายสาย อยู่ที่ 120 เมตร ต่อ 1 เส้น สำหรับเทปที่มีระยะหยด 30 เซนติเมตร ด้วยอัตราการหยด 2.5 ลิตร ต่อชั่วโมง แต่ถ้ามีอัตราการหยดน้อยกว่า 1.5 ลิตร ต่อชั่วโมง ความยาวของเทปน้ำหยดจะอยู่ที่ 150 เมตร ต่อเส้น ที่ต้องทำตามหลักการก็เพื่อให้พืชได้รับน้ำอย่างเต็มที่และทั่วถึงเพื่อไปใช้ในการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้น ต้องทำการแบ่งพื้นที่การให้น้ำก่อน จึงจะกำหนดความยาวเทปน้ำหยดได้ ตัวอย่างเช่น

แต่ถ้าเลือกระยะหยดที่ต่างไปจากตัวอย่าง แล้วมีปัญหาในการคำนวณและแบ่งพื้นที่ สามารถขอคำปรึกษาจากหน่วยงานของรัฐได้ที่:

  • สำนักงานเกษตรอำเภอ
  • สำนักงานเกษตรจังหวัด
  • ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร

แนวติดตั้งเทปน้ำหยด และท่อน้ำ 4 แบบ
แบบที่1 ติดวาล์วย่อยควบคุมแยกแต่ละแถว-ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายท่อเมนย่อย

แบบที่2 1 วาล์ว ต่อ 1 โซน-สะดวกในการทำงาน แต่มีค่าใช้จ่ายท่อเมนย่อยเพิ่มขึ้นมา

แบบที่3 ก้างปลา (ออก 2 ทาง)-เหมาะกับพื้นที่เรียบ ไม่ลาดเท

แบบที่4 พื้นที่ลาดเอียง

การติดตั้งระบบน้ำหยด

  1. ติดตั้งปั๊มน้ำ, กรองน้ำเกษตร และเดินท่อส่งน้ำเข้าถังน้ำ เมื่อติดตั้งตรงจุดนี้เรียบร้อยแล้วก็ทำการสูบน้ำเข้าถัง
  2. เดินท่อและติดตั้งวาล์วเปิด และปิดน้ำออกจากถังน้ำมายังท่อเมน
  3. วัดระยะเจาะท่อเมนย่อย ใส่ลูกยางท่อ PE และข้อต่อ ตามรอยเจาะ โดยใช้น้ำสบู่ช่วยให้เกิดความลื่น ง่ายต่อการติดตั้ง
  4. ต่อเทปน้ำหยดเข้ากับท่อเมนย่อยในแต่ละจุด เมื่อต่อเสร็จแล้วอย่าลืมรัดปลายท่อเพื่อกักน้ำ
  5. ต่อท่อเมนย่อยเข้ากับท่อเมนหลัก
  6. ทดลองปล่อยน้ำ

เมื่อเริ่มให้น้ำ น้ำจะหยดเฉพาะตรงที่มีรูน้ำหยด หลังจากนั้นประมาณ 1 ถึง 2 ชั่วโมง จะต้องสังเกตเห็นดินเปียกสม่ำเสมอทั้งแถบเทปน้ำหยด จากนั้นใช้ไม้แข็งๆ หรือเหล็กทดสอบดูว่าน้ำซึมลงดินไปลึกเท่าไหร่ โดยแทงไม้หรือเหล็กลงไปในดิน แทงได้ลึกเท่าไหร่ หมายถึงว่าน้ำซึมไปลึกเท่านั้น

การตรวจสอบแรงดันน้ำ
แรงดันน้ำเป็นหลักสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการให้น้ำหยด ถ้าแรงดันน้ำต่ำ น้ำหยดน้อยโดยเฉพาะปลายสาย จะได้น้ำน้อยกว่าต้นสาย ซึ่งจะทำให้พืชมีปัญหาการเจริญเติบโต เพราะพืชทั้งแปลงจะต้องได้รับน้ำในปริมาณเท่าๆ กัน ต่างกันได้นิดหน่อยไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์ ซึ่งผลเสียอื่นที่ตามมาคือ อายุการใช้งานของเทปน้ำหยดจะสั้นลง เพราะเมื่อใช้ไปสักระยะ เทปน้ำหยดจะอุดตัน เพราะน้ำไม่มีแรงดันเศษดิน เศษหินผ่านรูได้ แรงดันน้ำที่ดี จะต้องไม่ต่ำกว่า 0.4 บาร์ หากไม่มีเครื่องมือหรือเกจวัดแรงดันน้ำ ให้ใช้นิ้วมือยกเทปน้ำหยดขึ้นขณะให้น้ำ ถ้าเทปหักเป็นมุม คือผลของแรงดันน้ำที่ต่ำ ถ้าแรงดันน้ำอยู่ในระดับที่ดี เทปน้ำหยดจะไม่งอเป็นมุม

เคล็ดลับการใช้ท่อน้ำ

  • ถ้าใช้เทปน้ำหยดเป็นจำนวนมาก ต้องใช้ท่อเมนย่อย หรือท่อ PE ที่ขนาดใหญ่ขึ้น เพราะท่อเล็กจะจ่ายน้ำได้น้อยเพราะมีแรงเสียดทานในท่อ น้ำไหลแรง แต่จะใช้เวลาในการจ่ายน้ำมากกว่าท่อใหญ่
  • ท่อใหญ่ น้ำไหลแรงน้อยกว่า แต่ใช้เวลาในการจ่ายน้ำน้อยกว่า ได้ปริมาณน้ำมากกว่า ส่งได้ระยะทางไกลกว่า

ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์
ระบบน้ำแบบนี้ที่พบเห็นกันได้บ่อย แต่จะใช้กับพืชบางประเภทเท่านั้น ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ เป็นการจำลองการให้น้ำแบบฝนตกมานั่นเอง ฝอยน้ำจากหัวฉีดกระจายหมุนพรมน้ำไปจนทั่วพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูก ฝอยน้ำมีรัศมีอยู่ที่ประมาณ 15 ถึง 70เมตร ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ อุปกรณ์ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ หลักๆ แล้วจะใช้อุปกรณ์เหมือนกับระบบน้ำหยด ต่างกันตรงที่อุปกรณ์สำคัญของระบบคือ

  • หัวสปริงเกลอร์
    เช่น สปริงเกลอร์สายฝน หรือจะเลือกใช้เป็นชุดหัวพ่นหมอก ซึ่งเหมาะสำหรับผักไฮโดรโปนิกส์, กล้วยไม้, พืชผักเมืองหนาว และดอกไม้เมืองหนาว
  • สายไมโคร
    แข็งแรง ทนทานต่อแรงยืด และแรงบิดได้ดี รองรับแรงดันน้ำมากได้ แต่ใช้แรงดันน้ำเพียง 0.5 บาร์ ทำให้ประหยัดน้ำ ส่งน้ำได้สม่ำเสมอ ไม่อุดตัน ทนต่อทุกสภาวะอากาศ ที่สำคัญติดตั้งง่าย
  • ข้อต่อและลูกยางระบบน้ำสปริงเกลอร์ ต้องเลือกใช้ข้อต่อให้ตรงกับหัวฉีด สายไมโคร
    ขาตั้งชุดหัวฉีด หรือทำราวแขวนสายไมโครไว้เหนือต้นพืช

การติดตั้ง
ขั้นตอนเดียวกันกับระบบน้ำหยด ขอแนะนำว่า ควรติดตั้งหัวสปริงเกลอร์หลายๆ หัว เพื่อให้พืชได้รับน้ำอย่างทั่วถึงในปริมาณที่เท่ากัน

ระบบมินิสปริงเกลอร์
ชุดอุปกรณ์จะต่างกันที่หัวฉีดมีขนาดเล็กกว่าระบบสปริงเกลอร์ ติดตั้งบริเวณโคนต้นพืช ระบบมินิสปริงเกลอร์มีหลักการทำงานที่คล้ายกับระบบสปริงเกลอร์ รัศมีการพ่นอยู่ประมาณ 1 ถึง 3 เมตรเท่านั้น เป็นระบบที่ประหยัดน้ำมาก เหมาะในการใช้ให้น้ำไม้ผล

ระบบน้ำเหวี่ยง
อุปกรณ์ต่างจากระบบมินิสปริงเกลอร์ เพียงแค่ หัวปล่อยน้ำ ปริมาณน้ำและรัศมีมากกว่าหัวฉีดมินิสปริงเกลอร์ ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้

ระบบน้ำพุ่ง
อุปกรณ์การส่งน้ำใช้ชุดเดียวกันกับระบบน้ำหยด แต่ใช้สายน้ำพุ่งต่อจากท่อเมนย่อย แทนเทปน้ำหยด สายน้ำพุ่งมีระยะรูห่างหลายขนาด เช่น ชนิด 2 รู ระยะรูห่าง 10 เซนติเมตร ระยะน้ำพุ่งประมาณ 2 ถึง 3 เมตร ทนแรงดันน้ำ 2.0 บาร์ หรือ ชนิด 5 รู ระยะรูห่าง 20 เซนติเมตร ระยะน้ำพุ่ง 2 ถึง 3 เมตร ทนแรงดันน้ำ 2.0 บาร์ เป็นต้น เพราะฉะนั้น เวลาเลือกต้องพิจารณาว่า ระยะห่างของต้นพืชใกล้เคียงกับสายน้ำพุ่งชนิดใด หรือพืชต้องการน้ำมากน้อยแค่ไหน ซึ่งระบบน้ำพุ่งนี้เหมาะกับพืชปลูกในระยะที่ชิดกัน เช่น ผัก อีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกว่าจะใช้การให้น้ำระบบใดที่เหมาะสมกับพืชผักที่เกษตรกรเพาะปลูก ต้องศึกษาว่าพืชต้องการอาหารทางใบหรือทางรากเท่านั้น ก็จะช่วยให้เกษตรกรดูแลต้นพืชได้ถูกวิธี ช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำและได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพที่สูง ได้ผลกำไรตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่า

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล: www.kasetdd.com, www.youtube.com การวางระบบน้ำหยด ในการทำการเกษตรอย่างถูกต้อง-เกษตรดีชี้ทางรวย)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *