มะเขือม่วง

มะเขือม่วง

มะเขือม่วง มีประโยชน์มาก มีความกรอบอร่อย รสหวานคล้ายกับมะเขือเปราะ ต่างกันที่สีผล พันธุ์ที่ปลูกส่วนมากมีลักษณะเรียวยาว นิยมทั้งรับประทานสด และนำไปประกอบอาหาร ทั้งในทวีปอเมริกา และยุโรปที่นิยมรับประทานอย่างมาก ส่วนในเอเชียนั้น ประเทศญี่ปุ่น นิยมรับประทาน และเป็นประเทศที่เราส่งออกไปจำหน่ายมากที่สุด ส่วนประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก เพราะคนไทยยังนิยมมะเขือเปราะที่มีสีเขียวมากกว่า

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ของ มะเขือม่วง
เป็นไม้ล้มลุกอายุข้ามปี

  • ลำต้น มีการแตกกิ่งมาก จนแลดูเป็นทรงพุ่มหนา สูงตั้งแต่ 50 ถึง 150 เซนติเมตร เปลือกลำต้นบาง มีสีม่วงหรือสีเขียว ส่วนเนื้อไม้ด้านใน เป็นไม้เนื้ออ่อน สีขาว เปราะหักง่าย
  • ราก ประกอบด้วยรากแก้ว และรากแขนง
  • ใบ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ แตกออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับกันบนกิ่ง ก้านใบยาวประมาณ 5 ถึง 8 เซนติเมตร กว้างประมาณ 8 ถึง 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบ มีขนปกคลุม ขนบนใบด้านล่างหนากว่าด้านบน และมีสีเทา แผ่นใบมีเส้นกลางใบนูนสีม่วง มองเห็นได้ชัดเจน
  • ดอก ออกดอกได้ทั้งแบบดอกเดี่ยวหรือดอกช่อ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ดอกมีสีม่วง โคนกลีบ และกลางกลีบเชื่อมติดกัน ส่วนปลายกลีบแยกเป็นแฉก แต่ละกลีบมีกลางกลีบแหลม เป็นรูปสามเหลี่ยม จะบานในช่วงเช้า และบานติดต่อกันนาน 2 ถึง 3 วัน
  • ผล มีทั้งแบบทรงกลมหรือเป็นรูปไข่ยาว ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และยาวได้ประมาณ 5 ถึง 30 เซนติเมตร ก้านผลมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 3 ถึง 8 เซนติเมตร ถัดมาเป็นกลีบเลี้ยง จำนวน 5 กลีบ หุ้มบริเวณขั้วผล ส่วนตัวผลที่มีลักษณะเรียวยาว จะเรียวเล็กบริเวณใกล้ขั้วผล และขยายใหญ่ที่ท้าย เปลือกผลมีสีม่วงทั่วทั้งผล และเป็นสีม่วงตลอดอายุของผล เปลือกค่อนข้างหนามาก และติดเป็นส่วนเดียวกันกับเนื้อผล
  • เมล็ด กลม และแบนราบ ขนาดเมล็ดประมาณ 2 ถึง 3 มิลลิเมตร เมล็ดในผลอ่อนจะมีสีขาว เมื่อผลแก่เปลือกเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาลอ่อน

สายพันธุ์ มะเขือม่วง
พันธุ์มะเขือม่วงที่นิยมปลูก ได้แก่ มะเขือม่วงพันธุ์ตะวันตก มะเขือม่วงยาวของจีน และมะเขือม่วงพันธุ์ญี่ปุ่น ได้แก่
พันธุ์ผลกลม เช่น Toska, Black King
พันธุ์ผลกลมรี เช่น Beauty, Dusky, Epic, Black Enorma
พันธุ์ผลยาว เช่น Ichiban, Little Finger, Vernal
พันธุ์ที่นิยมปลูกในไทย

  1. พันธุ์ผลกลมหรือรูปไข่รี : ผลมีลักษณะกลม คล้ายหยดน้ำ หรือเป็นรูปไข่รี ก้านผลมีสีเขียว แต่ผลมีสีม่วง
  2. พันธุ์ผลผอมยาว : ผลมีลักษณะผอมยาว มีสีม่วงหรือสีดำ

ประโยชน์มะเขือม่วง
ผลมะเขือม่วง ใช้รับประทานสดคู่กับอาหาร เช่น น้ำพริกปลาทู ลาบ ซุบหน่อไม้ และส้มตำ เป็นต้น
มะเขือม่วง ใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงมะเขือ ผัดมะเขือ และบาร์บีคิว เป็นต้น
เศษจากส่วนผล และลำต้นใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ
ลำต้น และใบสด ใช้สุมไฟเพื่อรมควันไล่เหลือบ ยุง
ผลมะเขือใช้เลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ด้วยการต้มรวมกับเศษผักอื่น หรือให้แบบสด

ข้อมูลจาก : โครงการหลวง

คุณค่าทางโภชนาการ ของ มะเขือม่วง
โปรตีน, ไขมัน, คาร์โบไฮเดรต, ใยอาหาร, น้ำตาล, แคลเซียม, เหล็ก, แมกนีเซียม, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม , โซเดียม, สังกะสี, วิตามิน ซี , ไทอะมีน, ไรโบฟลาวิน, ไนอะซีน, วิตามิน บี 6, โฟเลต, วิตามิน บี 12, วิตามิน เอ, วิตามิน อี, วิตามิน ดี, วิตามิน เค, กรดไขมันอิ่มตัว, คอเลสเตอรอล และคาเฟอีน

สรรพคุณมะเขือม่วง
ผล

  • ช่วยบรรเทาอาการไข้
  • ช่วยต้านเซลล์มะเร็ง ป้องกันการเกิดโรคในลำไส้
  • บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • รักษาต่อมน้ำนมอักเสบ
  • ช่วยขยายเส้นเลือด
  • ป้องกันการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด
  • ป้องกันโรคอัมพาต
  • ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
  • ช่วยลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ
  • ช่วยลดระดับความดันเลือด ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยกระตุ้นการเผาพลาญพลังงาน
  • ช่วยขับพยาธิ
  • ช่วยลดการอักเสบ
  • แก้อาการร้อนใน
  • ป้องกันการแข็งตัวของเลือด
  • ช่วยให้แผลแห้ง และหายเร็ว
  • บรรเทาปวด และลดอาการบวมของบาดแผล
  • รักษาอาการเลือดออกทางทวาร
  • ช่วยรักษาฝี

ใบ

  • ใบสด นำมาต้มดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการร้อนใน
  • น้ำต้มจากใบ แก้อาการปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะออกยาก
  • ใบสด นำมาบดพอกรักษาแผล แก้น้ำหนองไหล
  • ใบสด ขยำให้เกิดน้ำ ใช้พอกบนแผลสด ช่วยในการห้ามเลือด
  • ใบสดใช้เคี้ยวบ้วนในปาก แก้แผลอักเสบในปาก แก้เหงือกอักเสบ
  • ใบสดนำมาต้มอาบ ช่วยรักษาโรคผิวหนัง แก้อาการผดผื่นคัน

ราก

  • รากใช้ต้มน้ำดื่ม แก้อาการเบื่อเมา
  • น้ำต้มจากรากช่วยบรรเทาอาการไอ อาการเจ็บคอ ช่วยลดเสมหะ
  • น้ำต้มจากราก ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ
  • รากสดนำมาตำบด ก่อนใช้ประคบรักษาแผลอักเสบ แผลเป็นหนอง ช่วยให้แผลหายเร็ว

ขั้นตอน การปลูกมะเขือม่วง
การเพาะกล้า
การเพาะในแปลงเพาะ

  • ให้ไถพรวนแปลง กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวตามปริมาณที่ต้องการเพาะ
  • โรยรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก คลุกผสมดินให้เข้ากัน จากนั้น หว่านเมล็ด และคราดเกลี่ยหน้าดินกลบเล็กน้อย แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การเพาะในถาดเพาะกล้า

  • ให้ผสมดินด่วนร่วนร่วมกับปุ๋ยคอก อัตราส่วน 1 ต่อ 3 หรือใช้วัสดุอินทรีย์อื่นผสมร่วม เช่น แกลบดำ และขุยมะพร้าว
  • หยอดเมล็ดลงหลุมกระบะ 2 เมล็ด ต่อหลุม เกลี่ยดินกลบเล็กน้อย
  • รดน้ำให้ชุ่มเมื่ออายุต้นกล้าได้ประมาณ 10 ถึง 15 วัน หรือมีใบจริงแล้ว 3 ถึง 5 ใบ จึงย้ายต้นกล้าลงปลูกในแปลง

การเตรียมแปลงปลูก

  • แปลงปลูกควรเตรียมแปลงด้วยการไถพรวนดิน 2 รอบ เพื่อพลิกหน้าดิน และตากไว้ 7 ถึง 10 วัน
    ***ก่อนไถรอบที่ 2 ให้หว่านรองพื้นด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 3 ถึง 4 ตัน ต่อไร่***
  • กำจัดวัชพืชออกให้หมด
  • ไถยกร่อง (หรือไม่ไถยกร่องก็ได้ ระยะห่างของร่องประมาณ 80 ถึง 100เซนติเมตร

การย้ายกล้า และการปลูก

  • การปลูกมะเขือม่วง นิยมปลูกช่วงต้นฤดูฝน จนถึงก่อนถึงปลายฤดูฝน แต่ถ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล
  • ขุดหลุมปลูก ลึกประมาณ 8 ถึง 15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวสำหรับไถยกร่องหรือไม่ยกร่อง ประมาณ 80 ถึง 100 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมหรือต้น ประมาณ 80 ถึง 100 เซนติเมตร
  • การย้ายกล้าปลูก ให้รดน้ำจนชุ่มก่อน และลงปลูกหลังย้ายทันที
  • นำกล้ามะเขือลงปลูก กลบโคนต้น และรดน้ำให้ชุ่ม

การให้น้ำ
หลังการปลูก 10 ถึง 15 วันแรก ควรให้น้ำทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า จนต้นตั้งตัวได้ จากนั้น ลดเหลือ 3 ถึง 4 ครั้ง ต่อสัปดาห์

การใส่ปุ๋ย

  • ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกหลังปลูก 20 ถึง 25 วัน ให้ใส่ปุ๋ยคอก 2 ถึง 3 กำมือ ต่อต้น
  • ครั้งที่ 2 ใส่เมื่ออายได้ประมาณ 45 ถึง 50 วัน

การกำจัดวัชพืช
อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง จนต้นมีอายุได้ ประมาณ 3 เดือน จึงปล่อยตามธรรมชาติ

การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูมะเขือม่วง
ติดตามในบทความ โรคมะเขือ และบทความ แมลงศัตรูมะเขือม่วง

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
มะเขือม่วงมีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 45 ถึง 60 วัน หลังปลูก และเก็บผลได้ต่อเนื่องนาน 4 ถึง 5 เดือน ทั้งนี้ ควรใช้กรรไกรตัดขั้วผลแทนมือเด็ด เพื่อป้องกันยอดเสียหาย และลำต้นถอน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.puechkaset.com, หนังสือ แนวทาง…และแบบอย่างการเพาะปลูกสารพัดมะเขือทำเงิน สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ จันทรา อู่สุวรรณ)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *