พืชหมุนเวียน

พืชหมุนเวียน

พืชหมุนเวียน
พืชหมุนเวียน ซึ่งผู้เขียนได้แนะนำไว้ในหลายบทความ ให้เกษตรกรปลูก และในปัจจุบัน หน่วยงานภาครัฐได้ส่งเสริมและรณรงค์ให้มีการปลูกพืชหมุนเวียน หลังปลูกข้าว หรือปลูกหลังนา และการปลูกพืชหมุนเวียน ในพื้นที่เพาะปลูกพืชล้มลุกอื่นๆ

ประโยชน์ของ การปลูกพืชหมุนเวียน

  1. เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
  2. เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำชลประทาน
  3. เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงดิน
  4. เพื่อสร้างรายได้เสริม ในช่วงที่เกษตรมีการพักนา หรือพักการเพาะปลูกพืชไร่ตามฤดูกาล
  5. เพื่อลดการนำเข้าปุ๋ยและสารเคมี
  6. เพื่อเพิ่มผลผลิตพืชไร่บางชนิด ทดแทนการนำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง เป็นต้น

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ในการปลูกพืชหมุนเวียน
พืชที่ใช้ปลูกเป็นพืชหมุนเวียนนั้น มีหลากหลายชนิด แต่การนำมาปลูกนั้น ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ :

ฤดูกาลที่เหมาะสมกับชนิดพืชที่นำมาปลูก

  1. สภาพความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูก
  2. ผลผลิตและผลตอบแทนที่จะได้รับ

พืชที่เหมาะสม สำหรับ การปลูกพืชหมุนเวียน

  1. ปอเทือง
  2. ข้าวโพดหวาน—แนะนำ ข้าวโพดหวานญี่ปุ่น
  3. ถั่วลิสง
  4. ถั่วเหลือง
  5. ถั่วเขียว
  6. ถั่วพุ่ม
  7. โสนอัฟริกัน
  8. มะเขือเทศ

ขอเริ่มต้นที่ ปอเทือง ก่อนนะคะ

1.1 ปอเทือง
ปอเทือง ในบางท้องถิ่นเรียกปอเทืองว่า คำบูชาเทือง บัวสา มะคำไก่ดง ส้มปูขม และหิ่งห้อยโคก เป็นต้น ปอเทืองเป็นพืชล้มลุก ฤดูเดียว นิยมปลูกปอเทือง เป็น พืชหมุนเวียน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เป็นลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านเป็นจำนวนมาก ลำต้นสูงประมาณ 1.8 ถึง 3 เมตร
ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนานแกมรี
ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด หรือปลายกิ่งก้าน มีดอกย่อยประมาณ 8 ถึง 20 ดอก สีเหลือง รูปดอกถั่ว
ผล เป็นฝัก รูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 3 ถึง 6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร
เมล็ด มีเมล็ดประมาณ 6 เมล็ด ต่อ 1 ฝัก

ประโยชน์ของปอเทือง
ปอเทืองเป็นพืชตระกูลถั่ว ให้น้ำหนักสดต่อไร่สูงตั้งแต่ 2 ถึง 5 ตัน ต่อไร่ ให้ธาตุอาหารโดยเฉพาะไนโตรเจนในปริมาณที่สูง เมื่อมีการไถกลบ

จุดประสงค์การปลูกปอเทือง

  • ใช้เพื่อปรับปรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารให้กับดิน
  • เป็นปุ๋ยพืชสด

พื้นที่ที่เหมาะสม

  • พื้นที่ดอน

ฤดูกาลที่เหมาะสม

  • ช่วงต้นฤดูฝน เหมาะสำหรับการปลูกปอเทืองเพื่อใช้ปรับปรุง บำรุงดิน
  • ช่วงเดือนตุลาคม ถึง เดือนธันวาคม เหมาะสำหรับการเก็บเมล็ดพันธุ์ เพราะจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

เคล็ดลับเพิ่มเติมในการปลูกปอเทืองบำรุงดิน

  • ก่อนการปลูกพืชหลักอย่างน้อย 2 เดือน เช่น ก่อนการปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น
  • หลังจากการปลูกพืชหลักประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ โดยปลูกแซมระหว่างแถวของพืชหลัก

การปลูกปอเทือง

วิธีการเพาะปลูก

  • ใช้วิธีหว่าน หรือโรยเมล็ด

ขั้นตอน การปลูกปอเทือง
การปลูกปอเทือง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ

  1. ปลูกโดยไม่ต้องเตรียมดิน
    ก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชหลัก –หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองก่อนการเก็บเกี่ยว 1 ถึง 2 วัน แต่อาจทำให้สุญเสียเมล็ดพันธุ์ปอเทืองไปกับการเก็บเกี่ยว
    หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชหลัก—หว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทืองตามร่องรถเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือกระจายทั่วแปลงเพาะปลูก
  2. ปลูกโดยการเตรียมดิน
    ใช้รถไถดินในขณะที่ยังมีความชื้นอยู่ แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ปอเทือง จากนั้นคราดกลบเพื่อให้เมล็ดพันธุ์งอกได้สม่ำเสมอ และเจริญเติบโตได้ดี

การดูแลรักษาปอเทือง หลังการเพาะปลูก
หลังการหว่านเมล็ดปอเทืองประมาณ 3 ถึง 5 วัน เมล็ดจะงอกโดยอาศัยความชื้นในดิน ไม่ต้องให้น้ำ หรือให้ปุ๋ย ปอเทืองจะเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ

ช่วงอายุของการเจริญเติบโต

  • หลังการหว่านเมล็ด 50 ถึง 60 วัน ดอกปอเทืองจะเริ่มบานจากข้างล่างขึ้นข้างบน หลังจากนั้นดอกจะโรยและติดฝัก โดยติดฝักจากข้างล่างก่อนเช่นเดียวกัน
  • เมื่อปอเทืองมีอายุ 120 ถึง 130 วัน ฝักจะแก่ และเก็บเกี่ยวได้

แมลงศัตรูปอเทือง

  • หนอนผีเสื้อ จะเจาะฝักกินเมล็ดข้างใน ส่วนใหญ่พบการระบาดไม่มาก ไม่ต้องกำจัด ปล่อยตามธรรมชาติ

 

การเก็บเกี่ยวผลผลิต

  1. เมื่อปอเทืองมีอายุประมาณ 50 ถึง 60 วัน เกษตรกรบางรายจะไถ หรือสับกลบพื้นที่ ในขณะที่ดินยังมีความชื้นอยู่ แล้วทิ้งไว้ 7 ถึง 10 วัน จึงทำการปลูกพืชหลัก
  2. ใช้เคียวเกี่ยวผึ่งแดดไว้ 3 ถึง 4 แดด นำมาใส่กระสอบแล้วทุบฝักให้แตก หรือนำมากองในผ้าใบบนลานกว้าง แล้วใช้รถย่ำ

***ปอเทืองให้ผลผลิตเฉลี่ย 80 ถึง 120 กิโลกรัม ต่อไร่***

ติดตาม พืชหมุนเวียน ในบทความ 1.1 ข้าวโพดหวาน ฯลฯ ด้วยนะคะ เพื่อผลตอบแทนที่ดีจากพื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์

(แหล่งข้อมูล : www.thaiarcheep.com, หนังสือ พืชหลังนา สนพ.นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ พัชรี สำโรงเย็น)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *