บวบ

บวบ ไม่ว่าจะเป็น บวบเหลี่ยม บวบหอม บวบงู เมื่อนำมาประกอบอาหารแล้ว ล้วนแต่ให้ความอร่อย บวบ ที่เรานิยมรับประทานมากที่สุด ก็เห็นจะเป็น บวบเหลี่ยม เพราะนอกจากจะรสชาติหวานอร่อยแล้ว ยังมีผลผลิตให้เราได้รับประทานกันตลอดทั้งปี บวบหอม ให้ผลผลิตเฉพาะฤดูฝน ส่วนบวบงู ให้ผลผลิตมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว

 

 

ลักษณะของบวบแต่ละสายพันธุ์

  1. บวบเหลี่ยม พันธุ์นี้เป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย มีทั้งพันธุ์เบาผลเล็กสั้น ขนาดยาวไม่เกิน 12 นิ้ว อายุจากวันปลูกถึงวันเก็บผลครั้งแรก 50 วัน เหมาะสำหรับปลูกรับประทานเองในสวนครัว และยังมีพันธุ์หนัก ชนิดผลยาวประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต อายุจากวันปลูกถึงวันเก็บผลครั้งแรก 75 วัน เหมาะสำหรับปลูกเป็นการค้า
  2. บวบหอม ชนิดผลสั้น มีลักษณะกลมรี ความยาวประมาณ 5 ถึง 6 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ถึง 4 นิ้วและชนิดผลยาว ลักษณะกลมรี ความยาวของผลประมาณ 24 นิ้ว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ถึง 6 นิ้ว อายุเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 75 ถึง 120 วัน
  3. บวบงู มีชนิดสีขาว สีเขียวลายขาว เนื้อหนา และรสหวานดี ผลยาว ประมาณ 2 ถึง 3 ฟุต แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าบวบเหลี่ยม

 

 

 

 

 

 

 

บวบเป็นไม้เลี้อยอีกชนิดหนึ่งที่เหมาะจะปลูกเป็นพืชผักสวนครัว หรือเพื่อจำหน่าย มีรสหวาน ใช้ทำอาหารได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะต้ม แกง ผัด หรือจิ้มน้ำพริก เมนูอาหารที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดี คือ ผัดบวบใส่ไข่ และแกงเลียง ที่มีบวบเป็นส่วนประกอบ

ลักษณะทั่วไปของบวบ
บวบเป็นไม้เถายาว เจริญเติบโตได้เร็ว มีอายุประมาณ 1 ปี เป็นพืชตระกูลเดียวกับแตงทั้งหลาย แต่อยู่ในสกุลลุฟฟ่า (Luffa)
ลำต้น เป็นเหลี่ยมสัน ตามข้อมีมือที่ใช้เกาะเกี่ยวเป็นเส้นยาว
ใบ เป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับกัน แผ่นใบเป็นรูปเหลี่ยมมีราว 5 ถึง 7 เหลี่ยม ตามขอบใบมีรอยเว้าตื้นๆ ปลายใบค่อนข้างแหลม ส่วนโคนใบเว้าลึกเข้าด้านในจนดูคล้ายกับรูปหัวใจ ก้านใบยาวราว 4 ถึง 9 เซนติเมตร และเป็นเหลี่ยมเหมือนกับลำต้น
ดอก เป็นสีเหลือง ออกดอกตามง่ามใบ ทั้งแบบเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือเป็นช่อ โดยมีดอกทั้งตัวเมียและตัวผู้อยู่บนต้นเดียวกัน
ผล เป็นรูปทรงคล้ายกระบอกกลม ยาวราวๆ 20 เซนติเมตร ผลบวบเหลี่ยม ผิวมีเหลี่ยมเป็นเส้นไปตามความยาวของผล นับได้ 10 เหลี่ยมเท่ากันทุกผล โคนผลและปลายผลเรียวเล็ก ให้ผลดกและงามยามหน้าฝน

คุณประโยชน์ของบวบ
เป็นผักธาตุเย็น ซึ่งถ้ากล่าวถึงสรรพคุณทางยาก็ถือว่าเป็นสมุนไพรเย็น ช่วยคลายความร้อนได้ดี และมีคุณค่าทางพืชสมุนไพรมีเส้นใยสูง ฟอสฟอรัสในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ธาตุเหล็กที่ช่วยสร้างเม็ดเลือด และแร่ธาตุอีกหลายชนิด ทำให้บวบมีคุณประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

  • ช่วยเสริมสร้างฟันและกระดูก
  • เป็นยาแก้ร้อนใน
  • ช่วยระบายท้อง ช่วยขับปัสสาวะ และช่วยแก้อาการปัสสาวะเป็นเลือด
  • ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ
  • ลดไข้
  • บำรุงร่างกาย
  • บรรเทาอาการม้ามโต และริดสีดวงทวาร
  • ใช้ถอนพิษได้ดี ทั้งพิษแมลงสัตว์ กัด ต่อย แก้พิษคัน
  • สำหรับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ให้ดื่มน้ำที่ต้มจากใบบวบ

บทความนี้ ผู้เขียนขอนำเสนอ การปลูกบวบเหลี่ยม สำหรับท่านผู้อ่านได้ทดลองปลูกไว้รับประทานในครัวเรือน และอาจต่อยอดเป็นรายได้เสริม หรือรายได้หลัก หลังจากได้เรียนรู้วิธีการปลูกบวบแล้ว

การปลูกบวบเหลี่ยม
‘บวบเหลี่ยม’ เป็นชื่อที่คนไทยภาคกลางเรียกกัน ทางภาคเหนือเรียกว่า ‘หมักนอย’ ‘มะนอยเหลี่ยม’ หรือ ‘มะนอยเลียม’ บางท้องถิ่นเรียก ‘มะนอย’ ‘มะนอยข้อง’ หรือ ‘มะนอยงู’

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกบวบเหลี่ยม

  • สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด และดินค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย มีความชื้นสูงพอเหมาะสม่ำเสมอ
  • เป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงแดดเต็มที่ในระหว่างการปลูก
  • อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20 ถึง 30 องศาเซลเซียส สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล
    ข้อดีของการปลูกบวบ
  • ปลูกง่าย และดูแลง่าย
  • บวบเป็นพืชที่สมบุกสมบัน ทนแล้ง ทนฝน โรคและศัตรูพืชไม่รบกวน

ข้อควรระวัง
ในระยะแรก หลังการปลูกจนถึงขึ้นค้าง มักมีแมลงกัดยอด แต่พอถอดยอดขึ้นค้างแล้วก็จะไม่มีแมลงมารบกวน
การขยายพันธุ์
บวบขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเมล็ด โดยนำผลบวบที่แก่คาต้นมาแกะเมล็ด แล้วนำไปผึ่งแดดจนแห้ง เก็บใส่ภาชนะให้มิดชิดจนกว่าจะนำไปปลูก

ขั้นตอนการปลูกบวบเหลี่ยม

การเตรียมดิน

  • ไถพลิกดินลึกประมาณ 20 ถึง 25 เซนติเมตร เพราะบวบเหลี่ยมเป็นผักที่มีระบบรากลึกปานกลาง
  • ตากดินไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน
  • คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วลงไปในดิน 30 ถึง 40 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าพื้นที่เพาะปลูกเป็นดินทรายและดินเหนียวต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับสภาพของดินให้ดีขึ้นและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • ถ้าดินเป็นกรด ควรใส่ปูนขาวปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • ย่อยดินและพรวนดินให้ละเอียดร่วนโปร่งพร้อมที่จะปลูกได้

 

วิธีปลูก

  • หยอดเมล็ดพันธุ์โดยตรงลงในแปลงหลุมละ 4 หรือ 5 เมล็ด ฝังให้ลึกลงไปในดินประมาณ 2 ถึง 4 เซนติเมตร
  • ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ ระยะระหว่างต้น 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 100 เซนติเมตร
  • จากนั้นกลบเมล็ดด้วยดินร่วนหรือปุ๋ยคอกหนาประมาณ 1 เซนติเมตร
  • คลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้ง รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวันในตอนเช้าหรือเย็น
  • เมื่อต้นกล้างอกอายุได้ประมาณ 10 ถึง 15 วันหรือมีใบจริง 2-4 ใบ ให้ถอนแยกต้นที่อ่อนแอหรือต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง ให้เหลือไว้หลุมละ 3 ต้น

การดูแลบวบ หลังการปลูก

การให้น้ำ

  • รดน้ำทุกวัน ๆ ละ 1 ครั้ง (เช้าหรือเย็น) หากเป็นฤดูแล้ง ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ทั้งเช้าและเย็น หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ บวบจะเริ่มเลื้อย ให้ทำค้างเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะ
  • ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ ไม่ควรให้บวบเหลี่ยมขาดน้ำในระยะออกดอกและติดผล เพราะทำให้ดอกร่วงและไม่ติดผล ถ้าใช้ระบบการให้น้ำแบบปล่อยตามร่องจะให้ผลดี และหลีกเลี่ยงการให้น้ำแบบพ่นฝอยเพราะจะทำให้เกิดปัญหาโรคทางใบได้

การทำค้าง

เมื่อบวบเหลี่ยมเริ่มเลื้อยหรือเมื่ออายุประมาณ 15 ถึง 20 วัน ควรทำค้างเพื่อให้บวบเลื้อยเกาะขึ้นไป การปลูกแบบปล่อยให้ต้นเลื้อยไปตามพื้นดินโดยไม่ทำค้าง จะทำให้ผลบวบมีรูปร่างงอโค้งไม่สวย จำหน่ายไม่ได้ราคา การทำค้างให้บวบเหลี่ยมสามารถทำได้ 3 แบบ คือ

  1. ปักไม้ค้างยาวประมาณ 2 ถึง 2.5 เมตร ทุกหลุม แล้วเอนปลายเข้าหากัน มัดไว้ด้วยกัน แล้วใช้ไม้ค้างพาดขวางประมาณ 2 ถึง 3 ช่วง ทุกๆ ระยะ 40 ถึง 50 เซนติเมตร
  2. ทำเป็นร้านโดยใช้ไม้ค้างผูกเป็นร้านสูงประมาณ 1.5 ถึง 2 เมตร หรือระยะสูงพอเหมาะที่สะดวกต่อการทำงาน นอกจากนี้อาจใช้ค้างธรรมชาติที่มีอยู่แล้ว เช่น ไม้พุ่มเล็กๆ รั้วบ้าน ฯลฯ ซึ่งเหมาะสำหรับการปลูกแบบสวนครัว
  3. ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้รวกปักบริเวณต้นบวบแต่ละต้น และใช้ไม้หรือลวดผูกยึดปลายไม้ด้านบนให้ติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม

การใส่ปุ๋ย

  • เมื่อบวบอายุประมาณ 20 ถึง 30 วัน ให้พรวนดินรอบโคนต้น ห่างจากโคนประมาณ 10 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักประมาณ 1 กำมือ แบบโรยข้าง จากนั้นพรวนดินกลบและรดน้ำตามทันที
  • หลังจากบวบได้ประมาณ 45 วัน บวบจะเริ่มออกดอก และเริ่มติดผล ควรใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 1 กำมือ รอบโคนต้น(ทำตามวิธีข้างต้น) ต่อเนื่องกันไปสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อบำรุงต้นบวบ

การเก็บเกี่ยว

  • หลังติดผลประมาณ 7 วัน หรืออายุ 50 ถึง 60 วัน จึงเก็บเกี่ยวผลได้ โดยเก็บขณะที่ผลยังอ่อนอยู่ เนื้อผลอ่อนนุ่มได้ขนาดพอเหมาะ ซึ่งผลจะมีขนาดยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร ควรเก็บเกี่ยวก่อนที่ผลเริ่มแข็งและพองออก ไม่ควรทิ้งให้ผลแก่คาติดต้น เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลง

โรคและแมลงศัตรูบวบ
เต่าแตง
เต่าแตงมีอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดสีดำ และชนิดสี ส่วนใหญ่จะพบสีแดง เต่าแตงเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดลำตัวยาว 0.8 เซนติเมตร ปีกคู่แรกแข็งเป็นมัน ลำตัวค่อนข้างยาว เคลื่อนไหวช้า จะพบเสมอเวลากลางวันที่มีแดดจัด ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดิน ลักษณะหนอนสีขาวยาวตัวเต็มวัยของเต่าแตงสามารถมีอายุได้ถึง 100 วัน ตัวแก่จะกัดกินใบ ในการระบาดขั้นรุนแรง จะทำให้บวบชะงักการทอดยอด ส่วนตัวอ่อนอาศัยอยู่ในดินโดยกัดกินราก บวบที่ถูกเต่าแตงเข้าทำลายจะทำให้ผลผลิตลดลงและผลมีขนาดเล็กลง

การป้องกันและกำจัด

  • หมั่นสำรวจต้นบวบในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด
  • หากพบเต่าแตง ให้ใช้มือจับไปทำลาย
  • หลังเก็บเกี่ยวผลหมดแล้วไม่ควรปล่อยต้นบวบทิ้งไว้บนแปลง ควรถอนทำลายเพื่อไม่ให้กลายเป็นแหล่งสะสมของเต่าแตง
  • หากการระบาดรุนแรงควรเลือกใช้สารเคมีฆ่าแมลง เช่น คาร์บาริล หรือเซฟวิน 85 ในอัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเป็นครั้งคราว สำหรับเซฟวิน 85 ไม่ควรใช้เกินอัตราที่แนะนำ เพราะอาจทำให้ใบไหม้ได้

เทคนิคการทำให้ผลบวบสวยและตรง

  • เมื่อผลบวบมีขนาดยาวประมาณ 15 ถึง 20 เซนติเมตร ให้ใช้ขวดเครื่องดื่มชูกำลังขนาด 150 cc. ผูกห้อยกับด้านปลายของผลบวบเพื่อเป็นตัวดึงผลบวบให้ตรงและผูกทิ้งไว้จนบวบเก็บเกี่ยวได้ (อาจจะใช้ถุงใส่ดินผูกก็ได้แต่ควรมีน้ำหนักใกล้เคียงกับขวดเครื่องดื่มชูกำลังขนาด 150 ซีซี)

การเลือกซื้อบวบ

  • เลือกผลบวบที่มีขั่วผลสด เขียวสวยเย็นตา ผลยาวตรง ไม่หักงอ ผลสีเขียวเข้ม เหลี่ยมเป็นสันคม

เคล็ดลับ : การต้มบวบให้หวานแบบธรรมชาติ

  • ทำได้โดยไม่ต้องปอกเปลือกบวบออกทั้งลูก เพียงแค่ปาดสันเหลี่ยมของบวบออก แล้วนำไปต้มเพียงเท่านั้น ก็จะได้รับประทานบวบต้มรสหวาน เนื้อใส ที่สำคัญคือช่วยรักษาคุณค่าทางอาหารไว้ได้ดี

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

(แหล่งข้อมูล : www.chiangmainews.co.th, www.kasetporpeang.com, www.kapook.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *