ธรรมชาติบำบัด บำรุง ปรับปรุงดิน

ธรรมชาติบำบัด

ธรรมชาติบำบัด บำรุง ปรับปรุงดิน
เป็นแนวทางปฏิบัติ ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนหลายองค์กรพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรนำมาแก้ปัญหาความเสื่อมสภาพของดินในพื้นที่เพาะปลูก แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อยที่ใช้ธรรมชาติบำบัด บำรุง ปรับปรุงดิน ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องหาทางแก้ปัญหาการเงิน แบบเฉพาะหน้า สำหรับการเกษตร ถ้าเกษตรกรไม่มองการณ์ไกลไปกว่าการได้รายได้มาหมุนเวียนในครอบครัว…ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ได้รายได้แค่หมุนเวียนจริงๆ ค่ะ ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรง จากเกษตรกรในละแวกใกล้เคียง ที่ทำนาข้าวติดต่อกันตลอดทั้งปีหลังการเก็บเกี่ยว ด้วยวิธี เผาตอซังข้าวเมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จ จากนั้นไถพลิกดินตามขั้นตอน หว่านข้าว ใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดฮอร์โมน ฉีดยากำจัดวัชพืช และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่ใช่ระบบอินทรีย์ ผลกำไรส่วนหนึ่งจากการเก็บเกี่ยวรุ่นก่อน ถูกนำมาเป็นต้นทุนให้กับสารต่างๆ ที่ต้องใช้ในนาข้าวรุ่นต่อมาทั้งสิ้น…เมื่อข้าวออกรวงก็ทำการเกี่ยว และปลูกข้าวต่อเป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดทั้งปีของทุกปี ผู้เขียนเคยตั้งคำถามถึงเรื่องสภาพดิน แต่ไม่เคยได้รับคำตอบจากเจ้าของที่นาแปลงดังกล่าว ได้รับเพียงแค่ท่าทีที่แสดงออกว่าไม่คำนึงถึงอะไรเลย นี่คือเกษตรกรที่ปฏิเสธทุกวิธีการที่ดีในการทำเกษตรอย่างยั่งยืน สิ่งที่ปฏิบัติคือ การทำวิธีการส่วนตัวเพื่อรายได้ที่มีต้นทุนสูง ซึ่งมาจากความคิดที่ปราศจากการมองการณ์ไกล (ขออนุญาตออกความคิดเห็นส่วนตัวสักนิดนะคะ เพราะได้เห็นแล้วรู้สึกหนักใจในฐานะมนุษย์ที่อยู่ในโลกใบเดียวกัน และรู้สึกหนักใจแทนเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่พยายามส่งเสริมและเผยแพร่วิธีการทำเกษตรอย่างยั่งยืน ไม่ต้องพูดถึงประโยชน์ระดับมหาชนหรือการอนุรักษ์ระดับประเทศนะคะ แค่เพียงว่า ดินในพื้นที่เพาะปลูกของเราควรมีความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตที่ได้ควรมีคุณภาพ มีสารอาหารครบถ้วน และปลอดสารเคมี อีกเรื่องหนึ่งคือ การประหยัดต้นทุนการผลิตที่สุดควรทำอย่างไร นี่แหละค่ะ คือสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม) ในบทความนี้ผู้เขียนขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับดิน ที่ใช้ในการเพาะปลูก เพื่อให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุดแก่เกษตรกร เกษตรกรมือใหม่ และผู้ที่สนใจการเพาะปลูกได้เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมและสามารถนำไปปฏิบัติในการบำรุง ปรับปรุงดิน ดังนี้

ดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก
ดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่

  1. คุณสมบัติทางเคมี คือ มีปฏิกิริยา ของดินที่เป็นกลาง ดินต้องไม่เป็นกรดเป็นด่างหรือมีความเค็มมากจนเกินไป และมีความสมดุลของธาตุอาหารพืช ประกอบด้วย
    – ธาตุอาหารพืชหลัก: ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และ โพแทสเซียม
    – ธาตุอาหารรอง: แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน
    – ธาตุอาหารเสริม: เหล็ก สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดินัม แมงกานีส และ คลอรีน
  2. คุณสมบัติทางกายภาพ คือ ดินต้องมีความสมดุลของอากาศและน้ำ ดินต้องมีโครงสร้างที่ดีมีความร่วนซุย มีความอ่อนนุ่มไม่แข็งกระด้าง ถ่ายเทอากาศได้ดี มีความสามารถในการระบายน้ำได้ดีและอุ้มน้ำได้ดี เม็ดดินเกาะกันอย่างหลวมๆ เพื่อช่วยให้รากพืชสามารถแผ่ขยายและชอนไชไปหาแร่ธาตุอาหารพืชได้ง่าย ในระยะที่กว้างไกล
  3. คุณสมบัติทางชีวภาพ คือ เป็นดินที่มีความสมดุลของจุลินทรีย์ และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดิน ที่เป็นประโยชน์ ในปริมาณมาก สามารถควบคุมจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินที่เป็นโทษแก่พืชได้เป็น อย่างดี และสามารถสร้างกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ แก่พืชได้ดี เช่น สามารถย่อยแร่ธาตุในดินที่ยังไม่เป็นประโยชน์แก่พืช หรือให้ประโยชน์แก่พืชน้อย ให้เป็นประโยชน์ แก่พืชและเพิ่มปริมาณที่มากขึ้น ตรึงธาตุอาหารพืชจากอากาศให้เป็นประโยชน์แก่พืช สร้างสารปฏิชีวนะปราบโรค และศัตรูพืช ในดินได้ เสริมสร้างพลังงานให้แก่พืชและทำลายสารพิษ ในดินได้

ลักษณะดินที่มีปัญหา

  • ขาดความอุดมสมบูรณ์ หรือมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
  • โครงสร้าง ของดินไม่ดี แน่นทึบ ไม่อุ้มน้ำ
  • มีจุลินทรีย์ในดินน้อย เนื่องจากสภาพที่ไม่เหมาะสมจากการได้ใช้ดิน เพื่อการเพาะปลูกพืชอย่างต่อเนื่องโดยขาดการปรับปรุงบำรุงดิน
  • ดินที่มีการทำการเกษตรกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือการใช้ดินผิดประเภท
  • มีปัญหาจากแหล่งกำเนิดของดิน เช่น ดินทราย ดินลูกรัง ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินเป็นด่าง เป็นต้น ทำให้ขาดความสมดุล ในด้านคุณสมบัติทางเคมี กายภาพ และชีวภาพ

ปัญหาด้านกายภาพ หรือด้านคุณภาพของดิน (จากการสำรวจ ของกรมพัฒนา ที่ดิน) จำแนกได้ดังต่อไปนี้

  1. ปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำและเสื่อมลง ดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำโดยธรรมชาติ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ ในเขตศูนย์สูตร อุณหภูมิสูง และ มีปริมาณฝนตกมาก การสลายตัวของหินแร่ ที่เป็นวัตถุต้นกำเนิดของดินเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีการชะล้างแร่ธาตุอาหารพืชออกไปจากดินในอัตราสูงในช่วงฤดูฝน ถูกพัดพาไปกับน้ำที่ไหลลงสู่ที่ต่ำ ได้แก่ แม่น้ำลำคลอง และลงสู่ทะเล จากการสลายตัวของหินแร่ในดินดำเนินไปอย่างมากและ รวดเร็ว ทำให้ดิน ในประเทศไทยส่วนใหญ่ ประกอบไปด้วย แร่ดินเหนียว เคโอลิไนต์ (kaolinite) แร่เหล็ก และอลูมินัมออกไซด์ (hydrous oxide clay) ซึ่งแร่ดินเหนียว พวกนี้มีบทบาทในการดูดซับแร่ธาตุอาหารและการเปลี่ยนประจุบวกต่ำ (low activity clay) จึงทำให้ความอุดมสมบูรณ์ ของดินตามธรรมชาติต่ำตามไปด้วย
  2. ดินที่มีปัญหาพิเศษ ดินบางชนิดที่มีคุณสมบัติทางกายภาพ และ ทางเคมีเป็นอุปสรรค หรือข้อกำจัดในการใช้ประโยชน์ ในการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกพืช จำเป็นต้องมีการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไข เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ของดินเหล่านั้น ดินที่มีปัญหาพิเศษนี้ แยกตามสภาพของปัญหาหรือข้อจำกัดได้ดังนี้
    – ดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน(acid sulfate soil)   เป็นดินที่มีค่าความเป็นกรด (ค่า pH) ต่ำกว่า 4.0 ตั้งแต่ชั้นถัดจากผิวดินลงไป และในชั้นที่มีสารสีเหลืองฟางข้าวเกิดขึ้น ค่า pH อาจลงต่ำถึง 3.5 หรือต่ำกว่า ถ้าในกรณีแบบนี้ดินไม่สามารถปลูกพืชอะไรได้แม้แต่ข้าว เนื่องจากมีสารพวกเหล็ก และอะลูมินัมละลาย ออกมาเป็นพิษต่อพืชและยังทำให้ธาตุที่จำเป็น ต่อการเจริญเติบโต ของพืชบางอย่างไม่ละลายให้เป็นประโยชน์ต่อพืชด้วย โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส จะถูกตรึงไว้และอยู่ในรูป ที่ไม่เป็นประโยชน์ ต่อพืช ดังนั้นจึงถือว่าเป็นดินที่มีปัญหาพิเศษ ที่จะต้องปรับปรุงและแก้ไขให้เกิดประโยชน์ ในการใช้เพาะปลูกได้ จึงมักถูกปล่อยทิ้งให้เป็นที่รกร้างเปล่าประโยชน์
    ดินเปรี้ยวจัด หรือดินกรดกำมะถัน พบว่ามีเนื้อที่ประมาณ 9.0 ล้านไร่ หรือร้อยละ 2.81 ของพื้นที่ประเทศไทย พบมากในที่ราบภาคกลางตอนใต้ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบกระจัดกระจายบริเวณชายฝั่งทะเลในสภาพพื้นที่ที่น้ำทะเลเคยท่วมถึงมาก่อน
    – ดินเค็ม เป็นดินที่มีเกลือที่ละลายน้ำได้เป็นองค์ประกอบอยู่สูงจนเป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูก ดินเค็มที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือ แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 17 ล้านไร่ หรือร้อยละ 5.5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังพบดินเค็มบริเวณชายฝั่งทะเล มีเนื้อที่รวมกันแล้วประมาณ 3 ล้านไร่ รวมกับดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ถึง 20 ล้านไร่ ซึ่งดินเค็มเหล่านี้ทำให้พืชมีผลผลิตที่ต่ำ บางแห่งไม่สามารถปลูกพืชได้เลย โดยเฉพาะบริเวณดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีคราบเกลือปรากฏขึ้นที่ผิวดินในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งแสดงว่าดินเค็มจัด ส่วนดินเค็มชายทะเลมีการใช้ประโยชน์
    ในการทำนาเกลือ ปลูกผลไม้ โดยการยกร่อง เช่น มะพร้าว และคงสภาพป่าชายเลนปกคลุม บางพื้นที่ใช้ประโยชน์ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เช่น กุ้ง หอย ปู และปลา เป็นต้น
    – ดินทรายจัด ที่พบในประเทศไทย แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ดินทรายธรรมดา ที่มีเนื้อที่เป็นทรายจัดลงไปลึก และดินทราย ที่มีชั้นดินดานจับตัวกันแข็ง โดยเหล็กและฮิวมัสเป็นตัวเชื่อม เกิดขึ้นภายในความลึก 2 เมตร แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นต่ำกว่า 1 เมตร จากผิวดินบน ดินทรายทั้ง 2 ประเภทนี้ มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติต่ำ และมีความสามารถ ในการอุ้มน้ำต่ำด้วย นอกจากนี้ ดินทราย ที่มีชั้นดินดานแข็ง เมื่อน้ำไหลซึมลงไปจะไปแช่ขังอยู่ เพราะชั้นดินดานดังกล่าวนี้ น้ำซึมผ่านได้ยากทำให้เกิดสภาพน้ำขัง รากพืชขาดอากาศ ทำให้ต้นพืชที่ปลูกชะงักการเจริญเติบโต
    ในสภาพปัจจุบัน ดินทรายจัดทำให้พืชมีผลผลิตต่ำ และพืชที่จะนำมาปลูกได้มีไม่มากนัก โดยเฉพาะดินทรายจัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงฤดูแล้งจะแห้งจัด และในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ในฤดูฝน ก็จะแห้งเร็ว เช่น เดียวกัน ดินทรายจัดที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลนั้นมักมีความชื้นสูงกว่าพื้นที่อื่น และสามารถปลูกไม้ผลบางชนิดให้ที่ผลอยู่ในเกณฑ์พอใช้ หรือค่อนข้างดีในบางพื้นที่ โดยเฉพาะใช้ปลูกมะพร้าว แต่อย่างไรก็ตาม ดินทรายจัดก็ยังนับว่าเป็นดินที่มีปัญหาพิเศษต้องทำการปรับปรุงแก้ไข เช่น ด้านความอุดมสมบูรณ์ ความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน และ การเลือกชนิดของพืชที่จะนำมาปลูก
    – ดินปนกรวด เป็นดิน ที่มีชั้นลูกรัง เศษหิน กรวดกลม และเศษหินอื่นๆ เกิดขึ้น ในความลึก 50 เซนติเมตร จากผิวดินบนและในชั้น ดินปนกรวดนั้นจะประกอบไปด้วยกรวด และเศษหินต่างๆ ที่มีขนาด 2 มิลลิเมตร อยู่มากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตร ชั้นกรวดหินนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการชอนไช ของรากพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ดินที่มีชั้นกรวดหินอยู่มักเป็นดินที่ขาดความชุ่มชื้น และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ มีข้อจำกัดในการเลือกชนิดของพืชมาปลูก ถ้านำมาใช้ปลูกพืชบางชนิดโดยเฉพาะไม้ยืนต้น ต้องจัดการเป็นพิเศษในการเตรียมหลุมปลูก
    ดินปนกรวด ที่พบ ในประเทศไทย มีเนื้อที่ประมาณ 52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 16.3 ของพื้นที่ทั้งประเทศพบมาก ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ภาคเหนือ ปัจจุบันยังใช้ประโยชน์ ในการเพาะปลูกน้อยปกคลุมด้วยป่าแดงโปร่ง พื้นที่ที่เป็นดินปนกรวดเหมาะที่จะเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนับเป็นการใช้ประโยชน์ ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับดินประเภทนี้
    – ดินบริเวณพื้นที่พรุ หรือ ดินอินทรีย์ เป็นดิน ที่เกิดในที่ลุ่มต่ำ มีน้ำเค็มและ น้ำกร่อยจากทะเลเข้าท่วมถึง มีชั้นเศษพืชหรือชั้นอินทรียสารที่สลายตัวดีแล้ว และกำลังสลายตัวสะสมกันเป็นชั้นหินตั้ง แต่ 50 เซนติเมตร ถึง 3 เมตร หรือหนากว่า เป็นดินที่มีความเป็นกรดจัด มีสภาพไม่อยู่ตัว ขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ชั้นอินทรีย์สาร และเป็นดินที่ขาดธาตุอาหารที่จำเป็น ต่อการเจริญเติบโต ของพืชค่อนข้างรุนแรง ดินอินทรีย์ นับว่าเป็นดินที่มีปัญหาพิเศษการพัฒนาที่ปรับปรุงแก้ไขค่อนข้างยาก และ ลงทุนสูงเมื่อเปรียบกับดินที่มีปัญหาอย่างอื่น ดินอินทรีย์ ที่พบมาก ในภาคใต้ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 5 แสนไร่ ที่พบมากและเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ ได้ แก่ จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่ประมาณ 4 แสนไร่ การใช้ประโยชน์มีน้อยจะใช้ ในการปลูกข้าวบริเวณริมๆ ขอบพรุเท่านั้น ส่วนใหญ่ในจังหวัดอื่นๆ ของภาคใต้ และภาคตะวันออกพบบ้างเป็นพื้นที่เล็กๆ และกระจัดกระจายอยู่ ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล
  3. ดินเหมืองแร่ ส่วนใหญ่พบในภาคใต้ โดยเฉพาะ ในจังหวัดพังงา ภูเก็ต และระนอง มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 159,000 ไร่ นอกจากนี้ยังพบในภาคตะวันออก และภาคเหนือที่มีการทำเหมืองแร่ แต่ยังไม่ได้ทำการสำรวจหาพื้นที่ว่ามีปริมาณเท่าไร แต่ อย่างไรก็ตาม ดินเหมืองแร่ร้างนับว่าเป็นดินที่มีปัญหาต่อการเกษตรเป็น อย่างมาก การปรับปรุงแก้ไขหรือการพัฒนาพื้นที่ และ ดินเสื่อมคุณภาพลง อย่างมาก พื้นที่เป็น ที่ราบขรุขระสูงๆ ต่ำๆ เนื้อดินมีหิน ทราย กรวดปนอยู่มาก และมักแยกกันเป็นส่วน ของเนื้อดินหยาบปนกรวดทรายส่วนหนึ่ง และเนื้อดินละเอียดจะไปรวมอยู่กัน ในที่ต่ำ พวกแร่ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างออกไปในขั้นตอนการทำเหมืองแร่ ฉะนั้นความอุดมสมบูรณ์ของดินเหมืองแร่ร้างจึงต่ำมาก การปรับปรุงดินเหมืองแร่ร้างต้องคำนึงทั้งการปรับระดับพื้นที่ คุณสมบัติทั้งด้านกายภาพ และเคมี รวมทั้งการเลือกชนิดของพืชมาปลูกให้เหมาะสมด้วย

ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน
ทำให้ดิน เสื่อมโทรมนับว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในประเทศ จำเป็นต้องมีการป้องกันแก้ไข เพื่อรักษาคุณภาพ ของดินให้เหมาะสม และใช้ประโยชน์ในระยะเวลายาวนาน การชะล้างพังทลายของดิน ในประเทศไทยเกิดขึ้น ใน 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ

  1. การชะล้างพังทลายที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ศูนย์สูตรและมีปริมาณฝนตกมาก ดินบริเวณที่ลาดเทจะถูกน้ำฝนกัดกร่อนชะล้างออกไปสู่ที่ต่ำ เมื่อน้ำฝน ไหลบ่าบนผิวดินในขณะฝนตกและหลังฝนตก เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จะเกิดขึ้นมากบริเวณที่เป็นภูเขามีความลาดเทของพื้นที่สูงและมีป่าไม้ปกคลุมไม่หนาแน่น ถ้าเป็นบริเวณที่ราบเรียบหรือค่อนข้างราบเรียบ ป่าไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น การชะล้างพังทลายในลักษณะนี้มักไม่เกิดหรือเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างไรก็ตามการชะล้างพังทลายแบบเกิดขึ้นตามธรรมชาติจะน้อยกว่า และขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดหรือลักษณะ ของดิน ความลาดเท ของพื้นที่ ความหนาแน่นของพืชพรรณ ที่ขึ้นปกคลุมและปริมาณฝน ที่ตกลงมา
  2. การชะล้างพังทลายที่เกิดขึ้นจากการกระทำ ของมนุษย์ หรือมนุษย์เป็นตัวเร่งให้เกิดมากขึ้น หรือการชะล้างพังทลายในลักษณะนี้นับว่าเกิดขึ้นมากและ รุนแรง ในประเทศไทยโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ดินดอน ที่มีความลาดเทตั้ง แต่ 5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ที่ใช้ในการเพาะปลูก โดยไม่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม และจะมีความรุนแรงมากขึ้น ในบริเวณบนพื้นที่ภูเขาที่เปิดป่าทำการเพาะปลูก หรือบริเวณ ที่ทำไร่เลื่อนลอย

ปัญหาการชะล้างพังทลาย ของดินในประเทศไทย นับว่าเป็นปัญหารุนแรงที่ทำให้ทรัพยากรดิน และที่ดินเสื่อมโทรมทั้งคุณสมบัติทางด้านกายภาพ และเคมี นอกจาก นี้ยังก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางด้านสภาพ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เช่น ก่อให้เกิดสภาพความแห้งแล้งของดิน แม่น้ำ ลำคลองธรรมชาติ และแหล่งน้ำที่พัฒนาขึ้นมาตื้นเขิน อันเนื่องจากตะกอนดินถูกชะล้างลงมาตกตะกอนในแหล่งน้ำ ทำให้อายุการใช้งาน ของแหล่งน้ำสั้นลง บางครั้งตะกอนดินที่ถูกชะล้างลงสู่ที่ราบต่ำอาจทับถมทำให้พื้นที่การเกษตร และพืช ที่ปลูกเสียหายต้องมีการลงทุน เพื่อปรับปรุงแก้ไขไม่ใช่น้อย

ขั้นตอนธรรมชาติบำบัด ปรับปรุง บำรุงดิน
เป็นการปรับปรุงบำรุงดินโดยวิธีธรรมชาติ เป็นอีกทางหนึ่ง ที่สามารถนำมาใช้ได้ ทำได้ง่าย ใช้วัสดุที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติ หรือวัสดุเหลือใช้มาทำ ให้เกิดประโยชน์ ในการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้พืชและสัตว์เป็นแหล่งธาตุอาหารพืช ในดิน ตลอดจน การเขตกรรม และระบบการจัดการเกษตรที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์มาใช้เป็นวัสดุปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้เกิดผลผลิตที่บริสุทธิ์ เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นพิษอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงบำรุงดิน โดยวิธีธรรมชาตินั้น จะต้องคำนึงถึงความสมดุลทางเคมี ชีวะ และ กายภาพ เป็นหลัก ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

  1. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ระบบพืช ประกอบด้วย
    – การปลูกพืชต่างชนิดแบบผสมผสาน
    – การปลูกพืชหมุนเวียน
    – การปลูกพืชสดเป็นปุ๋ยปรับปรุงบำรุงดิน
    – การปลูกพืชคลุมดิน
    ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ระบบพืช
    – เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
    – สะสมธาตุอาหารให้แก่ดิน
    – เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ดิน
    – ป้องกันดินเป็นโรค
    – ป้องกันการชะล้างและพังทลายของดิน
    – ลดศัตรูพืชในดิน
    – รักษาอุณหภูมิดิน
    – ทำให้ดินร่วนซุยอ่อนนุ่มไม่แข็งกระด้าง
  2. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
    – การใช้ปุ๋ยคอก
    – การใช้ปุ๋ยหมัก
    – การใช้เศษพืช
    ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
    – เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
    – เพิ่มธาตุอาหารพืชให้แก่ดิน
    – เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ให้แก่ดิน
    – ช่วยลดความเปรี้ยว ความเค็ม ความเป็นด่าง ของดินให้น้อยลง
    – ลดศัตรูพืชในดิน
    – ช่วยให้ดินร่วนซุย ดินอุ้มน้ำ ได้ดีขึ้น ดินไม่แข็ง
    – ช่วยดินมีพลังสามารถรับพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น
    – รักษาอุณหภูมิดิน
    – ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
  3. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้จุลินทรีย์
    – การสร้างธาตุอาหาร
    – การแก้ไขการขาดสมดุล ของจุลินทรีย์ในดิน
    – ช่วยป้องกันดินเป็นโรค
    – ช่วยย่อยอินทรีย์สาร และอนินทรีย์สาร ในดินให้เกิดอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
    ประโยชน์ที่ได้รับจากการปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้จุลินทรีย์
    – ช่วยลดสารพิษในดิน และทำให้ดินสะอาด
  4. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้วัสดุที่เกิดจากแหล่งธรรมชาติ
    – การใช้ปูนมาร์ล และโดโลไมท์
    – การใช้หินฟอสเฟต หินฝุ่นปะการัง เปลือกหอย และกระดูกป่น เป็นวัสดุปรับปรุงดินเปรี้ยว เพื่อลดความเปรี้ยว ของดินให้น้อยลง และเป็นการเพิ่มธาตุอาหารพืช เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม และฟอสฟอรัสให้แก่ดิน
    – การใช้แร่ยิปซัม (CaSO 4 2H2O) ลดความเค็มและเพิ่มธาตุอาหาร เช่น แคลเซียม และกำมะถันให้แก่ดินในระยะเวลาที่เท่ากัน
  5. การปรับปรุงบำรุงดินโดยการใช้เขตกรรม การไถพรวนลึก มีประโยชน์คือ
    – ป้องกันการเกิดโรคในดิน
    – ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดิน
    – เพิ่มชั้นดินให้สูงขึ้น
  6. การปรับปรุงบำรุงดินโดยการใช้น้ำฝน
    – น้ำฝนเป็นน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขณะที่ฝนตกมีฟ้าแลบ ทำให้ก๊าซไนโตรเจนทำปฏิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจนเป็นแอมโมเนีย (NH3) ก๊าซนี้ละลายปะปนมากับน้ำฝนช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน เป็นประโยชน์ต่อพืชที่ปลูกได้
  7. การปรับปรุงบำรุงดินโดยใช้ไส้เดือนดิน มีประโยชน์คือ
    – พรวนดินทำให้ดินร่วนซุย
    – สร้างอินทรียวัตถุ
    – เพิ่มธาตุอาหารพืช
    – ป้องกันน้ำท่วม
    – เพิ่มช่องอากาศ ในดิน

โดยสรุปพบว่า ดิน ที่ทำการเกษตรทั่วไปและ ดินที่มีปัญหา ถ้านำมาใช้ในการเกษตรนั้น สามารถใช้วิธีธรรมชาติบำบัด บำรุง ปรับปรุงดิน และได้ผลดีโดยเฉพาะการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์นำมาใช้ปรับปรุงบำรุงดิน การปรับปรุงบำรุงดิน โดยวิธีธรรมชาติมีความจำเป็น เพราะเป็นวิธีการที่ช่วยให้เกิดความสมดุลภาย ในดิน เป็นการช่วยรักษาทรัพยากรดิน ให้เกิดประโยชน์ในการเพาะปลูกได้อย่างยั่งยืน ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จะเป็นผลผลิตที่มีคุณภาพบริสุทธิ์และปลอดภัย เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ช่วยลดต้นทุนในการผลิต และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นด้วย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

(แหล่งข้อมูล : วารสารชมรมเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย ปีที่ 1 ฉบับที่ 1เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2545)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *