การแปรรูปมะพร้าว

การแปรรูปมะพร้าว

จากการที่มะพร้าวมีประโยชน์และสรรพคุณมากมาย การแปรรูปมะพร้าว ในปัจจุบันจึงมีเพิ่มขึ้นหลากหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งนอกจาก การแปรรูปมะพร้าว จะช่่วยเสริมรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการแล้ว ผู้บริโภคยังมีทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากมะพร้าวเพิ่มขึ้น การแปรรูปมะพร้าว มีทั้งในรูปแบบของอาหาร ขนม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว-บำรุงผม โลชั่นทากันยุง ลิบบาล์ม ยาหม่อง น้ำมันนวด แผ่นมาส์คหน้าจากน้ำมะพร้าวแก่ น้ำกะทิพาสเจอร์ไรซ์ น้ำมันพืชที่ใช้ประกอบอาหารภาคครัวเรือน หรือใช้ในภาคอุตสาหกรรม ของตกแต่งบ้าน ของที่ระลึก หมวก กระเป๋า อุปกรณ์ทำความสะอาด วัสดุปลูกต้นไม้ ปุ๋ย

ในบทความนี้นำเสนอตัวอย่าง การแปรรูปมะพร้าว ซึ่งมีวิธีทำ และเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาฝากผู้อ่าน เพื่อทดลองทำตาม อาจจะเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพหลัก หรือหากท่านมีต้นมะพร้าวในบริเวณบ้าน อาจทดลองทำขึ้นมาใช้ในครัวเรือนก็เป็นการนำมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า เมื่อผู้อ่านได้ทดลองทำตามสูตร การแปรรูปมะพร้าว แล้วอาจจะดัดแปลงให้สอดคล้องกับความสะดวก การใช้ประโยชน์ และรสชาติตามที่ต้องการ หากได้ การแปรรูปมะพร้าว ที่แปลกใหม่ หรือคุณภาพถูกใจ ในอนาคตท่านอาจจะได้มีอาชีพที่ได้รับผลกำไรจาก การแปรรูปมะพร้าว

ตัวอย่างสูตรการแปรรูปมะพร้าว มีดังนี้ :

ยาหม่องนาฬิเกน้ำมันมะพร้าวสมุนไพร
ส่วนผสม
พาราฟินแข็ง 150 กรัม
วาสลีน 300 กรัม
ขี้ผึ้งขาว 50 กรัม
เมนทอล 20 กรัม
น้ำมันยูคาลิป 50 ซีซี
น้ำมันระกำ 100 ซีซี
การบูร 50 กรัม

สามารถเพิ่มส่วนผสมอื่นลงไปด้วย เช่น พิมเสน น้ำมันสมุนไพร สีน้ำมัน ฯ ขวดแก้ว หรือภาชนะบรรจุอื่นๆ ที่เหมาะสมจะใส่ยาหม่อง ภาชนะที่จะทำยาหม่อง เช่น บีกเกอร์ (แก้วทนไฟ) หม้อเคลือบ หม้อสเตนเลส กระทะไฟฟ้า ฯ ***กรณีที่ภาชนะที่จะทำยาหม่องไม่ได้เป็นทรงกระบอกและมีปากจีบแหลม เพื่อสะดวกในการเทยาหม่องใส่ขวด ควรจะมีกรวยเล็กๆไว้เทยาหม่องใส่ขวดได้ก็จะดี หากไม่มี ก็ใช้ข้อนหรือทัพพีตักใส่ขวดได้แต่ต้องใช้ความเร็วเล็กน้อย รีบใส่ขวดให้หมดก่อนยาหม่องแข็ง***

วิธีทำ
1. นำพาราฟินแข็ง วาสลีน ขี้ผึ้งขาว ใส่ภาชนะที่จะทำให้ร้อนได้ เพื่อให้ทั้ง 3 อย่างละลาย
2. นำเมนทอล น้ำมันยูคาลิป น้ำมันระกำ การบูร ผสมรวมกันในภาชนะโดยไม่ต้องใช้ความร้อนให้ละลาย
3. เมื่อพาราฟิน วาสลีน ขี้ผึ้งขาวละลายเข้ากันดีแล้ว นำเมนทอล น้ำมันยูคาลิป น้ำมันระกำ ที่ละลายไว้เทรวมไปคนให้เข้ากัน
4. ตักหรือเทใส่ขวดที่เตรียมไว้ แบบเร็วพอประมาณ เพราะถ้าช้า เนื้อยาหม่องจะแข็งตัวก่อน
5. เมื่อใส่ขวดหมดแล้ว ถ้ามีคราบเลอะที่ปากขวด ให้เช็ดทำความสะอาด
6. สูตรนี้จะได้ยาหม่องประมาณ 17 ขวด ถ้าใส่ขวดเล็กก็จะได้จำนวนขวดมากขึ้น

สมุนไพรที่อยู่ในยาหม่องสูตรนี้ มีสรรพคุณ
1. พาราฟีนแข็ง ช่วยให้แข็ง
2. วาสลีน ช่วยให้เหลวนิ่ม
3. ขึ้ผึ้งขาว ช่วยให้แข็งเนื้อยาหม่องเนียน
4. เมนทอล หอม เย็น แก้หวัด
5. น้ำมันยูคาลิป กลิ่นหอมแก้หวัดคัดจมูก แก้ฟกช้ำบวม แก้ปวด
6. น้ำมันระกำ ขยายหลอดเลือด
7. การบูร หอม ร้อน บรรเทาความเจ็บ แก้คัน แก้ปวดตามเส้น
แก้ปวดข้อ แก้เคล็ดขัดยอก แก้พิษแมลง แก้โรคผิวหนัง ฯ
8. น้ำมันมะพร้าว สมานแผล แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก บำรุงเส้นเอ็น ข้อ กระดูก ฆ่าเชื้อโรคต่างๆ บนผิวหนัง รักษาโรคผิวหนัง ฯลฯ (แหล่งข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org/posts/587571)

น้ำมันมะพร้าว สกัดเย็น 100%
ส่วนผสม
เนื้อมะพร้าวแก่ขูด 1 ส่วน
น้ำอุ่น 1 ส่วน (ปริมาณเท่ากันกับเนื้อมะพร้าว)
วิธีทำ
1.นำเนื้อมะพร้าวแก่ขูด ผสมน้ำอุ่นคั้นให้ได้น้ำกะทิ กรองด้วยกระชอนหรือผ้าขาวบาง
2.นำน้ำกะทิที่ได้ทั้งหมดเทใส่ภาชนะทรงกระบอก เช่น หม้อ ขวดโหล โถ เหยือกน้ำ หรือขวดน้ำเปล่าที่สะอาด ปิดฝาตั้งวางไว้ในบ้านอุณหภูมิปกติ หัวกะทิจะค่อยๆ ลอยขึ้นด้านบน
3.ทิ้งไว้ประมาณ 12 ชั่วโมง จะเห็นน้ำมันใสหากหมักด้วยภาชนะใส
4. ถ้าเป็นภาชนะทึบ ให้เปิดฝ้าครีมกะทิด้านบนดู หากใส่ภาชนะใสหมักจะมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็น 5 ชั้น คือ
1. ครีมฝ้าบางๆ
2. น้ำมันมะพร้าวใส
3. ครีมกะทิที่ไม่เป็นน้ำมัน
4. น้ำหมัก
5. ตะกอน
เตรียมภาชนะกรอง ถ้วยทนความร้อน (เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนตอนจะระเหยน้ำ) หรือหม้อใบเล็ก นำกระชอนหรือตะแกรง วางบนปากถ้วยฯ แล้วนำผ้าขาวบางพับ 8 ชั้น (มากชั้นเพื่อให้ได้น้ำมันใสไม่มีตะกอน) หรือใช้กระดาษชนิดกรองกรองน้ำมัน

วิธีกรอง
1. ตักครีมฝ้าชั้น1 บน ใส่ถ้วยไว้
2. ค่อยๆ ตักชั้น 2 น้ำมันใส ที่อยู่บนครีมกะทิ ขึ้นมากรองให้หมด
3. ตักครีมกะทิชั้น 3 ที่ไม่เป็นน้ำมันจะลอยอยู่บนน้ำหมัก ใส่รวมไว้ในถ้วยที่ใส่ชั้น 1 ไว้
4. น้ำหมักที่ชั้น 4 และชั้น 5 ทิ้งตะกอน หรือใช้ทำปุ๋ย
5. รอน้ำมันบนภาชนะกรองหยดจนหมด

การระเหยน้ำ
1.นำน้ำใส่หม้อต้มให้เดือด นำตะแกรงวางบนปากหม้อ หรือใช้หม้อซึ้ง พอน้ำเดือดแล้วเบาไฟ
2.นำน้ำมันมะพร้าวใสที่ได้จากการกรองขึ้นวางบนตะแกรง
3.ใช้ช้อนช่วยคนเพื่อให้ความชื้นหรือน้ำที่ปนมาระเหยออกไปเร็วขึ้น จะมีฟองอากาศเดือด ทำจนไม่มีฟองอากาศ ก็ปิดไฟ หรือจะตั้งภาชนะที่มีน้ำมันลงในน้ำที่เดือดเบาๆ โดยไม่วางบนตะแกรง ก็ได้เช่นกัน
4.น้ำมันที่ระเหยน้ำแล้ว ใช้ได้ทันที
5.แต่ถ้านำไปจำหน่าย หรือ เป็นของฝาก ของเยี่ยมผู้ป่วย หลังจากระเหยน้ำเสร็จแล้วตั้งวางไว้ ประมาณ 7 วัน จนมั่นใจว่า ไม่มีความชื้น และตะกอนจึงค่อยนำน้ำมันมะพร้าวใสบรรจุขวด ซึ่งจะเก็บไว้ได้นานมากกว่า 1 ปี คงสภาพเดิม คุณภาพเยี่ยม
6.หากไม่ทำการระเหยน้ำต้องใช้ให้หมดเร็ว ถ้าเก็บไว้นาน น้ำมันจะเหม็นหืนและเกิดเชื้อรา ถึงแม้จะใส่ตู้เย็นก็เหม็นและเกิดเชื้อรา

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ครีมกะทิจากการหมัก

ครีมกะทิจากการหมัก

  • จากชั้น 1 และชั้น 3 ที่ไม่เป็นน้ำมัน และทั้งที่อยู่บนและในผ้าขาวบาง ให้บิดแล้วนำลงกระทะทั้งหมด
  • เปิดไฟอ่อนๆเคี่ยว จนเนื้อครีมกะทิเป็นสีน้ำตาลอ่อน
  • ปิดไฟ รอจนเย็นก็ตักกรอง จะได้น้ำมันใสไว้ใช้ได้อีกส่วนหนึ่ง
  • หมักในภาชนะที่หาง่ายสะดวกไม่ต้องล้างก็ได้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะพร้าวขูด

หมายเหตุ
1.การขูดมะพร้าวด้วยกระต่าย ให้ขูดหรือใช้ช้อน ขูดผิวสีดำที่ติดก้นกะลา ออกมาให้หมด เพราะวิตามินอี ของมะพร้าวอยู่ตรงผิวดำติดเนื้อมะพร้าวที่ติดก้นกะลา เมื่อขูดออกมาหมดแล้วคั้นหมักไปด้วยกัน ก็จะได้ วิตามินอี มากมาย
2.กรณีซื้อหัวกะทิไม่ผสมน้ำจากตลาด เทหัวกะทิใส่ภาชนะหมักทั้งหมด แล้วเติมน้ำอุ่นเท่ากับหัวกะทิ ปิดฝาตั้งวางไว้ในบ้าน ***การซื้อมะพร้าวจากตลาด ต้องทำใจเล็กน้อยในการจะได้น้ำมัน เพราะผู้ขายใช้งานเครื่องขูดมากไม่ได้ล้าง และเว้นระยะการขูด ช่วงที่รอผู้มาซื้ออาจเกิดเชื้อแบคทีเรีย หรือเครื่องไม่สะอาดเพราะเกิดการสะสมมะพร้าวใหม่เก่าที่ขูดตลอดเวลามีค้างในเครื่องบ้าง อาจมีมะพร้าวไม่แก่หรือมีมะพร้าวงอกปน การล้างก่อนขูดไม่สะอาด ฯ***
3.หากหมักไปแล้ว 12 ชั่วโมง ไม่ได้เกิดน้ำมันใส เกิดแค่ 2 ชั้นคือครีมกะทิและน้ำหมัก สาเหตุ มาจากข้างต้น ให้ตักครีมกะทิชั้นบนทั้งหมดลงกระทะ เคี่ยวไฟอ่อนๆ พยายามอย่าให้เนื้อครีมกะทิติดกระทะ คนไปมา เคี่ยวจนกากเป็นสีน้ำตาลอ่อนก็ปิดไฟ จะได้น้ำมันที่ใส และได้น้ำมันเร็วกว่าการเคี่ยวหัวกะทิสด เพราะผ่านการหมักมาแล้ว แต่กากจะมีรสเปรี้ยว
4.หมักครบ 12 ชั่วโมงเป็นน้ำมันใสแล้วแต่ยังไม่ว่างกรอง เลย 12 ชั่วโมงก็ไม่เป็นอะไร เมื่อเกิดน้ำมันใสแล้ว ตัวน้ำมันดีเหมือนเดิม แต่ไม่ควรนานเกินหลายวัน
5.เมื่อตั้งวางหมักไม่ควรเขย่าขวด และเวลากรองปล่อยให้น้ำมันหยดเอง ถ้าใช้ช้อนบี้หรือขย้ำเพื่อให้หยดเร็ว ครีมกะทิที่ไม่เป็นน้ำมันและน้ำหมักจะปนลงไปด้วย ทำให้น้ำมันขุ่นไม่ใส และเปรี้ยว
6.การที่จะกินกาก หรือขี้ออด หรือขี้แหย่ ฯ ให้อร่อยนั้น ต้องเคี่ยวจากหัวกะทิสด โดยคั้นวิธีเดียวกัน แล้วกรองตั้งวางไว้สักพัก รอจนหัวกะทิลอยขึ้นบนแล้วค่อยๆ ตักหัวกะทิลงกระทะ (หากนำลงทั้งหัวทั้งหางกะทิจะกระเด็นมากและได้น้ำมันช้ามาก) เคี่ยวไฟอ่อนๆ จนกากเป็นสีน้ำตาลอ่อน กากนี้หอมอร่อยมาก และน้ำมันที่ได้ก็หอมมากเป็นการเคี่ยวแบบโบราณ หากต้องการเก็บน้ำมันไม่ให้ตกตะกอน ควรใส่ตู้เย็น จะเก็บไว้ได้นาน
7. ในฤดูหนาวหรือฝนตกทำให้อากาศเย็น หากจะหมักทำน้ำมัน เมื่อใส่ภาชนะแล้ว แนะนำให้นำไปวางไว้ด้านหลังตู้เย็น หรือข้างหน้าต่างในบ้าน ที่มีแดดภายนอก
8.ผ้าขาวบางที่ใช้กรองน้ำมันหลายชั้นนั้น จะซักเพื่อให้น้ำมันออกหลายครั้งมาก แนะนำให้ต้ม ก่อนนำไปซัก เวลาซักหากมีน้ำมะกรูดหรือน้ำมะนาวก็บีบใส่รวมลงไปในน้ำยาล้างจานหรือผงซักฟอก ก็จะซักง่ายสะอาดเร็ว
(แหล่งข้อมูลจาก http://www.gotoknow.org/blogs/posts/445980)

รูปจาก : กานดาน้ำมันมะพร้าว

น้ำมันมะพร้าวตะไคร้หอม
ส่วนผสม
เนื้อมะพร้าวแก่ขูด 1 กิโลกรัม
น้ำอุ่น 1 ลิตร
ต้นและใบตะไคร้หอม 100 กรัม (ใช้ได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง)
วิธีทำ
1.คั้นเนื้อมะพร้าว โดยใส่น้ำอุ่น 1 ลิตร คั้นให้จนได้ที่หัวกะทิออกมาแล้วก็กรองในกระชอนหรือผ้าขาวบาง ได้น้ำกะทิแล้ว ตั้งวางไว้ก่อนเพื่อรอให้หัวกะทิลอยขึ้นด้านบน (ถ้าซื้อเนื้อมะพร้าวจากตลาด ให้บอกผู้ขายว่า ใช้เครื่องบีบหัวกะทิออกมาไม่ต้องใส่น้ำ)
2.ระหว่างรอหัวกะทิ ให้นำต้นหรือใบตะไคร้หอมมาซอยหั่น ซึ่งการใช้กรรไกรคมๆ ตัดซอยจะง่ายกว่าใช้มีด ต้นของตะไคร้หอมจะแข็งกว่าตะไคร้ที่เราใช้ทำอาหาร
3.ตั้งกระทะให้ร้อน เปิดไฟอ่อนๆ ค่อยๆ ตักหัวกะทิลงกระทะจนหมด นำตะไคร้หอมที่ซอยไว้ลงไปพร้อมๆ กัน คนเบาๆ เพื่อไม่ให้ติดก้นกระทะ
4.ทั้งหัวกะทิและตะไคร้หอม จะงวดลงเรื่อยๆ น้ำมันจะลอยใสขึ้นด้านบน เคี่ยวต่อไปจนกากทั้งสองเกรียม และรู้สึกว่าไม่มีความหนืดแล้วปิดไฟ
5.ค่อยๆ ใช้ตะหลิวดันกากไว้ข้างกระทะกดน้ำมันลง แล้วตักน้ำมันกรองบนผ้าขาวบางพับ 4-8 ชั้นที่วางบนตะแกรงหรือกระชอน ตักน้ำมันกรองจนหมด หรือจะเททีเดียวเลยก็ได้ รอจนน้ำมันหยดจนหมด
6.เมื่อน้ำมันหยอดหมดแล้ว ใช้น้ำมันได้ทันที ซึ่งถ้าใช้ใบสดน้ำมันที่ได้ใหม่ๆ จะขุ่นไม่ใส อาจจะมีความชิ้นอยู่โดยเฉพาะถ้าใช้ตะไคร้หอมสดต้องวางทิ้งไว้หลายวัน ความชิ้นจึงจะระเหยออก แล้วจะใสขึ้น แต่ถ้ามีเวลาน้อยต้องทำการระเหยน้ำแบบการทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น โดยนำไปตั้งในน้ำเดือดเบาๆ ไล่ความชื้นออกแล้วตั้งวางไว้ รอจนใส
7.การที่นำมันไม่ใส อาจจะเป็นสาเหตุจากการกรองน้ำมันมีตะกอนของสมุนไพร ให้กรองบนผ้าซ้ำหลายๆ ครั้งได้ หากไม่กรองหลายครั้งก็ตั้งวางไว้หลายๆ วัน เมื่อตะกอนลงก้นภาชนะจนได้น้ำมันใสแล้วค่อยบรรจุขวด ค่อยๆ เทส่วนใสลงขวดเบาๆ

นำหัวกะทิด้านบนสีขาวๆ ผสมกับใบตะไคร้หอมหั่นซอยเล็กๆ เคี่ยวไฟอ่อนๆ น้ำมันจะลอยขึ้นมาเรื่อยๆ จนส่วนผสมงวดเกรียมลง จะรู้สึกว่ากากทั้งสองเบา ให้ปิดไฟ ค่อยๆ ดันกากไว้ข้างกระทะ หรือจะเทกรองทั้งหมดก็ได้ น้ำมันมะพร้าวตะไคร้หอมที่ใช้ใบที่ยังไม่แห้งมาก และมีตะกอน มีความชื้นอยู่มากจึงไม่ใส ตั้งวางไว้หลายวัน หรือทำการระเหยน้ำ น้ำมันจะใสขึ้นแล้วจึงบรรจุขวด จะได้น้ำมันที่ใสน่าใช้มากขึ้น น้ำมันที่ได้หอมมากและป้องกันยุงกัดได้ 100% บำรุงผิว บำบัดเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ ทานวดผิวแล้วซีมเข้าผิวเร็วไม่เหนียวเหนอะหนะ สามารถเพิ่มสมุนไพรที่ช่วยบำรุงผิว และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ฯ ลงไปอีกก็ได้ เช่น ขมิ้น ไพล สะระแหน่ ข่า กระเทียม ฯลฯ น้ำมันที่ได้ออกมาจะมีประโยชน์เพิ่มขึ้นมากมายตามสรรพคุณของสมุนไพรที่เพิ่มลงไป                                    (แหล่งข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org)

 

รูปจาก : กานดาน้ำมันมะพร้าว

 

น้ำมันมะพร้าวสมุนไพร
ส่วนผสม
หัวกะทิ .2 กิโลกรัม
ไพล(ปอกผิวเปลือก) 100 กรัม
ขมิ้น(ปอกผิวเปลือก) 100 กรัม

วิธีทำ

หั่นขมิ้นและไพลเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำหัวกะทิ ขมิ้น ไพล ใส่โถปั่นหรือตำให้ละเอียด เทใส่กระทะที่ตั้งไฟให้ร้อนพอประมาณ เคี่ยวไฟอ่อนๆ ใช้ตะหลิวคนไม่ให้ติดก้นกระทะเป็นระยะๆ และช่วยไม่ให้กระเด็น ปริมาณส่วนผสมจะงวดลงเรื่อยและมีน้ำมันลอย เคี่ยวจนมีกลิ่นหอมของกะทิ ขมิ้น และไพล เบาๆ จนมีกลิ่นหอมแรง สีเกรียมพอประมาณ จึงปิดไฟ แล้วเททั้งหมดกรองในผ้าขาวบางพับ 2-4 ชั้น ใช้ทัพพีกดให้น้ำมันลงในภาชนะใต้ตะแกรงหรือกระชอนที่วางผ้าขาวบางไว้ หรือพอเย็นสักนิดก็บีบปิดให้น้ำมันออกมากที่สุดน้ำมันมะพร้าวไพลที่ได้ ใช้ ทำอาหาร น้ำมันนวดบำรุงผิว ผสมในครีมโลชั่น ทำยาหม่อง ฯ ได้น้ำมันที่ได้ นำมานวดคลายปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บำรุงเส้นเอ็น ฯเราก็นำสมุนไพรที่ดีต่อเส้นเอ็น,กระดูก,กล้ามเนื้อ,ผิวฯมาผสมได้                                                         ( แหล่งข้อมูลจากhttps://www.gotoknow.org )

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ซอร์เบท์น้ำมะพร้าวอ่อน

ไอศกรีมน้ำมะพร้าวอ่อน (ไอศกรีมเจ หรือ ซอร์เบท์น้ำมะพร้าวอ่อน)
ส่วนผสม
น้ำมะพร้าวอ่อน 4 ถ้วยตวง (ประมาณ 3 ลูก)
เนื้อมะพร้าวอ่อนหั่นเป็นชิ้นเล็ก 1 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
กลูโคส 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือ เล็กน้อย
วิธีทำ
1.นำน้ำมะพร้าวส่วนหนึ่งต้มกับน้ำตาลทราย กลูโคสและเกลือ จนน้ำตาลทรายละลาย
2.เมื่อน้ำตาลทรายละลายดีแล้ว ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้ากัน และเก็บเข้าภาชนะปิดฝาให้สนิท แช่ในช่องแช่แข็ง แล้วคอยนำส่วนผสมออกมาคนทุก 30 นาที – 1 ชั่วโมง คอยคนให้ทั่วและแช่แข็งประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง จนกระทั่งส่วนผสมแข็งตัวเนียน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ไอศครีมกะทิ

ไอศกรีมกะทิ (แบบไม่ต้องใช้เครื่องปั่นไอศกรีม)
ส่วนผสม
หัวกะทิ 2 ถ้วยตวง
หางกะทิ 1 ถ้วยตวง
นมสด 1 ถ้วยตวง
ครีม 1/4 ถ้วยตวง
วานิลลาเอ็กซ์แทรกซ์ 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลทราย 1/2 + 1/4 ถ้วยตวง
กลูโคส 2 ช้อนโต๊ะ
ไข่ขาวของไข่ไก่ 1 ฟอง
เกลือ 1/4 ช้อนชา
ใบเตยหอม 2 ใบ
วิธีทำ
1.ผสมไข่ขาวของไข่ไก่ น้ำตาลทราย กลูโคส และเกลือให้เข้ากัน ตีให้น้ำตาลละลาย และไข่ฟูเนียน
2.เทนม ครีม และวานิลลาเอ็กซ์แทร็กซ์ ผสมรวมกับส่วนผสมไข่ คนให้เข้ากัน แช่ส่วนผสมไว้ในตู้เย็นพักไว้
3.อุ่นหัวกะทิ และหางกะทิ กับใบเตยหอม ให้ส่วนผสมพอร้อน
4.กรองส่วนผสมกะทิ ลงส่วนผสมนมและไข่ที่พักไว้ คนให้เข้ากันดี
5.นำส่วนผสมเก็บใส่กล่องปิดฝา แช่ในช่องแช่แข็ง นำส่วนผสมออกมาคนทุก 1 ชั่วโมง และแช่แข็ง ทำแบบนี้สลับกันจนกระทั่งส่วนผสมแข็งตัวเนียน

ไอศกรีมกะทิสดโบราณ
ส่วนผสม
เนื้อมะพร้าวขูด 6 กิโลกรัม
น้ำมะพร้าวน้ำหอม (อ่อน) 4 ผล
ใบเตยหั่นหยาบ 10 ใบ
น้ำตาลทราย 1.4 กิโลกรัม
เกลือป่น 2 ช้อนชา
น้ำเปล่า (สำรองไว้หากน้ำหนักรวมขาด)
วิธีทำ

1.นำน้ำมะพร้าวน้ำหอมตั้งไฟ ใส่ใบเตยครึ่งส่วน พอขึ้นฟองที่ขอบหม้อให้ปิดไฟ
2.คั้นมะพร้าวขูดให้ได้กะทิ 6 กิโลกรัม ใส่น้ำตาลทราย เกลือป่น คนให้ส่วนผสมละลายเข้ากัน
3.นำน้ำมะพร้าวที่ตั้งไฟแล้ว (ข้อ1) เทผสมกับน้ำกะทิที่ผสมแล้ว (ข้อ2) คนให้เข้ากัน กรองด้วยผ้าขาวบางโดยใช้กระชอนรองผ้าไว้
4.นำขึ้นชั่งจะได้น้ำหนัก 8.5 กิโลกรัม หากน้ำหนักขาดให้ใส่น้ำเปล่าหรือเพิ่มน้ำกะทิ
5.ใส่เครื่องปั่นไอศกรีม ปั่นนาน 18 นาทีจะได้ไอศกรีม จากนั้นนำไปบ่มในตู้แช่ หรือถังบ่ม 2 ชั่วโมงจึงนำออกไปขายหรือนำรับประทานได้
6.ตักไอศกรีมใส่ถ้วยตกแต่งตามใจชอบ เช่น ถั่ว ข้าวเหนียว นมข้น นมจืด
(แหล่งข้อมูลจาก http://www.share-si.com)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะพร้าวแก้ว

สูตรมะพร้าวแก้ว (สูตรที่ 1)
ส่วนผสม
มะพร้าวทึนทึก (ขูดเป็นเส้น) 3 ถ้วย
น้ำตาลทราย 1 ถ้วย
น้ำลอยดอกมะลิ 1/2 ถ้วย
น้ำใบเตยเข้มข้น (ใบเตยปั่นคั้นน้ำ) 1/4 ถ้วย
เกลือป่น 1 หยิบมือ
วิธีทำ
1.ใส่น้ำตาลทราย น้ำลอยดอกมะลิ เกลือป่น ลงในกระทะทองตั้งไฟอ่อน เคี่ยวจนเป็นยางมะตูม ดูให้ข้นๆ ใส่สีตามต้องการ เคียวน้ำตาลให้พอข้น
2.พอน้ำตาลเดือดและข้น ใส่เนื้อมะพร้าว ผัดด้วยไฟอ่อนๆ น้ำจะงวดและแห้ง ใช้ช้อนชาตักมะพร้าวปั้นเป็นก้อนกลม วางบนถาดผึ่งให้แห้ง พอแห้งสามารถอบควันเทียนได้ หรือไม่อบก็ได้

สูตรมะพร้าวแก้ว (สูตรที่ 2)
ส่วนผสม
มะพร้าวทึนทึก (ขูดเป็นเส้น) 300 กรัม
น้ำตาลทรายขาว 1 ½ ถ้วย
เกลือป่น 1 ช้อนชา
สีผสมอาหาร ตามชอบ (หรือเลือกใช้น้ำใบเตย น้ำอัญชัน แทนสีผสมอาหาร)
น้ำเปล่า 1 ถ้วย
วิธีทำ
1.นำมะพร้าวทึนทึกมาขูดเป็นเส้นๆ ให้มีขนาดเท่าๆ กัน ไม่หนาหรือบางจนเกินไป
2.หรือบางสูตรอาจนำเอาแต่เนื้อมะพร้าวมาฝานบางๆ แทนการขูดเป็นเส้นๆ
3.นำกระทะทองขึ้นตั้งไฟ หากไม่มีใช้ภาชนะอื่นแทนได้ เทน้ำเปล่า น้ำตาลทราย และเกลือป่นที่เตรียมไว้ไว้ลงไป เทสีผสมอาหารตามสีที่ต้องการลงไปเล็กน้อย คนให้ละลายแล้วนำขึ้นตั้งไฟใช้ไฟอ่อนๆ จนน้ำตาลทรายละลาย
4.เคี้ยวน้ำตาลต่อไปอีกสักครู่ รอจนน้ำเชื่อมเริ่มเหนียว นำมะพร้าวทึนทึกที่ขูดไว้ลงไป ใช้ไม้พายคนเบาๆ ให้น้ำเชื่อมจับกับมะพร้าว
5.คนจนน้ำเชื่อมแห้ง ยกลงจากเตา จากนั้นใช้ช้อนหรือส้อม 2 คัน ตักมะพร้าวแก้ววางเป็นวงกลมเล็กๆ บนถาด หากทำขายหารายได้เสริม อาจทำเป็นวงกลมเล็กๆ เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
6.หากต้องการได้มะพร้าวแก้วหลายๆ สี ใช้จำนวนมะพร้าวและน้ำตาลทรายตามอัตราส่วน แล้วแบ่งทำ 2-3 ครั้งเพื่อให้ได้สีมะพร้าวแก้วตามที่ต้องการ
7.เมื่อตักมะพร้าวแก้ววางเป็นวงกลมจนหมดแล้ว ให้วางผึ่งลมทิ้งไว้จนเย็น
8.จากนั้นนำมะพร้าวแก้ว เรียงใส่โหล ปิดฝาให้สนิท หากทำขายหารายได้เสริม อาจเรียงมะพร้าวแก้วใส่ถุงพลาสติกรัดปากถึงให้สวยงาม หรือเรียงลงกล่องใส่ปิดฝาให้สนิท
***เคล็ดลับความอร่อย*** การขูดเนื้อมะพร้าว ไม่ควรขูดจนถึงผิวกะลา เพราะจะทำให้สีของมะพร้าวแก้วไม่สวย

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วุ้นมะพร้าวอ่อน

สูตรวุ้นมะพร้าวอ่อน
ส่วนผสม
เนื้อมะพร้าวอ่อน 100 กรัม
น้ำมะพร้าวน้ำหอม 500 กรัม
น้ำเปล่า 250 กรัม
ผงวุ้น 5 กรัม
น้ำตาลทราย 70 กรัม
วิธีทำ
1.ต้มน้ำเปล่าจนเดือด ใส่ผงวุ้นคนให้ละลายดี ใส่น้ำตาลทราย น้ำมะพร้าว และเนื้อมะพร้าวอ่อน คนให้เข้ากัน
2.เทส่วนผสมลงพิมพ์ตามชอบ รอให้เย็นแล้วนำไปแช่ตู้เย็นให้เช็ตตัวดี รับประทานขณะเย็น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ วุ้นมะพร้าวอ่อน

สูตรวุ้นกะทิใบเตย
ส่วนผสมชั้นใบเตย
ใบเตยซอยหยาบ 10 ใบ
น้ำเปล่า 500 กรัม
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
ผงวุ้น 5 กรัม
ส่วนผสมชั้นกะทิ
น้ำกะทิ 250 กรัม
น้ำเปล่า 250 กรัม
น้ำตาลทราย 1/2 ถ้วยตวง
ผงวุ้น 5 กรัม
เกลือ 1/2 ช้อนชา

วิธีทำ
1.ปั่นใบเตยกับน้ำเปล่า แล้วกรองเอาแต่น้ำ นำไปต้มให้เดือด ใส่ผงวุ้น คนให้ผงวุ้นละลาย แล้วจึงใส่น้ำตาลทราย เทใส่พิมพ์ นำไปแช่เย็นให้เซ็ตตัวดี
2.ต้มน้ำเปล่ากับผงวุ้นให้ละลายดี ใส่กะทิ น้ำตาลทราย และเกลือลงไป คนพอละลาย จากนั้นนำไปเทลงบนชั้นใบเตยที่พักไว้ น้ำไปแช่เย็นอีกครั้ง ให้เซ็ตตัวดี
3.นำมาหั่นให้ได้ชิ้นตามต้องการ รับประทานขณะเย็น

สูตรวุ้นกะทิมะพร้าวอ่อน – วุ้นเป็ด
ส่วนผสม
เนื้อมะพร้าวอ่อน 250 กรัม (หั่นชิ้นเล็ก)
น้ำมะพร้าวน้ำหอม 500 กรัม
น้ำกะทิ 250 กรัม
ใบเตยหั่นท่อน 3-4 ใบ
ผงวุ้น 10 กรัม
น้ำตาลทราย 80 กรัม
เกลือป่น 1 ช้อนชา
แป้งข้าวเจ้า 1 ช้อนโต๊ะ

วิธีทำ
1. ผสมแป้งข้าวเจ้า เกลือป่น และกะทิให้เข้ากัน จากนั้นนำไปตั้งไฟอ่อนๆ ต้มเพื่อให้แป้งสุก พักไว้
2. ต้มน้ำมะพร้าว พอเดือดใส่ผงวุ้นคนให้ลาย ใส่ใบเตย น้ำตาลทรายและน้ำกะทิที่ต้มไว้ คนให้เข้ากัน
3. นำมะพร้าวอ่อน ใส่ลงพิมพ์ที่เตรียมไว้ แล้วหยอดด้วยส่วนผสมวุ้น นำไปแช่เย็น ให้เช็ตตัวดีรับประทานขณะเย็น
(แหล่งข้อมูลจาก https://www.gotoknow.org)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะพร้าวเผา

สูตรการทำมะพร้าวเผา
เลือกมะพร้าวน้ำหอมที่ไม่แก่เกินไป มีเนื้อบางกำลังดี
วิธีทำ

การทำมะพร้าวเผาเป็นอาชีพเสริม ไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก เพียงแค่มะพร้าวน้ำหอมอยู่ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ใกล้เคียง ให้ขุดหลุมเผา โดยใช้เปลือกมะพร้าวหรือเศษไม้แห้งรองก้นหลุม นำมะพร้าวอ่อนน้ำหอมวางเรียงกัน กลบทับด้วยเปลือกมะพร้าว ใช้เวลาเผาประมาณ 1 ชั่วโมง การทำมะพร้าวเผาเป็นอาชีพหลัก ต้องลงทุนใช้เตาที่ทำจากถัง 200 ลิตร ที่เจาะรูด้านล่างไว้สำหรับใส่เชื้อเพลิง เมื่อนำมะพร้าวทั้งเปลือกใส่ในเตา จุดเชื้อเพลิง เผาจนไฟมอดแล้วนำลูกมะพร้าวออก เมื่อเผาเสร็จจากเตาจะได้ลูกมะพร้าว ลูกดำๆร้อนๆ แต่ต้องรีบปอกเปลือกออกรอให้เย็นไม่ได้ เพราะจะทำให้ผิวมะพร้าวมีสีคล้ำ ไม่เป็นสีขาว ควรสวมถุงมือกันความร้อนในการปอกเปลือก เกลาเปลือกมะพร้าวออกให้หมด จะได้ลูกมะพร้าวที่มีสีขาวสวย น่ากิน นำมะพร้าวที่เกลาเปลือกเสร็จแล้ว มาล้างน้ำให้สะอาด เตรียมจำหน่าย

(แหล่งข้อมูลจาก http://eveleighmarket.com, http://beesumaleeneckum.blogspot.com)

สูตรการทำมะพร้าวต้ม
เลือกมะพร้าวน้ำหอมที่ไม่แก่เกินไป มีเนื้อบางกำลังดี
วิธีทำ

ปอกเปลือกมะพร้าวให้ถึงกะลา เหลาส่วนตรงหัวให้แหลม จากนั้นนำลูกมะพร้าวที่ปอกเปลือกแล้วไปต้มในน้ำเดือด ขณะต้มให้ใส่ใบเตยลงไปพอประมาณ ใช้เวลาในการต้มเพียง 5 นาที ยกขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วแช่น้ำแข็งจะได้ลูกมะพร้าวสีขาวสวย น่ารับประทาน การทำมะพร้าวต้มนั้น ใช้เวลาไม่นาน ช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้กว่าครึ่งหนึ่งของการทำมะพร้าวเผา ที่สำคัญ เก็บรักษาได้นานกว่ามะพร้าวเผา

(แหล่งข้อมูลจาก http://www.rakbankerd.com)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ โคมไฟมะพร้าว

โคมไฟจากกะลามะพร้าววัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ทำโคมไฟกะลามะพร้าว
1.กะลามะพร้าว—ควรเป็นวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น
2.หลอดไฟ (เลือกใช้ได้หลากหลายแบบ)+สายไฟ+ปลั๊กไฟ
3.คอโคมไฟที่ไม่ใช้แล้ว ไม้อัดเหลือใช้หรือวัสดุอื่นๆที่ใช้ได้
4.เทปพันสายไฟ
5.เครื่องยิงกาว
6.สีไม้โอ๊ก

เครื่องมือและอุปกรณ์
1.สว่านเจาะ
2.เลื่อยฉลุ
3.กระดาษทรายหยาบ
4.กระดาษทรายละเอียด
5.ดินสอและวงเวียน

ขั้นตอนการทำ
1.ออกแบบโคมไฟที่ต้องการ
2.เตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ให้ครบ
3.ขัดผิวกะลามะพร้าวให้ขึ้นเงาด้วยกระดาษทราย
4.ทำลวดลายตามที่ต้องการโดยใช้เลื่อยฉลุ
5.ใช้สว่านเจาะรูรอบๆ กะลามะพร้าวเพื่อให้แสงสว่างส่องออกมาภายนอกได้ จากนั้นนำกะลามะพร้าวมาทาสีไม้โอ๊ก เพื่อความสวยงาม แล้วนำไปประกอบตามรูปแบบที่ต้องการด้วยเครื่องยิงกาว
6.เมื่อได้รูปทรงตามที่ต้องการแล้ว นำหลอดไฟที่ประกอบกับสายไฟและปลั๊กไฟสอดเข้าไว้ในกะลามะพร้าว
(แหล่งข้อมูลจาก www.eveleighmarket.com)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ กาบมะพร้าวสับ

กาบมะพร้าวสับ

หากผู้อ่านสามารถหาวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่น คือ กาบมะพร้าว สามารถนำมาสับบรรจุถุงขายเป็นวัสดุปลูกธรรมชาติ เหมาะสำหรับนำมาปลูกต้นไม้ เพราะเก็บความชื้นได้ดี ซึ่งเป็นที่นิยมสูงในปัจจุบัน การขายกาบมะพร้าวสับไม่ค่อยแพร่หลายนัก ส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับผู้ที่ผลิตสินค้าแปรรูปจากมะพร้าว หรืออยู่ใกล้โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เนื่องจากราคาจำหน่ายไม่สูงนัก หากมีต้นทุนที่สูงด้านวัตถุดิบและการขนส่งแล้ว ก็จะทำผลกำไรได้ไม่ดีนัก สำหรับการขายกาบมะพร้าวสับเป็นรายได้เสริมแนะนำให้ขายปลีก โดยรับกาบมะพร้าวสับจากโรงงานมาบรรจุถุงขายปลีก วิธีนี้ไม่ต้องใช้แรงงานคนไม่ต้องมีเครื่องมือหรืออยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ เราสามารถซื้อกาบมะพร้าวสับจากโรงงาน ซึ่งมีหลายชนิดที่เหมาะกับต้นไม้แต่ละประเภท มาบรรจุถุงขายหลายๆ ขนาด อาจวางขายอยู่ที่บ้าน หรือนำไปวางขายตามตลาดนัดที่มีการจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ ขนาดบรรจุถุงปุ๋ยหรือถุงอาหารสัตว์ ราคาประมาณถุงละ 20-25 บาท หากได้รับผลกำไรที่ดี อาจขยายธุรกิจเป็นอาชีพหลักก็ย่อมได้

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ถ่านกะลามะพร้าว

ถ่านกะลามะพร้าว
3 ขั้นตอนก่อนทำการอัดแท่ง
1.คัดเลือกกะลามะพร้าวที่แห้งสนิทออกจากเศษวัสดุอื่นๆ เช่น กรวด หิน ดิน ทราย ถุงพลาสติก เศษอาหาร เศษโลหะต่างๆออกให้หมด
2.จากนั้นนำไปเผาด้วยการใช้ถังน้ำมันขนาด200 ลิตร ที่เปิดฝา เพราะจะทำให้เผาง่าย สะดวก ประหยัด รวดเร็วกว่า เมื่อควันเริ่มน้อยลงแสดงว่าการเผาไหม้กะลาทั่วถึงหมดแล้ว โดยสังเกตจะเห็นกะลาติดไฟแดงๆ และควันไฟเริ่มน้อยลงพยายามใช้ไม้หรือเหล็กเขี่ยกะลาให้ติดไฟให้ทั่ว เพื่อให้กะลาติดไฟให้หมด ถ้ากะลาด้านบนติดไฟแดงๆ ทั้งหมดแล้ว ปล่อยทิ้งไว้ 5-10 นาที จึงใช้กระสอบป่านชุบน้ำให้เปียกๆ คลุมปากถัง ปิดทับด้วยฝาถังให้แน่นสนิท หรือใช้ทรายปิดบนกระสอบป่านอีกครั้งก็ได้ เพื่อไม่ให้อากาศข้างนอกเข้าในถัง ทิ้งไว้ 1 คืน ไฟจะดับ ถ่านกะลามะพร้าวจะค่อยๆ เย็นลง รุ่งขึ้นจึงปิดฝาถัง นำถ่านกะลามะพร้าวไปเข้าเครื่องบดให้ละเอียดในเครื่องบด
3.ส่วนที่ใช้ผสานในการอัดแท่งคือ แป้งมันสำปะหลัง
ต้องมีลักษณะเป็นผงขาวเมื่อจับผิวสัมผัสของแป้งจะเนียน ลื่นมือเมื่อทำให้สุกจะเหลวเหนียว หนืด เมื่อพักให้เย็นจะมีมีลักษณะเหนียวเหนอะคงตัว ซึ่งเป็นลักษณะของส่วนผสานที่เหมาะสม

เมื่อเตรียมทั้งสามส่วนพร้อมแล้วก็นำมาผสมกันโดยใช้น้ำเป็นตัวผสมทั้งสามเข้าด้วยกัน

  • ถ่านกากมะพร้าวและถ่านขี้เลื่อยผสมกัน 10 กิโลกรัม
  • แป้งมัน 1 กิโลกรัม
  • น้ำ 0.5-0.8 ลิตร ตามความเหมาะสม กับความชื้นของถ่านกากมะพร้าวและถ่านกะลามะพร้าว
    หากปริมารน้ำน้อยเกินไปจะทำให้อัดแท่งถ่านได้ไม่ดี แต่ถ้าปริมาณน้ำมากไปก็จะทำให้ทำการอัดแท่งไม่ได้

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

การอัดแท่ง

นำวัตถุดิบที่ผสมกันจนได้ที่แล้วเข้าเครื่องอัดแท่งกากมะพร้าวซึ่งเป็นเครื่องอัดแบบสกรู ทำงานด้วยมอเตอร์ 5 แรงม้า ไฟฟ้า 220 โวลต์ ควบคุมด้วยเพลา เมื่อทำการอัดแท่งถ่านแล้ว จะได้แท่งถ่านที่มีความยาวเป็นแท่งเดียว ก็จะต้องมีการตัดให้ได้ขนาดความยาว 12 เซนติเมตร หลังจากที่ทำการอัดแท่งถ่านและตัดให้ได้ขนาดแล้วนั้นนำมาตากแดดประมาณ 1 วัน เพื่อเป็นการกำจัดความชื้นที่อาจจะยังคงมีอยู่ในก้อนถ่านอัดแท่ง ทำให้แท่งอัดถ่านจากกากมะพร้าวแห้งสนิท

อัตราส่วนที่เหมาะสมในการผลิตถ่านกากมะพร้าวผสมกะลามะพร้าว มีดังนี้
สูตรที่1. ถ่านกากมะพร้าว 70 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้าว 30 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะเป็นก้อนดี เมื่อแห้งอาจมีรอยร้าวหรืออาจแตกเล็กน้อย

สูตรที่2. ถ่านกากมะพร้าว 60 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้า 40 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะกันได้ดี

สูตรที่3. ถ่านกากมะพร้าว 50 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้าว 50 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะกันได้ดี ผิวเรียบ

สูตรที่4. ถ่านกากมะพร้าว 40 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้าว 60 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน

สูตรที่5. ถ่านกากมะพร้าว 30 เปอร์เซ็นต์ ถ่านกะลามะพร้าว 70 เปอร์เซ็นต์ แป้งมัน 5 เปอร์เซ็นต์ น้ำ 3 เปอร์เซ็นต์ ลักษณะการยึดเกาะกันเป็นก้อน ยึดเกาะกันได้ดี เมื่อแห้งอาจมีรอยร้าวหรืออาจแตกเล็กน้อย

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูลจากhttps://www.khaosod.co.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *