การปลูกโกโก้และการดูแลหลังการปลูก

การปลูกโกโก้และการดูแลหลังการปลูก

ต้นโกโก้การปลูกโกโก้ และการดูแลหลังการปลูก

ช่วยให้เกษตรกรหรือผู้ปลูกได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคา เพราะถึงแม้ว่าโกโก้จะเป็นพืชที่ปลูกในประเทศไทยได้แต่ก็ไม่ใช่พืชพื้นเมือง ดังนั้น การดูแลหลังการปลูกอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปลูกโกโก้ นอกจากนี้ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปโกโก้ยังต้องการความพิถีพิถันไม่ต่างกันกับกาแฟ เกษตรกรไทยยุคใหม่ นิยมปลูกโกโก้เป็นพืชแซมพืชเศรษฐกิจต่างๆ เป็นรายได้เสริม เช่น ยางพารา ทุเรียน มะม่วง ลางสาด หรือมะพร้าว เป็นต้น การปลูกโกโก้ เริ่มจากภาคใต้ของประเทศไทยและกระจายไปยังภาคอื่นๆ ที่มีสภาพแวดล้อมดังนี้

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกโกโก้

  • พื้นที่
    – มีความลาดเอียงของพื้นที่ไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์
    – ระดับน้ำใต้ดินไม่ควรต่ำกว่า 90 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน
    – มีสภาพน้ำท่วมขังติดต่อกันได้นานถึง 5 เดือน
    – มีร่มเงา เพราะโกโก้ไม่ต้องการแสงแดดมาก ต้นขนาดเล็กต้องการแสงน้อยประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่ออายุต้นโตต้องการแสงมากขึ้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อต้นโกโก้เจริญเติบโตเต็มที่มีใบปกคลุมต้นหนาแน่นแล้ว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแสงแดดจัด ต้นโกโก้ต้องการปริมาณของแสงแดดในการเจริญเติบโตทั้งปีในอัตรา 1,110 ถึง2,700 ชั่วโมง
  • อุณหภูมิ
    – ช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 15 ถึง 30 องศาเซลเซียส
  • แหล่งน้ำ
    – มีปริมาณฝนตกชุกตลอดทั้งปี ในอัตราระหว่าง 1,000 ถึง 3,000 มิลลิเมตร ต่อปี
    – มีระยะฤดูแล้งไม่ควรติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน และมีแหล่งน้ำช่วยให้ความชุ่มชื้นต้นโกโก้ได้เพียงพอต่อความต้องการในฤดูแล้ง
  • ดิน
    – เป็นดินร่วนปนทราย
    – ดินมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) อยู่ที่ 5.5 ถึง 7.0 ต้นโกโก้ สามารถทนต่อความเป็นกรดได้ดี
    – ดินปลูกต้องมีความอุดมสมบูรณ์หรือมีการให้ปุ๋ยอย่างพอเพียง Wood (1980)
    – มีหน้าดินที่ลึกเกิน 1 เมตร
    – ระบายน้ำได้ดี
    – มีปริมาณอินทรียวัตถุ ไม่น้อยกว่า 3 เปอร์เซ็นต์

รูปแบบการปลูกโกโก้

  1. การปลูกโกโก้เป็นพืชเชิงเดียว การปลูกลักษณะเช่นนี้ต้องสร้างร่มเงาชั่วคราวให้ต้นกล้าโกโก้ในระยะปีแรกขณะที่ต้นกล้าโกโก้ยังไม่แข็งแรง และสามารถตัดพืชร่มเงาชั่วคราวออกหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อต้นโกโก้ตั้งตัวได้
  2. การปลูกโกโก้เป็นพืชแซมของพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ปลูกโกโก้ใต้ร่มเงายางพารา มะพร้าว ลิ้นจี่ ลำไย มะม่วง ทุเรียน เงาะ ลองกอง ลางสาด และกระท้อน
  3. การปลูกโกโก้เป็นพืชแซมในสภาพป่าธรรมชาติ เป็นการปลูกโกโก้ภายใต้ร่มเงาจากไม้ป่าธรรมชาติซึ่งมีต้นไม้นานาชนิด ขึ้นปะปนกันทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่ แต่การปลูกโกโก้ลักษณะนี้จำเป็นต้องรักษาความสะอาดพื้นที่ป่าที่จะปลูกแซมโกโก้ในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำ โดยทำการตัดต้นไม้ที่ไม่ต้องการ ต้นไม้ที่ไม่เหมาะสมกับโกโก้ เช่น แย่งอาหารต้นโกโก้ พืชที่มีโรคและแมลงศัตรูชนิดเดียวกับโกโก้ พืชที่มีทรงพุ่มหนาทึบไม่เหมาะที่จะเป็นร่มเงาให้โกโก้ และไม้ป่าที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ

การขยายพันธุ์
โกโก้สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเสียบยอด ปักชำกิ่ง ติดตา ทางกิ่ง และเพาะเมล็ด ซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรไทยนิยมมากที่สุด

การเพาะเมล็ดโกโก้
วิธีคัดเลือกเมล็ดพันธุ์

  • เลือกเมล็ดที่มีคุณภาพดี
  • เลือกผลที่แก่จัด มีความสมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลงทำลาย
  • ต้นแม่พันธุ์ให้ผลผลิตสูงอย่างต่อเนื่องทุกปี
  • เป็นเมล็ดที่ได้มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้

วิธีการเพาะเมล็ด

  • ขยำผลให้เปลือกและเนื้อแยกออกจากเมล็ดให้หมด แล้วนำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งลมให้แห้ง
  • นำเมล็ดไปวางในวัสดุเพาะ กลบดินบางๆ ประมาณ 7 วัน รากจะงอกออกมา
  • เมื่อต้นกล้าโกโก้อายุประมาณ 4 ถึง 6 เดือน หลังจากเพาะเมล็ด หรือมีความสูงของต้นประมาณ 50 ถึง 60 เซนติเมตร หรือมีใบแตกได้ 3 ฉัตร จึงนำไปปลูก

ขั้นตอนการปลูกโกโก้

  • เตรียมหลุมปลูกให้มีความกว้าง 30 เซนติเมตร x ยาว30 เซนติเมตร x ลึก 30 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 3×3 เมตร หรือใช้ระยะปลูก 2.50×2.50 เมตร กับต้นกล้าโกโก้สายพันธุ์แท้
  • ตากหลุมทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน
  • นำดินบนที่ขุดขึ้นมาผสมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกเคล้าให้ทั่วจากนั้นเกลี่ยลงหลุมให้เต็ม
  • ใช้มีดกรีดตามแนวข้างถุงเพาะชำโกโก้ แล้วแกะถุงพลาสติกออก ระวังอย่าให้ดินที่เพาะต้นโกโก้แตกกระจาย เพราะจะทำให้รากได้รับความกระทบกระเทือน ทำการตัดปลายรากแก้วที่คดงอออกทิ้ง ต้นกล้าโกโก้ควรมีระบบรากสมบูรณ์ ไม่คดงอ
  • เปิดหลุมแล้วนำต้นกล้าโกโก้ลงปลูกตรงกลางหลุม เกลี่ยดินกลบให้มิด
  • ปักหลักไม้แล้วใช้เชือกรั้งต้นกล้า เพื่อช่วยยึดต้นกล้าโกโก้ให้แน่น
  • รดน้ำพอชุ่ม
  • ใช้จอบหรือพลั่วแทงดินในแนวดิ่ง เพื่อตัดรากพืชอื่นที่มีอยู่ในรัศมี 50 เซนติเมตร จากโคนต้นโกโก้ให้ลึกลงไปในดินประมาณ 15 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้รากต้นไม้อื่นเข้ามาทำอันตรายต้นกล้าโกโก้ที่ปลูกใหม่

การดูแลหลังการปลูก

  • การให้น้ำ
    รดน้ำโกโก้พอชุ่มอย่างสม่ำเสมอวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า ระวังอย่าให้ต้นโกโก้ขาดน้ำ เพราะจะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต

การให้ปุ๋ย

  • ให้ปุ๋ยน้ำชีวภาพหรือจุลินทรีย์ประมาณ 1 ถึง 2 เดือน ต่อครั้ง
  • ใส่มูลค้างคาวประมาณ 1 ถึง 2 กำมือ ต่อต้น ประมาณ 3 เดือน ต่อครั้ง
  • ใส่กระดูกป่นปีละ 1 ครั้ง
  • ใส่ปุ๋ยคอกที่ย่อยสลาย และยิบซั่มธรรมชาติ ปีละ 2 ครั้ง

การตัดแต่งกิ่ง

  • ในปีแรกหลังการปลูก ควรทำการตัดแต่งกิ่งรอบๆ ทรงพุ่มของโกโก้ทุก 60 วัน เพื่อช่วยให้ต้นโกโก้เจริญเติบโตและตั้งเรือนยอดหรือจุดคาคบ ครั้งแรกให้ได้ระดับความสูงประมาณ 1.5 ถึง 2.0 เมตร
  • ให้ตัดหน่อหรือกิ่งกระโดงที่แตกใหม่ออกทุก 2 ถึง 4 เดือน
  • ตัดแต่งกิ่งแขนงที่แตกสะเปะสะปะภายในทรงพุ่มออกเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง
  • ตัดลำต้นหลักของโกโก้ที่แตกหักหรือยอดที่ถูกทำลายจากโรคหรือแมลงศัตรู หรือกิ่งที่ไม่แข็งแรงออก ในระยะที่สูงจากพื้นดินประมาณ 20 ถึง 30 เซนติเมตร แล้วทาแผลด้วยปูนขาวหรือปูนแดง จากนั้นปล่อยให้เกิดหน่อใหม่ และเมื่อหน่อใหม่เจริญเติบโตควรคัดเลือกหน่อที่แข็งแรงที่สุดประมาณ 2 ถึง 3 หน่อ ที่อยู่รอบนอกของต้นโกโก้เดิม แล้วพูนดินรอบๆ โคนต้น และเมื่อแตกทรงพุ่มจึงตัดให้เหลือไว้เพียงหน่อเดียวหรือต้นเดียว

โรคและแมลงศัตรูโกโก้
โรคโกโก้

โรคผลเน่าดำ
เป็นโรคที่เกิดกับโกโก้ทุกพื้นที่ มีสาเหตุมาจากเชื้อรา เริ่มอาการจากจุดฉ่ำน้ำที่ผิวเปลือกผล ซึ่งจะเกิดขึ้นภายใน 2 วัน หลังเชื้อเข้ามาเกาะ ต่อมาจุดฉ่ำน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีดำ พร้อมกับขยายไปทั่วผล
การป้องกันและกำจัด

 

 

  • ฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราในระยะติดผล หรือเมื่อพบการระบาดของโรค เช่น มีทาแลคซิล
  • เก็บฝักที่เป็นโรคออกจากต้น นำไปเผาทำลาย
  • ควรกำจัดโดยการเผาฝักที่แกะเมล็ดแล้ว ไม่ควรกองไว้
  • ตัดแต่งกิ่งให้พุ่มโปร่ง เพื่อให้แสงและอากาศถ่ายเทสะดวก
  • กำจัดวัชพืช อย่างสม่ำเสมอ

โรคกิ่งแห้งของโกโก้
เกิดจากเชื้อรา มักเกิดกับกิ่งแก่หรือต้นกล้า เริ่มต้นอาการด้วยใบเหลืองซีด และมีจุดเขียวกระจายทั่วไป และแห้งเป็นสีน้ำตาลในเวลาต่อมา บริเวณรอบ ๆ แผลสีน้ำตาลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและใบร่วงหล่นในที่สุด กิ่งที่เป็นโรคจะบวมขึ้น มีรอยปูดเล็ก ๆ เกิดตามเปลือก บริเวณที่ใบหลุดไป ใบที่แตกออกมาใหม่จะเป็นกระจุก และแผ่นใบไม่แข็งเหมือนปกติ ใบส่วนยอดที่เหลืออยู่ขอบใบจะแห้ง
การป้องกันและกำจัด

  • ตัดกิ่งที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • คัดเลือกพันธุ์ต้านทานโรคมาปลูก เช่น พันธุ์อเมซอน (Amazon) และ อัพเพอร์ อเมซอน (Upper Amazon) เป็นต้น
  • ไม่นิยมใช้สารเคมีในการกำจัดโรคนี้

โรคไหม้
เกิดจากเชื้อรา ลักษณะมีเส้นใยสีขาวสานกันเป็นร่างแหปกคลุมใบและกิ่งของโกโก้ ทำให้กิ่งและใบแห้งตาย
การป้องกันและกำจัด

  • ตัดแต่งกิ่งและใบที่เป็นโรคออก แล้วนำไปเผาทำลาย
  • หลังตัดแต่งกิ่งใช้สารเคมีประเภทคอปเปอร์ ออกซิคลอไรด์ เช่น คิวไปรด์ หรือคอบเปอร์ไซด์ หรือคูปราวิท โอบี 21 เป็นต้น ฉีด

โรคแอนแทรคโนส
เกิดจากเชื้อรา เกิดอาการในใบอ่อน ขอบและปลายใบไหม้ ลุกลามไปถึงโคนใบทำให้ใบโค้งงอ ใบที่แก่จะปรากฎเป็นจุดสีน้ำตาลบนแผ่นใบและตามขอบใบ ซึ่งก็จะเกิดอาการไหม้และใบโค้งงอ ผลอ่อนเน่าดำ จนผลแห้ง หากมีความชื้นเพิ่มขึ้นมา จะมีสปอร์ของเชื้อราสีชมพูเกิดขึ้น
การป้องกันและกำจัด

  • เก็บผลหรือตัดใบที่เป็นโรคไปเผาทำลาย
  • ใช้สารเคมี เช่น แมนโคเซป หรือ คาร์เบนดาซิม ฉีดป้องกัน

แมลงศัตรูโกโก้
ปลวก
มักทำลายต้นโกโก้ที่ยังเล็กอยู่ โดยกัดกินบริเวณโคนต้น และลึกลงไปในดินประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้ยาประเภทดูดซึม กลุ่ม คาร์โบฟูแรน เช่น ฟูราดาน 3% จี หรือคาบีดาน 3% จี ตามอัตราที่กำหนด คลุกเคล้ากันดินรองก้นหลุมปลูก

ด้วงปีกแข็งกัดกินใบ
กัดกินใบอ่อน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี กลุ่ม โมโนโครโตฟอส เช่น ไซครอน หรืออโซดิริน หรือดอลล่าร์-60 ตามอัตราที่กำหนด โดยฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือใกล้ค่ำ

ด้วงปีกแข็งกัดกินใบ
กัดกินใบอ่อน โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่นด้วยสารเคมี กลุ่ม โมโนโครโตฟอส เช่น ไซครอน หรืออโซดิริน หรือดอลล่าร์-60 ตามอัตราที่กำหนด โดยฉีดพ่นในช่วงเย็นหรือใกล้ค่ำ

เพลี้ยอ่อน
ดูดกินน้ำเลี้ยง โดยเฉพาะที่ยอดอ่อนของโกโก้ พบระบาดมากช่วงฤดูฝนที่มีอากาศชื้น
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้ปุ๋ยที่มีส่วนผสมของแอคทีฟซิลิคอน ช่วยป้องกันเพลี้ย
  • หากพบการระบาด ให้ใช้ สารเคมีกลุ่ม โมโนโครโตฟอน หรือดัลดริน เช่น มิโดฟอส 600 หรือ ทามารอน ฉีดบริเวณซอกใบอ่อน ถ้ามีการระบาดไม่มากนักให้ใช้มือจับบี้หรือขยี้ทิ้ง
  • ตัดแต่งกิ่งและต้นไม่ให้แมลงอาศัย
  • เผาทำลายกำจัดมดที่เป็นพาหะในการแพร่ระบาดของเพลี้ยอ่อน

 

มวนโกโก้
เป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของโกโก้ มีลักษณะคล้ายยุงแต่มีขนาดใหญ่กว่า มีหนวดยาวมาก 2 เส้น ลำตัวเขียวสลับดำ มวนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อนและผล ผิวของผลจะเกิดเป็นจุดตกกระเล็ก ๆ สีดำทั่วทั้งผล อาจมีการทำลายของเชื้อราซ้ำเติม ทำให้ผลเสียหายและเน่าในที่สุด พบระบาดมากในช่วงฤดูฝน

 

การป้องกันและกำจัด

  • ดูแลรักษาแปลงปลูกให้สะอาด ตัดแต่งกิ่งให้พุ่มโปร่งเพื่อป้องกันการหลบซ่อนของมวนโกโก้ และให้มีการระบายอากาศที่ดี ลดความชื้นในแปลงปลูก
  • ปลูกพืชล่อ เช่น กระถิน หรือ ถั่ว เมื่อมวนโกโก้รวมตัวกันให้ใช้สวิงดักจับแล้วทำลายทิ้ง
  • ใช้ศัตรูธรรมชาติช่วยในการป้องกันกำจัด เช่น มดแดง และจักจั่นเท
  • ทำลายผลโกโก้ที่ตกค้างเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งขยายพันธุ์ของมวนโกโก้

สัตว์ศัตรูโกโก้
หนู
ที่พบมากและทำอันตรายต่อโกโก้ ได้แก่ หนูพุกใหญ่ และหนูท้องขาวบ้าน กัดกินผลโกโก้ที่สุกหรือเริ่มจะสุก โดยกัดกินเนื้อและเมล็ดภายใน ลักษณะรอยกัดแทะของหนูจะกว้างกว่ารอยกัดแทะของกระรอก
การป้องกันและกำจัด

  • เมื่อสำรวจพบร่องรอยการทำลายของหนู เช่น ทางเดิน มูลหนู เศษซากพืช ให้ใช้เหยื่อพิษ หรือสารกำจัดหนูสำเร็จรูป เช่น สะตอม หรือคลีแร็ท ในอัตรา 40 ถึง 50 ก้อน ต่อไร่ วางล่อให้หนูมากินเหยื่อ โดยวางเหยื่อพิษ 6 ครั้งติดต่อกัน ทั้งนี้ 4 ครั้งแรกวางเหยื่อทุก 15 วัน หลังจากนั้นวางเหยื่อห่างกันประมาณ 1 เดือน ถ้าพบว่าสวนโกโก้มีหนูระบาดทำลายผลผลิตมากให้วางเหยื่อ 8-10 ครั้ง
  • ใช้วิธีกล เช่น วางกับดัก และซุ่มยิง แต่ควรมีการรักษาความสะอาดบริเวณสวนโกโก้อยู่เสมอ

กระรอก และชะมด
เป็นสัตว์พันธุ์แทะ เช่นเดียวกับหนู กระรอกมักทำรังอยู่ที่สูงบนต้นโกโก้ และเลือกทำลายผลโกโก้สุกเท่านั้น รอยแผลที่ทำลายผลโกโก้จะเล็กกว่ารอยกัดแทะของหนู แต่กระรอกจะกัดแทะเมล็ดภายในผลเกือบหมอ
การป้องกันและกำจัด

  • ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณสวนโกโก้ และบริเวณโดยรอบ อย่าปล่อยให้มีพุ่มไม้หรือเถาวัลย์ที่พอจะให้กระรอกและชะมดอาศัยทำรังได้
  • ตัดแต่งกิ่งโกโก้ให้โปร่ง เมื่อพบร่องรอยการทำลายให้ใช้กับดักวางล่อตามร่องรอยที่พบ

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
โกโก้ที่ปลูกด้วยเมล็ดจะเริ่มติดผลประมาณ 2 ถึง 3 ปี หลังปลูก และในช่วงปีที่ 8 ถึง ปีที่ 15 จะเป็นช่วงที่ให้ผลดกที่สุด มีระยะเวลาหลังออกดอกจนถึงผลสุกพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณ 5 ถึง 6 เดือน
วิธีเก็บผลโกโก้

  • เก็บผลที่เริ่มมีสีเหลืองหรือสีส้ม โดยใช้กรรไกรตัดขั้วผล ไม่ควรใช้มือเด็ด เพราะช่วยป้องกันขั้วบนกิ่งไม่ให้ช้ำ ทำให้ดอกรุ่นต่อไปมีความสมบูรณ์ และแทงดอกได้ง่าย

การหมักโกโก้
การหมักโกโก้ ให้โกโก้มีกลิ่น และรสที่อร่อย มี 4 รูปแบบ ที่นิยมหมักในประเทศไทย ดังนี้

  1. การหมักในลังไม้
    -ใช้ถุงตาข่ายบรรจุเมล็ดโกโก้ ขนาด 5 กิโลกรัม นำเรียงซ้อนกันในลังไม้ ขนาด กว้าง ยาว และสูง ประมาณ 30 x 40 x 30 เซนติเมตร แล้วนำกระสอบมาปิดทับ แล้วหมักทิ้งไว้นานประมาณ 5 ถึง 6 วัน ใน 3 วันแรกทำการกลับเมล็ดในถุงตาข่าย
  2. การหมักในกะบะหรือถาดไม้
    – นำเมล็ดโกโก้มาในกะบะไม้ขนาด ยาว 90 กว้าง 60 และสูง 10 เซนติเมตร เทเมล็ดโกโก้เป็นชั้นๆ จากนั้น นำกะบะมาเรียงซ้อนกันตั้งแต่ 8 ถึง 12 ชั้น ส่วนด้านบนสุดปิดทับด้วยใบตองหรือกระสอบป่าน หมักนานประมาณ 5 ถึง 7 วัน ระหว่างหมัก 1 ถึง 2 วัน ให้สลับชั้นกะบะจากบนลงล่าง
  3. การหมักในเข่ง
    – นำเมล็ดที่แกะแล้วมาใส่ในเข่ง เข่งละประมาณ 20 ถึง 200 กิโลกรัม รองด้านข้างเข่งให้รอบด้วยใบตอง และวางใบตองทับด้านบนเข่งอีกประมาณ 2 ถึง 3 ชั้น
    – หมักทิ้งไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน และในช่วง 1 ถึง 2 วัน ให้ย้ายเมล็ดไปหมักในเข่งใบใหม่ด้วยวิธีเดียวกันกับครั้งแรกและหมักจนครบกำหนด
  4. การหมักเป็นกองบนพื้น
    – นำเมล็ดที่แกะแล้วมากองรวมกันบนพื้นที่รองด้วยไม้ กองสูงประมาณ 60 ถึง 90 เซนติเมตร ใช้เมล็ดโกโก้ประมาณ 400 ถึง 500 กิโลกรัม ต่อกอง ด้านบนกองคลุมด้วยผ้าหรือใบตองสด หมักทิ้งไว้ประมาณ 5 ถึง 7 วัน พร้อมกลับเมล็ดทุกๆ 1 ถึง 2 วัน

การตากโกโก้

  • ตากบนเสื่อหรือบนลานซีเมนต์ วางเมล็ดทับกันหนาประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร เท่านั้น เพื่อจะให้เมล็ดได้แห้งสนิททั่วทั้งเมล็ด ตากแดดประมาณ 2 ถึง 3 วัน และคอยกลับเมล็ด
  • อย่าให้โดนฝนระหว่างการตาก
  • เมื่อเมล็ดโกโก้แห้งดีแล้ว เมล็ดจะต้องมีความชื้นไม่เกิน 7.5% ภายในเมล็ดจะเปลี่ยนสีเป็นสีโกโก้หรือสีน้ำตาลอ่อน จากนั้นใส่เก็บไว้ในกระสอบ หรือถุงพลาสติกสูญญากาศรอการแปรรูป หรือขนส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป

การคั่วเมล็ดโกโก้แห้ง

  • นำเมล็ดโกโก้แห้งมาคั่วประมาณ 10 ถึง 30 นาที ที่อุณหภูมิ 120 ถึง 130 องศาเซลเซียส ขั้นตอนการคั่วเป็นขั้นตอนสำคัญซึ่งมีผลกระทบต่อรสชาติสุดท้ายของโกโก้ ต้องอาศัยทักษะในการเช็คสี กลิ่น และรส
  • เมื่อคั่วเสร็จใช้ลมเป่าที่เรียกว่า Winnowing กำจัดเปลือกที่ห่อหุ้มเมล็ดโกโก้ออกไป เหลือไว้เพียงเมล็ดโกโก้ที่คั่วแล้ว จึงจะนำไปเข้ากระบวนการแปรรูปต่อไป

 

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.kasetnumchok.com, www.sentangsedtee.com, www.doa.go.th,www.cocoathailandcenter.com,www.puechkaset.com, www.vichakaset.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *