การปลูกผักสลัดระบบ-NFT

การปลูกผักสลัดระบบNFT

การปลูกผักสลัด นิยมใช้ระบบ NFT เพราะเป็นผักทรงพุ่ม เหมาะกับรูปแบบการปลูกที่ได้รับการออกแบบไว้ แต่ก่อนอื่น เราควรทำความรู้จักกับระบบ NFT กันให้ละเอียดขึ้น      ระบบ NFT (Nutrient Film Technique)
ไฮโดรโปนิกส์ระบบ NFT (Nutrient Film Technique) เป็นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์โดยรากแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายธาตุอาหารจะไหลเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ (หนาประมาณ 1-3 มิลลิเมตร) ในรางปลูกผักกว้างได้ตั้งแต่ 5-35 เซนติเมตร สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ความกว้างรางขึ้นอยู่กับชนิดผักที่ปลูก ความยาวของรางตั้งแต่ 5-20 เมตร สารละลายจะไหลอย่างต่อเนื่อง อัตราไหลอยู่ในช่วง 1-2 ลิตร/นาที/ราง รางอาจทำจากแผ่นพลาสติกสองหน้าขาวและดำ หนา 80-200ไมครอน หรือจาก PVC ขึ้นรูปเป็นรางสำเร็จรูป ทำจากโฟมขึ้นรูปเป็นรางติดกัน 3-5 ราง และต่อกันตามแนวยาวและบุภายในด้วยแผ่นพลาสติกกันน้ำรั่ว หรืออาจทำจากโลหะ เช่น สังกะสี หรืออะลูมิเนียม และบุภายในด้วยพลาสติกเพื่อป้องกันการกัดกร่อนของสารละลาย โดยจะมีปั๊มดูดสารละลายให้ไหลผ่านรากพืชและเวียนกลับมายังถังเก็บสารละลาย

ข้อดีและข้อเสียของ ระบบ NFT
1. ข้อดี คือไม่จำเป็นต้องมีเครื่องควบคุมการให้น้ำเนื่องจากระบบนี้จะมีการให้น้ำแก่ผักไฮโดรโปนิกส์ตลอดเวลา ระบบการให้สารละลายแก่ผักไม่ยุ่งยาก ทำการป้องกันและกำจัดเชื้อโรคพืชต่างๆ ในสารละลายได้ง่าย เป็นระบบที่มีการใช้น้ำและธาตุอาหารอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ไม่มีวัสดุปลูกที่ต้องกำจัดสามารถปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดปี ไม่เสียเวลาในการเตรียมระบบปลูก เช่น สามารถปลูกผักสลัดได้ถึง 8-10 ครั้ง/ปี

2. ข้อเสีย คือราคาค่าใช้จ่ายในการติดตั้งสูงมาก โดยเฉพาะถ้าใช้ขาตั้งทำจากโลหะ เป็นระบบที่ต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะมีโอกาสที่ระบบจะเสียได้ง่าย และผักไฮโดรโปนิกส์จะถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ต้องใช้น้ำที่มีสิ่งเจือปนอยู่น้อย (สารละลายต่างๆ)

ถ้ามีสิ่งเจือปนอยู่มากจะเกิดการสะสมของเกลือบางตัวที่ผักใช้น้อยหรือไม่ดูดใช้เลยสะสมอยู่ในสารละลาย ทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนสารละลายบ่อยๆ ทำให้สิ้นเปลืองมีปัญหามากเกี่ยวกับการสะสมของอุณหภูมิของสารละลาย โดยเฉพาะในเขตร้อนมีผลต่อการสลายตัวของออกซิเจนสารละลายลดลง จะทำให้ผักอ่อนแอ รากถูกทำลายโดยโรคพืชได้ง่าย การเจริญเติบโตลดลง จนถึงไม่สามารถปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้เลย อีกทั้งมีการแพร่กระจายของโรคพืชบางชนิดอย่างรวดเร็ว

องค์ประกอบของระบบปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบ NFT
1. ส่วนควบคุมสารละลาย
1.1 ถังเก็บสารละลาย โดยทั่วไปจะฝังอยู่ใต้ดิน เพื่อป้องกันความร้อนและขณะที่น้ำจากรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ไหลตกลงในถังก็จะเป็นการเพิ่มการละลายตัวของออกซิเจนอีกทีหนึ่ง ขนาดของถังเก็บสารละลายขึ้นอยู่กับปริมาณผักไฮโดรโปนิกส์ในระบบ และชนิดผักที่ปลูก และความถี่ในการปรับค่า pH และ EC ถ้าถังที่ใช้มีขนาดเล็กจะต้องมีการเติมและปรับสารละลายบ่อย และโอกาสที่ผักจะได้รับสารละลายที่มีองค์ประกอบไม่เหมาะสมจะมากด้วย (อาจจำเป็นต้องใช้ระบบเตรียมสารละลายโดยอัตโนมัติ)

โดยทั่วไปถ้าถังสารละลายมีขนาดใหญ่ขึ้น การเปลี่ยนค่าต่างๆ ของสารละลายจะช้าลง ผักจะเจริญเติบโตได้ดี แต่จะเปลืองสารละลายมากโดยเฉพาะเมื่อต้องมีการเปลี่ยนสารละลายทั้งหมด ซึ่งถังละลายที่ใช้อาจเป็นถังไฟเบอร์ขนาดความจุ 4,000 ลิตร หรือก่อเป็นถังปูนฝังอยู่ใต้ดิน แต่จะมีราคาแพง ถ้าเป็นระบบขนาดเล็กอาจใช้ถังพลาสติก

1.2 ปั๊มสารละลาย อาจเป็นแบบปั๊มแช่อยู่ในสารละลาย หรือเป็นแบบอยู่นอกถัง ถ้าเป็นแบบแช่อาจใช้ปั๊มไดโว เนื่องจากราคาถูกหาซื้อได้ทั่วไป แต่ถ้าปั๊มไม่ดีจะเสียหายง่าย และเกิดการถ่ายเทความร้อนให้สารละลายโดยตรงทำให้สารละลายร้อน ปั๊มที่เหมาะสมเป็นปั๊มอยู่นอกถังจะต้องเป็นปั๊มที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเวลานานๆ และต้องทนการกัดกร่อนของสารละลาย จึงทำให้มีราคาแพง

ถ้าเป็นระบบใหญ่จะใช้ปั๊มที่ใช้กับสระว่ายน้ำซึ่งใบพัดจะทำจากไฟเบอร์ ทนการกัดกร่อน เช่น ระบบการปลูกขนาด 30 โต๊ะ จะใช้ปั๊มขนาดประมาณ 1 1/5แรงม้า ราคาประมาณ 23,000บาท อัตราไหลประมาณ 22,000 ลิตร/นาที ที่ความสูงของน้ำ 10 เมตร

1.3 ระบบเตรียมสารละลายโดยอัตโนมัติ หากปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในเชิงการค้า อาจจำเป็นต้องมีระบบเตรียมสารละลายอัตโนมัติ โดยจะทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำในถังและค่า pH และ EC ของสารละลายให้อยู่ในช่วงที่ต้องการอยู่ตลอดเวลา อย่างเช่นในการปลูกผักสลัดจะควบคุมให้ค่า pH และ EC อยู่ที่ 1.0-1.2 mS/cm ตลอดเวลา ซึ่งข้อดีคือสารละลายจะมีค่า pH และ EC คงที่อยู่ในช่วงที่ผักต้องการ แต่ข้อเสียคือ ราคาแพงประมาณ 40,000-80,000บาท และต้องมีการดูแลรักษาอยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ถ้าหากเครื่องเสียอาจมีการเติมสารละลายเข้มข้น (AB) หรือเติมกรดมากหรือน้อย
เกินไป ถ้าเติมน้อยเกินไปจะไม่ค่อยมีปัญหากับการเจริญเติบโตของผักไฮโดรโปนิกส์ แค่ผักจะโตช้าลง หรือถ้าเติมกรดน้อยเกินไปสารละลายก็จะมี pH ที่สูงเกินไป แต่ผักก็ยังเจริญเติบโตได้ถ้ามีผู้มาตรวจสอบหรือวัดค่าสารละลายทดสอบแก้ไขได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มากนัก

แต่ในทางกลับกันถ้าเครื่องมือเสียและสั่งให้มีการเติมกรดหรือสารละลายเข้มข้นมากเกินไป จะมีผลกระทบกับผักรุนแรงมาก เช่น มีการเติมกรดมากไป pH สารละลายจะลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น อาจลดจาก pH6 ไปเป็น pH3 พืชอาจจะตายได้หรือรากเกิดเป็นสีน้ำตาล การเจริญเติบโตของผักจะหยุดทันทีถ้าแก่ไขหรือปรับ pH สารละลายไม่ทันผักจะตายได้
หรือถ้าแก้ไขได้เร็วแต่ถ้ารากเสียไปแล้วจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์ รากจึงจะงอกออกมาใหม่ และผักจะเริ่มเจริญเติบโตเป็นปกติ ในทำนองเดียวกับเครื่องควบคุม EC ก็จะอันตรายคล้ายๆ กับ pH

ดังนั้น การใช้เครื่องควบคุมโดยอัตโนมัติจะต้องมาคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ถ้าต้องการให้ปลอดภัยอาจใช้วิธีเติมกรดหรือสารละลายเข้มข้นให้พอกับการใช้ 1-2 วัน ถ้าเกิดเครื่องมือเสียสารละลายกรดก็จะหมดก่อนที่ pH และ EC จะเปลี่ยนจนเกิดความเสียหายแก่ผักที่ปลูกได้ แต่ถ้าเป็นระบบขนาดเล็กก็ไม่จำเป็นต้องมีระบบเตรียมสารละลายโดยอัตโนมัติ แต่จะใช้คนเป็นผู้วัดและปรับค่า pH และ EC ตามที่ต้องการ โดยทั่วไปจะทำตอนเช้า

2. ระบบท่อนำสารละลายและรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
2.1 ระบบท่อนำสารละลายสู่รางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นท่อที่นำสารละลายจากปั๊มไปสู่หัวรางปลูกผัก ท่อนำสารละลายโดยทั่วไปจะฝังอยู่ใต้ดิน ส่วนที่พ้นดินจะใช้ท่อสีขาวเพื่อป้องกันการสะสมความร้อน ต้องมีการคำนวณขนาดให้พอเหมาะกับปั๊มที่ใช้ โดยทั่วไป ถ้ารางปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์และถังสารละลายไม่ไกลกันมากนักอาจใช้ท่อขนาด 2-2 ½ นิ้ว

2.2 รางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ จะมีขนาดความกว้างและความยาวต่างๆ กันตามชนิดของผักที่ปลูก ตัวรางอาจทำจากวัสดุต่างๆ เช่น PVC พลาสติก หรือโลหะปลอดสนิม ซึ่งต้องบุภายในด้วยพลาสติก ขนาดรางมีตั้งแต่ 10-30 เซนติเมตร ความยาว 5-50 เมตร ควรใช้รางสีขาวทำจากวัสดุ PVC และไม่ควรยาวเกิน 20 เมตร เพื่อป้องกันการสะสมความร้อนทำให้รากผักขาดออกซิเจน

2.3 ท่อนำสารละลายกลับสู่ถังสารละลาย จะเป็นท่อขนาดใหญ่ เนื่องจากการไหลกลับของน้ำจะอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกอย่างเดียวและท่อฝังอยู่ใต้ดิน และโดยทั่วไปจะมีลูกลอยอยู่ในถังผสมสารละลาย ในกรณีที่ฝนตกน้ำเข้าไปในรางปลูก ลูกลอยจะปิดไม่ให้น้ำฝนเข้าในถังน้ำส่วนเกินจะระบายออกทางท่อระบายน้ำ โดยทั่วไปท่อจะมีขนาด 2 ½ – 3 นิ้ว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การปลูกผักสลัด ในระบบ NFT

การปลูกผักสลัด ในระบบ NFT มีขั้นตอนดังนี้
1. เมล็ดผักมี 2 แบบ คือ เมล็ดแบบไม่เคลือบ (Raw Seed) จะมีเมล็ดประมาณ 800 เมล็ด/กรัม ราคาประมาณ 200-400 บาท/1,000 เมล็ด ชนิดที่ 2 คือ เมล็ดจะเคลือบด้วยแร่ดินเหนียว และสารเชื่อมเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.25-3.75 มิลลิเมตร ทำให้เมล็ดใหญ่ขึ้นสะดวกตอนเพาะเมล็ดเป็นเมล็ดที่ผ่านการกระตุ้นเพื่อพร้อมที่จะงอก ดังนั้น อัตราการงอกจะสม่ำเสมอแต่ราคาจะแพงกว่า ประมาณ 400-600 บาท/1,000 เมล็ด

2. การงอกของเมล็ดต้องการแสงเล็กน้อย ดังนั้น ไม่ควรฝังเมล็ดลึกเกินไปในวัสดุปลูก เมล็ดจะงอกได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ

3. วัสดุเพาะเมล็ด โดยทั่วไปจะใช้ เพอร์ไลท์ (Perlite)—สีขาว ผสมกับ เวอร์มิคูไลท์ (Vermiculite)—เป็นแผ่นนิ่มๆ สีน้ำตาลอุ้มน้ำดี อัตราส่วน 90:10 หรืออาจใช้ เพอร์ไลท์ 100% เลยก็ได้ ถ้าใช้เวอร์มิคูไลท์มากไปจะทำให้วัสดุแฉะต้นกล้าจะเน่าตายได้ง่าย

แต่เนื่องจากวัสดุทั้งสองชนิด มีราคาแพงประมาณลิตรละ 8 บาท บางที่อาจใช้ทรายแม่น้ำหยาบที่ล้างเอาเศษดินออกและร่อนขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตรก็ใช้ได้ดี นอกจากนี้อาจใช้วัสดุอินทรีย์ที่ผ่านการย่อยสลายแล้ว เช่น ขุยมะพร้าว แต่เมืองไทยยังไม่มีการใช้กัน จึงต้องระวังเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ปนมากับวัสดุดังกล่าว

4. ถ้วยปลูกจะทำมาโดยเฉพาะ โดยมีขนาดพอเหมาะกับรูและความสูงของรางปลูก โดยก้นถ้วยจะวางอยู่บนฐานรางพอดี และจะมีรอยผ่า 2 เส้น ให้เป็นทางออกของราก ก่อนซื้อควรตรวจดูด้วยว่ารอยผ่านั้นมีหรือไม่ และผ่าทะลุก้นถ้วยหรือไม่ เพราะบางครั้งรอยผ่าตื้นเกินไปรากจะไม่สามารถงอกออกมาได้ ถ้วยปลูกจะยึดติดเป็นแผงมี 80 ถ้วย อาจมีสีขาวหรือสีฟ้า

5. ใส่วัสดุปลูกลงในถ้วยให้ต่ำกว่าขอบถ้วยประมาณ ½ เซนติเมตร

6. หยอดเมล็ด ถ้าเมล็ดไม่ได้เคลือบจะมีขนาดเล็กมาก โดยทั่วไปจะใช้มือหยิบเมล็ดวางบนวัสดุปลูก แต่ถ้าไม่ชำนาญอาจให้ใช้ไม้จิ้มฟันแตะน้ำ และแตะเมล็ดวางบนวัสดุปลูก ไม่ต้องกลบเมล็ด ที่สำคัญให้ใส่ 1 เมล็ดต่อหนึ่งถ้วย หลังจากนั้นใช้มือเขย่าถาดเพาะเมล็ดจะจมลงในวัสดุเอง

7. นำไปวางบนโต๊ะเพาะและรดด้วยน้ำเปล่าประมาณ 2-3 วันเมล็ดจะเริ่มงอก ต้องให้ต้นกล้าเริ่มถูกแสงประมาณ 50% ถ้าแสงน้อยต้นกล้าจะยืดทำให้การเจริญเติบโตช้า รอจนต้นกล้าเริ่มมีใบจริงโผล่ออกมาจึงย้ายลงในถาดเพาะ อายุประมาณ 6 วัน

8. นำไปวางในถาดเพาะ รดด้วยสารละลายเจือจาง หรือปล่อยให้สารละลายซึมจากด้านล่างถ้วยโดยขังน้ำสูงจากก้นถ้วยประมาณ 1 เซนติเมตร ให้สารละลายธาตุอาหารเจือจางค่า EC = 0.5-0.6 mS/cm (CF=5-6) pH=5.5-6 ต้นกล้าจะอยู่ในถาดอนุบาลประมาณ 2 สัปดาห์

9. ย้ายต้นกล้าลงในรางอนุบาลผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งเป็นรางแบบเดียวกับรางปลูก แต่รางจะวางชิดกัน และแต่ละรูปลูกจะเจาะชิดกัน เมื่อย้ายลงรางอนุบาลผักไฮโดรโปนิกส์ให้ค่อยๆ เพิ่มค่า EC ของสารละลายขึ้นเรื่อยจนถึงที่ประมาณ 1.1-1.2 mS/cm ผักจะอยู่ในรางอนุบาลอีกประมาณ 2 สัปดาห์ จึงย้ายลงรางปลูก

 

10. ย้ายลงรางปลูกใช้ EC ที่ 1.1-1.2 mS/cm จนเก็บเกี่ยวโดยจะอยู่ในรางปลูกประมาณ 2-3 อาทิตย์ขึ้นอยู่กับชนิดผักและฤดูปลูก

11. การดูแลผักไฮโดรโปนิกส์ขณะปลูกต้องมีการตรวจอัตราการเจริญเติบโตของผักตลอดเวลาต้องเป็นไปตามปกติขึ้นอยู่กับชนิดผักและฤดูกาล ถ้าผิดปกติต้องหาสาเหตุและรีบแก้ไข สิ่งสำคัญต้องคอยดูที่รากผัก ถ้าผักโตดีรากจะขาวไม่ขาดง่าย แต่ถ้ารากเริ่มกลายเป็นสีน้ำตาลและขาดง่าย แสดงว่าผักไฮโดรโปนิกส์ที่ปลูกเริ่มมีปัญหาต้องรีบแก้ไข

เนื่องจากรากผักจะเป็นส่วนแรกที่แสดงอาการผิดปกติไม่แสดงอาการเหี่ยว แต่ถ้ารากเริ่มเป็นสีน้ำตาลภายใน 2-3วัน ส่วนของต้นจะเริ่มแสดงอาการเหี่ยวอย่างแน่นอน เมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปที่จะทำการแก้ไข

12. การจัดการเกี่ยวกับ pH และ EC การดูแลจัดการสารละลายขณะปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ต้องตรวจสอบค่า pH และ EC ให้เหมาะสมและถูกต้อง ต้องมีการถ่ายหรือเปลี่ยนสารละลายอยู่เป็นระยะๆ การจัดการเกี่ยวกับ pH สารละลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ในระบบ NFT ถ้าไม่สามารถควบคุมค่า pH ของสารละลายให้อยู่ในช่วง 5.8-6.2 ได้ก็ไม่สามารถปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ให้ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้นจะต้องมีเครื่องมือที่ใช้ควบคุม pH ให้อยู่ในช่วงดังกล่าว ถ้า pH ต่ำ หรือสูงไป ธาตุอาหารบางตัวจะไม่เป็นประโยชน์ต่อผัก ผักจะขาดธาตุอาหาร การเจริญเติบโตลดลง หรือแสดงอาการขาด ซึ่งอาการที่พบเสมอเมื่อค่า pH สูงเกินไปคือใบจะเหลืองเนื่องจากขาดธาตุเหล็ก ทำให้ขายไม่ได้ราคา

ปัญหาการควบคุมค่า pH เป็นปัญหาที่พบบ่อยมากในฟาร์มปลูกผัก ซึ่งบางครั้งผู้ดูแลเองยังไม่ทราบสาเหตุเมื่อผักแสดงอาการใบอ่อนเหลือง ซึ่งสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ จากการปรับค่า pH ของสารละลาย

ค่า EC ต้องควบคุมให้อยู่ช่วงที่ต้องการ เช่น อยู่ที่ 1.6 mS/cm ค่า EC ในระบบจะไม่เปลี่ยนเร็วนักและ
จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่มากนัก

13. การเก็บเกี่ยวผักไฮโดรโปนิกส์ ช่วงที่ผักจะมีน้ำหนักดีที่สุด คือในช่วงเช้ามืด ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นผักจะมีการดูดน้ำ สะสมในผักมากที่สุด เมื่อมีแสงแดดอุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้นและผักจะเริ่มคายน้ำ ผักจะเริ่มเหี่ยวน้ำหนักลดลง ดังนั้น การเก็บเกี่ยวผักไฮโดรโปนิกส์ช่วงที่ดีที่สุดคือตอนเช้า แต่ในทางปฏิบัติ จะมีปัญหาเกี่ยวกับเวลาและแรงงานในการเก็บ ดังนั้น ในทางปฏิบัติสามารถเก็บผักไฮโดรโปนิกส์ในช่วงเวลาใดก็ได้ในรอบวัน แต่ถ้าเก็บในช่วงบ่ายหรือเย็นควรมีการพ่นน้ำ เพื่อป้องกันผักเหี่ยว

14. การแต่งผักไฮโดรโปนิกส์และบรรจุหลังจากเก็บผักจากแปลงแล้ว นำผักมาแต่งโดยเด็ดใบที่มีตำหนิออก เช่น ใบเหี่ยว ใบเหลือง ใบจุด ใบขาด ใบเป็นรอยเนื่องจากแมลง ฯลฯ ชั่งน้ำหนักและใส่กล่องหรือลังพลาสติก โดยรองลังด้วยถุงพลาสติกขนาดใหญ่ พรมน้ำให้ชุ่มก่อน เนื่องจากผักไฮโดรโปนิกส์ยังมีชีวิตอยู่สามารถดูดน้ำไปใช้ได้ ผักจะเหี่ยวช้าลง

การเรียงผักไฮโดรโปนิกส์ในลังต้องเรียงให้แน่นพอดี ถ้าเรียงหลวมไปขณะขนย้ายผักจะสีกันเองใบจะช้ำได้ ถ้าแน่นเกินไปใบผักจะหัก ขณะเรียงผักไฮโดรโปนิกส์ถ้าเป็นลังมาตรฐานจะใส่ผักได้ 2.5 – 3 กก. และพับปากถุงเพื่อป้องกันการคายน้ำ (ไม่ควรพ่นน้ำในลังบรรจุผักมากไปจนแฉะ เพราะจะทำให้มีการเข้าทำลายของเชื้อรา ทำให้ผักเน่าหรือใบเป็นจุด ซึ่งปัญหานี้จะพบมากในหน้าร้อนและหน้าฝน ปิดปากถุงป้องกันการคายน้ำ ถ้ามีห้องเย็น ใส่ผักไฮโดรโปนิกส์ในห้องเย็น จะเก็บผักได้นานขึ้น

15. การขนส่งผักไฮโดรโปนิกส์ ปกติจะส่งโดยรถปิคอัพที่มีห้องเย็น และขนพร้อมลังใส่ผัก วิธีนี้จะดีที่สุดผักไฮโดรโปนิกส์จะไม่ช้ำ และเก็บได้นาน รถ 1 คันจะส่งผักไฮโดรโปนิกส์ได้ประมาณ 180 กก. แต่ถ้าไม่ใช่รถห้องเย็น รถต้องมีหลังคากันแดด

16. ทำความสะอาดรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์โดยใช้เครื่องฉีดน้ำแรง ถ้าเป็นรางที่สามารถเปิดฝาได้ก็ทำความสะอาดได้ง่ายโดยเปิดฝารางและใช้แปรงหรือสก๊อตไบรท์ถูราง และเริ่มลงผักไฮโดรโปนิกส์ในรางปลูกใหม่ได้เลย ซึ่งถ้าสามารถจัดการให้ผักอยู่ในรางปลูกได้ 14-21 วันและทำการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ใหม่ได้ภายใน 1 วันจะทำให้สามารถปลูกผักได้ 18-20 ครั้ง/ปี ซึ่งจะเป็นระบบที่สามารถทำผลผลิต / หน่วยพื้นที่ได้มากที่สุด

สรุปย่อขั้นตอน การปลูกผักสลัด ระบบ NFT
1. เพาะกล้าไม้ 3 สัปดาห์
2. อยู่ในรางอนุบาลกล้าไม้ 2 สัปดาห์
3. อยู่ในรางปลูกผัก 2-3 สัปดาห์ รวมเวลาปลูก 6-7 สัปดาห์
4. ในรอบ 1 ปี สามารถปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ได้ 14-18 ครั้ง/ปี

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(ข้อมูลจาก: ผักไฮโดรโปนิกส์ (ฉบับชาวบ้าน))

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *