การตลาดของมะม่วง

การตลาดของมะม่วง

การตลาดของมะม่วง จากที่มะม่วงเคยเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมากแทบทุกครัวเรือนในประเทศไทย แต่ปัจจุบันนี้ มะม่วงกลายเป็นผลไม้ที่ปลูกเชิงการค้า และประสบความสำเร็จทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในประเทศ การตลาดของมะม่วง ไม่ค่อยเกิดปัญหาเรื่องมะม่วงล้นตลาด เนื่องจากคนไทยยังรับประทานมะม่วงกันเป็นหลัก ส่วนการส่งออกต่างประเทศนั้น การตลาดของมะม่วง มีรูปแบบที่ส่งออกมากที่สุดคือ มะม่วงอบแห้ง รองลงมาเป็น มะม่วงสดหรือมะม่วงแช่แข็งส่งออก และมะม่วงบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าไม่ได้ ตลาดส่งออกมะม่วงที่สำคัญ สำหรับมะม่วงสด ก็คือ ประเทศจีน เกาหลีใต้ เวียดนาม และญี่ปุ่น ส่วนมะม่วงบรรจุภาชนะ ถูกส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มะม่วงอบแห้ง ตลาดส่งออกสำคัญก็คือ สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร ขณะที่มะม่วงแช่แข็ง ส่งไปที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเนเธอร์แลนด์ แม้มะม่วงไทยจะมีจุดเด่น แต่ปัจจุบันคู่แข่งสำคัญคือ ฟิลิปปินส์ และอินเดีย ทำให้ไทยต้องเร่งเพิ่มศักยภาพการ ผลิตมากขึ้น เช่น การผลิตนอกฤดู พัฒนามาตรฐานสินค้า เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้น เกษตรกรควรศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากมะม่วงให้มีคุณภาพที่ดีสอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อผลกำไรที่ดีและต่อเนื่อง (แหล่งข้อมูล https://www.thairath.co.thจากข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยความร่วมมือของ กรมศุลกากร ระบุว่า การส่งออกมะม่วงของไทยปี 2558)
เทคนิคการผลิตมะม่วงนอกฤดู

การผลิตมะม่วงนอกฤดูนั้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้ต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี ขั้นตอนการผลิตมะม่วงนอกฤดู จะเริ่มต้นหลังจากการเก็บเกี่ยวมะม่วงในฤดูแล้ว โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้
1. (ปลายเดือนเมษายน) การบำรุงต้นมะม่วงให้สมบูรณ์ หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตมะม่วงในเดือนเมษายนแล้ว ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ต้นละ 1-2 กิโลกรัมต่อขนาดทรงพุ่ม 1 เมตร ร่วมกับปุ๋ยคอก 20 กิโลกรัม ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง
2. (เดือนพฤษภาคม) การเร่งให้แตกใบอ่อน หลังจากใส่ปุ๋ยแล้ว เร่งให้แตกใบอ่อนพร้อมกัน โดยใช้สารโปแตสเซียมไนเตรท 2.5 เปอร์เซ็นต์ (500 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร) พ่นให้ทั่วทั้งต้น มะม่วงจะแตกใบอ่อน 2 ครั้งหลังจากพ่นสาร 10-15 วัน คือ ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน
3. (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม) การราดสารบังคับการออกดอก

  • ใบมะม่วงจะเริ่มแก่อยู่ในระยะใบพวง (ใบเพสลาด) ให้ขุดรอบๆ ทรงพุ่มลึก 1-2 นิ้ว ราดด้วยสารพาโคลบิวทราโซล ตามอัตราที่แนะนำแล้วรดน้ำติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์
  • ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 ในอัตราที่เหมาะสม และให้น้ำติดต่อกัน 30 วัน
  • ประมาณต้นเดือนสิงหาคม ใบมะม่วงจะแก่เต็มที่ ให้พ่นปุ๋ยเกล็ดสูตร 0-52-34 อัตรา 100-150 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร 2 ครั้ง ห่างกัน 7 วัน เพื่อไม่ให้แตกใบอ่อน

4. (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) การบังคับให้มะม่วงแทงช่อ

  • ในมะม่วงพันธุ์เบา เช่น ฟ้าลั่น หนองแซง น้ำดอกไม้ ฯลฯ หลังราดสารพาโคลบิวทราโซล ประมาณ 60 วัน ตายอดจะนูนเด่น ซึ่งเป็นระยะที่พร้อมในการบังคับให้แทงช่อดอกได้ ให้พ่นโปแตสเซียมไนเตรท 2.5 เปอร์เซ็นต์ ให้ทั่วทั้งต้น มะม่วงแทงช่อดอกหลังพ่นสาร 7 วัน (ประมาณกลางเดือนตุลาคม) และจะเก็บเกี่ยวผลได้ประมาณกลางเดือนมกราคม
  • มะม่วงพันธุ์ที่ออกดอกยาก เช่น เขียวเสวย หนังกลางวัน แรด ให้พ่นสารโปแตสเซียมไนเตรท หลังราดสารพาโคลบิวทราโซล 90 วัน มะม่วงจะแทงช่อดอกเดือนพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวผลได้ประมาณกลางเดือนมีนาคม

5. การดูแลรักษาหลังจากมะม่วงแทงช่อดอก

  • เมื่อมะม่วงแทงช่อดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร พ่นสารฆ่าแมลงและสารป้องกันเชื้อรา
  • เมื่อดอกบาน งดใช้สารเคมีทุกชนิด
  • ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 เพื่อบำรุงต้นมะม่วงให้สมบูรณ์
  • พ่นสารฆ่าแมลงและสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เมื่อมะม่วงติดผลขนาดเท่าหัวไม้ขีด

**การใช้สารเคมีบังคับให้มะม่วงออกดอก**

  • ต้นมะม่วงต้องมีความพร้อมและมีความสมบูรณ์เต็มที่ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูที่ผ่านมา โดยทำการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ย ให้น้ำ ปราศจากโรค และแมลงเข้าทำลาย
  • สภาพของดินที่บริเวณโคนต้นจะต้องมีความชื้นพอสมควร หากดินแห้งควรรดน้ำให้ชุ่มก่อนราดสาร 1 วัน และกำจัดวัชพืชบริเวณโคนต้นมะม่วงให้หมด
  • การฉีดพ่นสารโปแตสเซียมไนเตรทนั้นควรเป็นช่วงเช้า และเย็น ถ้าฉีดพ่นช่วงแดดจัดอาจจะทำให้ใบมะม่วงไหม้เสียหายได้


การผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก

การผลิตมะม่วงภายใต้ ‘ระบบการจัดการคุณภาพ : GAP มะม่วง’ ยืนยันการผลิตมะม่วงเพื่อให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตาม ‘ระเบียบปฏิบัติ GAP ระบบการผลิตมะม่วงระดับเกษตรกร’ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในสินค้ามะม่วงไทย ดังนี้
1. มีการจัดการสุขลักษณะสวน
2. มีการจัดการเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตร
3. มีการจัดการปัจจัยการผลิต
4. มีการปฏิบัติและการควบคุมการผลิต
5. มีการบันทึกและการควบคุมเอกสาร
ข้อกำหนด เกณฑ์ที่กำหนด และวิธีการตรวจประเมินว่าเป็นไปตามระบบการผลิตมะม่วง GAP นั้น สามารถตรวจสอบเพิ่มเติมได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ระเบียบปฏิบัติGAP (Good Agricultural Practice) ระบบการผลิตมะม่วงระดับเกษตรกร (http://www.doa.go.th/hortold/images/stories/gaphort/mango/mangomanage04.pdf) หรือ จากหนังสือ ‘มะม่วงเศรษฐกิจ & ส่งออก ยุคใหม่…สร้างเงินล้าน’

สารที่ห้ามใช้ในมะม่วงส่งออก

  • คาร์เบนดาซิม / บีโนมิล (Carbendazim / Benomyl)
  • แคพแทน (Captan)
  • ไซเปอร์เมทริน (Cypermethrin)
  • เดลทาเมทริน (Deltamethrin)
  • ไดไทโอคาร์บาเมต (Dithiocarbamates)
  • โพรฟิโนฟอส (Profenofos)
  • เฟนวาเลอเรต (Fenvalerate)
  • แลมบ์ดาไซแฮโลทริน (Lambdacyhalothrin)
  • อีเทฟอน (Ethephon)
  • คาร์บาริล (Carbaryl)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูลจาก มะม่วงเศรษฐกิจ & ส่งออก ยุคใหม่…สร้างเงินล้าน)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *