การดูแลมะพร้าวหลังการเพาะปลูก

การดูแลมะพร้าวหลังปลูก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มะพร้าว

พืชผัก ผลไม้ทุกชนิด เมื่อปลูกแล้วควรได้รับการดูแลเป็นอย่างดี การดูแลมะพร้าว หลังการเพาะปลูก ก็เช่นกัน เราปลูกมะพร้าวแล้วจะได้รับประทานน้ำมะพร้าวที่รสชาติหวาน กลิ่นหอม ได้เนื้อมะพร้าวที่ให้น้ำกะทิเข้มข้น มัน หรือได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูง ก็ขึ้นอยู่กับ การดูแลมะพร้าว ที่ดีและสม่ำเสมอ เพราะไม่เพียงแค่คุณภาพที่ดีที่จะได้รับ ผลผลิตที่สูงก็จะตามมาอย่างคุ้มค่ากับการลงทุน การดูแลมะพร้าว หลังการเพาะปลูกนั้น ผู้ปลูกควรเริ่มจากการให้น้ำ การให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช การป้องกันและกำจัดศัตรู จนกระทั้งไปถึงขั้นตอน การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ( ในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชนั้น สามารถติดตามได้ในบทความ โรคของมะพร้าว และแมลงศัตรูพืชของมะพร้าว  )

การให้น้ำ

การปลูกมะพร้าวนั้นอาศัยวิธีการให้น้ำแบบอาศัยธรรมชาติ คือ ปลูกในฤดูฝน รอน้ำจากธรรมชาติ คือน้ำฝน แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่หากเกิดภาวะฝนแล้ง ก็มีผลกระทบกับมะพร้าวเช่นกัน ดังนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ มักจะปลูกมะพร้าวด้วยวิธียกร่อง เพื่อให้มะพร้าวได้รับน้ำตลอดทั้งปี ที่สำคัญ ต้องดูแลดินให้ชุ่มชื้นสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วง 1-3 เดือนแรก และวิธีดูแลดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนในการดูแลมะพร้าว

การให้ปุ๋ย

เป็นขั้นตอนของการดูแลดิน พืชผลทุกชนิดรวมทั้งมะพร้าวมีปริมาณผลผลิตที่ขึ้นอยู่กับธาตุอาหารในดิน การที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ คือดินมีแร่ธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของมะพร้าว การให้ปุ๋ยเพื่อปรับสภาพดินนั้น สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะแก่การปลูกมะพร้าวควรอยู่ในช่วงระหว่าง pH 6-7   การให้ปุ๋ยให้พอเหมาะแก่ความต้องการของมะพร้าวนั้น ควรเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ด้วย เพื่อการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมกับสภาพดิน มะพร้าวจะดูดธาตุอาหารโพแทสเซียมไปใช้มากที่สุดในการเพิ่มจำนวนผลผลิต และธาตุอาหารอื่นตามลำดับ ดังนี้

  • โพแทสเซียม 13.60 – 20.96 กิโลกรัม ต่อไร่
  • ไนโตรเจน 9.44 – 14.56 กิโลกรัม ต่อไร่
  • ฟอสฟอรัส 4.32 – 6.40 กิโลกรัม ต่อไร่

ต่อไร่ปุ๋ยที่ใช้ได้ผลและเพิ่มผลผลิตของมะพร้าวได้สูงสุด คือ ปุ๋ยเกรด 13-13-21 และปุ๋ยเกรด 12-12-17-2 แมกนีเซียมซัลเฟต และปุ๋ยหินปูนโดโลไมท์ ในการใช้ปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต หรือ โดโลไมท์ นั้นให้พิจารณาถึงสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินด้วย กล่าวคือ ในสภาพดินที่มีแนวโน้มการเป็นกรดเป็นด่างสูงให้ใช้ปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต และในสภาพดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่างต่ำให้ใช้ปุ๋ยโดโลไมท์ ในการใช้ปุ๋ยโดโลไมท์นั้น

***ควรให้ก่อนหรือหลังใส่ปุ๋ยเคมี ประมาณ 1 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้ธาตุอาหารถูกกักเก็บไว้ในดินทำให้มะพร้าวไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้*** การให้ปุ๋ยควรใส่ให้สัมพันธ์กับอายุมะพร้าว

การให้ปุ๋ยเคมี

  • มะพร้าวอายุ1 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี ( ยังไม่ใส่โดโลไมท์ )
  • มะพร้าวอายุ2 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 จำนวน 2 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปีแมกนีเซียมซัลเฟต 200 กรัม ต่อต้น ต่อปี, โดโลไมท์ 2 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี
  • มะพร้าวอายุ3 ปี ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปีแมกนีเซียมซัลเฟต 300 กรัม ต่อต้น ต่อปี โดโลไมท์ 3 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี
  • มะพร้าวอายุ4 ปีขึ้นไป ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17-2 จำนวน 4 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี แมกนีเซียมซัลเฟต 500 กรัม ต่อต้น ต่อปี โดโลไมท์ 4 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี

สำหรับปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต และหินปูนโดโลไมท์ ให้เลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าใช้หินปูนโดโลไมท์แนะนำให้หว่านก่อนให้ปุ๋ยอย่างอื่น อย่างน้อย 1 เดือน หรืออาจเสริมการใส่กรีเซอร์ไรด์ หรือ เกลือแกงให้มะพร้าว 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี เพื่อเพิ่มธาตุคลอไรด์ ช่วยให้มะพร้าวติดผลและมีเนื้อหนา ทั้งนี้การให้ปุ๋ยให้กับมะพร้าวขึ้นอยู่กับผลการวิเคราะห์ดินด้วยซึ่งจะช่วยให้การให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพ

วิธีการให้ปุ๋ย แบ่งใส่ทุก 6 เดือน ครั้งแรกเริ่มในฤดูที่เหมาะที่สุดที่จะใส่ปุ๋ยให้มะพร้าว คือ ในช่วงต้นและปลายฤดูฝน ในช่วงนี้มีความชื้นเพียงพอที่จะช่วยละลายปุ๋ย และรากของมะพร้าวกำลังเจริญเติบโตเต็มที่สามารถดูดปุ๋ยไปใช้ได้ดี การหว่านปุ๋ย รากมะพร้าวที่สามารถดูดปุ๋ยได้ดีอยู่บริเวณติดกับลำต้นและอยู่ห่างจากลำต้นภายในรัศมี 2 เมตร ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงควรโรยหรือหว่านปุ๋ยตั้งแต่โคนต้นไปจนถึง 2 เมตร โดยรอบแต่ถ้าเป็นมะพร้าวที่ยังเล็กอยู่ควรหว่านปุ๋ยใกล้โคนมะพร้าวเพราะรากยังน้อย หลังจากหว่านปุ๋ยแล้วควรพรวนดินตื้นๆ ลึกประมาณ 10-15 ซม. เพื่อให้ปุ๋ยได้คลุกเคล้ากับดินและป้องกันการชะล้าง

การให้ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยคอก ประเทศไทย เป็นประเทศในเขตร้อน อินทรียวัตถุในดินส่วนมากมีน้อยและมีการสลายตัวเร็ว เพราะมีฝนตกชุกและอุณหภูมิสูง แบคทีเรียในดินสามารถเจริญเติบโตได้ดี ย่อย และทำลายพวกอินทรียวัตถุได้อย่างรวดเร็ว อินทรียวัตถุจะเป็นตัวช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์และสภาพของดินดีขึ้น ทำให้ดินร่วนซุย การระบายน้ำ ระบายอากาศเป็นไปได้ดี รากของมะพร้าวสามารถชอนไชไปหาอาหารได้อย่างกว้างขวาง การเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินสามารถกระทำได้หลายแบบ เช่น การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยพืชสด เช่น ปอเทือง แล้วทำการไถกลบ หรือใช้วิธีการเลี้ยงสัตว์ในสวนมะพร้าวก็ได้     ก่อนการให้ปุ๋ยทุกครั้ง ควรถางโคนต้นมะพร้าวให้เตียน การให้ปุ๋ยมูลสัตว์ หรือปุ๋ยคอก นอกจากจะทำตามวิธีการในภาพตัวอย่างแล้ว ยังมี อีก 2 วิธี คือ ขุดรางรอบต้น กว้าง 12 เซนติเมตร ลึก 10-15 เซนติเมตร ระยะห่างจากโคนต้น 1 ถึง 1.80 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกลงในรางแล้วกลบดิน หรือ ขุดหลุมขนาด 30x30x30เซนติเมตร ห่างจากโคนต้น 1.50 ถึง 2 เมตร ต้นละ 3 หลุม ใส่ปุ๋ยลงในหลุมแล้วกลบดิน โดยหลุมที่ใส่จะต้องเปลี่ยนทุกปีจนกระทั่งวนรอบต้น

ปุ๋ยฟรี ด้วยเศษวัสดุจากมะพร้าว

  • นำกาบมะพร้าวใส่ในหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 60 เซนติเมตร แล้วกลบ การฝังกาบมะพร้าวช่วยทำให้มะพร้าวออกผลดกขึ้น และช่วยรักษาความชื้นไว้ในดินช่วงฤดูแล้ง
  • ปุ๋ยเถ้ากาบมะพร้าว นำกาบมะพร้าวใหม่มาเผาด้วยไฟอ่อน ขณะที่เผาต้องระวังอย่าให้ไฟลุก ถ้าไฟลุกมากให้ใส่กาบมะพร้าวใหม่ลงไป เมื่อเผาเสร็จแล้วรวบรวมเถ้ามาใส่เป็นปุ๋ย ใช้แทนปุ๋ย มิวริเอทออฟโปรแตช หรือโพแทสเซียมคลอไรด์ ในปุ๋ยกาบมะพร้าวมีธาตุโพแทสเซียม ถึงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
    • ใช้ขุยมะพร้าวโรยรอบโคนต้น
    • ใส่ปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าว ของ กลุ่มอาชีพเกษตรอินทรีย์ ( สืบค้นข้อมูลจาก webhost.cpd.go.th/nikombsp/download/กลุ่มอาชีพเกษตรอินทรีย์.doc )
      ส่วนผสม

      1. ขุยมะพร้าว 1 ตัน
      2. มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
      3. ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
      4. สารเร่ง พด.1 1 ซอง
      5. น้ำ

วิธีทำ

  1. ผสมสารเร่ง พด.1 กับน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนาน 10 นาที                                             
  2. การทำกองปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าว ชั้นแรกกองขุยมะพร้าว ใส่มูลสัตว์ ปุ๋ยยูเรีย หว่านให้ทั่วทั้งกอง รดน้ำให้ชื้นประมาณ 60 % รดสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ให้ทั่วกองขุยมะพร้าวด้านบน ทำประมาณ 2 – 3 ชั้น ชั้นบนสุด เป็นขุยมะพร้าว รดน้ำให้มีความชื้นทั่วทั้งกอง คลุมด้วยผ้าพลาสติก หรือกระสอบปุ๋ย ปิดทับด้วยทางมะพร้าว
  3. กลับกองปุ๋ย ทุก ๆ 15 – 20 วัน ระหว่างกลับกองปุ๋ยให้รดน้ำเพิ่มความชื้นในกองปุ๋ยเพื่อและลดอุณหภูมิในกองปุ๋ย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของจุลินทรีย์
  4. หมักไว้ประมาณ 1 เดือน จะได้ปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าวที่มีลักษณะเป็นสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เนื้อละเอียด ไม่มีกลิ่นเหม็น และความร้อนในกองปุ๋ยหมักลดลง จึงสามารถนำไปใช้ในแปลงปลูกได้

วิธีใช้

  • ใช้รองก้นหลุมในการปลูกต้นใหม่ เตรียมหลุมปลูก ใช้ 20 กิโลกรัม/หลุม คลุกเคล้าปุ๋ยหมักกับดิน ใส่รองก้นหลุม
  • ให้ปุ๋ยแก่ต้นมะพร้าวที่เจริญเติบโตแล้ว ใช้ 20– 50 กิโลกรัม โดยขุดร่องลึก 10 เซนติเมตร ตามแนวทรงพุ่มของต้น ใส่ปุ๋ยหมักในร่องและกลบด้วยดิน หรือหว่านให้ทั่วภายใต้ทรงพุ่ม

การกำจัดวัชพืช

  • โดยการใช้แรงคน ถากด้วยจอบ หรือดายด้วยมีด
  • ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถไถหญ้า รถไถนาขนาดเล็ก
  • ปลูกพืชคลุม ใช้พืชตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เพอร์ราเรีย หรือ เซ็นโตรมา โดยการปลูกให้ห่างโคนต้นเกินรัศมี 1 วา
  • ใช้สารเคมี เช่น ไกลโฟเซ็ท(ชื่อการค้าว่า ราวด์-อัพ หรือ คาวบอย) หรือดาลาพอน (ชื่อการค้าว่า คาลาล่า หรือ ดาวพอน ฯลฯ) กำจัดวัชพืชข้ามปี เช่น หญ้าคา ใช้พาราควอท (ชื่อการค้าว่า กรัมม้อกโซน กล๊าสโซน เพลนโซน น้อกโซน ฯลฯ) กำจัดวัชพืชล้มลุกต่างๆ เช่น ตีนนก ตีนกา สาบแร้งสาบกา (อัตราและวิธีใช้ตามฉลากยา เวลาใช้ต้องระวังอย่าให้ละอองสารเคมีถูกต้นหรือใบมะพร้าว)

การตัดทางใบ

ทางใบที่แก่จะคายน้ำได้เร็วกว่าทางใบอ่อน ก่อนถึงฤดูแล้ว หรือหากมีภาวะแล้ง ฝนตกน้อยจะช่วยลดการคายน้ำและได้รับธาตุอาหารและความชื้นมากขึ้น

การเก็บเกี่ยวผลผลิต และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว

มะพร้าวแต่ละสายพันธุ์มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวไม่เท่ากันมะพร้าวใหญ่ หรือมะพร้าวแกงเก็บผลได้เมื่ออายุประมาณ 5-6 ปีขึ้นไป เกษตรกรนิยมเก็บมะพร้าวทุกๆ 30 วัน, 45 วัน และ 60 วัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ซึ่งต้องพิจารณาความอ่อน แก่ ของมะพร้าว ให้เหมาะกับการนำไปใช้ประโยชน์

ความอ่อน แก่ ของมะพร้าว พิจารณาจาก

  1. สีเปลือกบริเวณปลายขอบหมวก ถ้าขอบเป็นสีขาวกว้างมาก แสดงว่าอ่อนมาก เนื้อมะพร้าวจะอ่อนนิ่มเป็นน้ำวุ้น ถ้าขอบสีขาวแคบ แสดงว่าแก่ปานกลาง เนื้อในกรุบๆ ถ้าขอบเป็นสีเขียวเข้มสีเดียวกันทั้งผล แสดงว่าเป็นผลแก่เนื้อในแข็ง
  2. ความแห้งของขั้วผล หรือ หางหนู ถ้าแห้งหรือไหม้จากปลายเข้ามาน้อยกว่า 1 ใน 4 ของความยาวทั้งหาง แสดงว่าอ่อนมากำ เนื้อในเหลวเป็นวุ้น ถ้าหางหนูแห้งครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหางแสดงว่าแก่ปานกลาง เนื้อในกรุบ แต่ถ้าหางหนูแห้งตลอดทั้งหาง แสดงว่าแก่มาก เนื้อในแข็งแล้ว
  3. น้ำ ในผลมะพร้าวแก่เหมาะกับการเก็บเกี่ยว น้ำภายในผลจะน้อย เวลาเขย่าจะได้ยินเสียงน้ำคลอน

วิธีการเก็บมะพร้าวใหญ่ หรือมะพร้าวแกง
เนื่องจากลำต้นมีความสูงมาก จึงมีวิธีการเก็บที่นิยมกันอยู่ 3 วิธี คือ

  1. ใช้ไม้สอย
  2. ใช้คนปีน
  3. ใช้ลิง

วิธีการเก็บมะพร้าวน้ำหอม

มะพร้าวน้ำหอม หรือมะพร้าวต้นเตี้ย ให้ผลผลิตเมื่อมีอายุได้ประมาณ 3-4 ปี และให้ได้เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 5-6 ปี เก็บผลผลิตได้ทุก 20 วัน ผลมะพร้าวอ่อนคือผลมะพร้าวที่มีอายุติดผลประมาณ 170 – 210 วัน ขึ้นอยู่กับความต้องการ เนื้อมะพร้าวของชาวสวนมะพร้าว โดยแบ่งลักษณะเนื้อมะพร้าวได้ 3 ระดับ คือ

  1. เนื้อมะพร้าวชั้นเดียว จะมีอายุหลังจั่นเปิดประมาณ 170 วัน
  2. เนื้อมะพร้าวชั้นครึ่ง จะมีอายุหลังจั่นเปิดประมาณ 180-185 วัน
  3. เนื้อมะพร้าวสองชั้น จะมีอายุหลังจั่นเปิดประมาณ 200-210 วัน
    เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกมะพร้าวต้นเตี้ยแบบยกร่องและการเก็บเกี่ยวที่ให้ผลดีที่สุด คือ การตัดผลมะพร้าวลงไปในน้ำ หรือ การลากลงร่องสวน ป้องกันความเสียหาย ผลมะพร้าวไม่แตก มีรอยช้ำน้อย โดยใช้แรงงานคน ตัด ดึง ให้ผลมะพร้าวหล่นลงร่องน้ำ สิ่งสำคัญ คือ ร่องสวนควรมีความลึกอย่างน้อย 1.40 เมตร ผลมะพร้าวจะตกลงในร่องแล้วไม่เกิดรอยช้ำ

การเก็บรักษามะพร้าว

เมื่อเก็บเกี่ยวผลมะพร้าวมาแล้วยังไม่ปอกเปลือก สามารถเก็บไว้ได้นาน 45วัน และควรกองมะพร้าวไว้ในโรงเรือนที่มีหลังคาป้องกันแดดและฝน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูลจากหนังสือครบเครื่องเรื่องมะพร้าว โดย อภิชาติ ศรีสะอาด, http://www.agriman.doae.go.th)

> อ่านเพิ่มเติมที่นี่ <<

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *