การดูแลชมพู่หลังการปลูก

การดูแลชมพู่ หลังการปลูก มีหลายขั้นตอนและต้องให้ความเอาใจใส่เป็นอย่างดี ในขณะที่การปลูกชมพู่นั้นง่ายนิดเดียว อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าจะปลูกอะไรก็ต้องใส่ใจดูแลเป็นประจำ แต่สำหรับชมพู่แล้ว ผู้เขียนเคยสงสัยว่าทำไมจึงมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อได้รู้ถึงขั้นตอนการผลิต ก็รู้สึกได้ว่า ราคาค่าเหนื่อย ที่เทียบกับรสชาติที่อร่อยของชมพู่นั้น คุ้มค่าสมราคาจริงๆ ลองศึกษาขั้นตอนต่างๆ ดูนะคะ เพื่อนำไปปฏิบัติหรือปรับใช้ในการปลูกชมพู่

ขั้นตอนการดูแลชมพู่
การให้น้ำ

การวางแผนและการจัดการระบบน้ำ เป็นหัวใจสำคัญของ การดูแลชมพู่ เพราะชมพู่เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก จึงจำเป็นต้องจัดเตรียมแหล่งน้ำให้พอเพียงกับความต้องการของพืชในการออกดอกติดผล โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเป็นหลัก ดังนี้

  • พื้นที่ลุ่ม
    ควรใช้การปลูกแบบยกร่อง โดยมีร่องน้ำกั้นระหว่างแปลงปลูก ความกว้างของแปลงที่นิยมที่สุดประมาณ 1 เมตร หรือ 1.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่จะทำการให้น้ำด้วยเรือรดน้ำได้สะดวก
  • พื้นที่ดอน
    ชมพู่ที่ปลูกบนพื้นที่โดยตรงด้วยระบบยกร่องลูกฟูก นิยมให้น้ำด้วยการติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ เพื่อความสะดวกในการให้น้ำ หรือระบบลากสายยางรดน้ำซึ่งลงทุนน้อยกว่าระบบสปริงเกลอร์ ส่วนระบบน้ำที่เหมาะกับการปลูกชมพู่มากที่สุด คือ ระบบมินิสปริงเกลอร์ ที่อัตราการจ่ายน้ำอย่างน้อย 150 ลิตร ต่อชั่วโมง รัศมีน้ำประมาณ 2 เมตร หรือเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 เมตร

หลักการให้น้ำชมพู่ที่มีประสิทธิภาพ

คือ การให้น้ำแบบค่อยๆ ซึมลงไป ไม่ไหลออกนอกเขตรากมากเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ เป็นการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุด ส่วนการให้น้ำในปริมาณมากและระยะสั้น เป็นวิธีให้น้ำที่มีประสิทธิภาพต่ำและสูญเสียมาก

#การรดน้ำชมพู่

วิธีการให้น้ำ

  • ระยะเริ่มปลูกใหม่ๆ
    ควรรดน้ำวันละ 1 ครั้ง ในตอนเช้า หรือ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและเย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้ ในฤดูฝนที่มีฝนตกเกือบทุกวันก็ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ
  • ระยะหลังต้นชมพู่ตั้งตัวได้
    หลังที่ต้นติด และตั้งต้นได้ การให้น้ำจะเว้นระยะการให้เป็น 3 ถึง 5 วัน ต่อครั้ง การให้น้ำจะให้ตามปกติขณะที่ต้นชมพู่ยังไม่ติดดอกออกผล ถ้าหากเป็นช่วงฤดูแล้งจะต้องให้น้ำอย่างน้อยประมาณ 5 ถึง 7 วัน ต่อ 1 ครั้ง โดยสังเกตความชื้นของดินเป็นหลัก การให้น้ำแต่ละครั้งจะให้เต็มแอ่งที่ล้อมรอบต้นชมพู่
  • ระยะก่อนต้นชมพู่ออกดอก
    ให้ทิ้งระยะให้น้ำแห้งไปประมาณ 10 ถึง 14 วัน เพื่อเป็นการทำให้ต้นชมพู่ออกดอก ในช่วงนี้ถ้าหากดินมีความชื้นจากการได้รับน้ำฝน ก็จะทำให้ต้นชมพู่ออกดอกน้อย และไม่พร้อมกัน
  • ระยะหลังจากที่ต้นชมพู่ออกดอกแล้ว
    ให้กลับมารดน้ำตามปกติและเต็มที่ทุกวันหรือ 3 ถึง 5 วัน ต่อครั้ง จนกว่าดอกจะเริ่มบาน เมื่อต้นชมพู่ติดผลในระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ต้นจะขาดน้ำไม่ได้จนกว่าต้นจะให้ผลแก่
  • ระยะก่อนการเก็บเกี่ยวผล
    งดให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณ 5 ถึง 7 วัน เพื่อเป็นการเพิ่มความหวานให้กับผลชมพู่

การใส่ปุ๋ย

  1. ระยะต้นที่ยังไม่ให้ผลผลิต (อายุไม่เกิน 8 เดือน)
    – เน้นการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลวัว มูลไก่ มูลค้างคาว หรือมูลหมู ปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ปุ๋ยในต้นฤดูฝนประมาณเดือนมิถุนายน และช่วงต้นฤดูแล้งประมาณเดือนพฤศจิกายน ในอัตรา 10 ถึง 20 กิโลกรัม ต่อต้น และอาจจะเสริมด้วยปุ๋ยเคมี 15-15-15 ในอัตรา 100 ถึง 200 กรัม ต่อต้น ต่อครั้ง หลังการปลูกประมาณเดือนที่ 8 ชมพู่จะเริ่มออกดอกชุดแรก เกษตรกรหรือผู้ปลูกอาจจะปลิดทิ้งก่อนเพื่อให้ต้นแข็งแรงและสมบูรณ์เต็มที่ก่อนให้ผลผลิต ซึ่งจะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพทุกชุด
  2. การให้ปุ๋ยกับชมพู่ที่ให้ผลผลิตแล้ว โดยแบ่งเป็นช่วงๆ ดังนี้
    – ช่วงพักต้นหรือเตรียมต้น เมื่อต้นชมพู่สมบูรณ์พร้อมที่จะให้ผลผลิตแล้วหรือหลังจากที่เก็บผลผลิตชมพู่ฃุดก่อนเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องมีการบำรุงต้นเพื่อชดเชยอาหารที่ต้นใช้ไปในการออกดอกติดผลในรอบปีที่ผ่านมาพร้อมกับการเตรียมต้นอย่างดีเพื่อเตรียมการออกดอก การให้ปุ๋ยในช่วงนี้จะให้ปุ๋ยคอกควบคู่กับปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราต้นละประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อขนาดทรงพุ่มต้นเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร หลังจากใส่ปุ๋ยแล้ว ให้พรวนดินรอบชายพุ่มและรดน้ำให้ชุ่ม
    – ช่วงบังคับการออกดอก ต้องมีการจัดการน้ำและปุ๋ยควบคู่กันอย่างเหมาะสม โดยหลังจากเตรียมต้นพร้อมสมบูรณ์ที่จะออกดอก หรือที่ชาวสวนเรียกกันว่าใบนิ่งแล้ว คือ ต้นจะไม่มีการแตกใบอ่อนอีก ให้จัดการให้ปุ๋ยเพื่อบังคับการออกดอก เมื่อต้นชมพู่แตกใบอ่อนพร้อมกันแล้วจะสะสมอาหารอย่างต่อเนื่องโดยใช้ปุ๋ยสูตร 0-52-34 ซึ่งจะทำให้ต้นสะสมอาหารอย่างสมบูรณ์ ช่วยหยุดการแตกใบอ่อนชุดใหม่ ต้นชมพู่จะไม่มีการสลัดดอกและผลชุดก่อนทิ้ง ให้ปุ๋ยสูตรนี้โดยการฉีดพ่นให้อาหารทางใบประมาณ 2 ถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะห่างกันประมาณ 7 วัน สำหรับชมพู่พันธุ์ที่ออกดอกยาก เช่น ชมพู่พันธุ์ทับทิมจันท์อาจจะต้องใช้สารชะลอการเจริญเติบโตหรือสารพาโคลบิวทราโซล ช่วยชะลอการเจริญเติบโตทางใบและเร่งสร้างตาดอก นอกจากนี้ ควรให้อาหารทางดินด้วยปุ๋ยที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง เช่น 8-24-24 หรือ 9-24-24 เพื่อช่วยให้ชมพู่ออกดอกดีขึ้น โดยให้ก่อนออกดอกประมาณ 20 ถึง 30 วัน ในอัตรา 500 กรัม ต่อต้น ที่มีขนาดทรงพุ่มเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร
    – ช่วงติดผลหรือช่วงบำรุงผล ชมพู่จะใช้เวลาตั้งแต่ออกดอก จนถึงเก็บเกี่ยวผลประมาณ 60 วันนับตั้งแต่ดอกบาน หรือนับจากวันห่อผลไปประมาณ 30 วัน จึงเก็บเกี่ยวได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ สภาพพื้นที่ และสภาพอากาศ ที่มีส่วนทำให้อายุการพัฒนาดอกและผลแตกต่างกันได้บ้าง ในช่วงนี้ควรให้ปุ๋ยที่บำรุงขนาดผลทางดินหรือทางใบสูง 15-15-15 หรือ 16-16-16 หรือ 30-20-10 หรือ 20-20-20 หรือ 17-17-17 ในอัตราส่วนประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อขนาดทรงพุ่มประมาณ 2 เมตร หรืออาจเพิ่มปริมาณหากชมพู่ผลดกมาก แต่ไม่ควรไว้ผลให้ดอกมากเกินไป เพราะจะมีผลต่อขนาดของชมพู่ ช่วงก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 15 ถึง 20 วัน ผลชมพู่มีการขยายขนาดเต็มที่แล้วให้ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-50 หรือ 0-0-60 หรือ 13-13-21 เพื่อเพิ่มความหวานและสีสันของผลชมพู่ให้เข้มขึ้น และงดให้น้ำก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 3 ถึง 5 วัน

***ก่อนการให้ปุ๋ยทางดินทุกครั้ง ควรให้น้ำก่อนเพื่อให้ดินมีความชื้น ช่วยให้รากดูดปุ๋ยได้อย่างสม่ำเสมอ ถ้าดินแห้งแล้วให้น้ำตามหลังจากใส่ปุ๋ย รากชมพู่จะดูดปุ๋ยเข้าไปมากและมีความเข้มข้นสูง อาจทำให้ดอกและผลร่วง***
การควบคุมวัชพืช

  • ระยะปลูกใหม่ควรใช้จอบถากเดือนละครั้ง และควรไถพรวนรอบต้นอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของวัชพืช
  • หลังจากปีที่ 2 แล้ว ให้เว้นระยะห่างการกำวัชพืชเป็น 2 ถึง 3 เดือน ต่อครั้ง จนต้นมีทรงพุ่มใหญ่จึงกำจัดวัชพืชปีละครั้ง

 

การตัดแต่งกิ่งชมพู่

  • ต้นชมพู่ยังมีขนาดเล็ก
    ในระยะนี้จะต้องตัดแต่งให้ได้รูปทรงของลำต้น และกิ่งแตกออกให้ได้สัดส่วน การตัดแต่งกิ่งจะทำหลังจากการปลูกต้นชมพู่ไปได้สักพัก จนต้นชมพู่ตั้งตัวได้ และเริ่มมีการแตกกิ่งออกมาถึงจะทำการตัดแต่งกิ่ง ส่วนการตัดแต่งกิ่งในระยะนี้ ต้นชมพู่จะมีรูปทรงที่แน่น มีกิ่งแตกออกมามากมาย การตัดแต่งจะทำการตัดเอากิ่งที่มีลักษณะเป็นกระโดงออก เหลือไว้ติ่งด้านข้างให้กระจายออกไปในแนวกว้าง เพื่อให้ได้ลักษณะทรงพุ่มเตี้ย ในกรณีที่ต้นมีกิ่งแตกออกมาน้อยมาก และไม่ได้รูปทรงให้ตัดกิ่งเหลือแต่กิ่งกระโดงเอาไว้ เพื่อเป็นกิ่งเสริมให้มีกิ่งมากขึ้น และได้สัดส่วนตามความเหมาะสมของต้นชมพู่
  • ต้นชมพู่ต้นโตหรือต้นที่ออกผลผลิตแล้ว
    โดยปกติจะทำการตัดเพื่อเป็นการลดภาระการเลี้ยงดูของต้นให้น้อยลง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการออกดอก และติดผลของต้นชมพู่อีกด้วยส่วนระยะในการตัดแต่งกิ่ง ควรทำในระยะหลังจากการเก็บเกี่ยวผลเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน เพียงปีละครั้ง พร้อมกับการใส่ปุ๋ยเพื่อเป็นการบำรุงต้นไปในตัว ส่วนวิธีการตัดแต่งกิ่งอีกวีธีหนึ่ง คือ การตัดยอดกิ่งหรือการตัดกิ่งกระโดงที่เติบโตสูงเกินไปออก เพื่อควบคุมขนาดทรงพุ่มของต้นชมพู่ กิ่งในส่วนนี้จะมีประโยชน์ต่อต้นมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระดับความสูง ถ้าสูงมากเกินไป และไม่สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวก็ให้ตัดออกทันทีให้วัดความสูงจากพื้นดินประมาณ 8 ถึง 10 เมตร ส่วนกิ่งไหนที่สูงกว่านี้ให้ตัดทิ้งไป หรือเมื่อต้นชมพู่มีอายุ 3 ปี ให้ตัดยอดเหลือความสูง 2 เมตร จากพื้นดิน และควบคุมความสูงให้อยู่ในระดับนี้ทุกปี

***เมื่อตัดแต่งกิ่งเสร็จแล้ว ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงต้นและรดน้ำให้เพียงพอ***

ข้อดีของการตัดแต่งกิ่งชมพู่

  1. ช่วยให้ต้นชมพู่ออกดอกติดผลดีขึ้น และสม่ำเสมอ ได้จำนวนผลไม่มากหรือน้อยจนเกินไป ขนาดผลใหญ่ มีคุณภาพดี
  2. ช่วยให้ผลชมพู่มีสีสันสวยสด น่ารับประทาน เช่น ชมพู่ทูลเก้า ถ้าตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง ด้านบนหรือด้านนอกทรงพุ่มสามารถบังแดดได้ดี ผลจะมีสีเขียวสวย แต่ถ้าปล่อยให้ทรงพุ่มทึบมากเกินไปหรือปล่อยให้ผลถูกแสงแดดมากเกินไป ผลจะมีสีขาวซีด
  3. ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและแมลง
  4. ช่วยให้ปฏิบัติงานในการดูแลรักษาได้สะดวก ได้แก่ การห่อผล การแต่งดอกผล การฉีดพ่นสารเคมีซึ่งทำได้ทั่วถึงและประหยัด รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นไปได้อย่างสะดวกเช่นกัน
  5. ช่วยลดต้นทุนการผลิต
  6. ช่วยให้กิ่งก้านของต้นชมพู่มีความแข็งแรง สามารถรับน้ำหนักผลจำนวนมากได้ กิ่งไม่ค่อยหัก ทนทานต่อลมและฝนได้ดีกว่าต้นที่ไม่ได้ตัดแต่งกิ่ง

การตัดแต่งดอกชมพู่

  1. ปลิดดอกชมพู่ที่ติดดอกครั้งแรกออกให้หมด เพื่อให้ต้นมีความเจริญเติบโตแข็งแรงเพียงพอ เมื่อออกดอกรุ่นที่ 2 จึงปล่อยให้ติดผล
  2. การตัดแต่งดอกผล เริ่มทำช่วงหลังดอกบานไปแล้วประมาณ 10 วัน หรือจะตัดแต่งผลและห่อผลไปพร้อมกัน ถ้าตัดแต่งผลเกินไปจะไม่เห็นข้อแตกต่างของผลมากนัก
  3. ควรตัดแต่งผลให้เหลือ 1 ช่อ ต่อกิ่ง แต่ถ้าเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ ให้ไว้ผล 2 ช่อ ต่อกิ่ง บริเวณลำต้นหรือกิ่งใหญ่ สามารถไว้ผลได้ประมาณ 3 ถึง 4 ช่อ ช่อหนึ่งมีประมาณ 3 ถึง 5 ผล ผลจะมีขนาดใหญ่ ให้ผลกระจายทั่วทั้งต้น ไม่หนักไปด้านใดด้านหนึ่งของต้น
  4. ช่อดอกที่อยู่ใกล้ยอด ควรตัดแต่งออก เพราะถ้าดอกเจริญเป็นผลแล้วจะถูกแดดเผา ทำให้ผิวผลไม่สวย
  5. ควรปลิดผลที่มีขนาดเล็กกว่าผลอื่นในช่อเดียวกันออก และผลที่มีรูปร่างบิดเบี้ยว แคระแกรน มีตำหนิจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง หรือผลที่เบียดกันจนแน่น เป็นต้น
  6. ช่วงพักต้นชมพู่เพื่อให้ชมพู่ได้มีการสร้างอาหารและสะสมอาหารไปซ่อมแซมส่วนต่างๆ ให้สมบูรณ์ขึ้น ช่วงนี้มักเป็นช่วงหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งสุดท้ายของฤดูการผลิต อาจเป็นระยะหลังเดือนเมษายน ช่วงนี้ถ้ามีดอกออกมากต้องปลิดทิ้งทั้งหมด เพื่อให้ชมพู่มีอาหารเพียงพอ ต้นไม่โทรม สามารถให้ผลผลิตได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ชมพู่ที่ออกสู่ตลาดหลังเดือนเมษายน มักมีรสชาติไม่หวานเหมือนผลชมพู่ที่ออกช่วงก่อน จึงไม่ควรไว้ผลชุดหลังเดือนเมษายน

การไว้ผลชมพู่

ควรกำหนดจำนวนผลให้สัมพันธ์กับอายุต้น หรือขนาดของทรงพุ่ม ความสมบูรณ์ของต้นและพันธุ์ เช่น ชมพู่ทูลเกล้า ควรไว้ผล ดังนี้

  • ปีที่1 ไว้ผลต้นละไม่เกิน 20 ช่อ
  • ปีที่2 ไว้ผลต้นละไม่เกิน 50 ช่อ
  • ปีที่3 ไว้ผลต้นละไม่เกิน 80 ช่อ
  • ปีที่4 ไว้ผลต้นละไม่เกิน 100 ช่อ
  • ปีที่5 ไว้ผลต้นละไม่เกิน 120 ช่อ

การห่อผลชมพู่

ระยะเริ่มห่อผล
ให้สังเกตจากกลีบเลี้ยงที่ปลายผลหุบเข้าหากัน หรือดูว่าผล มีลักษณะคล้ายทรงกระโถน หรือที่เรียกว่า ระยะกระดิ่ง ผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ มีการพัฒนาของผลชัดเจน ถ้าห่อผลช้ากว่านี้ หรือห่อเมื่อผลโตแล้ว ผลชมพู่จะมีคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร

วัสดุที่ใช้ห่อผล

  • ถุงกระดาษปูนซีเมนต์ : ทนทาน ไม่เปื่อยง่ายเมื่อโดนฝน เป็นกระดาษที่มีความเหนียว เนื้อนิ่ม ใช้ห่อผลได้ง่าย ผลชมพู่จึงไม่ค่อยร่วงหล่น ก่อนใช้ห่อผลต้องทำความสะอาดก่อน ถ้าใช้ในช่วงฤดูฝนจะใช้ได้เพียงครั้งเดียว ถ้าใช้ช่วงหมดฝนแล้วจะใช้ได้ถึง 3 ครั้ง โดยนำมาตากให้แห้งหลังการใช้งานในแต่ละครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อรา แล้วนำมาพับเก็บไว้ใช้ในฤดูต่อไป หรือใช้เตารีดรีดทับ เพื่อให้ความร้อนช่วยเชื้อรา หรือใช้สารเคมี เช่น เบนเลท ฉีดพ่นถุงแล้วนำไปตากให้แห้ง แต่การใช้ถุงใหม่ในทุกครั้งที่ห่อผลชมพู่ ช่วยป้องกันปัญหาเชื้อราเข้าทำลายผล โดยใช้ถุงขนาด 8×12 นิ้ว ห่อไม่เกิน 3 ผล ต่อช่อ ส่วนถุงที่มีขนาดเล็กกว่า ใช้สำหรับห่อช่อผลที่มีผลไม่เกิน 2 ผล ต่อช่อ
  • ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ : มีข้อดีกว่าถุงกระดาษปูนซีเมนต์ตรงที่ราคาถูกกว่า หาได้ง่ายกว่า แต่มีข้อด้อยกว่า คือ เปื่อยขาดได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ซึ่งอาจจะเปื่อยขาดก่อนที่ผลชมพู่จะแก่ได้ หากมีฝนตกค่อนข้างบ่อยหรือต่อเนื่อง
  • ถุงพลาสติกหูหิ้ว หรือถุงก๊อบแก๊บ : เมื่อนำมาห่อผลชมพู่ ควรตัดมุมถุงเพื่อระบายน้ำไม่ให้ขังในถงห่อช่วงฝนตก ป้องกันผลเน่า โดยเฉพาะชมพู่บางสายพันธุ์ที่เน่าง่าย เช่น ทูลเกล้า และเพชรสามพราน เป็นต้น
  • ถุงรีเมย์ : เป็นถุงใยสังเคราะห์ ทำจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ สีขาว น้ำหนักเบา มีความเหนียวแต่โปร่ง แสงแดด อากาศ และน้ำผ่านได้สะดวก แต่จะมีราคาแพงเมื่อเทียบกับถุง 3 ชนิดแรกข้างต้น แต่มีข้อดีที่ความทนทาน ใช้งานได้ดี ใช้งานได้หลายครั้ง สะดวกในการเก็บผล เพราะสามารถมองเห็นผลข้างในถุงได้

ผลการเปรียบเทียบวัสดุห่อผล

  • น้ำหนักผล-การห่อชมพู่ด้วยถุงรีเมย์จะให้น้ำหนักผลดีที่สุด รองลงมาเป็นถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ ถุงปูนซีเมนต์ และถุงพลาสติก
  • สีผล-การห่อชมพู่ด้วยถุงปูนซีเมนต์ ผลชมพู่จะมีสีผิวผลดีที่สุด รองลงมา คือ ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ ถุงรีเมย์ และถุงพลาสติก
  • การร่วงหล่นของผล-ถุงรีเมย์ทำให้ผลร่วงน้อยที่สุด รองลงมาได้แก่ ถุงปูนซีเมนต์ ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ และถุงพลาสติก
  • รสชาติ-ถุงรีเมย์ให้รสชาติดีที่สุด รองลงมาได้แก่ ถุงปูนซีเมนต์ ถุงกระดาษหนังสือพิมพ์ และถุงพลาสติก

วิธีการห่อผล

  1. ก่อนห่อผลชมพู่ 1 ถึง 2 วัน ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันเชื้อราและแมลง 1 ครั้ง ไม่ควรห่อผลในขณะฉีดพ่นสารเคมี หรือหลังจากฉีดพ่นสารเคมีใหม่ๆ เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารเคมีได้
  2. เลือกช่อผลชมพู่ที่มีขั้ว หันลงด้านล่าง เพื่อให้สะดวกต่อการห่อและป้องกันการฉีกขาดของขั้วผล เลือกผลที่ก้นผลเริ่มปิด หรือหลังจากเกสรร่วงแล้ว เป็นผลที่สมบูรณ์ไม่มีโรคหรือแมลงเข้าทำลาย เลือกผลที่อยู่ใกล้กับกิ่งใหญ่หรือใกล้ต้น เพราะอาหารจะไปเลี้ยงผลได้อย่างทั่วถึง
  3. ขณะเลือกผลที่จะห่อ ก็ต้องปลิดผลที่ไม่ต้องการทิ้งไป เช่น ผลที่ไม่สมบูรณ์ และเพื่อให้ผลในช่อมีไม่มากหรือแน่นนัก ผลจะได้มีคุณภาพดี ให้ช่อหนึ่งมีผลที่สมบูรณ์ไม่เกิน 3 ผล
  4. สวมถุงให้ผลชมพู่อยู่กลางถุงไม่เบียดชิดไปด้านใดด้านหนึ่ง ขณะสวมถุงควรทำเบาๆ อย่าให้ผลชมพู่ช้ำ หรืออย่าให้ขอบถุงเสียดสีกับผลชมพู่ซึ่งจะทำให้ผิวด้านไม่สวยเมื่อผลโตขึ้น
  5. พับปากถุงให้มิดผล แล้วใช้ที่เย็บกระดาษเย็บปากถุงให้แน่น หรือใช้เชือกฟางมัด สำหรับถุง   ก๊อบแก๊บสามารถใช้หูหิ้วของถุงมัดได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่น
  6. หลังห่อผลได้ประมาณ 25 ถึง 30 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลได้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละฤดูกาล ผลชมพู่จะแก่ไม่พร้อมกัน ช่วงฤดูฝน ผลชมพู่จะแก่เร็วกว่าฤดูร้อน และฤดูหนาว

ข้อควรระวัง

ตำแหน่งผลที่จะห่อ ถ้าผลชมพู่อยู่บริเวณปลายกิ่ง เมื่อห่อผลต้องอาศัยกิ่งอื่นช่วย คือ ต้องยึดให้ติดกับกิ่งอื่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งอ่อนลู่ลงหรือป้องกันกิ่งหัก เพราะรับน้ำหนักผลมากเกินไป และที่สำคัญ คือ ป้องกันกิ่งแกว่ง เมื่อถูกลมแรง ซึ่งจะทำให้กิ่งที่ห่อไว้ร่วง ส่วนผลที่ออกตามปลายกิ่งจะไม่ค่อยมีปัญหามาก แต่จะห่อผลได้ยาก

การทำนั่งร้าน

ชมพู่ที่ปลูกบนที่ดอน หรือชมพู่บางพันธุ์ที่มีลำต้นสูงใหญ่ เช่น เพชรสายรุ้ง มะเหมี่ยว ซึ่งเมื่อต้นอายุมากขึ้นจะมีลำต้นสูงใหญ่นับสิบเมตร หรือสูงกว่านี้ ทำให้ยากต่อการปฏิบัติ ดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวยาก จึงจำเป็นต้องทำนั่งร้าน เพื่อการห่อผล ปลิดผล ตัดแต่งกิ่ง เก็บเกี่ยวผล และการพ่นสารเคมี เป็นต้น

วิธีทำนั่งร้านชมพู่

  • นำไม้ไผ่ทั้งลำมาปักเป็นเสารูปสี่เหลี่ยมในทรงต้นชมพู่ หากขนาดทรงพุ่มชมพู่ใหญ่มากก็สามารถเพิ่มจำนวนเสาให้มากกว่า 4 เสาได้
  • ใช้ลำไม้ไผ่มาผูกยึดกับเสาที่ปักไว้เป็นแนวนอน ให้มีความห่างพอสมควร ผูกยึดกันคล้ายตาหมากรุกในทรงพุ่ม ความสูงของนั่งร้านในชั้นแรกขึ้นอยู่กับขนาดของทรงต้นชมพู่ ส่วนใหญ่นิยมสร้างให้สูงประมาณ 1 ถึง 1.5 เมตร ต้นขนาดใหญ่ทำเป็นชั้นขึ้นไปอีก 2 ถึง 3 ชั้น โดยมีความสูงของต้นชมพู่เป็นตัวกำหนด

 

การเก็บเกี่ยวชมพู่

  • ฤดูร้อน ให้เก็บเกี่ยวหลังจากที่ห่อผลไปแล้วประมาณ 20 วัน
  • ฤดูฝน ใช้เวลาประมาณ 17 ถึง 20 วัน หลังจากห่อผล
  • เก็บเกี่ยวในช่วงเช้า โดยสังเกตลักษณะของผิว ปกติแล้วสีผิวจะเปลี่ยนไปเมื่อขนาดผลใหญ่ขึ้น ควรใช้กรรไกรตัดบริเวณขั้ว

ขั้นตอนการดูแลชมพู่หลังการปลูก ยังไม่เสร็จสิ้นนะคะ อย่าพลาดติดตามวิธีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูต่างๆ ในบทความ โรคและแมลงศัตรูชมพู่ นะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : หนังสือ คู่มือการทำสวนชมพู่อย่างมืออาชีพ สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ สุพจน์ ตั้งจตุพร)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *