การดูแลคะน้าใบหยิกหลังการปลูก

การดูแลคะน้าใบหยิกหลังการปลูก

การดูแลคะน้าใบหยิก หลังการปลูก
เป็นขั้นตอนที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ปลูกหรือเกษตรกรมีผลกำไรเพิ่มขึ้น จากผลผลิตที่ดี มีคุณภาพสูงตลาดคะน้าใบหยิก ในปัจจุบันเป็นตลาดเพื่อคนรักสุขภาพ และตลาดส่งออก เพราะฉะนั้น ขั้นตอนการดูแลควรเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
ขั้นตอน การดูแลคะน้าใบหยิก
การให้น้ำ
ควรติดตั้งระบบให้น้ำแบบสปริงเกลอร์แบบหัวพ่นฝอย ที่สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก ระยะห่างระหว่างหัวๆ ละ 4 เมตรตลอดระยะแนวปลูก ให้น้ำวันละ 2 รอบ เช้าและเย็น เป็นเวลา 5 ถึง 10 นาที
***ในช่วงที่อากาศร้อน หรือฝนแล้ง ให้สังเกตความชื้นของดิน หากดินแห้ง ความขยายเวลาในการให้น้ำเพิ่มขึ้น แต่อย่าให้น้ำท่วมขัง***
***การให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและพอเพียง คะน้าใบหยิกจะเจริญเติบโตได้ดี มีเส้นใยไม่มากเกินไป รสชาติอร่อย***

การให้ปุ๋ย
คะน้าใบหยิกเป็นผักกินใบ ในระยะแรกจึงต้องการปุ๋ยไนโตรเจน ค่อนข้างสูง

  • ครั้งแรก 7 วัน หลังปลูก ใส่ปุ๋ยบริเวณลำต้น ใช้สูตร 46 – 0 – 0 หรือ 21 – 0 – 0 อัตรา 120 กรัม ต่อตารางเมตร
  • ครั้งที่ 2 หลังปลูก 14 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 ผสม 15 – 15 – 15 อัตรา 1 ต่อ 2 ส่วน ผสมกัน ใช้อัตรา 120 กรัม ต่อตารางเมตร
  • ครั้งที่ 3 หลังย้ายปลูก 21 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 30 – 20 – 10 อัตรา 20 กรัม ต่อ 20 ลิตร
    หรือ ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมี ก็เลือกใส่ปุ๋ยคอกแทน ในระยะเวลาเดียวกัน

***รดน้ำให้ชุ่มทุกครั้ง หลังการให้ปุ๋ย***

การพรางแสง
หากมีอุณหภูมิสูง หรือแดดจัด ในช่วงที่ทำการเพาะปลูกคะน้าใบหยิก ให้ใช้สแลนช่วยพรางแสงให้กับต้นคะน้าใบหยิก ช่วยให้ได้ผลผลิตที่ได้มาตรฐาน

การกำจัดวัชพืช

  • หมั่นกำจัดวัชพืช เมื่อพบเห็น หากปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้กำจัดได้ยากและอาจจะต้องใช้สารเคมีช่วยกำจัด
  • กำจัดวัชพืชขณะวัชพืชยังเล็ก เพื่อไม่ให้แข่งขันกับพืชหลัก หรือเป็นแหล่งเพาะศัตรูพืช หรือติดไปกับผลผลิต
  • ควรเก็บวัชพืช และเศษพืชโดยเฉพาะที่เป็นโรคไปทำลายนอกแปลงปลูก
    วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
    วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
  • ประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้าตีนกา หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนนก หญ้าตีนติด และหญ้าดอกขาว เป็นต้น
  • ประเภทใบกว้าง ได้แก่ ผักเบี้ยหิน ผักเบี้ยใหญ่ สาบแร้งสาบกา และผักโขม
  • ประเภทกก เช่น กกทราย และหนวดปลาดุก
    วัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยต้น ราก เหง้า หัว และไหล ได้ดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด วัชพืชข้ามปีที่พบมาก คือ แห้วหมู

การป้องกันกำจัด

  • ไถ 1 ครั้ง ตากดิน 7 วัน แล้วพรวนดิน 1-2 ครั้ง
  • คราดเก็บซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง
  • คลุมดินด้วยฟางข้าวหลังหว่านเมล็ด
  • กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานหลังปลูก 20-30 วัน

การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
คะน้าใบหยิกสีเขียว
มีอายุการเก็บเกี่ยว 50 ถึง 60 วัน

คะน้าใบหยิกสีม่วง หรือสีม่วงแดง
มีอายุการเก็บเกี่ยว 70 ถึง 80 วัน

หลังจากหยอดเมล็ด

การเก็บเกี่ยว
การเก็บเกี่ยวให้ผลผลิตมีรสชาติดี มีคุณภาพ และเก็บไว้ได้นาน ควรปฏิบัติดังนี้

  • อย่าปล่อยให้ผักแก่เกินไป
  • เก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเช้า แดดไม่จัดดีกว่าเวลาบ่าย
  • ใช้มีดคมๆ ตัดให้ชิดโคนต้น ***อย่าเก็บหรือเด็ดด้วยมือ***
  • ตัดไล่เป็นหน้ากระดานไปตลอดทั้งแปลง
  • หลังเก็บเกี่ยวเสร็จควรนำผักเข้าที่ร่ม วางในที่โปร่งและอากาศเย็น
  • บรรจุในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติกเจาะรูระบายอากาศรอบด้าน หรือตามที่ลูกค้าต้องการ

ข้อควรรู้ ในการจำหน่ายคะน้าใบหยิก
ข้อกำหนดเรื่องคุณภาพ

  • มีรูปร่างลักษณะและสีตรงตามพันธุ์ ไม่แคระแกรน
  • ไม่มีตำหนิใดๆ ไม่แก่เกินไป สีสม่ำเสมอ
  • สด ไม่เหี่ยว สะอาด และปลอดภัยจากสารเคมี

การจัดชั้นคุณภาพ

ชั้นหนึ่ง

  1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 1.0 ถึง 1.3 เซนติเมตร
  2.  ความยาวจากโคนต้นถึงปลายใบสุดท้าย 35 เซนติเมตร
  3.  มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้นสอง

  1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.9 ถึง 1.0 เซนติเมตร
  2. ความยาวจากโคนต้นถึงปลายใบสุดท้าย 25 เซนติเมตร
  3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ชั้น U

  1. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 0.5 ถึง 0.9 เซนติเมตร
  2. ความยาวจากโคนต้นถึงปลายใบสุดท้าย 20 เซนติเมตร
  3. มีคุณภาพอย่างน้อยตามคุณภาพขั้นต่ำ

ข้อกำหนดในการจัดเรียง คะน้าใบหยิกในภาชนะบรรจุเดียวกันต้องเป็นพันธุ์เดียวกัน มีชั้นคุณภาพเดียวกันและมีคุณภาพสม่ำเสมอ
การเก็บรักษา อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 95 ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ สามารถเก็บรักษาได้นาน 2 ถึง 3 สัปดาห์
ช่วงเวลาที่มีผลผลิตตามท้องตลาด : เดือนธันวาคม ถึง เดือนมีนาคม
การขนส่ง

  • เตรียมการเรื่องตลาดรับซื้อและยานพาหนะในการขนส่งไว้ล่วงหน้า
  • ไม่กองผลผลิตบนพื้นรถบรรทุกโดยตรง ควรใส่ภาชนะ
  • การขนส่งระยะทางไกลควรส่งให้ถึงเร็วที่สุด

การบันทึกข้อมูล
เกษตรกรควรบันทึกการปฏิบัติงานในขั้นตอนการผลิตต่างๆ ให้มีการตรวจสอบได้ หากเกิดข้อบกพร่องขึ้น สามารถจัดการแก้ไขหรือปรับปรุงได้ทันท่วงที ได้แก่

  • บันทึกสภาวะแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณน้ำฝน
  • พันธุ์ วันที่ปลูก วันถอนแยก
  • วันใส่ปุ๋ย และอัตราการใช้
  • วันที่โรคและแมลงศัตรูพืชระบาด รวมทั้งวิธีกำจัด และระยะเวลาในการกำจัด
  • ค่าใช้จ่าย ปริมาณผลผลิต และรายได้
  • ปัญหา อุปสรรคอื่นๆ ในช่วงฤดูปลูก การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : http://hkm.hrdi.or.th, www.maamjourney.com, www.women.thaiza.com, www.maceducation.com, www.bighealthyplant.com)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *