การดูแลกล้วยน้ำว้าให้ผลออกตลอดปี

การดูแลกล้วยน้ำว้า

หลังการปลูกกล้วยน้ำว้าแล้ว การดูแลกล้วยน้ำว้า เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพื่อให้ได้ผลผลิต และรายได้ต่อเนื่อง หากเกษตรกรปล่อยปละละเลย นอกจากจะได้ผลกล้วยที่ไม่ได้คุณภาพแล้ว โรคของกล้วยน้ำว้า และ แมลงศัตรูพืชของกล้วยน้ำว้า ก็จะตามมา ท่านผู้อ่านสามารถติดตามทั้งสองบทความที่กล่าวถึง เพื่อศึกษาวิธีป้องกันและกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชของกล้วย เพื่อให้ การดูแลกล้วยน้ำว้า เป็นไปอย่างครบวงจร

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ การดุแลกล้วย

การดูแลกล้วยน้ำว้ามีหลายด้านให้ปฎิบัติดังนี้

ให้น้ำ เป็นสิ่งสำคัญในการปลูกกล้วยน้ำว้า แต่อย่าให้ท่วมขัง เพราะรากจะเน่า ควรหาเศษฟาง เศษใบไม้แห้ง หรือใบตองที่ได้จากการตัดแต่งใบต้นกล้วยคลุมที่โคนต้น การให้น้ำต้นกล้วยน้ำว้าช่วงที่ปลูกใหม่ ให้รดน้ำวันเว้นวัน ประมาณครั้งละ 10 นาที เมื่อกล้วยตั้งตัวได้แล้ว รดน้ำ 2-3วันครั้ง หรือ 1 ครั้งต่อสัปดาห์

แหล่งน้ำ

  • น้ำฝน
  • น้ำจากชลประทาน
  • น้ำบ่อบาดาล หรือบ่อกักเก็บ
  • น้ำจากแม่น้ำลำคลอง

ระบบการให้น้ำ แบ่งได้ 3 ลักษณะใหญ่

  • แบบให้น้ำเหนือผิวดิน
  • แบบให้น้ำไหลตามผิวดิน
  • แบบให้น้ำใต้ผิวดิน

ในสวนกล้วยนิยม ให้น้ำเหนือผิวดินมากที่สุด เพราะเป็นการให้น้ำเลียนแบบธรรมชาติ และมีประสิทธิภาพมากกว่าแบบอื่นๆ วิธีการให้น้ำเหนือผิวดินมีวิธีการปลีกย่อยออกเป็น 2 แบบ คือ การให้น้ำโดยทั่วถึง และการให้น้ำแบบเฉพาะจุด เช่น การให้แบบน้ำหยด และการให้น้ำแบบมินิสปริงเกลอร์ เป็นต้น

  1. การให้น้ำโดยทั่วถึง นิยมใช้ในภาคกลาง คือยกร่องสวนให้มีน้ำล้อมรอบ แล้วใช้เรือวิ่งสูบน้ำรดต้นกล้วยไปตามร่องน้ำจนชุ่ม ช่วยประหยัดต้นทุนและลดปัญหาเรื่องแหล่งน้ำได้ เป็นวิธีการให้น้ำแบบครอบคลุมทั่วพื้นที่ ทั้งบริเวณที่ปลูกต้นกล้วย และไม่ได้ปลูก โดยใช้เครื่องสูบน้ำรดแปลงจนชุ่ม เลียนแบบธรรมชาติเหมือนฝนตก การให้น้ำลักษณะนี้ ถ้ามีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์อยู่ในพื้นที่ และเป็นพื้นที่ลุ่ม ก็ไม่มีปัญหา แต่ต้นทุนจากการสูบน้ำจะสูงกว่าปกติ หากเป็นพื้นที่ดอน หรือเป็นช่วงขาดแคลนน้ำ ก็เป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพก่อให้เกิดปัญหาเรื่องแหล่งน้ำ การให้น้ำลักษณะนี้ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และสิ้นเปลืองพลังงาน
  2. การให้น้ำแบบเฉพาะจุด นิยมใช้ในปัจจุบัน เหมาะสำหรับพื้นที่สวนในที่ดอน หาแหล่งน้ำยาก แต่ดินควรเป็นดินเนื้อละเอียดถึงค่อนข้างหยาบ น้ำจะไหลซึมแผ่กระจายทางด้านข้างซึ่งเป็นบริเวณที่รากแผ่กระจาย และควรรดให้ชุ่มพอที่รากจะดูดซับน้ำไปเลี้ยงต้นได้ตามที่พืชต้องการ ส่วนดินที่ร่วนซุยจะทำให้น้ำไหลเร็ว แทนที่จะไหลซึม วิธีนี้เป็นการให้น้ำเฉพาะเขตรากต้นกล้วยน้ำว้าเท่านั้น ใช้น้ำในปริมาณที่น้อยแต่ให้ต้นกล้วยน้ำว้าได้รับความชุ่มชื้น จะอยู่ในรูปของอุปกรณ์ให้น้ำแบบหยดเล็กๆ มี 2 แบบ คือ
  • มินิสปริงเกลอร์—ต่อหัวจ่ายขนาดเล็กเข้ากับท่อหลักที่สูบน้ำ ส่งผ่านแรงดัน ผ่านหัวจ่ายมินิสปริงเกลอร์ น้ำจะถูกพ่นเป็นฝอยเล็กๆ มาเฉพาะจุดที่จัดวางไว้
  • หัวจ่ายน้ำหยด—น้ำที่ถูกส่งมาจากท่อหลักจะถูกบังคับให้หยดทีละหยดผ่านหัวจ่ายน้ำหยดที่ติดตั้งไว้บริเวณโคนต้นกล้วยน้ำว้า

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ระบบน้ำสวนกล้วย

ระบบน้ำหยดจะมีปัญหาเวลาใส่ปุ๋ย ปุ๋ยจะไม่ค่อยละลาย ต้องใส่ปุ๋ยละลายตามท่อ แต่ ถ้าใช้แบบหัวจ่ายมินิสปริงเกลอร์ ฝอยจะกระจายเป็นวงกว้าง ได้ผลดีกว่าเพราะความชื้นกว้างกว่า สามารถหว่านปุ๋ยไว้โคนต้นได้

2.1 อุปกรณ์สำคัญในการติดตั้งระบบการให้น้ำเฉพาะจุด

  • เครื่องสูบน้ำ จะเลือกสูบน้ำโดยใช้ปั๊มมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ แบบติดตั้งกับเครื่องยนต์ก็ได้
  • เครื่องกรองน้ำ เพื่อกรองเศษวัชพืช ใบไม้ ทราย เมล็ดพืช เศษหิน หรือสิ่งสกปรกออกจากน้ำ ป้องกันการอุดตันของหัวจ่ายมินิสปริงเกลอร์ และหัวจ่ายน้ำหยด
  • หัวจ่ายน้ำ ใช้เป็นแบบละอองฝอย หรือหยดทีละหยด ขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกร
  • ท่อหลัก ส่วนใหญ่นิยมใช้ท่อพลาสติกพีวีซี หรือจะใช้ท่อเหล็กก็ได้ ใช้ต่อจากเครื่องสูบน้ำ แล้วเดินท่อย่อยต่อไปยังจุดต่างๆ ที่เกษตรกรต้องการ
  • ท่อย่อย ขนาดเล็กกว่าท่อหลัก เดินท่อไปตามจุดต่างๆ และติดตั้งหัวจ่ายน้ำให้ต้นกล้วย

2.2 ข้อดีและข้อเสียของการใช้ระบบให้น้ำแบบเฉพาะจุด

  • ข้อดี คือ

(1) ประสิทธิภาพการให้น้ำสูงมาก เพราะว่าสามารถควบคุมน้ำได้ทุกขั้นตอนและมีการสูญเสียโดยการระเหยของน้ำน้อย

(2) ค่าใช้จ่ายในการให้น้ำน้อย เพราะไม่ต้องใช้แรงงานในการให้น้ำมาก

(3) สามารถให้ปุ๋ยและสารเคมีอื่นๆ แก่พืชพร้อมๆ กับการให้น้ำได้ด้วย โดยการผสมปุ๋ยหรือสารเคมีเข้ากับน้ำทางท่อดูดของเครื่องสูบน้ำเข้าไปในระบบ

(4) ไม่มีปัญหาโรคพืชหรือแมลงศัตรูพืช ที่เกี่ยวเนื่องจากการเปียกชื้นของใบ

(5) ลดปัญหาของการแพร่กระจายของวัชพืช เนื่องจากว่าน้ำที่ให้แก่พืชจะต้องเปียกผิวดินเป็นบริเวณแคบๆ เท่านั้น

(6) ไม่มีปัญหา เรื่องลมแรงที่จะพัดพาน้ำไปตกที่อื่น

(7) ไม่ต้องใช้ระบบส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือเครื่องสูบน้ำที่มีแรงม้าสูง

(8) การให้ปุ๋ยและสารเคมีโดยการผสมลงไปกับน้ำ ดังนั้น ค่าใช้จ่ายสำหรับปุ๋ยและสารเคมีก็จะลดลงด้วย

(9) ระบบการให้น้ำแบบนี้ จะมีระยะเวลาการใช้งานที่ยาวนาน ยกเว้นเรื่องการอุดตันของหัวจ่ายน้ำ

(10) สามารถทำการติดตั้งการให้น้ำแบบอัตโนมัติได้ไม่ยาก เช่น ให้น้ำตามกำหนดเวลาที่ตั้งไว้ หรือให้น้ำเมื่อความชื้นของดินบริเวณรากลดลงถึงระดับหนึ่ง เป็นต้น

(11) ลดปัญหาเรื่องอัตราการซึมของน้ำไปในดิน เพราะอัตราการให้น้ำจะไม่มากพอที่จะทำให้ดินเปียกชุ่ม เป็นบริเวณกว้างอยู่แล้ว

  • ข้อเสีย คือ

(1) มีปัญหาเรื่องการอุดตันที่หัวจ่ายน้ำมาก เนื่องมาจากตะกอน ทราย ตะไคร่น้ำ หรือเนื่องมาจากการสะสมตัวของสารเคมีในน้ำ

(2) บริเวณที่เปียกชื้นไม่กว้างขวางนัก ความเข้มข้นของเกลือซึ่งมักจะเกิดขึ้นในบริเวณรอบนอกของส่วนที่เปียกชื้น จึงมักจะสูงและอาจจะเป็นอันตรายต่อพืชได้

(3) ค่าลงทุนครั้งแรกค่อนข้างสูง เพราะจะต้องมีอุปกรณ์หลายอย่าง

ให้ปุ๋ย กล้วยเป็นพืชที่ต้องการธาตุอาหารมาก การติดผลจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอาหารและน้ำที่ได้รับ กล้วยต้องการธาตุอาหารทั้งหมด 16 ธาตุเหมือนพืชทั่วไป โดยธาตุอาหารของพืชนี้จะได้จากอากาศ น้ำในดิน แร่ธาตุในดิน ซึ่งธาตุอาหารที่พืชและกล้วยต้องการ ประกอบด้วย

(1) ธาตุหลักที่ต้องการ ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม
(2) ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน
(3) ธาตุอาหารเสริม ได้แก่ เหล็ก ทองแดง สังกะสี โมลิบดีนัม แมงกานิส โบรอน คลอรีน

ทั้งหมดนี้เป็นธาตุอาหารที่เป็นส่วนประกอบที่มีในเซลล์พืชอยู่แล้ว ซึ่งพืชจะสร้างอาหารโดยอาศัยอากาศ และน้ำในดินเป็นหลัก และพืชจะได้ธาตุอาหารจากแหล่งต่างๆ ดังนี้

  1. อากาศและน้ำในดิน ให้ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน
  2. ดิน ปุ๋ยเคมีและมูลสัตว์ ให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม กำมะถัน เหล็ก แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิบดีนัม คลอรีน ดังนั้น ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ตั้งแต่เริ่มปลูก แต่เนื่องจากดินในประเทศไทยมีความแตกต่างกันอย่างหลากหลาย ความอุดมสมบูรณ์และความเสื่อมมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก การที่เจาะจงว่าควรใส่ปุ๋ยอะไรนั้นเป็นไปได้ยาก

ก่อนอื่น ควรทราบก่อนว่าดินในพื้นที่ขาดธาตุอาหารอะไรบ้าง ควรนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ ซึ่งมีหน่วยงานท้องถิ่น เช่น เกษตรตำบล/อำเภอ หรือ เกษตรจังหวัด สามารถทำการวิเคราะห์ให้ได้ เพื่อจะได้กำหนดการใส่ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและธาตุอาหารที่กล้วยนำมาใช้นั้นร้อยละประมาณ 30-60 กล้วยสะสมธาตุอาหารโพแทสเซียม ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสไว้ที่ผลมากน้อยตามลำดับ การให้ปุ๋ยกล้วยน้ำว้าควรเน้นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารตามลำดับนี้คือ ให้โพแทสเซียมปริมาณมากที่สุด ไนไตรเจน ให้ปริมาณปานกลางและฟอสฟอรัสให้ปริมาณน้อยที่สุด หรือแม้แต่บางพันธุ์อย่างเช่น กล้วยน้ำว้ายักษ์ หากใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 มากเกินไป จะทำให้ต้นสูงใหญ่เกินไป ทั้งนี้ส่วนใหญ่เกษตรกรที่ปลูกกล้วยน้ำว้า จะเน้นบำรุงด้วยปุ๋ยคอกเป็นหลัก และใช้ปุ๋ยเคมีช่วยบำรุงบ้างหากต้นกล้วยเริ่มโทรม ไม่ค่อยโต หรือถ้าต้องการบำรุงผลเป็นพิเศษ โดยเน้นใช้สูตรเสมอ 15-15-15 เป็นส่วนใหญ่ ดังตัวอย่าง คือ ให้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี โดยแบ่งใส่ 4 ครั้งๆ ละ 250 กรัม ดังนี้

ครั้งที่1 ใส่หลังปลูก 1 สัปดาห์ ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่2 ใส่หลังจากครั้งที่ 1 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่3 ใส่หลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่4 ใส่หลังจากครั้งที่ 3 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 13-13-21

หรือ
เปลี่ยนปุ๋ยเป็นสูตร 9-24-24 หรือ 18-46-0
อัตราการใส่ปุ๋ย ประมาณ 1 กำมือ หว่านรอบโคนต้นแล้วรดน้ำตาม เพื่อเน้นบำรุงที่ผลกล้วย และให้ลำต้นหยุดเจริญเติบโต ก่อนการตัดเครือ 1 เดือนให้หว่านมูลค้างคาวลงไปรอบต้น แล้วรดน้ำตาม—จะได้กล้วยที่มีรสชาติหวานนุ่มอร่อย

แต่งใบกล้วย เนื่องจากกล้วยจะมีใบเจริญเติบโตออกมาเรื่อยๆ เมื่อใบใหม่ออกมาใบแก่ก็จะแห้งติดลำต้น เกษตรกรจะต้องหมั่นลอกกาบและตัดแต่งใบกล้วยที่แห้ง หรือทำท่าว่าจะเป็นโรคออกเสมอๆ การตัดแต่งใบกล้วย ขณะที่มีการแต่งหน่อควรทำการตัดแต่งใบกล้วยควบคู่ไปด้วย จนกว่ากล้วยออกเครือ วิธีการตัดแต่งใบกล้วยแก่มีหลักการคือ เมื่อใบใดแก่และแห้งเกินกว่าร้อยละ 50 แล้ว ควรตัดใบนั้นออก ทั้งนี้ เพราะใบแก่ที่แห้งไปร้อยละ 50 นี้ไม่มีประโยชน์ในการทำหน้าที่ปรุงอาหารแล้ว เมื่อตัดแต่งใบแล้ว ควรจะให้มีติดใบกล้วยไว้กับต้น 7-12 ใบ ต่อต้น ตัดด้วยมีดขอให้ชิดต้น อย่าให้เหลือก้านกล้วยยื่นยาวออกมา เมื่อเหี่ยวจะทำให้รัดลำต้น ทำให้ลำต้นส่วนกลางขยายได้ไม่มากเท่าที่ควร การปล่อยใบกล้วยให้มีมากเกินไป จะทำให้ปกคลุมดิน คลุมโคนต้น ทำให้แดดส่องไม่ทั่วถึงพื้นที่ ทำให้ดินมีความชื้นมากเกินไป

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ จำนวนหน่อกล้วย

กำจัดปริมาณหน่อกล้วย ต้นกล้วยน้ำว้าที่ปลูกจะมีหน่ออ่อนแตกออกมาเมื่อมีการเจริญเติบโตเต็มที่ ต้องตัดแต่งหน่อไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่ ต้องทำลายทิ้งตั้งแต่ที่ยังเป็นหน่อเล็กๆ สูงไม่เกิน 1 เมตร และต้องไม่ให้กระทบกระเทือนต้นแม่ ใช้เสียมขุดหน่ออ่อน หรือหน่อลูกออก ตัดให้ขาดจากต้นแม่ ปาดหน่อด้วยมีดคมๆ หรือปาดหน่อแล้วคว้านเอาส่วนยอดของหน่อหรือจุดเจริญออกไป จากนั้นรอให้ต้นแม่แข็งแรงประมาณ 3 เดือน ค่อยปล่อยหน่อตาม 1 หน่อเพื่อใช้เป็นหน่อพันธุ์ และยังจะช่วยพยุงกล้วยต้นแม่ไม่ให้ล้มลงก่อนเวลาได้อีกด้วย

ใช้พืชหรือวัสดุคลุมดินเนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก ดังนั้น การเก็บกักน้ำใต้ดิน.ให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยวิธีปลูกพืชคลุมดินที่สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ร่ม หรือที่ที่มีแสงแดดรำไร ตัวเลือกที่นับได้ว่าดีที่สุดก็จะเป็น พืชตระกูลถั่ว ซึ่งยังมีผลให้ไม่มีวัชพืชขึ้นรกรุงรังก่อให้เกิดเชื้อโรค หรือใช้วิธีง่ายๆ และเป็นธรรมชาติ โดยใช้ใบตองแห้งของต้นกล้วยที่ได้จากการตัดแต่งใบ สุมโคนต้นไว้ อาจจะตัดแบ่งเป็นท่อนสั้นๆ หรือ ใช้เลนที่ลอกขึ้นมาจากร่องสวนสุมโคนต้นไว้

กำจัดวัชพืชถ้าเกษตรกรไม่ปลูกพืชคลุมดินเพื่อช่วยกำจัดศัตรูพืช
ให้ใช้วิธีการถางหญ้า ห้ามใช้เครื่องตัดหญ้า และห้ามใช้วิธีการพรวนดินเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้รากต้นกล้วยได้รับความกระทบกระเทือนวัชพืชจะลดลงเมื่อต้นกล้วยเริ่มต้นใหญ่ขึ้น มีใบเต็มต้น เพราะจะไม่ค่อยมีแสงแดดส่องถึงพื้นดินมากนัก

เลือกเครือกล้วยและการค้ำเครือ กาบปลีจะหลุดออก เมื่อกล้วยน้ำว้าติดผล แต่ถ้าปลียังไม่หลุด เกษตรกรต้องดึงกาบปลีออก หากยังมีก้านเกสรตัวเมียแห้งดำติดคาปลายผลกล้วยอยู่ควรดึงออกตั้งแต่ผลยังเล็กๆ เพื่อไม่ให้ผลกล้วยมีตำหนิ เมื่อกล้วยแทงปลีจนสุดให้ตัดปลีทิ้ง ให้กล้วยมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ และเป็นการป้องกันเชื้อรา หรือโรคอื่นๆ ที่จะตามมา ควรฉีดยากันเชื้อรา

ค้ำเครือ ช่วงที่กล้วยติดเครือแล้ว ผลสมบูรณ์แล้ว ให้สังเกตว่าเครือใหญ่มากหรือไม่ อาจจะต้องหาไม้มาค้ำไว้ แต่กล้วยน้ำว้าบางสายพันธุ์ อย่างเช่น กล้วยน้ำว้ายักษ์ กล้วยน้ำว้าท่ายาง เครือกล้วยจะใหญ่มาก น้ำหนักเยอะ ต้องใช้ไม้ค้ำหรือ ดามต้นไว้ให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ลำต้นหักหรือโค่นเพราะน้ำหนักของเครือ หรือลมที่แรงมาก

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ห่อเครือกล้วยน้ำว้า

ห่อเครือกล้วยน้ำว้า ถ้าต้องการให้เครือกล้วยน้ำว้ามีผิวสวย ไม่มีแมลงศัตรูพืชมาทำให้มีรอยตำหนิ ก็สามารถห่อเครือกล้วยน้ำว้าได้เหมือนกล้วยหอม โดยใช้ถุงพลาสติก—ถุงห่อกล้วยสีฟ้า หรือถุงกระดาษสีน้ำตาล ที่ใช้สำหรับห่อกล้วย, ขนุน, อินทผาลัม–ปล่อยปลายถุงเปิดไว้ ห่อรอบเครือกล้วยหลังจากตัดปลีแล้ว ส่วนใหญ่ เกษตรกรจะห่อเครือกล้วยน้ำว้าเพื่อการส่งออก ไม่ให้สินค้ามีตำหนิ

เก็บเกี่ยวกล้วยน้ำว้าและปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว ควรคำนึงถึงระยะเวลาของการขนส่งเป็นหลัก ถ้าระยะทางไกล ควรตัดกล้วยน้ำว้าเมื่อมีความแก่ประมาณ 75% โดยสังเกตจากขนาดผล เหลี่ยมของผล หรือใช้วิธีการนับวันจากวันแทงปลี ใช้มีดขอยาวๆ ตัดต้นกล้วยน้ำว้าที่กลางลำต้น แต่ถ้าต้นกล้วยมีขนาดใหญ่หรือสูง ให้ตัดบริเวณโคนต้น หรือใช้บันไดปีนขึ้นไปมัดเชือก แล้วโน้มลงมา โดยจะต้องมีผู้ช่วยช่วยจับหรือรับเครือไว้ จึงตัดเครือ ต้องเหลือก้านให้ยาวพอสมควร แล้วฉีดน้ำล้างทำความสะอาดผลกล้วยน้ำว้า หรือนำไปยังโรงเรือนเพื่อคัดขนาดบรรจุแขวนเครือกล้วยน้ำว้าไว้บนราวเพื่อให้ยางที่ไหลอยู่แห้ง แล้วจึงทำความสะอาดผล และเก็บกลีบแห้งที่ติดอยู่ออกให้หมด แยกเครือออกเป็นหวีอย่างระมัดระวัง อย่าให้รอยตัดช้ำ คัดผลที่มีตำหนิ หรือไม่ได้ขนาดออก นำกล้วยน้ำว้าที่คัดขนาดไว้เพื่อนำส่ง จุ่มลงในน้ำผสมสารไธอาเมนตาโซล แล้วผึ่งลมหรือเป่าให้แห้ง บรรจุหีบห่อ หรือบรรจุลงเข่งโดยมีใบตองรองไม่ให้ผลกล้วยน้ำว้าบอบช้ำ

**ไม่ควรตัดกล้วยช่วงที่มีแดดจ้า เพื่อไม่ให้น้ำยางไหลออกมาเยอะ ลูกจะเล็กลีบได้**
**ตัดเครือกล้วยแล้ว ให้ตัดลำต้นให้ขาด**

(ดัดแปลงจาก: กล้วยน้ำว้า …สายพันธุ์ยักษ์)

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *