การขยายพันธุ์มะม่วง

ขยายพันธุ์มะม่วง

การขยายพันธุ์มะม่วง

มะม่วง—ผลไม้ฤดูร้อน—เป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่ม ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง พบได้ทุกพื้นที่ในทุกภาคของประเทศไทย มะม่วงเกิดมาบนโลกตั้งแต่ 25-30 ล้านปีก่อน โดยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย บังคลาเทศ และ พม่า แม้จะเกิดมานานแล้ว แต่กว่าจะแพร่พันธุ์ไปทั่วโลก กลับใช้เวลานานกว่าพืชชนิดอื่นๆ เพราะมีอุปสรรคอยู่ที่ขนาดเมล็ด และความหนาของเปลือกเมล็ดนั่นเอง ในปัจจุบัน มีการพัฒนาวิธีขยายพันธุ์มะม่วงให้ได้ผลเร็ว คุณภาพดี ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ปลูก ว่าต้องการปลูกไว้รับประทานผลในครัวเรือน หรือเป็นการค้า ซึ่งการปลูกมะม่วงแบบเป็นการค้า ก็ทำได้ทั้งการค้าพันธุ์มะม่วง และผลผลิตของมะม่วง เพราะฉะนั้น ผู้ปลูกจะต้องเลือกวิธี การขยายพันธุ์มะม่วง ให้เหมาะสม

การขยายพันธุ์มะม่วง
การขยายพันธุ์มะม่วง สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด การตอน การติดตา และการทาบกิ่ง เป็นต้น

1. การเพาะเมล็ด

การเพาะเมล็ดเป็นวิธีดั้งเดิมที่ใช้กันมานาน ข้อดี ของการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดคือ ทำได้ง่าย ได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ต้นมะม่วงที่ได้จากการเพาะเมล็ด ต้นจะใหญ่ อายุยืนนาน เพราะมีระบบรากที่แข็งแรง ส่วน ข้อเสีย คือ ออกดอกออกผลช้ากว่าการขยายพันธุ์ด้วยการติดตา การตอน หรือการทาบกิ่ง และต้นมะม่วงที่ได้จากการเพาะเมล็ดนั้น อาจกลายพันธุ์ ไม่ตรงตามพันธุ์เดิมก็ได้ ซึ่งอาจดีกว่าหรือเลวกว่าพันธุ์เดิม กลายเป็นพันธุ์ใหม่ไป โดยทั่วไป การเพาะเมล็ดมีจุดประสงค์สองประการคือ เพื่อใช้ปลูกโดยตรง และเพื่อใช้เป็นต้นตอสำหรับการขยายพันธุ์แบบต่างๆ เช่น การติดตา การทาบกิ่ง เป็นต้น

1.1 การเก็บเมล็ดที่จะนำมาเพาะ ควรคัดเลือกเก็บจากต้นแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่แคระแกร็นที่จะเก็บมาต้องแก่จัด หรือสุกปากตะกร้อควรมีขนาดและน้ำหนักเท่าๆเมล็ดที่จะนำมาเพาะเพื่อใช้เป็น ต้นตอ ควรเป็นเมล็ดของมะม่วงพันธุ์ที่แข็งแรงทานกะล่อนแก้วแดงร่องต้นมะม่วงพวกนี้ จะแข็งแรง ทนทานต่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ดี

1.2 การเตรียมเมล็ด แกะเมล็ดในมาเพาะ ใช้มีดคมๆ ตัดปลายเมล็ดออกเล็กน้อย เพื่อให้เห็นช่องว่างภายใน รอยที่ตัดให้ค่อนไปทางด้านท้องของเมล็ด ฉีกเปลือกของเมล็ดนอกออกเป็น 2 ซีก แล้วเอาเมล็ดที่อยู่ภายในซึ่งมีเยื่อบางๆ หุ้มอยู่ออกมาทำการเพาะ วิธีนี้จะช่วยให้เมล็ดโปร่ง อากาศ และน้ำเข้าไปในเมล็ดได้ง่าย เมล็ดงอกได้เร็ว และถ้ามีแรงงานพอ ให้แกะเอาเปลือกแข็งที่หุ้มเมล็ดออกทั้งหมด เอาแต่เนื้อข้างในไปเพาะ ก็จะทำให้งอกได้ดียิ่งขึ้นอีก เมล็ดที่เอาเนื้อออกแล้ว ให้รีบเพาะภายใน 1 สัปดาห์ ไม่ควรเก็บไว้นานเกินกว่า 1 เดือน จะเพาะไม่งอก หรือถ้างอกต้นก็จะไม่ค่อยแข็งแรง การทิ้งเมล็ดให้โดนแดดโดนลมจะทำให้ความงอกเสียไป เมื่อได้เมล็ดมาแล้ว ควรคัดเมล็ดโดยการนำเมล็ดไปแช่น้ำ เมล็ดที่จมน้ำจะเป็นเมล็ดที่สมบูรณ์นำไปเพาะได้ดี ส่วนเมล็ดลอยน้ำให้คัดทิ้งไป เมล็ดที่ดีจะนำไปเพาะเลยก็ได้ แต่อาจจะงอกช้า

1.3 วิธีเพาะเมล็ด วัสดุที่ใช้ในการเพาะที่ดีควรใช้ ทรายผสมกับขี้เถ้าแกลบ ใส่อัตราส่วน 1 ต่อ 1 และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 902 (ปุ๋ยเทศบาล) ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่ในกระบะเพาะ รดน้ำให้ชุ่ม แล้วนำเมล็ดที่แกะออกมาแล้ว มาปักชำลงในกระบะเพาะที่เตรียมไว้ การเพาะเมล็ด การเพาะเมล็ดจำนวนไม่มากนัก อาจจะเพาะในกระบะหรือในภาชนะต่างๆ เช่น หม้อดิน กระถาง กระบอกไม้ไผ่ และถุงพลาสติก เป็นต้น ส่วนการเพาะเมล็ดจำนวนมากๆ ควรเพาะในแปลงเพาะชำเสียก่อน แล้วจึงขุดไปปลูก หรือนำไปทาบกิ่งต่อไป

การเพาะในภาชนะต่างๆ ให้ฝังเมล็ดลงไป 12 เมล็ด แล้วแต่ขนาดของภาชนะ ส่วนการเพาะในกระบะหรือในแปลงเพาะ ให้เพาะเป็นแถวๆ ห่างกัน 6-8 นิ้ว และแต่ละเมล็ดห่างกัน 6 นิ้ว การฝังเมล็ดควรให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว โดยให้ด้านท้องของเมล็ดอยู่ด้านล่าง ตั้งส่วนท้องของเมล็ดเอียงเป็นมุมประมาณ 45 องศา ให้ส่วนหัวของเมล็ดขึ้นมาเหนือทรายในกระบะเพาะเล็กน้อย หรือประมาณ 1 ใน 4 ของควานยาวของเมล็ด จะทำให้เมล็ดงอกดี และต้นที่ได้ตั้งตรง เสร็จแล้วรดน้ำให้ชุ่ม และรดน้ำทุกวันถ้าฝนไม่ตก เมล็ดที่สมบูรณ์จะงอกภายใน 1 สัปดาห์ ถึงประมาณ 20 วัน หลังจากงอกแล้วประมาณ 3 เดือน นำต้นกล้าที่งอกนั้นไปชำในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ประมาณ 4×6 นิ้ว ใส่ดินที่มีใบไม้ผุมากๆ หรือขุยมะพร้าวผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ 902 หลังจากปักชำอีกประมาณ 3-4 เดือน ต้นกล้ามะม่วงจะมีขนาดประมาณเท่าแท่งดินสอดำ ซึ่งเป็นขนาดที่พอเหมาะในการนำไปทาบกิ่งมะม่วงพันธุ์ดีต่อไป ส่วนการขุดต้นเพื่อนำไปปลูกในสวนนั้น ควรรอให้ต้นโตได้ขนาดเสียก่อนจึงขุด หรืออาจขุดมาปลูกไว้ในกระถางเสียก่อน เพื่อความสะดวกในการขนย้ายหรือรอเวลาปลูก

2. การทาบกิ่ง

นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะการเพาะเมล็ดจะทำให้มีการกลายพันธุ์ได้ง่าย จึงเป็นวิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับมะม่วง การทาบกิ่งต้นที่ได้จะตรงตามพันธุ์เดิม มีรากแก้วที่แข็งแรงเช่นเดียวกับการปลูกด้วยเมล็ด ต้นที่ได้ก็ตกผลเร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด วิธีทาบกิ่งต้องเตรียมต้นตอเพื่อนำไปทาบกิ่งมะม่วงพันธุ์ดีที่ต้องการ

2.1 การเตรียมต้นตอ ต้นตอที่จะนำมาทาบกิ่งก็คือ ต้นกล้ามะม่วงที่ได้จากการเพาะเมล็ดดังที่กล่าวถึงแล้ว ซึ่ง ต่างกับผลไม้ชนิดอื่น คือ การที่จะทำให้เมล็ดมะม่วงงอกเร็วขึ้นต้องแกะเอาเปลือกซึ่งหุ้มเมล็ดออก แล้วจึงเอาเมล็ดที่อยู่ภายในมาเพาะ อายุของต้นกล้าที่จะใช้เป็นต้นตอควรมีอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป หรือลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ครึ่งเซนติเมตร (สำหรับต้นกล้าที่งามๆ อายุเพียง 3 สัปดาห์ก็โตพอที่จะใช้เป็นต้นตอได้) และใบชุดแรกเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่แล้ว เมื่อต้องการจะทาบกิ่ง ก็ขุดแยกต้นตอออกจากกระบะเพาะ นำไปชำในถุงพลาสติกที่มีขนาดปากถุงกว้าง 4-5 นิ้ว ใส่ขุยมะพร้าวที่แช่น้ำเตรียมไว้ลงไปให้เต็มถุง ผูกปากถุงอย่าให้แน่นมาก ก็พร้อมที่จะนำไปทาบกิ่งได้

2.2 การเลือกกิ่งพันธุ์ กิ่งของต้นพันธุ์ดีที่ต้องการจะทาบนั้น ให้เลือกกิ่งที่มีขนาดไล่เลี่ยกับขนาดของต้นตอ จะใหญ่กว่าสักเล็กน้อยก็ได้ แต่อย่าให้ใหญ่กว่ามากนัก (ถ้าใหญ่กว่ามากให้ใช้ต้นตอหลายต้น) กิ่งพันธุ์ควรเป็นกิ่งที่กำลังเจริญเติบโต ไม่แคระแกรน ลักษณะกิ่งกลม ไม่เป็นเหลี่ยม กิ่งพันธุ์ต้องไม่แก่กว่าต้นตอมากนัก และไม่มีโรคแมลงรบกวน ถ้าได้กิ่งที่ตั้งตรงจะดีมาก เพราะสะดวกในการทำงาน ส่วนกิ่งที่เอนก็ใช้ได้ แต่กิ่งที่ห้อยย้อยลงล่างไม่ควรใช้ทาบกิ่ง ถ้าจำเป็นต้องใช้ ให้ผูกกิ่งให้ตั้งตรงเสียก่อน

2.3 ฤดูกาล ฤดูที่เหมาะที่สุดคือฤดูฝน เพราะต้นไม้กำลังเจริญเติบโต จะทำให้กิ่งติดกันได้ดีและเร็วกว่า แต่ถ้าทั้งต้นตอและยอดพันธุ์มีความสมบูรณ์จะทาบกิ่งตอนไหนก็ได้

2.4 วิธีการทาบกิ่ง ใช้มีดที่สะอาดและคมเฉือนต้นตอออกประมาณ 1 ใน 3 ของต้นตอ โดยเฉือนขึ้นไปหายอดของลำต้น เฉือนให้ห่างจากปากถุงพลาสติกราว 2-3 นิ้ว ยอดของต้นตอจะถูกตัดขาดออกไป แล้วใช้มีดบากให้เป็นปากฉลาม ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ใช้มีดคมๆ เฉือนที่กิ่งพันธุ์ ลึกเข้าไปในเนื้อไม้เล็กน้อย รอยเฉือนยาวประมาณ 2 นิ้ว ให้มีขนาดและลักษณะเช่นเดียวกับรอยเฉือนของต้นตอ นำรอยเฉือนทั้งสองมาประกบกันให้แนบสนิท โดยให้ปากฉลามสอดเข้าไปในรอยเฉือนพอดีกับกิ่งพันธุ์ดี ให้เปลือกของทั้งสองสัมผัสกันให้มากที่สุด แล้วใช้ผ้าพลาสติกขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว ยาวประมาณ 12 นิ้ว พันและรัดรอยต่อทั้งสองให้แนบสนิท เพี่อกันน้ำซึมเข้าไปในรอยทาบ โดยพันจากล่างขึ้นบน เสร็จแล้วใช้เชือกผูกถุงที่หุ้มโคนต้นตอให้ติดกับกิ่งพันธุ์ เพื่อไม่ให้ต้นตอแก่วง เมื่อทาบกิ่งครบ 30 วัน ให้ควั่นกิ่งพันธุ์ดี ลึกประมาณครึ่งกิ่ง ในระหว่างนี้ให้คอยดูความชื้นในถุงด้วย ถ้าเห็นว่าขุยมะพร้าวในถุงแห้งเกินไปให้รดน้ำ หลังจากนั้น ทิ้งไว้ประมาณ 45-60 วัน รอยทาบของกิ่งจะประสานกันสนิท ก็ตัดกิ่งพันธุ์ดีตรงใต้รอยทาบประมาณ 1 นิ้ว เพื่อนำไปชำ แล้วปลูกต่อไป

2.5 การชำต้นทาบกิ่ง เมื่อตัดต้นทาบกิ่งออกมาแล้ว ให้แกะเอาถุงพลาสติกที่หุ้มโคนอยู่ออก เอาไปชำในน้ำสักพักหนึ่งก่อน แล้วจึงนำไปชำในดิน ต้นที่เห็นว่าขุยมะพร้าวแห้งมาก อาจชำไว้ในน้ำก่อนสัก 1-3 วัน จึงนำไปชำในดิน การชำน้ำทำได้ดังนี้ คือ นำต้นทาบกิ่งวางในกระป๋องหรือกาละมัง เติมน้ำลงไป สูงประมาณ 1 ใน 3 ของกระเปาะที่หุ้มรากอยู่ อย่าใส่น้ำจนท่วมกระเปาะ เมื่อชำน้ำเสร็จแล้วจึงนำไปชำในดิน ภาชนะที่สามารถใช้ชำได้แก่ กระถาง หรือถุงพลาสติก เป็นต้น โดยแกะขุยมะพร้าวออกบ้าง แล้วใส่ดินลงไป กดดินรอบๆ โคนต้นให้แน่นพอประมาณ แล้วปล่อยให้ต้นทาบกิ่งนี้เจริญต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน ต้นก็จะตั้งตัวแข็งแรง นำไปปลูกหรือจำหน่ายได้

3. การตอนกิ่ง

การตอนเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้กิ่งหรือต้นพืชเกิดรากขณะติดอยู่กับต้นแม่ เมื่อตัดไปปลูกจะได้ต้นพืชใหม่ที่มีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่มี ข้อเสีย คือ ระบบรากของพืชไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากไม่มีระบบรากแก้ว

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่ง
1. มีดบางหรือมีดที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์พืช
2. ตุ้มตอน (ตุ้มตอน หมายถึง ขุยมะพร้าวอัดถุงพลาสติกขนาด 4 x 6 นิ้ว)
3. เชือกหรือลวด
4. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง

วิธีการตอน ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
1. การเลือกกิ่งที่จะทำการตอน

การเลือกกิ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกจึงจำเป็นต้องเลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ดี ต้องเป็นกิ่งเพสลาด (กิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่) ที่มีความสมบูรณ์ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง ถ้าเป็นกิ่งกระโดงได้ยิ่งดี หรือกิ่งจากส่วนอื่นที่สมบูรณ์แบบ กรณีที่ต้นพันธุ์ดีมีอายุมาก กิ่งไม่สวย จำเป็นต้องตัดกิ่งเพื่อให้กิ่งชุดใหม่แตกออกมาเสียก่อน แล้วจึงทำการตอนบนดิ่งชุดใหม่นั้น

2. การทำแผลบนกิ่งตอน มีวิธีการทำได้ 3 แบบ คือ

2.1 แบบการควั่นกิ่ง เป็นการทำแผลที่นิยมและใช้กันมานานแล้ว สามารถใช้ได้กับพืชหลายชนิด เช่น มะนาว ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง ลิ้นจี่ ส้มโอ และไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ วิธีนี้เหมาะสำหรับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกได้ง่าย โดยการใช้มีดควั่นกิ่งโดยรอบเป็นวงแหวน 2 วง ความห่างของวงแหวนประมาณความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งที่ทำการตอน จากนั้นกรีดรอยแผลจากด้านบนถึงด้านล่าง แล้วลอกเอาเปลือกไม้ออก ใช้สันมีขูดส่วนที่เป็นเมือกลื่นที่ติดบนเนื้อไม้บริเวณรอยควั่นออกให้หมด โดยขูดจากด้านบนลงมาด้านล่างเบา ๆ เพราะด้านบนเป็นส่วนที่ให้กำเนิดราก ถ้าหากซ้ำการออกรากอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร

2.2 แบบการปาดกิ่ง เป็นวิธีการตอนอีกแบบหนึ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่าย และพืชบางชนิดที่ลอกเปลือก นอกของกิ่งออกยาว โดยการเฉือนใต้ท้องกิ่งบริเวณที่จะทำการตอนเข้าเนื้อไม้เอียงเป็นรูปปากฉลาม เข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ 1/3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ความยาวแผลประมาณ 1-2 นิ้ว จากนั้นหาเศษไม้หรือลวดตะกั่วหรือลวดฟิวส์ไฟฟ้าสอดแล้วมัดเพื่อไม่ให้รอยแผลที่เปิดไว้ติดกัน ซึ่งพืชที่ใช้วิธีนี้ ได้แก่ สาเก ชวนชม

2.3 แบบการกรีดกิ่ง โดยใช้ใบมีดกรีดเป็นรอยแผลตามความยาวของกิ่ง ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว จนลึกถึงเนื้อไม้จำนวน 3-5 รอยรอบกิ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่ายและกิ่งที่จะทำการตอนยังอ่อนอยู่ เช่น หมากผู้หมากเมีย โกศล ยี่โถ

3. การหุ้มกิ่งตอน

เป็นการชักนำให้รอยแผลที่ควั่นไว้ออกรากโดยใช้ตุ้มตอนซึ่งได้จากการนำขุยมะพร้าวที่ดีเอาเส้นใยออกแล้วไปแช่น้ำบีบให้หมาด ๆ และอัดลงในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ผูกปากถุงให้แน่น ผ่าตุ้มตอนตามยาวแล้วหุ้มไปบนรอยแผล มัดด้วยเชือกบริเวณหัวท้ายเหนือและใต้รอยแผลที่ควั่นหรือเฉือนเอาไว้ ต้องมัดให้แน่นโดยไม่ให้ตุ้มตอนหมุนได้ เพราะถ้ามักไม่แน่นอาจทำให้การออกรากไม่ดีเท่าที่ควร

4. การปฏิบัติดูแลรักษากิ่งตอน

หลังจากทำการตอนกิ่งไปแล้วควรหมั่นดูแลตุ้มตอนให้มีความชื้นอยู่เสมอ โดยสังเกตดูความชื้นของตุ้มตอน ถ้ายังมีฝ้าไอน้ำจับอยู่ที่ผิวของพลาสติกภายในตุ้มตอนแสดงว่าความชื้นยังมีอยู่ แต่ถ้าหากไม่มีฝ้าไอน้ำจับ จำเป็นต้องให้น้ำตุ้มตอนเพิ่มเติมจนกว่ากิ่งตอนจะออกราก หรือถ้าหากพบแมลงทำลายควรฉีดพ่นด้วยสารเคมี

5. การตัดกิ่งตอน

เมื่อตอนกิ่งไปได้ประมาณ 30-45 วัน กิ่งตอนก็จะเริ่มออกรากและแทงผ่านวัสดุที่หุ้มภายในออกมาจนมองเห็นด้วยตาเปล่า ระยะนี้ยังตัดกิ่งตอนไม่ได้ต้องรอจนรากที่งอกออกมาเป็นสีเหลืองแก่หรือสีน้ำตาล จำนวนรากมีมากพอและปลายรากมีสีขาว จึงตัดกิ่งตอนไปชำได้

6. การชำกิ่งตอน

กิ่งตอนที่ตัดมาแล้วให้ตัดแต่งใบและกิ่งทิ้งออกไปบ้างเพื่อลดการคายน้ำของใบให้มีปริมาณน้อยลง ถ้าหากมีกิ่งแขนงและใบมากเกินไป เมื่อนำไปชำอาจจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาและตายได้ จากนั้นให้ตัดเชือกและแกะถุงพลาสติกออก นำไปชำลงในถุงพลาสติกหรือกระถางดินเผาที่บรรจุดินผสมแล้ว พร้อมปักหลักยึดไว้ให้แน่น นำเข้าพักไว้ในโรงเรียนที่ร่มและชื้น กรณีพืชที่เหี่ยวเฉาง่ายควรเก็บไว้ในโรงเรือนควบคุมความชื้นหรือกระบะพ่นหมอก พักไว้ในโรงเรือนประมาณ 20-30 วัน ก็สามารถนำไปปลูกได้

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *