กะหล่ำดาว

กะหล่ำดาว

รูปร่างลักษณะของผลคล้ายกะหล่ำปลีย่อส่วน เริ่มปลูกในประเทศแทบยุโรป และถูกนำมาปลูกในประเทศที่มีอากาศเย็นในทวีปอื่นๆ สำหรับคนไทย กะหล่ำดาว เพิ่งเป็นผักที่นิยมรับประทานกันได้ไม่นานนัก รสชาติอร่อย ไม่ว่าจะรับประทานกับน้ำพริก ผัดน้ำมันหอย แต่ที่ผู้เขียนชอบมากที่สุด คือ ผัดกะหล่ำดาวใส่เบค่อน (เริ่มน้ำลายสอกันแล้วใช่มั๊ยค่ะ) มาทำความรู้จักกับ ‘กะหล่ำหัวจิ๋ว รสชาติแจ๋ว’ กันค่ะ ‘บรัสเซล สเปร้าท์’ (Brussel sprout)เป็นชื่อเรียกภาษาอังกฤษของ กะหล่ำดาว สเปร้าท์หรือหัวเล็กๆ ของกะหล่ำดาว จะเกิดขึ้นเมื่อต้นกะหล่ำดาวเจริญเติบโตถึงระยะหนึ่ง จะเริ่มมีตาข้างอยู่ที่มุมใบ ตาข้างนี้จะเจริญพัฒนาเป็นกะหล่ำปลีเล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ซึ่งหัวเล็กๆ แต่ละอันนี้แหละค่ะที่เรียกว่า ‘สเปร้าท์’ (Sprout) แต่ละต้นจะมีสเปร้าท์เกาะติดอยู่รอบๆ โคนต้นมากมาย และนี่คือที่มาของชื่อ ‘กะหล่ำดาว’

กะหล่ำดาวเป็นกะหล่ำปลีชนิดหนึ่ง เป็นพืชล้มลุก ซึ่งมีลักษณะดังนี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็ก แต่บางสายพันธุ์มีขนาดสูงถึง 1 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลม สูงยาวใหญ่มีข้อสั้น มีก้านใบยาวและมีหัวเล็กๆ หรือสเปร้าท์หุ้มรอบลำต้น มีสีเขียว หรือสีม่วงตามสายพันธุ์
ใบ เป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ออกเรียงเวียนบนลำต้น มีลักษณะทรงกลม มีใบกว้างใหญ่ ใบมีสีเขียวหรือสีม่วง ตามสายพันธุ์ ขอบใบเว้า และมีก้านใบยาวออกโดยรอบๆลำต้น
หัว มีใบหุ้มซ้อนกันแน่นหลายชั้น หัวห่อหุ้ม มีลักษณะทรงกลมเล็กๆ เข้าปลีแน่น มีสีเขียวหรือสีม่วง ตามสายพันธุ์ มีรสชาติหวานอมขมเล็กน้อย เนื้อกรุบกรอบ มีกลิ่นเฉพาะตัว ออกโดยรอบๆลำต้นออกตรงซอกใบ แทรกปนเบียดกันอยู่แน่นตรงซอกใบ
ราก มีระบบรากแก้ว แทงลึกลงในดิน มีลักษณะกลมเล็กๆ มีรากแขนงรากฝอยเล็กๆ ออกรอบบริเวณลำต้น จะมีสีน้ำตาล
ดอก ออกเป็นช่อ ก้านช่อใหญ่ยาว มีดอกย่อยอยู่ มีลักษณะเล็กๆ กลีบดอกมีสีเหลือง ก้านดอกสั้น อยู่ปลายของลำต้น
ผล มีผลเป็นฝัก มีลักษณะเรียวยาว ปลายฝักแหลม ฝักอ่อนสีเขียว ฝักแก่สีน้ำตาล เมื่อฝักแก่จัดแตกออกจะมีเมล็ดกลมเล็กๆ เรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน
เมล็ด อยู่ในฝัก มีลักษณะกลมๆ มีขนาดเล็กๆ มีสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ

สารอาหารที่มีในกะหล่ำดาว
วิตามินเอ วิตามินเค วิตามินอี วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินบี6 โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม ไฟเบอร์ วิตามินซี โปรตีน โฟเลต ไนอาซีน และเบตาแคโรทีน

สรรพคุณทางยาของกะหล่ำดาว

  • ช่วยป้องกันโรคมะเร็งต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้
  • ช่วยป้องกันโรคมะเร็งกระเพาะ ช่วยสมานแผลในกระเพาะ
  • ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  • แก้หวัด
  • ช่วยย่อยอาหาร แก้จุกเสียดแน่นท้อง
  • ช่วยลดความเครียด ช่วยให้นอนหลับ
  • ช่วยลดคอเลสเตอรอล
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยป้องกันโรคหัวใจ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยลดแผลอักเสบ
  • ช่วยลดอาการปวดศรีษะ

ข้อควรระวังในการรับประทานกะหล่ำดาว

  • ไม่ควรรับประทานกะหล่ำดาวดิบครั้งละมากๆ เนื่องจากสารกอยโตรเจน (Goitrogen) ที่มีอยู่ในกะหล่ำดาวดิบจะเข้าไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนที่อยู่ในเลือดไปใช้ได้น้อย จนเกิดภาวะขาดไอโอดีน และทำให้เกิดโรคคอหอยพอก ดังนั้น ควรรับประทานแบบดิบในปริมาณที่น้อย ควรปรุงให้สุกก่อน ควรรับประทานไม่มากจนเกินไป และรับประทานสลับกับอาหารอย่างอื่น

การปลูกกะหล่ำดาว
สายพันธุ์กะหล่ำดาว
ที่นิยมปลูก แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. พันธุ์ต้นเตี้ย
    – พันธุ์ Katskill—เป็นพันธุ์ที่มีต้นเตี้ยจะมีขนาดของลำต้นอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 50 เซนติเมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 90 วัน
    – พันธุ์ Long Island Improved—มีอายุการเก็บเกี่ยว 90 วัน
  2. พันธุ์ต้นสูง
    – พันธุ์ Cambridge No. 1 พันธุ์ Cambridge No. 2(อังกฤษ) พันธุ์ Breda (ฮอลแลนด์) —มีขนาดความสูงของลำต้นประมาณ 50 ถึง 100 เซนติเมตร
  3. พันธุ์ลูกผสม ได้แก่ พันธุ์ Jade Cross Hybrid และ พันธุ์ F1-hybrid Green—มีอายุในการปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้เพียงแค่ 80 วัน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกะหล่ำดาว

  • สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 15 – 22 องศาเซลเซียส
  • เป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอย่างพอเพียง
  • ดินที่ใช้ปลูกควรร่วนซุย มีความอุดมสมบูรณ์สูง การระบายน้ำดีและสภาพอากาศดี
  • ดินควรมีสภาพความเป็นกรด – ด่างระหว่าง 6 – 6.5 และมีความชื้นสูง
  • ควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ หากขาดน้ำจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ทำให้มีรสขม

ฤดูกาลที่เหมาะสมในการเพาะปลูก

  • ควรปลูกฤดูหนาว (ถ้าปลูกฤดูร้อน ต้นจะแคระแกร็น มีปัญหาแมลงทำลายมาก และผลผลิตต่ำ ส่วนการปลูกในฤดูฝน มีปัญหาโรคต้นเน่าและเหี่ยว ให้ผลผลิตต่ำ ในฤดูแล้ง ถ้ามีปริมาณน้ำพอ ควรปลูกปลายฤดูแล้ง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาแมลง และสามารถให้ผลผลิตในฤดูฝน)

 

การเตรียมกล้า

  • เตรียมแปลงเพาะกล้าโดยขุดพลิกดินทิ้งไว้ 2 วัน
  • ใส่ปูนขาวอัตราไม่ต่ำกว่า 100 กรัม ต่อตารางเมตร
  • ใส่ปุ๋ยคอกอัตรา 0.5 ถึง 1 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร และ ปุ๋ยเคมี 15-15-15 อัตรา 30 กรัม ต่อตารางเมตร คลุกผสมดินให้ทั่ว
  • ย่อยดินให้ละเอียดแล้วขึ้นแปลง
  • ใช้ไม้ขีดบนแปลงเป็นร่องลึกประมาณ 1 ถึง 2 เซนติเมตร ขวางแปลงมีระยะห่าง 10 ถึง 15 เซนติเมตร
  • หยอดเมล็ดทีละเมล็ดห่างกัน 5 เซนติเมตร กลบดินบางๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
  • ใช้ตาข่ายพลาสติกสีฟ้าคลุมแปลง รักษาความชุ่มชื้น ป้องกันแสงแดดและฝนตกแรง
  • ประมาณ 15 วัน จึงเอาตาข่ายออก จากนั้นค่อยๆ แซะต้นกล้าให้ดินติดราก เมื่อครบอายุย้ายปลูกประมาณ 25 ถึง 30 วัน

ข้อควรระวัง

  • ดูแลป้องกัน โรคเน่าคอดิน (Damping Off) ในฤดูฝน และปัญหาหมัดกระโดด (Jumping Flea) ซึ่งพบทุกฤดู

การเตรียมดิน และย้ายปลูก

  • ขุดพลิกดินตากแดดทิ้งไว้ 7 วัน
  • ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 10 ถึง 15 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุมปลูก 75×50 เซนติเมตรและโรยปูนขาว อัตราไม่ต่ำกว่า 100 กรัม ต่อตารางเมตร ตากแดดทิ้งไว้ 7 ถึง 14 วัน
  • จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกหรือมูลไก่ที่ย่อยสลายแล้วอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อตารางเมตร ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 25 ถึง 30 กรัม ต่อตารางเมตร คลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน
  • นำต้นกล้ามาปลูกในตอนเย็น โดยปลูกแถวเดียว เฉลี่ยจำนวนต้น 2.6 ต้น ต่อตารางเมตร กดดินให้แน่นแล้วรดน้ำ

ข้อควรระวัง

  • ไม่ควรปลูกชิดกันมากเกินไปเพราะทำให้เข้าดูแลรักษายาก อาจทำให้ต้นโยกคลอน
  • ถ้าย้ายปลูกหลุมตื้นเกินไป ทำให้ต้นล้ม

การดูแลกะหล่ำดาว หลังการปลูก

การให้น้ำ

  • ให้น้ำ 1 หรือ 2 วัน ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับปริมาณฝน

การให้ปุ๋ย

  • ให้ปุ๋ยครั้งแรกหลังย้ายปลูก 7-10 วัน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 และ 15-15-15 อัตราส่วน 1:2 ประมาณ 25 ถึง 30 กรัม ต่อต้น โดยขีดร่องรอบต้นลึก 2 ถึง 3 เซนติเมตร โรยปุ๋ย กลบดินแล้วรดน้ำ ทันที
  • ให้ปุ๋ยครั้งต่อไป ถัดจากครั้งแรกประมาณ 15 ถึง 20 วัน ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 สลับกับ 15-15-15 จนกว่าพืชเริ่มวายคือประมาณ 1 เดือน ก่อนหมดฤดูเก็บเกี่ยว

การใช้ไม้ค้ำ

  • ถ้าต้นเอน ควรใช้ไม้ค้ำป้องกันต้นล้ม

การเก็บเกี่ยวกะหล่ำดาว

  • เริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อกะหล่ำดาวมีอายุหลังการปลูกได้ประมาณ 60 ถึง 70 วัน
  • เลือกหัวแน่นขนาด 2.5 ถึง 3 เซนติเมตร
  • ใช้มือเก็บและทำในตอนเย็นก่อนหรือวันเดียวกับการขนส่ง
  • ตัดแต่งหัวที่เก็บให้เหลือกาบหุ้ม 2 ถึง 3 ใบ ผึ่งให้แห้งก่อนบรรจุใส่เข่ง อย่าทำความสะอาด ล้างน้ำ หรือบรรจุข้ามคืนกะหล่ำดาวมักจะเก็บเกี่ยวตอนที่ปลีห่อหัวเต็มที่ การห่อของปลีมักจะห่อแต่ปลีล่างๆ ก่อน
  • ควรทยอยเก็บเกี่ยวโดยให้ทยอยกันเก็บประมาณ 3 ถึง 5 ครั้ง โดยไล่เก็บจากปลีล่างขึ้นมาและควรระวังระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวให้ดี เพราะหากทิ้งไว้นานปลีล่างมักแก่เกินไป และในการเก็บกะหล่ำดาวมักจะนิยมเด็ดยอดออกก่อนการเก็บเกี่ยวประมาณ 1 เดือน และในการเก็บแต่ละครั้งโดยทั่วไปจะให้ผลผลิตประมาณ 500 ถึง 800 กิโลกรัม ต่อไร่

ข้อควรปฏิบัติ

  1. การดูแลรักษาที่ดีตลอดฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้เก็บผลผลิตได้นาน โดยเฉพาะฤดูหนาว
  2. คอยปลิดใบแก่ที่เริ่มเหลืองทิ้ง

โรคและแมลงศัตรูกะหล่ำดาว
โรคกะหล่ำดาว
โรคเหี่ยวเฉา
เกิดเชื้อรา พบในช่วงฤดูฝน ทำลายลำต้นส่วนใต้ดินและราก ทำให้ต้นเหี่ยว
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้เทอร์ราคลอร์(Terraclor) หรือ แคปแทน (Captan) ผสมกับเบนเลท (benlate) อัตราส่วน 1 ต่อ 1 ละลายน้ำรดโคนต้น เพื่อควบคุมโรค

โรคเน่าดำ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ช่วงฤดูฝน เชื้อเข้าทำลายตั้งแต่ขอบใบเข้าไปกลางใบ เป็นรูปตัว V
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้ อะกริมัยซิน (Agrimycin) โคโค-แม็กซ์ KOKO-MAX ทุกๆ 5 ถึง 7 วัน ตามอัตราส่วนที่แนะนำในฉลาก ในกรณีที่จำเป็น
  • เก็บใบที่มีอาการของโรคไปเผาทำลาย

หมายเหตุ : ควรใช้ยาอะกริมัยซิน หรือ สารเคมีปฏิชีวนะอื่นๆ เมื่อต้นพืชอายุยังน้อยเท่านั้น
แมลงศัตรูกะหล่ำดาว
เพลี้ยอ่อน
พบระบาดในช่วงฤดูร้อน สังเกตจากใบม้วนตัวขึ้น มีรอยดำที่ใบ
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่น แลนเนท (Lannate) ฮอสตาไธออน (Hostathion) เมื่อพบแมลง 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง การฉีดพ่นยาแก้เพลี้ยอ่อนควรฉีดใต้ใบซึ่งมีตัวแมลงอยู่ หรือใช้ ฟูราดาน (Furadan) รองพื้นป้องกัน ก่อนปลูก

หนอนใย
พบระบาดช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน สังเกตจากใบถูกกินเหลือแต่เส้นใบมีใยของหนอนติดอยู่
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้ แลนเนท (Lannate) หรือ แอมบุช (Ambush) สลับกับ อโกรนา (Agrona) หรือ ธูรี่ไซด์ (Thuricide) ฉีดพ่นในตอนเย็น เมื่อมีการระบาด 5 ถึง 7 วัน ต่อครั้ง

หนอนคืบกะหล่ำ
พบระบาดช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน สังเกตจากการกัดกินใบ
การป้องกันและกำจัด

  • ฉีดพ่น แลนเนท(Lannate) แอมบุช (Ambush)หรือ แบคโทสปิน ทุก 5 ถึง 7 วัน

หนอนกระทู้ดำ
พบระบาดในช่วงฤดูร้อน กัดกินลำต้นระดับดินหลังย้ายปลูก
การป้องกันและกำจัด

  • ใช้ แลนเนท(Lannate) หรือ คูมิฟอส (Kumiphos) หรือ ลอร์สแบน (Lorsban) ละลายน้ำรด เมื่อย้ายปลูก หรือเมื่อพบตัวหนอน

 

วิธีเก็บรักษากะหล่ำดาว

  • นำมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้าขาวบาง จากนั้นใส่ถุงหรือกล่องพลาสติก แล้วนำไปแช่ตู้เย็น จะเก็บไว้รับประทานได้นาน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.thai-thaifood.com, www.plookphak.com, www.thaikasetsart.com, www.honestdocs.co.th, www.hkm.hrdi.or.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *