หินฟอสเฟตในการเพาะปลูก

หินฟอสเฟตในการเพาะปลูก

หินฟอสเฟต ในการเพาะปลูก เคยถูกกล่าวถึงในหลายบทความ เช่น บทความ ‘การปลูกไผ่’ และเกษตรกรที่หันมาปลูกพืชผัก และทำนาข้าวแบบอินทรีย์จะรู้จักกับหินฟอสเฟตกันมาแล้วจากการนำมาใช้ในการเพาะปลูก และการนำปุ๋ยฟอสเฟตมาใช้บำรุงพืชผักและข้าวที่ปลูกในพื้นที่ บทความนี้ผู้เขียนขอแนะนำ หินฟอสเฟต ให้ท่านผู้อ่านรู้จักประโยชน์และการนำมาใช้ให้ได้ผลผลิตที่สูง และมีคุณภาพดี เหมือนๆ กับเกษตรกรท่านอื่นๆ ที่มีประสบการณ์การนำหินฟอสเฟตมาใช้

หินฟอสเฟต(Rock Phosphate)หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า ร๊อคฟอสเฟตนั้น เป็นชื่อทางการค้าของแร่ฟอตเฟส (Mineral Phosphate) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการขุดแร่และกระบวนการถลุงแร่ที่มีธาตุฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ ธาตุฟอสฟอรัส จะช่วยกระตุ้นรากพืชให้เจริญอย่างรวดเร็วและทำให้พืชตั้งตัวได้เร็วขึ้น พืชมีความต้องการใช้มากในช่วงที่มีการออกดอก ผสมเกสร และในระยะที่เป็นผลแล้ว ถ้าในดินมีการสะสมธาตุฟอสฟอรัสและแคลเซียมน้อยพืชจะแสดงอาการขาดธาตุอาหารเหล่านี้ให้เห็นได้ทันที

การใช้หินฟอสเฟตในประเทศไทย
การใช้หินฟอสเฟตในประเทศไทย มีที่มาหลายประการ

  1. ความเสื่อมสภาพของดิน ในพื้นที่การเกษตร—สาเหตุมาจากการใช้วัสดุปูนหลายชนิด เช่น ปูนมาร์ล ปูนเปลือกหอย ปูนแคลเซียม ปูนเผา ปูนขาว โดโลไมท์ และฟอสเฟต ที่เหมาะต่อการนำไปใช้ในในเลือกสวนไร่นา ซึ่งที่ผ่านมานั้น ภาครัฐได้จำแนกแจกจายให้เกษตรกรนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ การใช้วัสดุเหล่านี้กับดินที่มีค่าพีเอชเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชอยู่แล้วนั้นจะทำให้เกิดการสะสมด่างในดิน จากนั้นดินก็เกิดความเสียหายกลายเป็นดินด่าง ขาดความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในการปลูกพืช หรือเร่งการเจริญเติบโต เพราะปุ๋ยและธาตุอาหารบางตัวจะถูกจับตรึงไว้ และปล่อยไนโตรเจนให้สูญสลายไป ในทางกลับกัน ทำให้โมลิบดินั่ม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ละลายออกมามากจนเป็นอันตรายต่อพืชทำให้ใบไหม้ ผลเสียที่ตามมา คือ เกษตรกรต้องสิ้นเปลืองเงินในการแก้ไขปรับปรุงดินด่างให้กลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นกรดอ่อน และใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟูสภาพดิน
  2. สภาวะทางเศรษฐกิจ ราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น และปัญหาปุ๋ยขาดตลาด จึงทำให้เกิดกาตื่นตัวค้นหาแหล่งแร่ฟอสเฟตอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา เพราะการนำเข้าแร่ฟอสเฟตจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย โมร็อคโก จีน ตูนีเซีย เป็นต้น มีต้นทุนที่สูง แหล่งแร่หินฟอสเฟตในประเทศไทยที่พบส่วนใหญ่เป็นหินฟอสเฟตที่เกิดจากซากสัตว์และมูลสัตว์ดึกดำบรรพ์ สะสมอยู่ตามแอ่งหินปูนและตามถ้ำบริเวณเทือกเขาหินปูนทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ แร่หินฟอสเฟตถูกพบมากที่สุดในปัจจุบันที่บ้านสบเมย อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีเปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสทั้งหมด 38-39 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าเป็นหินฟอสเฟตที่มีฟอสเฟตสูงและคุณภาพดีเหมาะสำหรับใช้ทำปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตและดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตได้ และพบหินฟอสเฟตมีมากอีกแห่งที่เขาก๊กม้า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี แร่ที่นี่มีเปอร์เซ็นต์ฟอสเฟตประมาณ 10-40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรน้อย จึงเหมาะที่จะนำแร่ฟอสเฟตมาทำปุ๋ยบดละเอียดและใช้ใส่โดยตรง หรือนำมาแปรสภาพด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูงหรือทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันเป็นปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต

ชนิดของหินฟอสเฟต
หินฟอสเฟตที่พบในประเทศไทย มี 2 ชนิด คือ หินฟอสเฟตที่เป็นหินตะกอน กับหินฟอสเฟตที่เกิดจากมูลค้างคาว

  1. หินฟอสเฟตที่เป็นหินตะกอน มีอยู่ในจังหวัดต่างๆ แถบภาคเหนือและภาคกลาง มีฟอสเฟตทั้งหมดร้อยละ 25 ถึง 35 แต่ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีเพียงร้อยละ 2 ถึง 5 เท่านั้น
  2. หินฟอสเฟตที่เกิดจากมูลค้างคาว พบตามถ้ำต่างๆ ในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น กระบี่ และพังงา เป็นต้น หินฟอสเฟตพวกนี้มีฟอสเฟตทั้งหมดประมาณร้อยละ 20 แต่ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีประมาณร้อยละ 10 ถึง 15 แต่ปริมาณการสะสมหินฟอสเฟตในดินจะสู้หินฟอสเฟตจากแถบภาคกลางและภาคเหนือไม่ได้

วิธีใช้หินฟอสเฟตให้ถูกต้อง

  • การนำหินฟอสเฟตมาใช้ ควรใช้ให้ตรงกับช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น ใช้รองก้นหลุมปลูกเพื่อสร้างหรือกระตุ้นให้เกิดรากหาอาหารได้มากขึ้น ใช้เพียง 2 ถึง 3 ช้อนแกง ต่อหลุม
  • การใช้หินฟอสเฟตในดินที่มีสภาพเป็นด่าง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หรือถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้เลย เพราะอาจเกิดผลเสียมากขึ้นจากการเกิดความเป็นด่างสะสมในดินแทนที่ประโยชน์จากธาตุฟอสฟอรัส
  • ใส่ฟอสเฟต หรือนำไปผสมน้ำฉีดพ่นก่อนพืชออกดอกประมาณ 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในผักกินใบควรใส่หรือฉีดพ่นหลังจากผักมีใบจริง 2 ถึง 3 ใบ ส่วนผักข้อถี่ ผักในตระกูลกะหล่ำให้ใส่หรือฉีดพ่นเมื่อเริ่มห่อหรือสร้างหัว และผักที่กินผลชนิดต่างๆ ควรใช้ฟอสเฟตในช่วงระยะที่มีการออกดอกจะทำให้ขั้วดอกเหนียวและแข็งแรงดียิ่งขึ้น

วิธีใช้หินฟอสเฟตบดกับไม้ยืนต้น
การใช้ปุ๋ยฟอสเฟตให้ได้ผลดี ต้องรู้จักใช้ให้ถูกต้อง เพราะปุ๋ยฟอสเฟตบดละลายได้ยาก มีฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตแล้ว ซึ่งปัจจุบัน หินฟอสเฟตถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของปุ๋ยที่ใช้กับยางพารา ช่วยเร่งให้รากงอกและแผ่ขยายได้เร็ว ทำให้ต้นยางตั้งตัวในระยะแรกได้ดี สร้างระบบรากให้แข็งแรงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม เพราะดินปลูกยางส่วนใหญ่มีธาตุอาหารนี้น้อยมาก ปุ๋ยหินฟอสเฟตมีจำหน่ายในขณะนี้ ได้แก่ 0-3-0 เป็นปุ๋ยที่ผลิตได้ภายในประเทศ วิธีใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม

  • ในแหล่งปลูกยางเดิม ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร แยกดินที่ขุดเป็น 2 พวก คือดินชั้นบน และดินชั้นล่าง ใช้ดินชั้นบนกลบลบไปก่อน ส่วนดินล่างใช้ คลุกกับปุ๋ยฟอสเฟต จำนวน 170 กรัมต่อหลุม แล้วกลบดินล่างที่คลุกปุ๋ยลงไปให้เต็มหลุม
  • ในแหล่งปลูกยางใหม่ การเตรียมหลุมปลูกสำหรับการปลูกลึก ถ้าใช้แรงงานคนขุด ใช้ขนาดหลุม 50x50x50 เซนติเมตร แต่ถ้าใช้สว่านติดท้ายรถแทรกเตอร์เจาะหลุม ในกรณีที่ใช้ยางชำถุงขนาด 2 ฉัตร ควรเจาะหลุมให้ลึกกว่าปกติ คือใช้ค่าเฉลี่ยความสูงจากก้นถุงถึงฉัตรที่ 1 ของวัสดุปลูกเป็นขนาดความลึกของหลุม ซึ่งปกติจะลึกประมาณ 60-70 เซนติเมตร ใช้ดินทั้งหมดที่ขุดขึ้นมาจากหลุมผสมคลุกเคล้ากับปุ๋ยหมัก 5 กิโลกรัม และปุ๋ยหินฟอสเฟต จำนวน 60 กรัม คลุกให้เข้ากัน ค่อยทยอยกลบดินที่ผสมปุ๋ยแล้วลงหลุมให้เต็มและอัดดินให้แน่นเสมอระดับดินเดิม

ส่วนการใช้กับไม้ยืนต้นหรือไม้ผลชนิดอื่นๆ นั้น มักใช้หินฟอสเฟตบดเป็นปุ๋ยรองก้นหลุม หรือ หากวิเคราะห์ดินในพื้นที่เพาะปลูกแล้วพบว่า ดินมีฟอสฟอรัสในระดับปานกลาง ก็ให้ใส่หินฟอสเฟตบดเป็นประจำทุกๆ ปี แต่ถ้าดินในพื้นที่มีฟอสฟอรัสต่ำ การใช้หินฟอสเฟตบดจะให้ผลดีเมื่อดินเป็นกรดเท่านั้น ปริมาณการใช้หินฟอสเฟตบดกับไม้ผลแต่ละชนิด ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ หรือปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้จำหน่าย

การให้หินฟอสเฟตในดินที่มีความเป็นกรดสูง
หินฟอสเฟต หรือปุ๋ยฟอสเฟตนี้ ละลายได้ดีในสภาพที่เป็นกรด เมื่อหินฟอสเฟตละลายออกมา จะมีฤทธิ์เป็นด่างเล็กน้อย ทำให้หินฟอสเฟตกลายเป็นตัวช่วยปรับปรุงดินได้ดี หินฟอสเฟตบดปริมาณ 100 กิโลกรัม ให้ฤทธิ์ด่างในดินเท่ากับการใส่ปูนประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งฤทธิ์ด่างที่ละลายออกมา จะช่วยทำลายกรดในดินทีละน้อย

ประโยชน์ของหินฟอสเฟตกับดินเหนียว
จากรายงานการทดลองในประเทศออสเตรเลีย พบว่า ในดินทรายที่มีดินเหนียวปะปนอยู่แม้เพียงเล็กน้อย จะลดความเป็นประโยชน์ของหินฟอสเฟตลงระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับดินทราย ประโยชน์ของหินฟอสเฟตในดินเหนียวจะลดลง เนื่องจากเกิดปฏิกิริยาระหว่างหินฟอสเฟตกับดินเหนียว

ประโยชน์ของหินฟอสเฟตกับดินทราย
หินฟอสเฟตจะมีศักยภาพต่อพืชในระดับเดียวกันกับปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตเมื่อใช้ในดินทราย แต่หินฟอสเฟตจะมีฤทธิ์ตกค้างในดินมากและจะเป็นประโยชน์ต่อพืชในฤดูปลูกต่อไประยะยาว เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารฟอสฟอรัสที่ละลายได้ทีละน้อย ด้วยเหตุนี้ ทำให้สามารถลดการใส่ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตในต่อๆ ไปได้ ช่วยให้เกษตรกรประหยัดรายจ่ายได้มากขึ้น

เกษตรกรไทยยังไม่ค่อยยอมรับ หรือมีการนำหินฟอสเฟตมาใช้ในปริมาณที่น้อยและไม่ค่อยแพร่หลายนัก แม้ว่าประเทศไทยจะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้หินฟอสเฟตในดินกรดจัดและในดินอื่น ๆ มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วก็ตาม ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าจะมีการนำหินฟอสเฟตมาใช้เพิ่มมากขึ้น หินฟอสเฟตให้ผลดีในการปรับปรุงบำรุงดินในระยะยาวได้ดีมาก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมีแล้ว ที่สำคัญ ช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้มาก โดยเฉพาะในพื้นที่เพาะปลูกที่ดินมีค่าความเป็นกรดสูง หรือดินทรายที่เป็นกรดจัด มีการชะล้างสูง
ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้แก่ท่านผู้อ่าน และเกษตรกรเป็นอย่างมากนะคะ
ขอบคุณสำหรับการติดตามค่ะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.thaikasetsart.com, www.gotoknow.org, www.km.rubber.co.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *