การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด

 

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด มีหลากหลายวิธีตามความสะดวกของเราที่จะนำมาใช้นะคะ แต่ก็ต้องใช้ให้ได้สัดส่วน และใช้ตามวิธีที่ผู้เขียนรวบรวมมาฝากกัน เนื่องจาก การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเป็นผลสำเร็จ สำหรับการเพาะปลูก เชื้อราไตรโคเดอร์มามีส่วนช่วยให้ได้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพได้ในทุกขั้นตอน โดยไม่เกิดผลข้างเคียงที่ทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้สารเคมีในการเพาะปลูกก็ควรใช้อย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถติดตามได้ในบทความ ‘การใช้สารเคมีให้ถูกวิธี’ผู้เขียนอยากฝากไว้สักนิดนะคะว่า หลังจากที่ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้ข้อมูล การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ผู้เขียนอยากให้ทดลองผลิตเชื้อสดด้วย เพื่อลดต้นทุนการทำเกษตร….ลองดูนะคะ

ขั้นตอน การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด

การใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์

  • ใช้เชื้อสด 1 ส่วน รำข้าวละเอียด 4 ส่วน และปุ๋ยอินทรีย์ 100 ส่วน (อัตราส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนัก) สำหรับใส่หลุมปลูก หรือใช้เชื้อสดในอัตรา 10 ถึง 20 กรัม (1 ถึง 2 ช้อนแกง) คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ก่อนการหยอดเมล็ดพืช หรือหว่านลงแปลงปลูก ด้วยอัตรา 50 ถึง 100 กรัมต่อตารางเมตร
  • ใช้ผสมรวมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าโดย ใส่ส่วนผสมของเชื้อสดและปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน ผสมร่วมกับดินหรือวัสดุปลูก 4 ส่วน นำดินหรือวัสดุปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช

การใช้เชื้อสดคลุกเมล็ดพืชก่อนการเพาะปลูก

  • สามารถใช้เชื้อสดล้วนๆ อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์

  • หลังจากเตรียมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เลี้ยงบนปลายข้าวอายุ 6 ถึง 7 วัน 1 กิโลกรัม และปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 100 กิโลกรัม (หรืออาจเพิ่มปริมาณได้โดยใช้สัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนัก) ตักแบ่งรำข้าวส่วนหนึ่งใส่ลงในถุงเชื้อสดแล้วคลุกเคล้ากับเชื้อให้ทั่ว นำถุงเชื้อที่คลุกด้วยรำข้าวแล้ว ไปเทลงในรำข้าวที่เหลือต่อจากนั้นคลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างทั่วถึง ได้ส่วนผสมรวม 5 กิโลกรัม (1+4) จากนั้นนำส่วนผสมของเชื้อสดและรำข้าวละเอียด (5 กิโลกรัม) ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ (100 กิโลกรัม) คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างทั่วถึง อาจพรมน้ำให้พอชื้น เพื่อลดการฟุ้งกระจายแบ่งส่วนผสมใส่ภาชนะนำไปใช้หว่านหรือโรยลงบนแปลงปลูกพืช โคนต้นพืชหรือผสมกับดินในหลุมปลูกพืช
    ตัวอย่างวิธีการใช้ส่วนผสมของเชื้อสด – รำข้าว และปุ๋ยอินทรีย์
    – ใช้ส่วนผสมของเชื้อสดผสมกับดินปลูกอัตรา 1: 4 โดยปริมาณ (20 เปอร์เซ็นต์)
    – นำดินปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสด แล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช
    – ใช้ส่วนผสมของเชื้อสด 10 ถึง 20 กรัม (1 ถึง 2 ช้อนแกง) ต่อหลุม โรยลงในหลุมก่อนการหยอดเมล็ดพืช
    – ใช้ส่วนผสมของเชื้อสด 10 ถึง 20 กรัมคลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ถ้าหลุมปลูกใหญ่อาจใช้ 50 ถึง 100 กรัม ต่อหลุม
    – หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูกก่อนการปลูกพืช ด้วยอัตรา 50 ถึง 100 กรัม ต่อตารางเมตร
    – หว่านส่วนผสมเชื้อสดลงบนแปลงปลูก ขณะที่พืชกำลังเจริญเติบโต และกำลังมีโรคระบาดด้วยอัตรา 50 ถึง 100 กรัม ต่อตารางเมตร
    – หว่านส่วนผสมเชื้อสดทั่วบริเวณใต้ทรงพุ่ม จนถึงรอบชายพุ่มด้วยอัตรา 50 ถึง 100 กรัม ต่อตารางเมตร
    – โรยส่วนผสมเชื้อสดบริเวณโคนต้นพืช เพื่อป้องกันการเกิดโรคโคนเน่า ด้วยอัตรา 10 ถึง 20 กรัม ต่อต้น

การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับน้ำ

  • ในกรณีที่ไม่สะดวกในการจัดหาปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และรำข้าว หรือกรณีที่ต้องการใส่เชื้อราไตรโคเดอร์มาลงดินโดยไม่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และรำข้าวลงไปในดินด้วย เนื่องจากไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่เตรียมไว้ผสมกับน้ำ ในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 250 กรัม (เชื้อสด 1 ถุง) ต่อน้ำ 50 ลิตร ใช้น้ำเชื้อที่เตรียมได้ฉีดพ่นลงดินด้วยอัตรา 10 ถึง 20 ลิตรต่อ 100 ตารางเมตร

ขั้นตอนการใช้เชื้อสดผสมน้ำมี ดังนี้

  • นำเชื้อสด 1 ถุง (250 กรัม) เติมน้ำลงไปในถุง 300 มิลลิลิตร (ซีซี) หรือพอท่วมตัวเชื้อแล้วขยำเนื้อข้าวให้แตกออกจนได้น้ำเชื้อสีเขียวเข้ม
  • กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ ล้างกากที่เหลือบนกระชอนด้วยน้ำอีกจำนวนหนึ่ง นำเชื้อที่กรองได้มาเติมน้ำให้ครบ 50 ลิตรก่อนนำไปใช้
  • เมล็ดข้าวที่อยู่บนกระชอนสามารถใช้คลุกกับรำข้าวหรือปุ๋ยอินทรีย์ แล้วนำไปหว่านลงแปลงปลูกหรือโคนต้นพืชได้

วิธีการฉีดพ่นน้ำเชื้อสด

  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนกระบะเพาะกล้า หลังจากหยอดเมล็ดแล้ว หรือในระหว่างที่ต้นกล้ากำลังเจริญเติบโต โดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในถุง หรือกระถางพืช ตั้งแต่เริ่มปลูกหรือในระหว่างที่พืชกำลังเจริญเติบโต โดยฉีดให้ดินเปียกชุ่ม
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังจากเพาะเมล็ดแล้ว โดยฉีดพ่นให้ดินเปียกชื้น
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงในหลุมปลูกพืชหลังย้ายพืชลงปลูกแล้ว โดยฉีดให้ดินเปียกชื้น
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสด อัตรา 10 ถึง 20 ลิตร ต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร ลงบนแปลงปลูกพืชหลังจากหว่านเมล็ด และคลุมแปลงด้วยฟางแล้ว ต่อจากนั้นให้น้ำแก่พืชทันที
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสดลงบนแปลงปลูก อัตรา 10 – 20 ลิตร/ตารางเมตร ก่อนคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อสด ลงตรงโคนต้นพืช และบนดินบริเวณรอบโคนต้นพืช
  • ฉีดพ่นน้ำเชื้อลงบนดิน บริเวณใต้ทรงพุ่มและขอบชายพุ่ม

ข้อควรระวังในการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด

  • เชื้อชนิดสดอาจไม่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เชื้อสดเป็นเชื้อที่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา เมื่ออยู่ในสภาพอุณหภูมิปกติ โดยสปอร์ของเชื้อซึ่งมีสีเขียวเข้มจะงอกและเจริญกลับเป็นเส้นใยสีขาวใหม่อีกครั้ง เส้นใยดังกล่าวจะอ่อนแอต่อสภาพแวดล้อมภายนอกถุงเชื้อ สูญเสียคุณภาพและประสิทธิภาพได้ง่ายกว่าเชื้อในรูปสปอร์สีเขียว ดังนั้น ข้อจำกัดที่สำคัญประการหนึ่งของเชื้อสดคือ ต้องนำเชื้อสดไปใช้ทันที อย่างไรก็ตาม ถ้าเกษตรกร หรือผู้ใช้ยังไม่พร้อมที่จะใช้เชื้อสดที่มีอายุครบ 7 วันแล้ว ต้องเก็บรักษาเชื้อสดไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิประมาณ 8 ถึง 10 องศาเซลเซียส และไม่ควรเก็บไว้นานเกินกว่า 30
    วัน
  • ผู้ใช้เชื้อสดควรระลึกไว้เสมอว่า การใช้เชื้อสดใส่ลงไปในดินที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการเจริญและการเพิ่มปริมาณเชื้อ เช่น ดินเป็นกรดจัดหรือด่างจัด เกินไป ดินมีความเค็มสูง โครงสร้างของดินหรือเนื้อดินมีลักษณะแน่นทึบ การระบายอากาศและความชื้นไม่ดี ดินมีอินทรีย์วัตถุต่ำ อาจทำให้การใช้เชื้อสดไม่ประสบผลสำเร็จได้
  • ควรฉีดพ่นน้ำเชื้อสดในเวลาแดดอ่อน หรือเวลาเย็น ในกรณีที่ไม่มีร่มเงาจากพืชหรือไม้ยืนต้นบริเวณที่จะทำการฉีดพ่นเลย ควรใช้วัสดุอินทรีย์ หรือปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกหว่านปกคลุมผิวดิน
  • ถ้าดินบริเวณที่จะฉีดพ่นน้ำเชื้อหรือหว่านเชื้อแห้งมาก ควรรดน้ำพอให้ดินมีความชื้นเสียก่อน หรือรดน้ำตามทันทีหลังฉีดพ่นหรือหว่านเชื้อ เพื่อให้น้ำพาเชื้อซึมลงดินและความชื้นในดินจะช่วยให้เชื้อเจริญได้ดี
  • ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่เหมาะกับการใช้ผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด ควรเป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมักโดยสมบูรณ์แล้ว ( เย็นแล้ว ) หรือเป็นปุ๋ยที่กองทิ้งไว้จนเก่าแล้ว
  • ไม่ควรใช้ปุ๋ยหมักที่ผสมด้วยปุ๋ยยูเรีย
  • ห้ามใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทุกชนิดคลุกเคล้าหรือผสมร่วมกับเชื้อสดเพื่อใช้พร้อมกันทีเดียว
  • กรณีที่ต้องการผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับปุ๋ยอินทรีย์-เคมี ( ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผสมด้วยปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ ) ทั้งชนิดผงหรือชนิดอัดเม็ด ให้ผสมได้ แต่ต้องหว่านทันทีที่ผสมเสร็จ ห้ามผสมแล้วเก็บไว้ในกระสอบ หรือกองไว้ เพราะเชื้อราไตรโคเดอร์มาอาจได้รับอันตรายจากปุ๋ยเคมี
  • เมื่อผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับรำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ให้ใช้หว่านทันที ห้ามบรรจุลงในกระสอบหรือกองทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดความร้อนในกองปุ๋ย เป็นอัตรายต่อเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ ดังนั้นจึงควรเตรียมส่วนผสมของเชื้อสด รำข้าวและปุ๋ยอินทรีย์ให้พอใช้ในแต่ละครั้ง
  • ถ้าผสมเชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดกับปุ๋ยอินทรีย์ ( เก่าหรือหมักดีแล้ว ) โดยไม่ใส่รำข้าว สามารถเก็บปุ๋ยไว้ได้ไม่เกิน 1 เดือน โดยใส่กระสอบหรือกองไว้ในที่ร่มและเย็น และควรคลุมด้วยพลาสติกหรือกระสอบ เพื่อรักษาความชื้นในเนื้อปุ๋ยเอาไว้ให้อยู่ที่ประมาณ 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ โดยไม่ใส่รำข้าว เมื่อใช้หว่านลงดินจะได้ปริมาณเชื้อน้อยกว่ากรณีที่ใช้รำข้าวผสมด้วย อย่างไรก็ตาม พบว่าเชื้อสดผสมปุ๋ยอินทรีย์โดยไม่มีรำข้าวมีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้เช่นกัน
  • ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ก่อนหรือหลังการหว่านปุ๋ยเคมี 3 ถึง 5 วัน
  • ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหลังหว่านปูนโดโลไมท์ ปูนขาว หรือสารปรับสภาพดินไปแล้ว 5 ถึง 7 วัน
  • การฉีดพ่นสารเคมีควบคุมโรค แมลงศัตรูพืช และวัชพืช เหนือพื้นดิน ไม่มีผลกระทบต่อเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดิน แม้ว่าสารเคมีเบโนบิล และคาร์เบนดาซิม อาจมีผลยับยั้งการเจริญของเชื้อราไตรโคเดอร์มาได้ระยะหนึ่ง
  • ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง เช่น ใช้ก่อนปลูกพืชรุ่นใหม่ทุกครั้ง ในกรณีของการปลูกพืช ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชไร่ หรือใช้ปีละ 2 ถึง 3 ครั้ง ในกรณีของไม้ผลยืนต้น ซึ่งไม่มีอันตรายต่อพืช
  • ควรใช้เศษหญ้า เศษใบไม้ หรือวัสดุต่าง ๆ คลุมผิวดิน เพื่อรักษาความชื้นในดินไว้ ซึ่งจะช่วยให้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเจริญได้ดี และมีชีวิตอยู่รอดในดินได้นานยิ่งขึ้น
  • ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ หรือวัสดุอินทรีย์ลงดินเป็นระยะ ๆ โดยแบ่งใส่ทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้กับเชื้อราไตรโคเดอร์มา และเพื่อช่วยปรับสภาพแวดล้อมในดินให้เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
  • ควรใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดที่ผสมรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์หว่านลงดินในช่วงของการเตรียมดินก่อนการปลูกพืช และใช้น้ำเชื้อสดฉีดพ่นลงดินบนแปลงปลูกหรือรอบโคนต้น หรือใต้ทรงพุ่มในระยะที่พืชกำลังเจริญเติบโตต่อเนื่องเป็นระยะๆ
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสดเก็บรักษาได้ไม่นาน และมีประสิทธิภาพควบคุมโรคสูงกว่าการใช้เชื้อในรูปผงแห้ง

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับเชื้อราไตรโคเดอร์มา

  • ปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดินมีหน่วยวัดเป็น หน่วยโคโลนี ต่อกรัม เช่น ตรวจพบเชื้อราไตรโคเดอร์มาในดิน 105 หน่วยโคโลนี ต่อกรัม หมายความว่าในดิน หนัก 1 กรัม มีปริมาณเชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ 100,000 หน่วยชีวิต ( สปอร์ ) ที่จะเจริญเป็นเส้นใยได้
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มาที่ใส่ลงดินแล้ว จะมีชีวิตอยู่รอดได้นานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน ดินร่วนซุยดี มีอินทรีย์วัตถุสูง มีใบไม้หรือเศษพืชปกคลุมดินเสมอ เชื้อราไตรโคเดอร์มาจะอยู่รอดโดยมีปริมาณสูงได้นาน 6 เดือน ถึง 1 ปี
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มาอยู่ได้ในดินลึกกว่า 30 เซนติเมตรจากผิวดิน แต่จะเจริญสร้างเส้นใยเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคพืชได้ดีในความลึกช่วง 5 ถึง 10 เซนติเมตร จากผิวดิน
  • การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาติดต่อกันนานหลายปีไม่ทำให้เชื้อโรคพืชเกิดความต้านทานได้ แต่กลับเป็นผลดี คือ จะช่วยป้องกันโรคพืชได้อย่างต่อเนื่อง
  • การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาเพียง 1 สายพันธุ์ไม้ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาหลายสายพันธุ์ร่วมกัน
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มาไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืชที่ปลูก และสภาพแวดล้อม
  • การต่อเชื้อไตรโคเดอร์มาบ่อย ๆ อาจเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่เจริญได้ไม่ดี สร้างเส้นใยแต่ไม่สร้างสปอร์สีเขียว และไม่มีประสิทธิภาพควบคุมโรคได้
  • กรณีที่พืชแสดงอาการของโรคขั้นรุนแรง ควรใช้สารเคมี เช่น เมทาแลกซิล โฟซีทิลอัล ( อาลีเอท ) กรดฟอสโฟนิค ( โฟลีอาร์ฟอส ) แมนโคเซบฯ ร่วมด้วยได้ ถ้าจะใช้สารกลุ่มเบโนมิล หรือคาร์เบนดาซิมควรใช้ก่อนหรือหลังใส่เชื้อไตรโคเดอร์มา 7 วัน
  • สามารถใช้สารเคมีควบคุมแมลงศัตรูพืช สารกำจัดวัชพืช และปุ๋ยเคมี ได้ตามปกติในระหว่างการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา แต่ห้ามผสมเชื้อกับสารเคมี
  • ถ้าดินปลูกพืชเป็นกรดจัด คือ ค่าpH ต่ำ ( 3.5-4.5 ) จำเป็นต้องปรับค่าpHให้มีค่าอยู่ระหว่าง 5.5 – 6.5 ก่อนการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา
  • เชื้อราไตรโคเดอร์มาพบได้ในดินเกษตรกรรมทั้งไป แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกเชื้อหรือทุกสายพันธุ์นั้นจะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคได้ ต้องผ่านการวิจัยทดสอบเสียก่อน

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืช ประกอบด้วย

  1. คุณภาพและประสิทธิภาพของเชื้อราไตรโคเดอร์มา
    – ต้องเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือก ศึกษาวิจัยทั้งด้านคุณภาพ และประสิทธิภาพควบคุมโรคมาเป็นอย่างดีแล้ว
    – ต้องเป็นเชื้อที่เจริญสร้างสปอร์ได้ดีและรวดเร็ว บนวัสดุอาหารหลากหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุอินทรีย์ที่มีอยู่ในดินตามธรรมชาติ
    – ต้องสามารถแข่งขันและต่อสู้ทำลายเชื้อสาเหตุโรคพืชได้หลายชนิด
    – ต้องดำรงชีวิตอยู่รอดได้ดีในสภาพธรรมชาติที่มีความแปรผัน
    – ต้องเป็นผลิตภัณฑ์เชื้อราไตรโคเดอร์มามาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ หรือมีหมายเลขทะเบียนแสดงการรับรองจากกรมวิชาการเกษตรบนฉลากและบอกวันหมดอายุ
  2. วิธีการใช้ เชื้อราไตรโคเดอร์มา
    – ต้องใช้เชื้ออย่างถูกต้องตามวิธีการปฏิบัติและข้อควรระวังที่แนะนำไว้
    – ต้องใช้เชื้อตามอัตราที่กำหนด
    – ต้องใช้เชื้อในช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมตามคำแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เชื้อเพื่อป้องกันโรค ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการใช้เชื้อเพื่อรักษาโรค
  3. การจัดการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม
    – ปรับปรุงสภาพดินด้วยอินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักอย่างสม่ำเสมอ
    – คลุมผิวดินด้วยเศษซากพืช เพื่อรักษาความชื้นในดิน
    – ปรับสภาพความเป็นกรดของดิน ด้วยปูนมาร์ล หรือโดโลไมท์
    – การขุดดินตากแดด เพื่อกำจัดเชื้อโรค
    – การตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค หรือแต่งให้ทรงพุ่มโปร่ง
    – การขุดร่องระบายน้ำ ป้องกันสภาวะน้ำขังในพื้นที่เพาะปลูก

ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่

(แหล่งข้อมูล : www.chumphon.doae.go.th, งานวิจัยด้านพืช โดย จิระเดช แจ่มสว่าง และ ดร.วรรณวิไล อินทนู ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *