การปลูกผักสวนครัว

18 วิธีเก็บผักผลไม้ ยืดอายุเก็บไว้กินช่วงกักตัว COVID-19
การปลูกผักสวนครัว

ที่ผู้เขียนได้รวบรวมขั้นตอน การปลูกผักสวนครัว มาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษากันในบทความนี้ เป็นขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่สนใจ หรือเป็นมือใหม่หัดปลูก เพื่อนำหลักการต่างๆ ไปปฏิบัติ และก็ไม่ลืมของฝากสำหรับมือเก่าหรือเกษตรที่ปลูกผักสวนครัวอยู่แล้ว ผู้เขียนก็มีเทคนิค และวิธีการเสริมรายได้มาเผื่อด้วยนะคะ ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อท่านที่สนใจติดตาม จากการปลูกผักสวนครัว เพื่อประโยชน์ใช้สอยในครัวเรือนในบริเวณรอบๆ บ้านของคนไทย ช่วยลดรายจ่าย ให้ประโยชน์ทางโภชนาการ และปราศจากสารพิษ ได้กลับกลายมาเป็น การปลูกผักสวนครัว เพื่อการค้าพาเกษตรกรไทยร่ำรวยกันหลายราย แล้วทำอย่างไร จึงจะร่ำรวยได้ด้วยการปลูกผักสวนครัว?…ศึกษา นำไปปฏิบัติ ปรับปรุงหรือประยุกต์ใช้ และดูแลเป็นประจำ รวมทั้งทำการเกษตรแบบผสมผสานให้มีรายได้หมุนเวียน เพียงเท่านี้ ก็เป็นเกษตรกรที่มีรายได้มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน ปัญหาการปลูกผักสวนครัว หรือพืชผักชนิดอื่นๆ ที่ประสบอยู่ในทุกวันนี้ คือ พื้นที่ทำกินเริ่มน้อยลงทุกวัน การเพาะปลูกพืชจึงถูกพัฒนาไปตามวิถีความเป็นอยู่ เท่ากับสิ่งมีชีวิตทุกเผ่าพันธุ์บนพื้นโลก ต้องปรับเปลี่ยนวิถี และวิธีการดำรงชีวิตให้เข้ากับสภาพแวดล้อมก็ว่าได้ เช่นเดียวกันกับรูปแบบของ การปลูกผักสวนครัว ที่ปัจจุบันมีหลากรูปแบบให้เราได้เลือกปฏิบัติ ให้เข้ากับความสะดวกและสภาพแวดล้อมของผู้ปลูก มาดูกันนะคะ ว่ามีรูปแบบใดบ้าง?

รูปแบบการปลูกผักสวนครัว
สวนครัวหลังบ้าน

รูปแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตชนบท ชานเมือง หรือบ้านเดี่ยวที่มีบริเวณหรือพื้นที่ที่สามารถทำแปลงผัก ปลูกลงดินได้ และสามารถเลือกชนิดผักได้ตามความชอบของสมาชิกครอบครัว

  • ขนาดแปลงที่เหมาะสมในการปลูกผักสวนครัวเพื่อรับประทานในครัวเรือน
    กว้างไม่เกิน 1 เมตร ความยาว 4 เมตร หรือตามขนาดพื้นที่ และความสูงของแปลงประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร เพื่อให้ระบายน้ำและอากาศได้ดี
  • การเตรียมแปลงปลูก
    – ขุดดินตามขนาดของพื้นที่แปลงให้ลึกประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ถึง 2 หน้าจอบ
    – ตากดินไว้อย่างน้อย 7 วัน
    – พรวนดินอีกครั้ง แล้วใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ตารางเมตรละ 1 ถึง 3 กำมือ
    – พรวนปุ๋ยและดินให้เข้ากัน จากนั้นยกแปลงให้มีความสูงประมาณ 30 ถึง 50 เซนติเมตร
    – หว่านหรือหยอดเมล็ดผัก
    – ฉีดพ่นน้ำเชื้อราไตรโคเดอร์มา ในอัตรา 10 ถึง 20 ลิตร ต่อ พื้นที่ 100 ตารางเมตร ลงบนแปลงปลูกพืช
    – คลุมแปลงด้วยฟาง และรดน้ำทันที

ครัวสวนหย่อม
เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่หรือบริเวณไม่มาก สามารถจัดสวนด้วยผักสวนครัว ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เริ่มต้นด้วย :

  • เลือกชนิดผักให้เหมาะสม คือ ควรเป็นพืชที่มีอายุยาว มีทรงพุ่ม สีใบ ดอก และผลสวยงาม เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกเหลือง กะเพรา มะเขือเทศ หรือมะเขือต่างๆ
  • จัดเนื้อที่ให้เหมาะสม เป็นระเบียบ ไม่รกตา ซึ่งอาจใช้แบบการจัดสวนจากการใช้ไม้ดอก หรือไม้ประดับมาดัดแปลง
  • ใช้อุปกรณ์แต่งสวนประกอบให้ดูมีสีสันขึ้นมา เช่น กระถางสวยงาม อิฐแดง อิฐประสาน ไม้ไผ่ หรือวัสดุอื่นๆ
  • ทำค้างเป็นรูปแบบสวยงาม หรือทำรั้วกั้นแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน
  • ดูแลรักษาเช่นเดียวกันกับการปลูกผักลงดินหรือลงกระถาง

 

สวนครัวกระถาง

รูปแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่พักอาศัยตามคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ หอพัก ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ ร้านค้า หรือผู้ที่ไม่มีที่ดินของตนเอง การทำสวนครัวรูปแบบนี้มีภาชนะในการปลูก คือ สวนครัวกระถาง จะใช้กระถางดินเผา กระถางเคลือบ กระถางพลาสติก หรือภาชนะเหลือใช้ในบ้านสำหรับปลูกผัก
ข้อดีของสวนครัวกระถาง คือ สามารถเคลื่อนย้ายพืชให้รับแสงแดดได้ง่าย ประหยัดเวลาในการดูแล และประหยัดพื้นที่

 

สวนครัวอากาศ

เหมาะสำหรับบ้านที่ไม่มีบริเวณ โดยใช้วิธีการปลูกผักในภาชนะที่แขวนได้ ยิ่งถ้าได้ภาชนะที่มีความสวยงามมาปลูก ก็ช่วยประดับบ้านให้แลดูสวยงามและได้ประโยชน์ ภาชนะที่เลือกใช้อาจทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กะลามะพร้าว กาบมะพร้าว กระบอกไม้ไผ่ ฯลฯ หรือใช้แจกัน หรือกระถาง

 

คำแนะนำในการทำสวนครัวกระถางและสวนครัวอากาศ

  • สามารถใช้วิธีการเพาะเมล็ด กิ่งปักชำ กิ่งตอน หรือการเพาะต้นกล้าแล้วย้ายปลูกในภาชนะ
  • หมั่นใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะการปลูกผักในภาชนะจะมีดินน้อย
  • ควรเปลี่ยนดินตามระยะเวลาที่เหมาะสม

สวนครัวรั้วกินได้

สวนครัวรูปแบบนี้ ความเป็นระเบียบ ดูสบายตา เป็นสิ่งสำคัญเพราะส่วนใหญ่นิยมปลูกพืชไม้เลื้อย เช่น ฟัก แฟง แตงกวา บวบหอม บวบงู ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา น้ำเต้า มะระ และฟักทอง เป็นต้น อาจทำค้างหรือโครงสร้างให้สวยงาม ซึ่งช่วยให้พืชเลื้อยขึ้นค้างหรือร้านอย่างมีระเบียบ ง่ายในการดูแลและเก็บเกี่ยว หรืออาจใช้ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก เช่น กระถิน ชะอม ต้นแค และผักหวาน เป็นต้น ปลูกเป็นรั้วตามแนวเขตบ้านได้ประโยชน์เสริมขึ้นมาอีกทางหนึ่ง

ขั้นตอน การปลูกผักสวนครัว
การจัดการดิน

เนื่องจากผักสวนครัว เป็นพืชที่ปลูกเพื่อไว้รับประทาน การบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์และมีสภาพที่เหมาะสมในการปลูก นอกจากจะได้รับประทานผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงแล้ว ยังช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตในเรื่องของสารเคมีในการป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู ปุ๋ยเคมีในการบำรุงรักษา ที่สำคัญคือ ปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ ถึงแม้ว่าเราจะเลือกปลูกผักสวนครัวในภาชนะก็ตาม การบำรุงดิน ก็เป็นสิ่งสำคัญในการเจริญเติบโตของผักที่ปลูกในภาชนะด้วยนะคะ

การเตรียมดินสำหรับการปลูกดอกหน้าวัว ให้แข็งแรง - ThaiGreenAgro

ดินที่เหมาะสมในการปลูกผักสวนครัว

  • มีความร่วนซุย
  • ถ่ายเทอากาศได้ดี
  • ระบายน้ำได้ดี
  • อุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช

วิธีจัดการดินแต่ละประเภท

  • ดินทรายและดินร่วนปนทราย
    – ใช้อินทรียวัตถุ เช่น แกลบ คลุกเคล้าให้เข้ากันกับดินที่ใช้ปลูก
    – ควรปลูกเฉพาะพืชผักอายุสั้น
    – ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟางข้าว เพื่อรักษาความชื้นหน้าดิน
  • ดินร่วน
    – ควรใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ และแกลบ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดียิ่งขึ้น
  • ดินเหนียว
    – ใช้ทราย ขี้เถ้าแกลบ แกลบ ปูน (ถ้าดินเป็นกรด) ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก เศษฟางแห้ง คลุกเคล้าให้เข้ากัน
    – ควรทำการยกร่อง ทำคูดิน เพื่อช่วยการระบายน้ำให้ดีขึ้น

 

การเตรียมดิน ปลูกผักสวนครัวลงดิน

  • ใช้จอบขุดพลิกหน้าดินให้ลึกประมาณ 8 นิ้ว หรือ ประมาณ 20 ถึง 25 เซนติเมตร
  • ตากดินไว้ให้แห้งประมาณ 7 ถึง 10 วันขึ้นไป
  • ย่อยดินให้ร่วน
  • จัดการดินตามวิธีการข้างต้น (หากใช้ดินสำเร็จรูปในการปลูก ควรเลือกซื้อดินใบก้ามปู หรือดินที่ผสมเปลือกถั่ว)
  • รดน้ำและพรวนดินอีกครั้งก่อนลงมือปลูก

 

1. การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
เป็นวิธีที่นิยมกันมาก ซึ่งผู้ปลูกมือใหม่สามารถเลือกปฏิบัติตามวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการงอกของเมล็ดในบทความ ‘ผักสวนครัว’ จากนั้นนำมาปลูกด้วยวิธีการดังนี้

– การหว่านเมล็ดลงแปลงโดยตรง เหมาะกับการปลูกผักที่เมล็ดพันธุ์มีราคาปานกลาง เมล็ดไม่เล็กมาก เหมาะกับผักกินใบ เช่น ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม ขึ้นฉ่าย และผักชี ฯลฯ
– การหยอดหลุม นิยมใช้กับเมล็ดผักที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง เช่น ถั่ว แตง ผักกินหัว หรือกินรากชนิดต่างๆ
– การเพาะกล้าก่อนย้ายปลูก เหมาะกับเมล็ดผักที่มีราคาสูง หรือเมล็ดเล็กมากๆ เช่น ตระกูลผักสลัด พริก มะเขือเทศ ฯลฯ เริ่มจากการเตรียมวัสดุเพาะ เช่น ขุยมะพร้าว ดินร่วนร่อนละเอียด แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน ใส่ลงในถาดเพาะกล้า แล้วเกลี่ยดินให้เสมอขอบหลุม จากนั้นใช้ไม้ขีดทำหลุมขนาดใหญ่ประมาณ 2 ถึง 3 เท่าของขนาดเมล็ด แล้วหยอดเมล็ดลงไป หลุมละ 1 ถึง 2 เมล็ด ใช้ดินกลบเมล็ดบางๆ และรดน้ำให้ชุ่ม เมื่อต้นกล้างอกแล้วให้เก็บต้นที่แข็งแรงไว้เพียง 1 ต้น

2. การปักชำ
คือ การตัดส่วนใดส่วนหนึ่งของพืช เช่น ใบ กิ่ง ลำต้น ราก หัว หรือไหล ออกจากต้นเดิม ไปเก็บไว้ในที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทำให้ส่วนต่างๆ ของพืชออกรากและแตกยอด เจริญเติบโตเป็นต้นพืชต่อไป
– พืชที่นิยมปักชำด้วยกิ่งหรือลำต้น เช่น กะเพรา โหระพา แมงลัก และตะไคร้ ฯลฯ โดยตัดกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่มาปักชำในดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ร่วนซุย มีอากาศถ่ายเทสะดวก แล้วรดน้ำให้ชุ่ม นำไปวางไว้ในที่ร่ม หรือได้รับแสงแดดรำไร
– พืชที่นิยมใช้ส่วนหัว เช่น หอมแบ่ง และกระเทียม โดยนำไปแช่น้ำ 1 คืน เมื่อออกรากจึงสามารถนำมาปลูกภาชนะได้

3. การแยกหน่อหรือหัว
เป็นวิธีที่ง่าย และเร็ว พืชผักไม่กลายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดี เหมาะกับพืชเช่น หัวหอม กระเทียม ขิง และข่า เป็นต้น

วิธีปลูก

  1. กำจัดวัชพืชในบริเวณที่ปลูกออก
  2. เตรียมดิน
  3. นำเมล็ดพันธุ์หว่านบางๆ ลงบนแปลงปลูก แล้วใช้ดินร่วนโรยทับบางๆ หรือหยอดเป็นแถว โดยหยอดเมล็ดลงในหลุมปลูกหลุมละ 1 ถึง 2 เมล็ด หรือไม่ควรเกิน 4 ถึง 5 เมล็ด ต่อตารางฟุต มีระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร
  4. กลบดินบางๆ และรดน้ำพอชุ่ม แต่ไม่ขังแฉะ
  5. คลุมแปลงด้วยฟางข้าวเพื่อรักษาความชื้น แล้วอาจจะรดน้ำซ้ำอีกครั้งแต่ต้องระวังอย่าให้น้ำในแปลงปลูกแฉะจนเกินไป
  6. เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อนหรือรอจนกระทั่งมีใบจริงประมาณ 3 ถึง 5 ใบ ให้ถอนต้นกล้าที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เหลือไว้แต่ต้นที่สมบูรณ์ เพื่อป้องกันการแย่งอาหาร

การดูแลผักสวนครัว หลังการปลูก
การให้น้ำ

  • ควรให้น้ำทุกวัน ในช่วงเช้า หรือเย็น
  • ไม่ควรให้น้ำตอนแดดจัด
  • รดน้ำพอชุ่ม ระวังอย่าให้แฉะหรือมีน้ำขัง เพราะน้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศในดิน ทำให้รากพืชขาดออกซิเจนและเน่าตายได้

การให้ปุ๋ย

  • เมื่อผักอายุได้ประมาณ 7 ถึง 10 วัน จะมีใบเลี้ยงแตกขึ้นมา ระหว่างนี้สามารถให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ละลายน้ำในอัตราส่วน 5 กรัม ต่อน้ำ 2 ลิตร รดให้ทั่วแปลง จากนั้นรดน้ำตาม เพื่อให้ได้ผลดีควรทำทุก 7 วัน หรือใช้ปุ๋ยคอกมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมัก ใส่แทนปุ๋ยเคมี ด้วยการโรยปุ๋ยบางๆ ระหว่างแถว

การป้องกันและกำจัดวัชพืช

  • การป้องกัน
    – ตากดินก่อนปลูก
    – ใช้วัสดุคลุมดิน เช่น ฟาง แกลบ หรือพลาสติก เป็นต้น
  • การกำจัด
    – ใช้วิธีการปลูกพืชคลุมดิน ใช้สิ่งมีชีวิต หรือศัตรูธรรมชาติ เป็นตัวกำจัด
    – ใช้น้ำร้อนราด
    – ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชฉีดพ่น

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผักสวนครัว ขึ้นอยู่กับอายุของผักแต่ละชนิด และทำได้หลายวิธี ดังนี้

  1. การถอนทั้งต้น เช่น แครอท หัวไชเท้า ผักชี ฯลฯ
  2. แบ่งหัว หรือต้นออก เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ฯลฯ
  3. ปลิดผลออกจากต้น เช่น พริก ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ฯลฯ
  4. ใช้มีดตัดบริเวณโคน ใบแก่ หรือใบอ่อน เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด ฯลฯ

322 236: งานที่ 1

คำแนะนำในการเก็บเกี่ยว

  • ควรเก็บผักในเวลาเช้า เพราะผักจะสวย สด กรอบ มากกว่าตอนบ่าย
  • เก็บเกี่ยวผักตามอายุ ไม่ทิ้งไว้จนแก่ หรือเก็บในขณะที่อ่อนจนเกินไป
  • ใช้มีดคมๆ ตัดผัก เพื่อป้องกันไม่ให้ผักบอบช้ำ
  • ใส่ปุ๋ยบำรุงหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้ต้นโทรม โดยเฉพาะ ผักที่เป็นไม้ยืนต้น
  • หมั่นเด็ดดอก ผล ที่ขึ้นเป็นกระจุก และเด็ดยอด เพื่อให้พืชแตกยอดและออกผลผลิตได้ดีขึ้น
  • หากเก็บผักมารับประทานไม่หมดในครั้งเดียว ให้ห่อผักด้วยกระดาษบางๆ แล้วนำไปแช่ตู้เย็น ช่วยยืดอายุผักให้นานขึ้น

ขั้นตอนต่อไป ติดตามได้ในบทความ ‘โรคและแมลงศัตรูผักสวนครัว’

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : หนังสือ รวยด้วยผักสวนครัวเพื่อการค้า สนพ. นาคา โดย อภิชาติ ศรีสอาด และ ณัฎฐ์ชญามนต์ ดินรมรัมย์)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *