การปลูกขมิ้นชัน

การปลูกขมิ้นชัน

การปลูกขมิ้นชัน เป็นเรื่องง่าย ได้กำไรดี เนื่องจากประโยชน์และสรรพคุณที่ขมิ้นชันนั้นมีอยู่มากมาย และขมิ้นชันยังเป็นสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาแต่โบราณ จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะลดลง การปลูกขมิ้นชัน จึงไม่ต้องกังวลใจกับเรื่องการจำหน่าย ซึ่งมีตลาดรองรับอยู่ตลอดปี

ขมิ้นชันเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิงข่า เป็นพืชล้มลุกแต่มีอายุหลายปี มีลักษณะดังนี้

  • ลำต้น หรือเหง้า อยู่ใต้ดิน มีลักษณะสั้นกลมรูปไข่ มีแขนงทรงกระบอกแทงออกมาสองด้าน เปลือกสีเหลืองอ่อน เนื้อในสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอมฉุน
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว สีเขียวอ่อน รูปร่างคล้ายหอก แทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน เรียงซ้อนกัน
  • ดอก มีลักษณะเป็นช่อ เป็นทรงกระบอก คล้ายดอกกระเจียว แทงออกมาจากเหง้า กลีบดอกมีหลายสี แต่ที่พบมากคือ สีขาว เหลือง แดง เขียว เป็นต้น

ข้อดีของการปลูกขมิ้นชัน

  • เจริญเติบโตได้ทุกภาคของประเทศไทย
  • เติบโตได้ดีในที่ดอน ไม่ชอบน้ำท่วมขัง
  • มีปัญหาของโรคแมลงรบกวนน้อย
  • อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 8 ถึง 9 เดือน
  • ปลูกแซมตามแปลงพืชผล , พื้นที่ว่าง หรือรอบๆ บ้าน ได้

ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง

  • สายพันธุ์

ขอแนะนำ
ขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 1 (ขมิ้นทอง)
ขมิ้นชันพันธุ์ตรัง 84-2 (ขมิ้นด้วง)

  • ฤดูกาลที่เหมาะสมใน การปลูกขมิ้น

ควรเริ่มปลูกในช่วงต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคมของทุก ๆ ปี และจะเก็บเกี่ยวหัวขมิ้นในช่วงฤดูหนาวหรือประมาณปลายเดือนธันวาคม ถึงเดือนมกราคม ซึ่งช่วงนี้หัวขมิ้นชันจะแห้งสนิท

  • สภาพดิน

ขมิ้นชันสามารถเติบโตได้ดีในดินทุกชนิด แต่ที่เหมาะสมที่สุด คือ ดินที่ระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง ถ้าเป็นดินเหนียวควรใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 1 ตัน ต่อไร่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพของดิน

การเตรียมดิน

  • ไถพรวนก่อนต้นฤดูฝน และหลังจากพรวนดิน ให้ย่อยดินให้มีขนาดเล็กลง
  • ไถยกร่องปลูกระยะระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร

การเตรียมพันธุ์ขมิ้นชันสำหรับปลูก
การปลูกขมิ้นชันอาจใช้ท่อนพันธุ์ได้ 2 ลักษณะคือ ใช้หัวแม่ และใช้แง่ง
ปลูกโดยใช้หัวแม่ที่มีรูปร่างคล้ายรูปไข่

  • เลือกขนาดน้ำหนักประมาณ 15 ถึง 50 กรัม ต่อหัว หัวแม่นี้สามารถให้ผลผลิตประมาณ 3,300 กิโลกรัม ต่อไร่ ที่ระยะปลูก 75×30 เซนติเมตร ถ้าใช้หัวแม่ขนาดเล็กลง จะลดลงไปตามสัดส่วน ถ้าปลูกด้วยแง่งขนาด 15 ถึง 30 กรัม/ชิ้น หรือ 7 ถึง 10 ปล้อง ต่อชิ้น จะให้ผลผลิตน้ำหนักสดประมาณ 2,800 กิโลกรัม ต่อไร่
  • นำท่อนพันธุ์แช่ในน้ำยากันเชื้อราและยาฆ่าเพลี้ย นานประมาณ 30 นาที เพื่อป้องกันโรคหัวเน่าและกำจัดเพลี้ย ซึ่งอาจติดมากับท่อนพันธุ์และมักจะระบาดมากขึ้นในช่วงปีที่ 2 และ 3 ของการปลูก

***ควรระมัดระวังการใช้สารเคมีโดยสวมถุงมือยางที่มีสภาพเรียบร้อยไม่ขาด และควรสวมหน้ากาก***

  • ก่อนปลูกขมิ้นชันควรรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ หรือตามสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • วางท่อนพันธุ์ลงในแปลง กลบดินหนาประมาณ 5 ถึง10 เซนติเมตร รดน้ำพอชุ่ม

***ขมิ้นชันจะใช้เวลาในการงอกประมาณ 30 ถึง 70 วันหลังปลูก***
การดูแลขมิ้นชัน หลังการปลูก
การให้น้ำ

  • ในช่วง 3 เดือนแรกหลังปลูก ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า พอชุ่ม
  • หากฝนทิ้งช่วงไปขณะที่ขมิ้นชันยังมีขนาดเล็กอยู่ ให้รดน้ำพอชุ่ม หรืออาจใช้วัตถุคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำ
  • เมื่อต้นโต ช่วงฤดูฝนไม่จำเป็นต้องให้น้ำ

***ระวังเรื่องน้ำท่วมขังในแปลงเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งทำให้ขมิ้นเน่าตายได้ ควรรีบจัดการระบายน้ำออกทันทีที่พบว่ามีน้ำท่วมขัง***

การให้ปุ๋ย – ปุ๋ยคอก

  • ใช้เป็นปุ๋ยรองพื้น อัตรา 1 ถึง 3 ตัน ต่อไร่
  • อายุ 1-2 อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่
  • อายุ 3-4 เดือน อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่
  • อายุ 5-6 เดือน อัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่

การกำจัดวัชพืช

  • เมื่อขมิ้นชัน เริ่มงอกยาวประมาณ 5 ถึง 10 เซนติเมตร ต้องรีบทำการกำจัดวัชพืช เนื่องจากขมิ้นชันหลังจากงอกจะเจริญเติบโตแข่งกับวัชพืชไม่ได้
  • เมื่อกำจัดวัชพืชครั้งที่ 2 ควรพรวนดินกลบโคนแถวขมิ้นชัน
  • หมั่นกำจัดวัชพืชเป็นประจำ เมื่อพบเห็นเพื่อให้ง่ายในการกำจัด
  • กำจัดวัชพืชทุกครั้งก่อนการใส่ปุ๋ย

การป้องกันและแก้ไข โรคและแมลงศัตรูพืช
โรคของขมิ้นชันเกิดจากการเน่าของหัวขมิ้นจากน้ำท่วมขัง หรือการให้น้ำมากเกินไป หรือเกิดจากการปลูกซ้ำที่เดิมหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เกิดการสะสมโรค โรคที่พบได้แก่ โรคเหง้าและรากเน่าซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โรคต้นเหี่ยว และโรคใบจุด เกิดจากเชื้อรา
การปลูกขมิ้นชันควรป้องกันโรคก่อนปลูก เพราะเมื่อโรคเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วรักษายาก

โรคเน่าของเหง้าและราก
เกิดจากเชื้อรา
ใบเหี่ยวและแห้งอย่างรวดเร็ว เมื่อถอนต้นดูจะเห็นทั้งหัว แง่ง และรากเน่า

การป้องกันและแก้ไข

  • ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค
  • ถอนต้นที่เป็นโรคและเผาทำลายทันที
  • พยายามกำจัดด้วยสมุนไพร ร่วมกับการปลูกพืชหมุนเวียน

โรคเหี่ยว
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
เชื้อโรคเข้าทำลายที่แผล หรือช่องเปิดธรรมชาติของพืช ใบเหี่ยว เริ่มจากใบอ่อนมีอาการห่อและม้วนเข้า สีซีด จนเหี่ยวทั้งต้น โคนต้นยุบเน่าและตาย

การป้องกันและแก้ไข

  • ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค
  • ถอนต้นที่เป็นโรคและเผานอกแปลง
  • พยายามกำจัดด้วยสมุนไพร ร่วมกับการปลูกพืชหมุนเวียน

โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อรา
ใบมีจุดเหลืองทั่วทั้งใบ จุดรูปวงรี ตรงกลางมีสีขาวอมเทา บริเวณขอบแผลมีสีน้ำตาล แผลจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เห็นเป็นแถบขาวๆ

การป้องกันและแก้ไข

  • ใช้ท่อนพันธุ์ที่ปราศจากโรค
  • ถอนต้นที่เป็นโรคและเผานอกแปลง
  • พยายามใช้สมุนไพรกำจัดโรค ร่วมกับการปลูกพืชหมุนเวียน

การเก็บเกี่ยว
ถ้าเริ่มต้นปลูกขมิ้นชันในฤดูฝน
เมื่ออย่างเข้าสู่ฤดูหนาวประมาณปลายเดือนธันวาคม ลำต้นเหนือดินเริ่มแสดงอาการเหี่ยวแห้งจนกระทั่งแห้งสนิท จึง

เริ่มทำการเก็บเกี่ยว

  • การเก็บเกี่ยวเป็นช่วงฤดูแล้งในสภาพดินเหนียว ดินจะแข็ง ทำให้เก็บเกี่ยวยาก ควรให้น้ำพอดินชื้น ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ แล้วจึงเก็บเกี่ยวขมิ้น
  • เมื่อทำการเก็บเกี่ยวแล้วต้องนำมาตัดแต่งราก ทำความสะอาดดินออก
  • ในกรณีที่จำหน่ายขมิ้นสด จำหน่ายส่วนที่เป็นแง่ง ส่วนหัวแม่ควรเก็บไว้เป็นพันธุ์ปลูกในฤดูกาลต่อไป
  • ขมิ้นแห้งเพื่อนำไปใช้ทำยารักษาโรค ต้องใช้ขมิ้นชันที่แก่เต็มที่ และต้องคำนึงถึงความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งต้องมีปริมาณสารเคอร์คูมินไม่น้อยกว่า 8.64 เปอร์เซ็นต์

วิธีทำ

  • นำหัวขมิ้นชันมาล้างด้วยน้ำให้สะอาด
  • ตัดแต่งรากออกให้หมด แล้วฝานเป็นชิ้นบาง ๆ
  • นำไปตากแดดในตู้อบแสงอาทิตย์ ที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ และเมื่อแห้งสนิทแล้วบรรจุถุงปิดให้สนิท

***ขมิ้นสด 5 กิโลกรัม จะได้ขมิ้นแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม***
ขอบคุณสำหรับการติดตามนะคะ

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : คลิ๊กที่นี่
(แหล่งข้อมูล : www.ku.ac.th)

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *